วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551

Tripod of CSR สามขากับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

อนันตชัย ยูรประถม มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า ท่ามกลาง ความตื่นตัว ความตื่นเต้นในกระแสความรับผิดชอบต่อสังคม เรากำลังมองกันอยู่ว่าความร้อนแรงนี้จะคงอยู่ไปได้นานซักแค่ไหน ความรับผิดชอบต่อสังคมในมุมมองที่เรากำลังพูดนี้เป็นสิ่งจำเป็น เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทุกองค์กรต้องใช้ ในฐานะเครื่องมือของธุรกิจ ใช้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันให้กับองค์กร ไม่แปลกที่มอง CSR ในเชิงกลยุทธ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรทั้งชื่อเสียง ภาพลักษณ์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สิ่งเสริมกิจกรรมทางการตลาด การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับองค์กร และที่สำคัญเราใช้ CSR เพื่อช่วยให้ธุรกิจเดินทางไปสู่เป้าหมายอย่างเหมาะสม โดยทิ้งร่องรอยความเสียหายกับสังคมน้อยที่สุด นำไปสู่การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน (sustainable business development) แต่ ณ ปัจจุบันองค์กรประกอบที่จะผลักดันให้แนวคิดนี้ถูกพัฒนาไปอย่างที่มันควรจะ เป็นเรามีครบแล้วหรือไม่

ธุรกิจไม่สามารถอยู่ได้เพียงลำพัง เรามองหามิติความสัมพันธ์ระหว่าง ธุรกิจ-สังคม และรัฐ (business & society & government) ซึ่งมีลักษณะของการ interpenetration ระหว่างกันการปฏิบัติและการตัดสินใจของฝ่ายหนึ่งย่อมสร้างผลกระทบและได้รับ ผลกระทบให้กับอีกฝ่ายหนึ่งอย่างแน่นอน CSR เองก็เช่นเดียวกัน การคงอยู่ เปลี่ยนแปลงและเสื่อมถอย นอกเหนือจากการตัดสินใจของธุรกิจแล้วอีกสองส่วนเป็นปัจจัยสำคัญอย่างชัดเจน

CSR กระถางที่เราถือกันอยู่นี้ มันโตเฉพาะขาธุรกิจ เรามุ่งเน้นกันแต่ว่าทำไมธุรกิจต้องทำ ทำที่ไหน กับใคร เรื่องอะไร กลายเป็นความบิดเบี้ยวขององคาพยพที่มันควรจะสมส่วน แม้ว่ายังเป็นเรื่องสำคัญในฐานะที่เรามองยอมรับกันว่าธุรกิจมีผลต่อผลกระทบ ทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง แต่เราแน่ใจหรือเปล่าว่าปัญหามันมาจากธุรกิจเพียงฟากเดียว เช่นเดียวกับโจทย์ที่ว่า ถ้า CSR จะอยู่ยั่งยืนยงในสังคมและก่อให้เกิดการพัฒนาไปในแนวทางที่ดีต้องทำให้ทุก ธุรกิจมีแนวปฏิบัติเช่นนี้ให้ได้ทั้งหมด ก็ถ้าทำแล้วสังคมไม่จำ ใครทำก็ไม่ซื้อ ไม่สนับสนุนหรือแม้แต่ไม่ต่อต้าน ลงโทษคนที่ไม่ทำ รัฐเองก็ไม่เห็นจะใส่ใจทำอะไรให้เป็นรูปธรรม เรื่องอย่างนี้นอกจากจะอยู่ไม่นานแล้ว CSR ก็จะถูกรับรู้เป็นเพียงเฟอร์นิเจอร์ประดับองค์กร ที่บริษัทรอวันว่า "out" เมื่อไรเป็นได้เห็นดีกัน จะเป็นสิ่งแรกที่โดนโละ แน่นอน ผมไม่ได้เข้าข้างธุรกิจ แต่กำลังมองความสมดุลที่มันควรจะเป็น

มาตรการ การทางสังคมเป็นสิ่งที่สำคัญประการแรกๆ สังคมต้องให้การตรวจสอบอันแรกว่าบริษัทมีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือไม่ สังคมที่ทำหน้าที่ตรวจสอบในที่นี้ไม่ใช่เฉพาะ NGO แต่คือลูกค้าของทุกบริษัทที่ควรทำหน้าที่ว่าบริษัทได้ทำเรื่องเหล่านี้แล้ว หรือยัง ก่อนหน้านี้เราเคยหลุดกันไปพักใหญ่ คือมุ่งตรวจสอบคนทำเพียงอย่างเดียว ผมว่ามันข้ามขั้นไปหน่อย ถ้าอย่างนั้นไม่ทำดีกว่า อยู่เฉยๆ จะได้ไม่โดน ควรผลักดันให้เป็นแนวปฏิบัติสากลของทุกบริษัท ถ้าใครไม่ทำก็ควรได้รับการลงโทษทางสังคม ต่อมาก็คือ แล้วที่ทำมันเป็นของจริงหรือไม่ ไม่ใช่ดูแค่ P.R. หรือไม่ แต่สิ่งที่ทำเป็นความรับผิดชอบในผลกระทบจริงๆ ของตนหรือเปล่า ประเภทที่กิจกรรมเพื่อสังคมใช้เงินลงทุนมหาศาล แต่การดำเนินธุรกิจยังสร้างความเสียหายให้กับสังคมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แถมมีการข่มขู่อีก อันนี้ทั้งแปลกและทั้งปลอม เพราะมันไม่ใช่ความรับผิดชอบต่อสังคมแต่เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นหรือสร้าง ภาพ ถ้าโดนถอน license to operate จากสังคมก็คงจะเข็ด แต่ถ้าสังคมนิ่งเฉยมองเห็นแต่ความสะดวกส่วนตัว ก็ไม่ต้องร้องหาความรับผิดชอบที่ตนพึงได้เช่นกัน

อีกขาหนึ่งที่สำคัญ คือ ภาครัฐ การกำกับดูแลและส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม มองว่าสอดคล้องกับเรื่องของกฎหมาย อย่าลืมว่าความรับผิดชอบเบื้องต้นก็คือ การปฏิบัติตามกฎหมาย อันนี้บังคับใช้ได้อย่างจริงๆ จังๆ เมื่อกฎหมายไม่สามารถควบคุมได้ ผมว่าจริยธรรมควรได้รับรางวัลหรือการสนับสนุน ถ้าอยู่ในเส้นขีดของกฎหมายก็ standard ไม่ได้ไม่เสียอะไร แต่ถ้าธุรกิจมีกระบวนการผลิตที่ดี สร้างสินค้าที่มีนวัตกรรมต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย มีแนวปฏิบัติต่อแรงงานพิการ อย่างนี้ก็ตบรางวัลเลยครับ เช่น บริษัทที่มีพนักงานเป็นคนพิการนำไปหักลดหย่อนภาษีได้มากกว่าปกติ รัฐให้ทุนสนับสนุน R&D ด้านนวัตกรรมทางสังคม หรือที่สำคัญการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมเรื่องพลังงาน NGV ขอให้มันพอเพียงจริงๆ ไม่ใช่ส่งแต่ไม่เสริม หาปั๊มเติมแทบจะฆ่ากันตาย ถ้าธุรกิจและประชาชนเห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมบอกได้เลยว่า CSR รุ่งกว่านี้ อย่างที่ญี่ปุ่น CSR เรียกได้ว่าสอดคล้องกับการบังคับกฎหมายทีเดียว

ถ้า เราสามารถพัฒนาทั้งหมดนี้ไปด้วยกันได้ ธุรกิจมีความรับผิดชอบเป็นเครื่องมือหลักอันหนึ่ง สังคมตรวจสอบ สนับสนุนและลงโทษ รัฐควบคุม บังคับใช้และส่งเสริม ความรับผิดชอบต่อสังคมที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในบ้านเราคงยั่งยืนได้ จริงๆ กันซักที


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 21 เมษายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr04210451&day=2008-04-21&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: