วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2551

สภาพแวดล้อม...เรื่องที่ไม่ควรลืม


ดร.อัศวิน จินตกานนท์ กรรมการ มูลนิธิรักษ์ไทย
กล่าวว่า CSR มีความหมายที่หลากหลายต่อคนหลายๆ กลุ่ม และขึ้นอยู่กับความสนใจว่าธุรกิจนั้นสนใจเรื่องใด เรื่องที่คุยกันอย่างกว้างขวางคือ เรื่องการพัฒนาสังคมที่ด้อยโอกาส และการทำกิจกรรมเพื่อสังคม

ในวันนี้ผมขอพูดถึงความรับผิดชอบของ ธุรกิจต่อสังคมที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม และสภาวะโลกร้อนซึ่งมีผลกระทบต่อคน ทั่วโลกและคนไทย สภาวะโลกร้อนกำลังทำให้ภูเขาน้ำแข็งที่ขั้วโลกทั้งสองละลายอย่างน่ากลัว และทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจนบางประเทศเริ่มประสบปัญหาน้ำท่วม และระดับน้ำเริ่มสูงขึ้นทุกปี สำหรับประเทศไทยยังไม่มีข้อสรุปว่าน้ำทะเลจะสูงขึ้นจนน้ำจะท่วม เพราะยังมีการถกเถียงกันอยู่ แต่นายโรเบิร์ต นิดอลส์ จากมหาวิทยาลัย Middlesex ที่กรุงลอนดอน คาดว่าภายในปี 2633 ระดับน้ำทะเลในประเทศไทยจะ สูงขึ้นกว่าปัจจุบัน 40 ซ.ม.

การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

ใน รอบ 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงจากประเทศกสิกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่สูงในอันดับต้นๆ ของโลก เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอัตราสูงเช่นนี้ ป่าไม้ ป่าชายเลน แหล่งน้ำ ถูกบุกรุกและถูกทำลายเพื่อการขยายโรงงาน

แท้ที่จริงแล้วการวัดความ เจริญและการพัฒนาของประเทศจากรายได้ประชาชาติอย่างเดียวไม่น่าจะเป็นการวัด ที่ถูกต้อง เพราะถ้าไม่มีการกระจายรายได้ที่เหมาะสม ประเทศก็ยังจะมีคนยากจนที่ไม่ได้รับการศึกษาที่ดีและเพียงพอ ไม่ได้รับการดูแลด้านสุขอนามัยที่ดี และทรัพยากรธรรมชาติอาจไม่ได้ถูกใช้ในทางที่เหมาะสม ทำให้เกิดป่าเสื่อมโทรม มีมลพิษและขยะมากมาย

ประเทศไทยร้อนขึ้นจริงหรือ

ผม ขอย้อนเวลากลับไปสัก 50 ปี ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2500 เด็กนักเรียน แต่งกายไปโรงเรียนด้วยสีสันต่างๆ เนื่องจากอากาศหนาวและต้องใส่เสื้อหนาวไปโรงเรียนกัน แต่ทุกวันนี้แม้แต่ในเดือนธันวาคม มกราคม นักเรียนในกรุงเทพฯยังหาวันที่จะต้องใส่เสื้อหนาวไปโรงเรียนไม่ได้ อุณหภูมิในประเทศไทยสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงที่มีคาร์บอนสูง หรือเกิดจากปฏิกิริยาเคมีจากมูลสัตว์ และการ เน่าเสียของขยะ ของเสียเหลือใช้จากการทำการเกษตร ซึ่งทำให้เกิดก๊าซมีเทน

ใครปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันบ้าง

ประเทศ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณร้อยละ 36.1 ของก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก กลุ่มประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรองลงมา ได้แก่ ประชาคมยุโรป ในเอเชีย ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือ ประเทศจีน และอินเดีย

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548 หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ลงบทความที่แสดงให้เห็นว่าประชากรสหรัฐอเมริกาทำ ให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าคาร์บอน 6.5 ตันต่อปีต่อคน ตามด้วยแคนาดาที่ 6.4 และรัสเซียที่ 3.6 ตันต่อปีต่อคน

ประเทศใน ประชาคมและอีก 141 ร่วมกันปฏิบัติตามพิธีสารเกียวโต เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 โดยมีเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกลง แต่สหรัฐอเมริกาไม่เข้าร่วมด้วย โดยประธานาธิบดีบุชให้เหตุผลว่า เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะถูกผลกระทบถ้าอเมริกาต้องบังคับให้อุตสาหกรรมลด การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง และยังให้เหตุผลต่อไปว่า ตราบใดที่ประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน หรืออินเดีย ไม่ต้องลดก๊าซเรือนกระจก สหรัฐอเมริกาก็จะไม่ปฏิบัติตามพิธีสารเกียวโต

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากในสหรัฐอเมริกาก็สมัครใจที่จะลดก๊าซเรือนกระจกลงเพื่อลดภาวะโลกร้อนลง

CSR กับการแก้ไขปัญหาโลกร้อน

การ พยายามที่จะแก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อนของอุตสาหกรรมก็เป็น CSR ที่สำคัญกิจกรรมหนึ่งในประเทศไทย อุตสาหกรรมขนาดใหญ่โดยเฉพาะโรงงานใหญ่ๆ กำลังให้ความสำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพและพยายามที่จะลดปริมาณเชื้อเพลิง ที่ใช้ โดยเฉพาะ เชื้อเพลิงที่เกิดจากฟอสซิล ที่มีปริมาณคาร์บอนสูง โรงงาน

หลาย แห่ง และยานพาหนะ เช่น รถโดยสาร และรถยนต์ ก็หันมาใช้ก๊าซ NGV และ LPG หรือเชื้อเพลิงทางเลือกที่สามารถทดแทนได้ เช่น แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซล

น้ำดิบเริ่มลดน้อยลง

ปัญหา อีกอย่างหนึ่งที่คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจมากคือ ปัญหาเรื่อง น้ำดิบ ทั้งนี้เพราะภาวะโลกร้อนทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ดินฟ้าอากาศแปรปรวน เกิดน้ำท่วมในบางแห่งที่เคยแล้ง และเกิดภาวะแล้งในที่ที่เคยอุดมสมบูรณ์ ประเทศมาเลเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ ปัจจุบันมีปริมาณฝนลดลง แต่ปริมาณน้ำยังเพียงพอต่อการปลูกข้าว ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย แต่ปริมาณฝนที่ลดลงนั้นกลับทำให้การทำนาปรังได้ผลที่ลดลง

ที่น่า ยินดีเป็นอย่างยิ่งคือ บริษัทน้ำดื่มและน้ำอัดลมแห่งหนึ่งประกาศว่า บริษัทกำลังพัฒนาแหล่งน้ำที่มีคุณภาพเพื่อประโยชน์ของคนในชุมชน เพราะเล็งเห็นถึงแหล่งน้ำที่กำลังร่อยหรอไปทุกๆ วัน

เนื่องจากบริษัทเครื่องดื่มนี้ใช้น้ำในการผลิตผลิตภัณฑ์ของเขาเป็นปริมาณสูง เขาจึงเลือกที่จะมี CSR โดยการพัฒนาแหล่งน้ำ ดังกล่าว

มามี CSR กันดีกว่า

CSR ตีความได้กว้างมาก ธุรกิจจึงสามารถที่จะเลือกทำในสิ่งที่กระทบตนเอง เพื่อแก้ไขปัญหาในอนาคต การร่วมมือกันทำประโยชน์ต่อสังคมในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญ ผมคิดว่าไม่ช้าก็เร็วธุรกิจหมวดใหญ่ในประเทศไทยจะเข้ามาร่วมในกิจกรรม CSR เพื่อความอยู่รอดของสังคมไทย มาช่วยกันเถอะครับ เพื่อลูกหลานของท่านในวันข้างหน้า


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 1 กันยายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03010951&day=2008-09-01&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: