วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551

ดร.ชัยณรงค์ มนเทียรวิเชียรฉาย 10 ปี "ฮาบิแทต" บทพิสูจน์พลังพันธมิตร



หาก จะพูดถึงองค์กรพัฒนาเอกชนในไทยที่เปิดเกมรุกและใช้โอกาสจากความตื่นตัวของ องค์กรธุรกิจไทยในเรื่อง CSR ย่อมปรากฏชื่อของ มูลนิธิที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติ (Habitat for Humanity) หรือ "ฮาบิแทต" ที่มีภารกิจในการแก้ปัญหาคนไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 100 ประเทศทั่วโลก

ไม่ เพียงปีที่ผ่านมาที่ "ฮาบิแทต" จับมือ "อาร์เอส" ค่ายเพลงชื่อดัง แต่งตั้ง "ฟิล์ม รัฐภูมิ โตคงทรัพย์" มาเป็นทูตของมูลนิธิ วันนี้มูลนิธิยังมีภาคีเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น AIG UPS ฟอร์ด จีอี มันนี่ ซิตี้ กรุ๊ป ฯลฯ ซึ่งทั้งลงเงินและส่งพนักงานอาสาสมัครมาร่วมกิจกรรมสร้างบ้านให้กับผู้ยาก ไร้อย่าง ต่อเนื่อง

การมีพันธมิตรเช่นนี้ย่อมถือเป็นการขยับก้าว สำคัญของมูลนิธิ และคาดว่าภายใน 3 ปีนับจากนี้จะสามารถสร้างบ้านให้ผู้ไร้ที่อยู่อาศัยได้จำนวนถึง 7,000 หลังจาก 10 ปีที่ผ่านมาสร้างไป 3,000 หลัง ใน 19 จังหวัด

แม้ว่า ที่ผ่านมาปัญหาเรื่องการไร้ที่อยู่อาศัยอาจจะไกลเกินการมองเห็น แต่จากสถิติพบว่าปัจจุบันมีถึง 3 แสนครอบครัวในไทยที่ไร้ที่อยู่อาศัย

ปัญหาเรื่องนี้จึงไม่ธรรมดา !!

ใน มุมมอง "ดร.ชัยณรงค์ มนเทียรวิเชียรฉาย" ประธานกรรมการมูลนิธิที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติ ประเทศไทย มองว่าปัญหาเรื่องนี้อาจเหมือนเป็นปัญหาที่มองไม่เห็น เพราะกระจายกันอยู่ทั่วประเทศ แต่ว่าสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ เมื่อมีปัญหาเรื่อง ที่อยู่อาศัยปัญหาเรื่องอื่นจะตามมาอีกเยอะมาก เช่น ลูกไม่สามารถที่จะมีที่ที่จะเรียนหรือทำการบ้านได้ดี ที่ที่จะหลบฝน ที่ที่เหมาะสมที่จะพำนักอยู่ มันก็มีปัญหาเรื่องสุขภาพ ปัญหาเรื่องการเรียน โจรกรรมต่างๆ ตามมาอีก

ดังนั้น การมีที่อยู่อาศัยจะเป็นการแก้ปัญหาขั้นพื้นฐานที่เป็นการป้องกันปัญหาอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้น

อย่าง ไรก็ตาม การจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างยั่งยืน เขาเชื่อว่า "น่าจะเป็นนโยบายของรัฐบาลเป็นอันดับแรก รัฐบาลต้องเห็นความจำเป็นในเรื่องนี้โดยที่รัฐบาลเองอาจจะไม่มีความจำเป็น ต้องทำเอง แต่ว่าจับมือกับส่วนของภาคเอกชนที่มีนโยบายใกล้เคียงกันทำด้วยกัน ผมคิดว่าอย่างนั้นก็จะยิ่งดี"

และนี่เป็น "วิธีคิด" ที่คล้ายกับการทำงานที่ผ่านมาของ "ฮาบิแทต" ซึ่งมีโจทย์อยู่ที่การระดมสรรพกำลังทั้งเงิน แรงงาน และทักษะจากพันธมิตร

โดยงบประมาณกว่า 150 ล้านบาทที่ใช้ในการดำเนินการนั้นมาจากความร่วมมือ ของพันธมิตรในภาคเอกชน ทั้งในการใช้แรงจากทั้งชาวบ้านในชุมชน เจ้าของบ้านและอาสาสมัครจากทั้งในและต่างประเทศ

"งบประมาณนั้นมา จากบริษัทต่างๆ ทั้งใหญ่ทั้งเล็กก็ประมาณ 20-30 บริษัท นอกนั้นก็จะมีองค์กร มีอาสาสมัคร อาสาสมัครนี้จะเป็นตัวที่สำคัญมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะฉะนั้นเมื่อชุมชน อาสาสมัคร และเจ้าของบ้านมาช่วยกัน มันเป็นเอกลักษณ์ของฮาบิแทตทั่วโลกว่าบ้านสร้างขึ้นด้วยความรักและความ ห่วงใยจากสังคมโลก และมีการแบ่งปันงบประมาณกันในระหว่างประเทศ ต้องเก็บเงินไว้ส่วนหนึ่งเพื่อช่วยเหลือต่างประเทศ เป็นการช่วยกันและกัน อย่างตอนนี้ขยับช่วยไปทางลาว กัมพูชา เป็นต้น"

"จุดมุ่งหมายของเรามี อยู่ประการเดียวก็คือว่า จะช่วยขจัดที่อยู่อาศัยที่ไม่เหมาะสมให้มันหมดไปโดยที่เราจะขอจับมือกับผู้ ที่มีความคิดเห็นคล้ายกับเรา เปิดโอกาสให้เหมือนกับมีส่วนร่วมกับเรา ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย ล้วนแล้วแต่มาจับมือกันได้หมด"

ในการทำงานนั้น "ฮาบิแทต" ไม่ได้ช่วยเหลือเพียงการให้เปล่า แต่เป็นการช่วยที่มีกระบวนการและเป็นระบบ ที่เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เพราะบ้านที่มีมูลนิธิเข้าไปสร้าง เจ้าของบ้านที่ได้รับไม่เพียงต้องช่วยลงแรง แต่ยังต้องคืนเงินเท่าที่จะมีความสามารถจะจ่ายคืนโดยไม่คิดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นวิธีคิดซึ่งสอนในเรื่องการออม การใช้ชีวิต และการทำงานร่วมกันของคนในชุมชนซึ่งหายไปนานในสังคมไทย รวมไปถึงการทำให้เห็นว่าไม่เพียงแต่ตัวเองที่สามารถมีบ้าน การจ่ายคืนจะทำให้เขาสามารถช่วยเหลือครอบครัวอื่นในอนาคต เพราะงบประมาณที่มีก็จะไม่หมดไป และจะสามารถนำไปช่วยเหลือคนอื่นต่อได้

เขา บอกว่า "ที่น่าแปลกใจก็คือ ยิ่งจนยิ่งมีความซื่อสัตย์ในการจ่ายคืน เพียงแต่เราต้องอย่าให้เขาจ่ายคืนเกินความสามารถของเขา จนกระทั่งเขาไม่มีอะไรจะกิน สมมติวันหนึ่งเขาหาได้ร้อยบาท จะให้เขาจ่ายเกิน 25 บาทไม่ได้ อย่างน้อยก็ต้องมี 75 เอาไว้สำหรับที่จะกินอยู่ คนพวกนี้ทำด้วยความซื่อสัตย์มากแล้ว เขาภูมิใจมากเลยว่าบ้านที่เขาอยู่ตอนนี้เขาทำมาด้วยตัวของเขาเอง และที่สำคัญพอเขาเห็นคนอื่นมาช่วยสร้างบ้าน เขาจะมีความสุขมาก"

สำหรับบรรยากาศในการเข้าไปช่วยเหลือนั้น

" เริ่มต้นจากการเข้าไปคุยกับชุมชน ได้คุยกันแล้วว่านี่คือครอบครัวที่น่าจะต้องช่วยเหลือ เขาเองต้องการที่จะได้บ้านหลังใหม่ที่ดูแล้วมันเรียบร้อยกว่าที่เขาอยู่ ปัจจุบันนี้ ก็เริ่มช่วยกันที่จะให้เขาได้ออมเพื่อที่จะได้ดูว่าลักษณะการที่เขาจะจ่าย แบบออมไปเรื่อยๆ มันมีความเป็นไปได้ หลังจากนั้นเรียบร้อยแล้วก็จะลงมือกันในการที่จะจัดการเกี่ยวกับเรื่องใบ อนุญาต เรื่องอะไรต่างๆ ให้ เรียบร้อยแล้วก็จะเริ่มลงมือ โดยนัดอาสาสมัครในประเทศ ต่างประเทศ มาเป็นกลุ่มๆ ประมาณปีหนึ่งมี 100 คนที่มาช่วยกันทั้งใกล้และไกล มีทั้งจากสิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น อเมริกา แคนาดา"

"ส่วนระยะเวลาในการทำงานนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละชุมชน โดยขึ้นอยู่กับจำนวนบ้านบางแห่งอาจจะ 10 หลัง อย่างที่มาบตาพุดเราสร้างครั้งหนึ่งเป็นจำนวน 10-20 หลัง ที่ชุมชนเสือใหญ่ ที่แจ้งวัฒนะ 80 หลัง"

เหล่านี้เป็นกระบวนการทำงานภายใต้วัตถุประสงค์ของ "ฮาบิแทต"

ที่ ดร.ชัยณรงค์กล่าวทิ้งท้ายว่า "วัตถุประสงค์เดียวของเราคือการพยายามที่จะช่วยคนที่ยากจนประเภทเดินเข้า ธนาคารแล้วเขาปฏิเสธไม่ช่วย เพราะว่าจนเกินไป ให้ได้มีบ้านที่พอจะเรียกว่าบ้านได้ แล้วก็ในการที่จะมีบ้านนั้น เราพยายามที่จะสร้างให้ดี ไม่ใช่สักแต่ว่าจะสร้างไปแล้วก็ปล่อยไปเลย แต่สร้างให้แข็งแรง ให้ดีพร้อมที่ขยายให้ใหญ่ขึ้นเมื่อเขามีความสามารถมากขึ้นในอนาคต"

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 14 เมษายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03140451&day=2008-04-14&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: