วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551

Great Leadership และ CSR



Antony Bell เขียนไว้ในหนังสือ Great Leadership หรือภาวะผู้นำที่ยิ่งใหญ่ว่า แท้ที่จริง พนักงานมิได้เป็นทุนที่สำคัญที่สุดขององค์กรอย่างที่ชอบพูดกัน แต่สิ่งที่เป็นทุนสำคัญที่สุดของบริษัทคือภาวะผู้นำ เพราะเมื่อมีผู้นำที่เก่ง ผู้นำจะเป็นผู้พัฒนาส่วนอื่นๆ ขององค์กรได้เอง

Antony ยังกล่าวว่า ผู้นำที่มีความสามารถจะเป็นผู้ที่กำหนดกรอบการดำเนินงานขององค์กร หากแต่ผู้นำนั้นไม่ได้คิดทุกอย่างได้โดยไหวพริบ แต่ใช้การวางแผน การคิดค้น จนเกิดกรอบความคิดที่ผู้นำใช้เปลี่ยนแปลงองค์กร ในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง

พร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าว่า เราคงได้อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับภาวะผู้นำอยู่บ่อยๆ แต่สิ่งที่น่าสนใจของงานหนังสือเล่มนี้คือ การนิยามภาวะผู้นำ ซึ่งมีข้อคิดที่น่าสนใจอยู่ 2 ประเด็นคือ 1.การมีเข็มทิศที่ชี้แนะในเรื่องคุณธรรมที่ชัดเจน clear moral compass อันถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณของผู้นำ และ 2.มุมมองต่อโลก worldview ที่ว่า ผลการมองที่คิดว่าชีวิตคืออะไร และตัวตนของเรามีส่วนอย่างไรในชีวิตนี้

ภาวะผู้นำในภาคส่วนธุรกิจ และความแตกต่างระหว่างผู้นำทั่วไปและผู้นำที่ยิ่งใหญ่ เราคงนึกถึงภาวะผู้นำที่ยิ่งใหญ่ในฐานะผู้สร้าง หรือผู้ก่อให้เกิดบรรทัดฐานในอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ผู้นำที่ยิ่งใหญ่เหล่านั้นต่างก็มีความฝัน หรือเป้าหมายที่เริ่มจากความคิดง่ายๆ และค่อยๆ หล่อหลอมจนกลายเป็นเป้าหมายของภาวะผู้นำ

ผู้นำนอกจากมีความสามารถ มีเป้าหมายเชิงวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลแล้ว ผู้นำจะต้องมีคุณธรรมที่ปรากฏชัด และคุณลักษณะนี้สามารถนำพาผู้นำที่ธรรมดาก้าวสู่ภาวะผู้นำที่ยิ่งใหญ่

ทั้งหมดนี้เกี่ยวกับความรับผิดชอบทางสังคมของภาคธุรกิจอย่างไร ?

หาก มองว่าบทบาทในการทำให้ธุรกิจเกิดความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น คือบทบาทของใคร ของกรรมการบริษัท ผู้บริหารสูงสุด หรือพนักงานทุกคน เมื่อเราศึกษาภาวะผู้นำคงจะได้คำตอบแบบฟันธงว่า ผู้มีหน้าที่ก็คือ ผู้บริหารสูงสุด บริษัทที่มีผู้บริหารสูงสุดมีมุมมองต่อโลกในเชิงสร้างสรรค์ ต้องการเห็นโลกที่ดีกว่าวันนี้ คือต้องใช้ความสามารถในการบริหาร ส่วนที่เป็นความกล้า ส่วนที่เป็นคุณลักษณะอื่นที่ก่อให้เกิดกรอบงาน CSR ที่มีคุณค่าต่อบริษัทและสังคมอย่างกว้างขวาง ในทางกลับกัน ผู้บริหารสูงสุดมอบหมายงาน CSR ให้เป็นบทบาทของแผนกใดแผนกหนึ่ง โดยที่ผู้บริหารไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงเป็นการทำงานในเชิงรูปแบบ และเห็นงาน CSR เป็นเพียงกลไกด้านการตลาด ส่วนหนึ่งของบริษัท

ภาวะ ผู้นำนั้นไม่ได้ใช้ทักษะความสามารถอย่างเดียว และไม่ใช่อำนาจที่ได้รับมอบหมายจากองค์กร แต่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นภายในคนคนหนึ่ง ตั้งแต่การเกิดมุมมองต่อโลก worldview ที่มองโลกเชิงบวกในทำนองที่ว่า "เราสร้างสรรค์โลกที่ดีกว่าวันนี้ได้" และส่งผลต่อค่านิยม value ที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมหลากหลายในการแสดงออก บริษัทที่ออกแบบ CSR ได้ดีจะเปิดหน้าต่างมุมมองโลกนี้ให้พนักงานต้องขบคิดว่า ทำไม "ฉัน" จะต้องไปเกี่ยวข้องกับงานพัฒนาทางสังคม และเมื่อได้สัมผัสงานพัฒนาจริงๆ จะเกิดคำถามต่อว่า ทำไมความยากจนจึงยังปรากฏชัดในสังคมวันนี้

งาน พัฒนาที่เกิดจาก CSR นั้นเสริมสร้างและพัฒนาภาวะผู้นำได้ ผมขอยกตัวอย่าง บริษัท เมอร์ค ประเทศไทย ที่นอกจากจะทำ CSR ในระดับองค์กรแล้ว ผู้บริหารสูงสุดของเมอร์คยังได้ออกแบบให้ CSR เกี่ยวข้องกับพนักงานทุกระดับ โดยที่ทีมบริหารอาวุโสของบริษัท "ลงพื้นที่" เยี่ยมโครงการเพื่อสัมผัสงานนั้นๆ โดยมีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาทักษะเพื่อเตรียมเป็นฝ่ายจัดการในอนาคต

อีก สิ่งหนึ่งที่ผมได้เห็นและแปลกใจมากก็คือ การให้ทุกๆ แผนกของบริษัท โดยเฉพาะแผนกที่เกี่ยวกับงานขาย หรือพบปะลูกค้า ได้มีส่วนในการระดมทุน ช่วยเหลืองานพัฒนา ผมคิดว่าพนักงานขายที่มีภารกิจหนักอยู่แล้วจะต้องหงุดหงิดที่ต้องแชร์งาน ช่วยเหลือสังคมนี้ แต่พอเริ่มมีกิจกรรมด้าน CSR ที่หลากหลายของบริษัท จะเห็นว่าความหงุดหงิดเริ่มเป็นความเข้าใจและสนับสนุน ลองคิดดูว่าปกติพนักงานที่ต้องทำงานขายผลิตภัณฑ์ทุกวันๆ มาคราวนี้จะต้องอธิบายประโยชน์ในการทำงานพัฒนา และไม่ใช่ครั้งเดียว เนื่องจากลูกค้าเป็นระดับบริษัท เป็นร้านค้า ดังนั้นจะต้องมีการสนทนาเรื่องการบริจาคเพื่องานพัฒนาค่อนข้างบ่อย

ผู้ บริหารสูงสุดของเมอร์ค ประเทศไทย ออกแบบ CSR ให้ทีมมูลนิธิรักษ์ไทยว่า ต้องมีการแลกเปลี่ยน นำเสนอผลการดำเนินงานบ่อยๆ จนพนักงานเริ่มจับรูปธรรมในงานพัฒนาได้มากขึ้น

ปัจจุบันพนักงานของ เมอร์คมีมุมมองและทักษะในงานพัฒนาเพิ่มมากขึ้น จนสามารถช่วยกันทำจนเป็นงานปกติที่ต่างไปจากงานปกติในธุรกิจ อีกทั้งยังเป็น การหว่านเมล็ดและเพาะชำภาวะผู้นำ อีกด้วย

Antony Bell กล่าวว่า การพิจารณาองค์ประกอบที่รวมเป็นภาวะผู้นำสามารถเปรียบเทียบกับก้อนหินก้อน ใหญ่ๆ ที่ใช้ในการสร้างพีระมิด แต่ละก้อนค้ำยันก้อนอื่นๆ และแต่ละก้อนเป็นคุณลักษณะที่ประกอบขึ้นมาเป็นภาวะผู้นำ

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 28 เมษายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr04280451&day=2008-04-28&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: