วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2551

มองปรากฏการณ์... วัฒนธรรมสีเขียวในองค์กร !!


ปรากฏการณ์ "สีเขียว" ที่ว่าด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้ไม่เพียงปรากฏให้เห็นบนหน้าหนังสือพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ วิทยุ แต่วันนี้กำลังขยายวงไปถึงในลิฟต์ขึ้นออฟฟิศ หน้าประตูออฟฟิศ ห้องประชุม กระทั่งโต๊ะทำงาน

ในแทบทุกออฟฟิศมีตั้งแต่ป้ายรณรงค์ประหยัดพลังงาน กิจกรรมชวนไปปลูกป่า ป้ายเชิญชวนให้งดใช้ถุงพลาสติก ไปจนกระทั่งงดใช้กล่องโฟม

ทุกๆ 1 วันของสัปดาห์ที่พนักงาน โคคา-โคลา จะต้องหอบหิ้วขยะรีไซเคิลที่แยกแล้วจากที่บ้านมาเข้าธนาคารรีไซเคิล ซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2550 เพื่อกระตุ้นให้ พนักงานในองค์กรได้หันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านการคัด แยกขยะ โดยมีค่าตอบแทนเป็นแรงจูงใจ อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินที่งอกเงยขึ้นทุกๆ สัปดาห์ในบัญชี นอกจากพนักงานจะเบิกเงินกลับไป ยังสามารถนำเงินที่สะสมในบัญชีนั้นบริจาคเข้าโครงการเพื่อสังคมของบริษัท

ทุกๆ วันที่ ธนาคารเกียรตินาคิน กลุ่ม "ทูต KK อนุรักษ์พลังงาน" ซึ่งมีอยู่ในทุกแผนกทุกฝ่าย ซึ่งเป็นพนักงานที่ได้รับการเทรนด์ให้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ พลังงานกำลังขยายองค์ความรู้เหล่านี้สู่เพื่อนๆ พนักงาน

ทุกๆ เช้าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ "สมบูรณ์ กรุ๊ป" ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่จะตรวจสัมภาระที่พนักงานในบริษัทนำเข้ามาใน เขตโรงงาน เพราะตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น ถือเป็นนโยบายบริษัทที่โรงงานจะเป็นเขตปลอดโฟม

สิ่งละอันพันละน้อย เหล่านี้กำลังถูกปลูกฝังกับพนักงานในหลายองค์กร และนี่ถือเป็นหนึ่งในทิศทางของการขับเคลื่อนแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมของ องค์กร (CSR) ในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เริ่มจากภายใน โดยมีตัวตั้งด้วยการสร้าง "จิตสำนึก" จากพนักงาน ซึ่งเป็นทิศทางที่เริ่มปรากฏชัดหลังจากที่ผ่านมา องค์กรจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสำคัญเพียงกิจกรรมเพื่อสังคมภายนอกโดยหลงลืม พนักงานภายใน

วัฒนธรรมสีเขียวที่กรุงไทย

ปลายสัปดาห์ที่ผ่าน มา ที่ธนาคารกรุงไทยสำนักงานใหญ่ นอกจากจะเป็นการเปิดตัวโครงการ "กรุงไทย Growing Green" ที่ไม่เพียงจะเป็นโครงการในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับธนาคารกรุงไทยทั่ว ประเทศ โดยเริ่มต้นตั้งแต่ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเปิดสาขานำร่องที่แก่งคอยและกระทุ่มแบน ที่เป็นสาขา อนุรักษ์พลังงานอย่างสมบูรณ์แบบ โดยให้ความสำคัญตั้งแต่การออกแบบให้เป็นอาคารประหยัดพลังงานไปจนกระทั่งรูป แบบการตกแต่งภายนอก ซึ่งจะขยายสู่การปรับสาขาของกรุงไทยทั่วประเทศ ใน รูปแบบการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เรียกว่า กรีนรูฟ ซึ่งเป็นการทำสวนบนหลังคา และเป็นการปรับทัศนียภาพให้ดูร่มรื่น และอีกไม่นานยังจะมีการปรับปรุงอาคารสำนักงานใหญ่ ให้ร่มรื่นขึ้นและกลายเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนเมืองที่เรียกว่า "ซิตี้สเปซ"

การเปิดตัวโครงการครั้งนี้ยังมีนัยสำคัญในการประกาศ เจตนารมณ์ในการสร้างวัฒนธรรมสีเขียว (green culture) ภายในองค์กร ซึ่งถือเป็นการสานต่อการทำงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม หรือที่กรุงไทยเรียกว่า CSER ซึ่งเป็นการแสดงความรับผิดชอบที่มุ่งส่งเสริมทุนทางปัญญาใน 4 มิติ ด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม สังคมและสิ่งแวดล้อม

"พงศธร สิริโยธิน" รองกรรมการ ผู้จัดการอาวุโส ผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บมจ.ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า "ที่ผ่านมาเรามีกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมมากมายตั้งแต่เรื่องปลูกป่า การออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน แต่เราเชื่อว่าการจะอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สิ่งสำคัญคือการปลูกจิตสำนึกและสร้างให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร ที่ผ่านมาเรามีโครงการที่ปลูกฝังความคิดด้านอนุรักษ์กับบุตรหลานพนักงานและ ลูกค้า เพราะเราเชื่อว่าการสร้างวัฒนธรรมสีเขียวจะส่งผลกระทบทางบวก เนื่องจากเราเป็นองค์กรใหญ่ มีสาขาถึง 800 แห่ง และมีพนักงานถึง 16,000 คน"

" ในการสร้างวัฒนธรรมสีเขียว เราเชื่อว่าเมื่อพนักงานช่วยกันทำให้ฝังอยู่ในธุรกิจ และสามารถช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมนี้ต่อ เป็นเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่จะปกคลุมผลิดอกออกผลให้เกสรปลิวออกไปให้คนมี จิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมต่อไป" พงศธรกล่าวในที่สุด

"สมบูรณ์ กรุ๊ป" โรงงานปลอดโฟม

อย่าง ไรก็ตาม แม้ว่าต้นทางของความคิดในหลายองค์กรที่ลุกขึ้นมารณรงค์สร้างจิตสำนึกใน เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้นจะเป็นแนวคิดที่ดี แต่ในทางปฏิบัติบางครั้งก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เช่นเดียวกับทุกการเริ่มต้นที่บางครั้งย่อมเผชิญหน้ากับแรงเสียดทานและการ ต่อต้าน ที่โรงงานของ "สมบูรณ์ กรุ๊ป" หลังจากเริ่มต้นโครงการ "โรงงานปลอดโฟม" ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการรณรงค์ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงานในองค์กรให้เลิกการใช้ โฟมในการบรรจุอาหาร ด้านหนึ่งเป็นการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่อีกด้านหนึ่ง โครงการนี้ยังอยู่ เป็นความรับผิดชอบต่อ "พนักงาน" ในเรื่องของสุขภาพ

"ตอนเริ่มต้นโครงการอาจจะมีพนักงานไม่เห็นด้วย บ้าง เพราะเดิมเขาสะดวกสบายและเคยชินกับการใช้กล่องโฟมในการบรรจุอาหาร แต่เราก็พยายามมีสิ่งต่างๆ เตรียมไว้รองรับ ไม่ว่าจะเป็นการแจกถุงผ้า การแจกกล่องข้าว ขวดน้ำ ซึ่งสามารถนำมาใช้ทดแทนการบรรจุกล่องโฟม และเรายังพยายามชี้ให้เขาเห็นว่านี่เป็นสิ่งสำคัญกับสุขภาพ ทั้งยังเป็นการลดขยะในการช่วยสิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้พนักงานเข้าใจและโรงงานปลอดโฟมบรรจุอาหารแล้ว 100%" กาญจนา สุขพรหม ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมสังคม (CSR Manager) สมบูรณ์ กรุ๊ป กล่าว

สิ่งเล็กๆ ที่เปลี่ยนแปลงโลก

ปัจจุบัน โรงงานจึงสามารถลดขยะจากกล่องโฟมได้มากถึง 600 กล่องต่อวัน ซึ่งถ้าคำนวณต่อปีแล้วสามารถลดได้จำนวนมหาศาล แต่นี่ดูเหมือนว่ายังอาจจะไม่ได้ไปถึงปลายทางที่บริษัทตั้งใจไว้ เพราะเป้าหมายในการทำโครงการรณรงค์ครั้งนี้ไม่ใช่อยู่แต่เพียงการลดขยะโฟมใน โรงงานเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายสูงถึงการขยายผลให้พนักงานนำไปปฏิบัติในครอบครัวและขยายผล ไปสู่ชุมชนที่เขาอยู่อาศัย

"เรื่องนี้คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ในการที่จะประเมินผล เพราะเราต้องการผลในระยะยาวด้วย ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไป แม้สิ่งที่เราทำอาจจะดูเป็นจุดเล็กๆ แต่จำนวนพนักงาน 2,500 คนถ้าสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและขยายผลได้ก็น่าจะช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้ เพราะที่ผ่านมาเรามักพูดเรื่องการลดภาวะโลกร้อนในมุมของกระบวนการผลิต ทั้งๆ ที่ภาวะโลกร้อนเกิดจากคนมากกว่า ดังนั้นถ้าพัฒนาแต่กระบวนการผลิตแต่ไม่พัฒนาคนก็ไม่เกิดประโยชน์" กาญจนากล่าว

ถึงวันนี้โรงงานสมบูรณ์ กรุ๊ป ปลอดโฟม 100% สำหรับบรรจุภัณฑ์อาหาร ส่วนโฟมที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ได้วางแผนที่จะทำ ความเข้าใจและร่วมมือกับคู่ค้าหาวัสดุที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมมาทดแทน และภายในปี 2553

จะเห็นว่าความพยายามในการสร้างวัฒนธรรมสีเขียวจาก ภายในที่เกิดขึ้นในหลายองค์กรไม่ได้ใช้งบประมาณมหาศาล แต่กลับเป็นความพยายามในการสอดแทรกแง่มุมต่างๆ ไปในชีวิตประจำวัน และหลายครั้งก็เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ "ฐิตินันท์ วัธนเวคิน" ประธานสายธุรกิจเงินฝากและการตลาด ธนาคารเกียรตินาคิน บอกกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงมุมคิดในการขับเคลื่อน CSR ขององค์กรสู่ความสำเร็จไว้อย่างน่าสนใจว่า "สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ให้คนเกิดจิตสำนึก เพราะเราเชื่อว่า CSR จะเกิดได้ต้องมาจากผู้บริหารระดับสูง ต้องเข้าใจ ต้องมีนโยบายลงมา แต่พอมีแล้วจะประสบความสำเร็จได้ต้องเริ่มจากจิตสำนึกของคนข้างล่างและทำ ทั้งองค์กร แม้จะทำให้สำเร็จในคราวเดียวได้ยาก แต่ถ้าค่อยๆ ทำนั้นไม่ ยาก" ฐิตินันท์กล่าวในที่สุด

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 28 กรกฎาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01280751&day=2008-07-28&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: