วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2551

CSR Academy 1

เจาะลึกแนวปฏิบัติ CSR สู่องค์กรที่ยั่งยืน "ต้องทำในสิ่งที่เหมาะกับองค์กรที่สุด"


ผ่านไป แล้วสำหรับหัวข้อแรก "เจาะลึก CSR แนวปฏิบัติสู่องค์กรที่ยั่งยืน" ภายใต้โครงการ CSR Academy หลักสูตรฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการที่หนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจร่วมกับ สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดขึ้น นับจากนี้ไปเหลืออีก 5 หัวข้อที่จะจัดขึ้นเดือนละครั้งต่อเนื่องไปจนถึงเดือนตุลาคม 2551 ที่มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องที่นำไป สู่การยกระดับ CSR เพื่อความยั่งยืนขององค์กร

ในหัวข้อแรกของหลัก สูตร มี "อนันตชัย ยูรประถม" หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้าน CSR ของไทย และ "สุภา โภคาชัยพัฒน์" รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (เอเอซีพี) ซึ่งได้รับรางวัล The Stevie Award เมื่อปีที่ผ่านมาในฐานะ "สุดยอดนักธุรกิจหญิงด้าน CSR ในเอเชีย" เป็นวิทยากร ที่สะท้อนแนวทางการเริ่มต้นขับเคลื่อน CSR ในองค์กรไปสู่ความสำเร็จด้วยนัยที่น่าสนใจ

น่าสนใจตั้งแต่มุมมองแนว คิดความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ที่ทั้ง 2 คนมองว่า มิใช่เป็นเพียงกิจกรรมเพื่อสังคม มิใช่เป็นเพียงการให้โดยไม่หวังผลตอบแทน หากแต่ CSR ที่จะนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนขององค์กรอย่างแท้จริงนั้น ต้องมองในเชิงระบบ ตั้งแต่กระบวนการดำเนินธุรกิจทุกภาคส่วนที่ต้องสอดคล้องอย่างมีกลยุทธ์ "อนันตชัย" บอกว่า "เราไม่ได้บอกว่า CSR ขององค์กรที่ต้องการให้หรือทำกิจกรรมอย่างเดียวเป็นเรื่องผิด แต่เรากำลังพูดถึง CSR ในแง่มุมที่จะสามารถนำพาองค์กรไปสู่ความยั่งยืนนั้นต้องมองในเชิงระบบ อย่างน้อยเราต้องไม่ลืมว่าเงินทุกบาทที่นำมาทำ CSR นั้นต้องมีคำตอบให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียในองค์กร"

แนวปฏิบัติที่ไม่ได้มีสูตรสำเร็จ

โดยหัวใจของการจะทำ CSR ให้ประสบความสำเร็จต้องมองสิ่งที่เหมาะสมและสอดคล้องกับองค์กรมากที่สุด

ซึ่ง "อนันตชัย" มองว่าแนวปฏิบัติของความรับผิดชอบต่อสังคมที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนนั้น ต้องเริ่มจากการแยกพื้นที่ทางสังคมออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือสังคมภายในองค์กร เช่น ผู้ถือหุ้น พนักงาน โดยประเด็นทางสังคมที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบก็มี ตั้งแต่ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน คุณภาพชีวิตพนักงาน สวัสดิการ ทางสังคม เป็นต้น พื้นที่ส่วนที่ 2 เป็นพื้นที่ในระดับต่อมาคือตลาด เช่น ลูกค้า ซัพพลายเออร์ คู่แข่ง ฯลฯ ในพื้นที่นี้ความรับผิดชอบที่องค์กรต้องมีอาจจะเป็นประเด็นเรื่องการค้าที่ เป็นธรรม ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย ฯลฯ และพื้นที่สุดท้ายซึ่งอยู่วงนอกสุดคือ สังคมภายนอก เช่น ภาครัฐ ชุมชน และสังคม ซึ่งองค์กรจะต้องมีความรับผิดชอบในเรื่องการจ่ายภาษีอย่างถูกต้อง การพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน

เมื่อแยกออกมาได้ดังนี้ จะทำให้องค์กรสามารถกำหนดกิจกรรมหรือโครงการที่จะดำเนินการในทางปฏิบัติ

" ถ้ามองได้อย่างนี้แล้วจากนโยบายก็จะถูกประยุกต์มาสู่การปฏิบัติได้ ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าต้องมองให้มีความเชื่อมโยงตั้งแต่วิสัยทัศน์ กลยุทธ์ธุรกิจ ที่สำคัญการเชื่อมโยงภาพแบบนี้จะทำให้เราสามารถประเมินผลได้ว่าปัจจุบันมี ประเด็นปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง สอดคล้องกับพื้นที่ทางสังคมของเรามากน้อยขนาดไหน อะไรที่สังคมต้องการ และองค์กรจะเลือกให้น้ำหนักเรื่องไหนเป็นพิเศษ" อนันตชัยกล่าวในที่สุด

จากกลยุทธ์สู่วิธีปฏิบัติ

กรณี ศึกษาของ "เอเอซีพี" นั้น เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการมองการขับเคลื่อน CSR ที่เชื่อมโยงกับธุรกิจ ซึ่ง "สุภา" ในฐานะที่ปลุกปั้นเรื่องนี้มากับมือ โดยใช้ระยะเวลาเพียง 3 ปีในการจัดระบบระเบียบ CSR องค์กร และขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวว่า ในการเริ่มต้น CSR ในองค์กรสิ่งสำคัญต้องเริ่มจากที่มองว่าบริษัททำอะไรและใครเป็นกลุ่มเป้า หมาย ซึ่งการเข้ามาเริ่มต้นในเอเอซีพีนั้นไม่ยากมากนัก เนื่องจากอลิอันซ์ฯซึ่งมีกรอบการทำงาน CSR ไว้ 4 ด้านอยู่แล้ว โดยมองอย่างมีที่มาที่ไป โดยศึกษาผลกระทบ ด้านต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบกับธุรกิจ ประกันชีวิตในอนาคต ด้านแรกคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ด้านที่ 2 สังคมผู้สูงอายุ (ageing society) 3.ความปลอดภัยและการป้องกันภัย (safety-security) และด้านที่ 4 คือ สินเชื่อรายย่อย (microfinance)

"อย่างการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศ ถามว่าเกี่ยวกับบริษัทประกันยังไง ก็ต้อง บอกว่ายิ่งมีภัยพิบัติมากขึ้นในอนาคต มีบ้านเรือนที่ประกันความเสียหายกับบริษัท ฉะนั้นบริษัทประกันก็ได้รับผลกระทบ หรืออย่างสังคมผู้สูงอายุ ในประเทศที่ประชากรของประเทศนั้นมีคนอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปเกินกว่า 10% ซึ่งประเทศไทยเข้าสู่ภาวะนั้นมาตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งถามว่าเกี่ยวข้องอย่างไรกับบริษัทประกัน โดยเราก็ต้องพยายาม ส่งเสริมให้คนวัยทำงานรู้จักเก็บออมไว้เมื่อเกษียณจะได้มีเงินใช้ตลอดชีวิต และถ้าเตรียมตัวไม่ดีก็จะเป็นภาระกับคนวัยทำงานในอนาคต" สุภากล่าว

เช็กแอนด์บาลานซ์ ธุรกิจ-สังคม

จาก โจทย์นี้จึงเป็นที่มาที่ "เอเอซีพี" ต่อยอดมาสู่การขับเคลื่อน CSR ในองค์กรซึ่งเป็นโจทย์ที่ "สุภา" บอกว่า ในตอนเริ่มต้นองค์กรจะต้องหาโจทย์นี้ให้เจอ ก่อนจะคิดว่าจะทำกิจกรรมหรือโครงการอะไรบ้าง สำหรับ "เอเอซีพี" นั้นเห็นได้ชัดเจน แม้เป็นเพียงกิจกรรมเพื่อสังคมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ CSR ในองค์กร ก็ยังมีการเชื่อมโยงเพื่อนำไปสู่ประเด็นทางสังคมที่เหมาะกับองค์กร อย่างการประกวด Thailand Animation Contest 2008 ที่พยายามกระตุ้นให้คนในสังคมมองเห็นและเข้าใจผู้สูงอายุด้วยการจัดประกวดแอ นิเมชั่นระดับเยาวชนในหัวข้อ "เยาวชนและสังคม ผู้สูงวัย" ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างมาก

ฉะนั้น "สุภา" แนะนำว่า "เมื่อเราทำกิจกรรมหรืออะไรไป เราต้องกลับมาเช็กเป็นระยะๆ ด้วยว่า สิ่งที่เราทำมันได้อะไรกลับมาให้บริษัทหรือไม่ หรือสิ่งที่เราทำแล้วสังคมได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า หรือเราทำกิจกรรมเพื่อสังคมเพราะเราต้องการภาพลักษณ์ เราต้องหลุดมาจากตรงนั้นให้ได้"

ด้วยการสร้างสมดุล ของทั้ง "ธุรกิจ" และ "สังคม" เข้าด้วยกัน !!

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุุรกิจ วันที่ 26 พฤษภาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03260551&day=2008-05-26&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: