วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2551

ภาคธุรกิจกับงานสิทธิมนุษยชน


พร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย
หลายปีก่อนที่ CSR จะมาได้รับความนิยมเช่นปัจจุบัน ผมเคยจัดประชุมของมูลนิธิรักษ์ไทยเรื่องการทำงานเชิงสิทธิในงานพัฒนา โดยผู้เข้าร่วมประชุมเป็นองค์กรภาคีภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนด้วยกัน นอกจากนั้นผมได้เชิญเพื่อน CEO ต่างชาติหนึ่งท่าน บริษัทของ CEO นี้เป็นบริษัทต่างประเทศที่ทำงานในประเทศไทยและเป็นบริษัทที่สนับสนุนการ ช่วยเหลือชุมชนผ่านมูลนิธิ ซึ่ง CEO ท่านนั้นได้กรุณามาร่วมประชุมตามคำเชิญ ในการประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนวิธีการทำงานพัฒนาเชิงสิทธิ หรือ rights-based approach ซึ่งไม่ใช่การเรียกร้องสิทธิร่วมกับชุมชน แต่เน้นการพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้เป็นผู้วิเคราะห์ และหยิบยกประเด็นสิทธิและหน้าที่ เพื่อตนเองและชุมชนได้เข้าถึงสิทธิ เมื่อประชุมเสร็จลง CEO คนนั้นเดินมาขอบคุณที่ได้ร่วมประชุม พร้อมกับพูดเกือบเสียงเหมือนกระซิบ เหมือนมีความเกรงใจในคำพูดตนเองว่า "ผมชอบงานที่คุณทำอยู่ แต่ถ้าจะดึงดูดความสนใจของภาคธุรกิจอาจจะต้องไม่ใช้คำว่า สิทธิ ได้ไหม"

มา ถึงวันนี้ที่ CSR เป็นคำที่กล่าวถึงกันเฉกเช่นเป็นของธรรมดา ผมจึงได้กลับมาคิดว่า ภาคธุรกิจจะทำงานสิทธิไม่ได้หรือ และคำตอบที่อยากให้ทุกคนได้ยินคือได้ และได้แน่นอน บริษัทธุรกิจต่างๆ ทำงานเสริมสร้างสิทธิมนุษยชนได้ทุกบริษัท และน่าจะพิจารณาว่า CSR เป็นเครื่องเสริมสร้างสิทธิพื้นฐานในสังคม

บางคนอาจจะคิดว่า CSR ยังมีเป้าหมายที่สนับสนุนการดำเนินงานและผลกำไรของบริษัทในระยะยาว แล้วจะเกี่ยวข้องกับการทำงานเชิงสิทธิ

ได้ อย่างไร แต่เมื่อพิจารณาคำ CSR หรือตัวเต็มว่า corporate social responsibility แปลความหมายถึง ความรับผิดชอบทางสังคม ความรับผิดชอบของบริษัทก็เป็นพื้นฐานที่สำคัญของการทำงานเชิงสิทธิ ความรับผิดชอบต่อสังคมอาจจะเริ่มจากการทำงานภายในบริษัท จนกระทั่งการรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

การเสริมสร้างโอกาสด้านการ ศึกษาของประเด็นยากจน การเสริมพลังการคิดและภาวะผู้นำของเยาวชน หรือการช่วยเหลือคนที่ตกในภาวะชายขอบ ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสังคมได้ เช่น ชนชาติพันธุ์ หรือแม้กระทั่งการทำงานด้านการศึกษาพื้นฐานให้เด็กแรงงานข้ามชาติที่มาทำงาน ในประเทศไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีฐานการทำงานเชิงสิทธิอยู่

ลักษณะ สำคัญของการทำงานเชิงสิทธิ คือการเสริมสร้างโอกาสในการเข้ามามีส่วนร่วม participation โดยวิถีการเพิ่มพลังในตัวตน หรือ empowerment ของผู้ที่ตกอยู่ภาวะชายขอบ การทำงานเชิงสิทธิมิได้มองว่าคนเกิดมาจน เกิดมาอยู่ในครอบครัวที่อยู่ชายขอบ สังคมต่างหากที่ไม่ได้เปิดโอกาสในการเข้าถึงบริการที่จำเป็น หรืออย่างน้อยส่งเสริมให้เขาได้แก้ปัญหาด้วยตนเอง การเพิ่มพลังในคน ตัวอย่างง่ายๆ เช่น การช่วยเหลือให้เด็กๆ ในพื้นที่ยากจนมีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น การช่วยเหลือครอบครัวที่ยากจนให้มีโอกาสด้านอาชีพมากขึ้น หรือการเสริมสร้างโอกาสให้ชุมชนในพื้นที่ป่ามีส่วนร่วมในการดูแลจัดการ ทรัพยากรป่าไม้ การพัฒนาความทัดเทียมระหว่างหญิงและชาย

หลักการเอ็ม พาวเวอร์เมนต์ถูกเปรียบ เปรยเหมือน หากเราต้องการช่วยเหลือครอบครัวคนจนครอบครัวหนึ่ง แทนที่จะนำปลามาให้ครอบครัวนี้ได้กินเป็นมื้อๆ เราน่าจะแนะนำครอบครัวที่ยากจนถึงวิธีการจับปลาด้วยตนเอง เพราะเขาสามารถจับปลาได้ทุกวันโดยไม่ต้องรอการช่วยเหลือสงเคราะห์จากผู้อื่น

งานพัฒนาที่เน้นความสำคัญของ "คน" จึงเป็นงานที่มีพื้นฐานเชิงสิทธิ แต่ในการทำงานเชิงสิทธิเรามักจะรวมถึงความพยายามในการแก้ไข "สาเหตุ" ของความด้อยโอกาส นั่นหมายถึงการพิจารณารากเหง้าของความไม่ด้อยโอกาส และความเชื่อว่าคนเราอาจไม่สามารถเลือกเกิดได้ในครอบครัวที่มีทุกอย่างพร้อม แต่สมาชิก สังคมทุกคนมีความรับผิดชอบในการทำอย่างไร ให้คนที่ด้อยโอกาสมีทางเลือก มากขึ้น

การพัฒนาเพื่อแก้ไขสาเหตุที่มี ความไม่ทัดเทียม นอกจากจะทำงานแบบเอ็ม พาวเวอร์เมนต์ ยังทำงานกับผู้ที่มีความรับผิดชอบหรือหน้าที่ต่อการพัฒนาผู้ด้อยโอกาส เช่น ครู หน่วยงานราชการ องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น โดยมีการส่งเสริมให้ผู้ที่มีความรับผิดชอบอยู่แล้วได้ทำบทบาทนั้นได้ดีขึ้น จึงมีความแตกต่างระหว่างการให้ทุนช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสเป็นครั้งๆ การทำงานพัฒนาแต่อย่างเดียว กับการทำงานพัฒนาเชิงสิทธิ

ตัวอย่าง ครอบครัวที่รู้จักจับปลาด้วยตนเองแล้ว แต่ไม่มีแหล่งน้ำเพื่อที่จับปลานั้น การทำงานเพื่อแก้ไขสาเหตุรากเหง้าก็จะเน้นการ "เข้าถึง" หรือสิทธิการใช้แหล่งน้ำที่มีปลา ทั้งนี้การใช้แหล่งน้ำนั้นๆ ก็ต้องทำด้วยความรับผิดชอบ คือผู้ใช้ มีวิธีการใช้ ที่เน้นความพอเพียง ความยั่งยืนของแหล่งปลานั้นด้วย

การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนของ ชุมชนคือการวางระเบียบการใช้แบบทดแทน และการทำงานเป็นเครือข่ายของผู้ใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั่งเดิมในพื้นที่ป่า อีกตัวอย่างคือการทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย ซึ่งมาวันนี้ได้กลายเป็นตัวอย่างของงานเชิงสิทธิที่ยอมรับระดับนานาชาติ โดยผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีความสำเร็จในด้านการเข้าถึงสิทธิพื้นฐาน คือสิทธิการเข้าถึงการรักษา เสริมสร้าง "พื้นที่ทางสังคม" ได้อย่างน่าชื่นชม

บริษัทที่ทำงานเพื่อเสริมสร้างความรับผิดชอบทาง สังคมน่าจะเสริมสร้างความเข้าใจในการทำงานเชิงสิทธิ เสริมสร้างการมีส่วนร่วม การเกิดพลังในการพัฒนาตนเอง ผมเชื่อว่างาน CSR จะเป็นการเดินไปอีกก้าวที่สำคัญในการพัฒนาสังคม ซึ่งตรงนั้นน่าจะเป็นเรื่องยินดี ทั้งผู้ประกอบการ พนักงาน และสังคมโดยกว้าง

หากบริษัทใดสนใจหรือต้องการข้อมูลเรื่องการทำงาน เชิงสิทธิ หรือการทำงาน พัฒนาในรูปแบบ CSR อื่นๆ หรือบริษัทมีตัวอย่างดีๆ ที่อยากเล่าสู่กันฟัง สามารถติดต่อผมได้ด้วยความยินดี ที่ Email promboon@raksthai.org และหาข้อมูลมูลนิธิรักษ์ไทยที่เว็บไซต์ www.raksthai. org

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 15 กันยายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03150951&day=2008-09-15&sectionid=0221


ไม่มีความคิดเห็น: