วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2551

ได้เวลา CSR กับ "ณรงค์ สีตสุวรรณ"

ทัศนคติที่สร้างสรรค์คือผลพลอยได้


ใน บทบาทหนึ่ง "ณรงค์ สีตสุวรรณ" นั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) โดยมีหน้าที่หลักในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานและการขยายการลงทุนของบริษัท และบริษัทในเครือทั้งในและต่างประเทศ

2 ปีที่ผ่านมานอกจากการขับเคลื่อนธุรกิจ สิ่งที่หนึ่งที่เขาให้ความสำคัญคือการจัดระบบการทำงานขับเคลื่อน CSR ในองค์กร

"ประชาชาติธุรกิจ" ตั้งคำถามเมื่อมีโอกาสพูดคุยกับเขาว่า "คิดว่าเป็นการทำตามกระแสหรือไม่"

" ณรงค์" บอกว่า "เรื่องนี้อยู่ในสายตาผมมาตลอดและเห็นว่าที่ราชบุรีฯก็ทำกิจกรรมเพื่อสังคม มามาก เมื่อผมมาที่นี่เมื่อ 2 ปีก่อน ผมเห็นว่าที่นี่ก็ทำงานเพื่อสังคมมาก ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของชุมชนสัมพันธ์ที่ทำกันมานาน เพียงแต่ว่าไม่ได้ทำเป็นระบบและทำในวงกว้าง"

และเชื่อว่าวันนี้เป็น เวลาที่พอเหมาะ เมื่อบริษัทเจริญเติบโตและค่อนข้างมีความแข็งแกร่งและสามารถมีความรับผิดชอบ ในระดับพื้นฐาน ทั้งการทำตามกฎหมายและการปฏิบัติตาม

หลักเกณฑ์ของ ตลาดหลักทรัพย์ฯในฐานะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาด ในการที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าการช่วยเหลือเฉพาะในพื้นที่ ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า

และเป็นเวลาที่พอเหมาะในการจัดระบบการทำงาน CSR เสียใหม่ โดยตั้งส่วนกิจกรรมสังคมขึ้นมาเพิ่มเติม อยู่ภายใต้การดูแลของฝ่ายสื่อสารองค์กร ขณะเดียวกันมีการปรับโฟกัสเรื่องนี้ให้ชัดขึ้น โดยเลือกให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการป่าชุมชนที่ ปัจจุบันมีกว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศให้มีความยั่งยืน รวมไปถึงการวางระบบงาน

"ผมเชื่อว่าการจัดระบบจะทำให้มีความยั่งยืน ถ้ามีถ้าผมไปเรื่องนี้ก็ยังอยู่ เหมือนป่าชุมชน ถ้าไม่มีราชบุรีฯเขาก็ต้องอยู่ได้ และผมมองว่าเมืองไทยให้ความสำคัญกับบุคคลมากเกินไป ดังนั้นถ้าจะให้ยั่งยืนในทุกเรื่องต้องมีการสร้างดุลยภาพระหว่างระบบและ บุคคลให้สมดุลกัน"

เช่นเดียวกับการเลือกทำโครงการ "คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน"

เขา บอกว่า "ผมเชื่อว่าเราต้องโฟกัสประเด็นให้ชัดมากขึ้น โดยดูศักยภาพในสิ่งที่บริษัททำได้ จริงๆ เรื่องปลูกป่าก็มีคนทำเยอะแล้ว ผมคิดว่าโครงการนี้เป็นการสร้างทั้งป่าและคน ปัญหาในสังคมที่เกิดขึ้นทุกวัน ม็อบที่เราเห็นๆ ก็เกิดจากความหวาดระแวงและมีทัศนคติในแง่ลบต่อกันของคนในสังคม ผมว่าในโครงการนี้จะเป็นการสร้างสังคมด้วย"

โดยขยายความว่า "การที่ป่าจะมีคุณภาพได้ สมดุลไม่เสื่อมโทรม จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีชุมชนที่เข้มแข็ง คนมีคุณภาพ ใช้เหตุใช้ผล มีความรู้ ไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ตักตวง พอเขาเรียนรู้เรื่องแบบนี้ ไม่ว่าจะไปทำอะไร วิธีคิดแบบนี้จะติดตัวเขาไปด้วย สังคมก็ดีตาม"

ดัง นั้นเวทีการประกวดป่าชุมชนที่ในปีนี้ซึ่งถือเป็นครั้งแรก มีชุมชนที่ร่วมส่งประกวดกว่า 800 แห่ง และได้รับการคัดเลือกในระดับจังหวัด ระดับภาคและระดับประเทศรวม 125 แห่ง ไม่เพียงจะเป็นการยกย่องให้คนในชุมชนมีกำลังใจ หากแต่ยังมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้เกิดต้นแบบ เพื่อสร้างการเรียนรู้ระหว่างกัน โดยระหว่างทางของการดำเนินโครงการจะมีการจัดกิจกรรมเป็นระยะๆ เพื่อให้แต่ละชุมชนมีโอกาสแลกเปลี่ยนบทเรียนระหว่างกัน มีค่ายเยาวชนและกิจกรรมอาสาสมัครพนักงานเข้าไปเรียนรู้

"สิ่งที่เรา ทำจะสะท้อนกลับมาสู่องค์กร ไม่เพียงแต่พนักงานจะเกิดความภาคภูมิใจ คุณค่า (value) อีกอย่างที่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นคือ ทัศนคติในทางที่สร้างสรรค์ เพราะเวลาทำงานสิ่งสำคัญแทนที่จะมาคอยกล่าวหากันว่าใครผิด แต่สิ่งที่เราต้องถามก็คือ มีวิธีที่ดีกว่านี้หรือไม่ ผมเชื่อว่าถ้าเกิดทัศนคติแบบนี้ได้ นี่คือผลพลอยได้จากการทำกิจกรรม CSR ซึ่งจะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าขององค์กร" ณรงค์กล่าวในที่สุด

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาติธุรกิจ วันที่ 8 กันยายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr02080951&day=2008-09-08&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: