วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2551

ให้การ "ปลูกป่า" เป็นมากกว่าแฟชั่น !!



" จากกระแสโลกร้อนที่ผ่านมาทำให้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่ามีคนสนใจมาปลูกป่าชายเลนในพื้นที่กับเรามากขึ้น บางทีก็มากันเป็นครอบครัว 5-10 คน หรือบางทีบริษัทก็จัดพาพนักงานมาปลูกป่า เฉพาะแค่ในรอบปีที่ผ่านมาเราสามารถขยายพื้นที่ป่าได้มากถึง 78 ไร่ หรือปลูกต้นไม้ไปเกือบ 1 แสนต้น ซึ่งโดยปกติเราไม่สามารถทำได้มากถึงขนาดนี้" จ่าสิบเอกนิเวช ชูปาน เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมศึกษา ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก บางปู เล่าให้ฟังถึงความตื่นตัวของคนในสังคม ตลอดจนองค์กรธุรกิจ จากกระแสรณรงค์เรื่องปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

แม้ ในฐานะคนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เขามีข้อเป็นห่วงว่า ทุกวันนี้หลายพื้นที่การปลูกป่าถูกจัดขึ้นแค่เป็นกิจกรรม โดยหลงลืมการมองความยั่งยืนในระยะยาว ทำให้อัตราการรอดของต้นไม้แทบจะไม่มี รวมไปถึงความไม่เข้าใจในพื้นที่ เช่น การนำไม้พันธุ์ต่างถิ่นมาปลูก การปลูกโดยไม่ใส่ใจวิธีการปลูกที่ถูกต้อง รวมไปถึงการไม่มี งบประมาณในการดูแลรักษาซึ่งต้องใช้เวลาดูแลต่อจากวันที่ปลูกไปอย่างน้อยก็ 2-3 ปี

นี่เป็นเสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่ ของความสูญเปล่าที่เกิดขึ้นจากกิจกรรม "ปลูกป่า" ยอดนิยมและทำให้กิจกรรมในลักษณะนี้ของหลายองค์กรในวันนี้ถูกมองเป็นเรื่อง ของแฟชั่น บางครั้งก็เป็นแค่กิจกรรมประชาสัมพันธ์ที่ผิวเผิน

อะไรคือทางออกและจะสามารถก้าวพ้นสิ่งที่ว่านั้น !!

ดร. พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่อง CSR กล่าวว่า "แม้แต่กิจกรรมปลูกป่า ถ้าเรามองในเชิงนวัตกรรม CSR ก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ โดยเฉพาะวันนี้ถ้าเราคุยกับผู้เชี่ยวชาญจะรู้ว่าป่าที่ไปปลูกๆ กันมีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่รอด เพราะสิ่งสำคัญกว่านั้นคือการดูแลรักษาให้ต้นกล้าแข็งแรงและเติบโตซึ่งต้อง ใช้งบประมาณในการดูแลรักษาต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งถ้าสมมติว่ามีองค์กรใดองค์กรหนึ่งเข้าไปเลือกที่จะดูแลรักษาต้นไม้อย่าง เดียว อย่างนี้ผมถือว่าเป็นกิจกรรมที่สร้างความแตกต่างได้และถือเป็นนวัตกรรม"

ทั้งนี้ต้องมองความต้องการของสังคมเป็นฐานบวกกับวิธีคิดที่แตกต่าง !!

เมอร์ค : Care for Green

วัน หยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาก็เช่นเดียวกับวันหยุดอื่นๆ ที่องค์กรธุรกิจมักจะเข้ามาจัดกิจกรรมปลูกป่าที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก บางปู แต่ผิดกันก็ตรงที่ครั้งนี้ถือเป็นการระดมคนที่เข้ามาลงแรงในการปลูกป่ามาก ถึง 1,000 คน ซึ่งถือเป็นคณะใหญ่ที่สุดตั้งแต่เคยมีการจัดกิจกรรมในพื้นที่นี้ โดยมีเป้าหมายในการปลูกต้นไม้กว่า 12,000 ต้น ในช่วงระยะเวลาเพียง 2-3 ชั่วโมง ภายใต้โครงการ "Care for Green : รักษ์ผืนป่ากับเมอร์ค ประเทศไทย ครั้งที่ 2" เพื่อเป็นการสานต่อเจตนารมณ์การลดความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลก ร้อน โดยร่วมมือกับมูลนิธิ Plant-A-Tree Today รวมไปถึงกองทัพบกและเทศบาลเมืองสมุทรปราการ

บริษัทตั้งต้นด้วยการ บริจาคต้นไม้ 2,008 ต้น ส่วนที่เหลือเป็นต้นไม้ที่ได้มาจากการบริจาคของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้ง หมด ตั้งแต่ลูกค้า ซัพพลายเออร์ กระทั่งผู้ถือหุ้น โดยเปิดโอกาสให้คนเข้ามามีส่วนร่วมและสามารถซื้อต้นไม้บริจาคต้นละ 40 บาท ซึ่งเป็นราคาของต้นกล้ารวมกับงบประมาณในการดูแลรักษาต่อไปอีกอย่างน้อย 2 ปี

แม้จำนวนคนเข้าร่วมงานจะเป็นเครื่อง ชี้วัดของความสำเร็จหนึ่งที่น่าสนใจของบริษัทที่มีพนักงานเพียง 190 คน แต่จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมกลับ

ไม่ใช่เป้าหมายปลายทางของกิจกรรมนี้ ทั้งหมด หัวใจของกิจกรรมนี้อยู่ที่การสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ที่ มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร โดยดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม กิจกรรมเล็กๆ ที่ถูกเสริมเข้าไปคือการสร้างมัคคุเทศก์น้อยจากโรงเรียนในพื้นที่ซึ่งได้รับ การอบรมด้านสิ่งแวดล้อม โดยจะทำหน้าที่ให้ความรู้เรื่องระบบนิเวศและการปลูกป่าที่ถูกวิธีกับอาสา สมัครที่ลงพื้นที่ปลูกป่า

ในเวลาเดียวกันยังสามารถตอบโจทย์สำคัญใน การขับเคลื่อน CSR ของเมอร์ค ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและลูกค้า ทั้งยังสอดคล้องกับกลยุทธ์ CSR ที่ 1 ใน 3 ด้านคือการดูแลสิ่งแวดล้อม

"เราเห็นว่าที่ผ่านมาภาย ในกระบวนการทำธุรกิจเราทำเรื่องสิ่งแวดล้อมมามากมาย แต่เราต้องการเปิดโอกาสให้ลูกค้าและ พนักงานได้มีส่วนร่วมในการตระหนักต่อ สิ่งแวดล้อม เราถึงมาทำเรื่องปลูกป่า ที่สำคัญเมื่อหัวใจหลักอีกอย่างหนึ่งของกิจกรรมเราอยู่ที่การสร้างความ สัมพันธ์ระหว่างลูกค้าและพนักงาน การได้มาร่วมประสบการณ์ในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกัน ทำให้ตอบโจทย์เรื่องนี้ได้" สุวรรณา สมใจวงษ์ ผู้จัดการฝ่ายความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัท เมอร์ค ประเทศไทย กล่าว

CSR ฉบับบูรณาการ

ที่ ผ่านมาเป้าหมายหลักของการทำงาน CSR อยู่ที่การสร้างการมีส่วนร่วม โดยมีการบูรณาการ CSR ลงไปในทุกกิจกรรมขององค์กร รวมไปถึงกิจกรรมการตลาดของบริษัท เช่น การนำเงินรายได้จากค่าสัมมนาเข้ามูลนิธิรักษ์ไทย การทำกิจกรรมในการประชุมประจำปีเพื่อระดมเงินบริจาคให้เด็กพิการ เป็นต้น เรื่องเหล่านี้กลายเป็นประเพณีปฏิบัติที่ทำกันในบริษัท

การบูรณาการ CSR ในรูปแบบนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน

จาก การสำรวจความคิดเห็นพนักงานทุก 6 เดือนของบริษัท พบว่าพนักงานมีความ พึงพอใจ คะแนนด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทนั้นได้ 100% ในขณะที่ผลการสำรวจความคิดเห็นลูกค้าแนวโน้มเรื่องความพึงพอใจกับความรับผิด ชอบต่อสังคมที่บริษัททำก็มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง

หาจุดสมดุล "นโยบาย-การมีส่วนร่วม"

หาก พิจารณาจากกรณีศึกษาขององค์กรธุรกิจที่ผ่านมา ดร.พิพัฒน์ บอกว่า "ผลจากการศึกษาวิจัยวิสาหกิจที่ผ่านมาพบว่าเงื่อนไขสำคัญ 2 เรื่องในการจะขับเคลื่อน CSR ไปสู่ความสำเร็จคือ การหาจุดสมดุลจากการมีส่วนร่วมจากพนักงาน และจากการให้ความสำคัญของผู้บริหารเกี่ยวกับเรื่องนี้ผ่านการกำหนดนโยบายและ ปฏิบัติเป็นแบบอย่าง"

การเริ่มต้นจัดทัพ CSR ที่บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ดูเหมือนเลือกที่จะเดินในทิศทางนี้ ในการเคลื่อนขบวน CSR อย่างเป็นระบบในปีแรก

พร้อมๆ กับการเปิดตัวโครงการ "คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน" ซึ่งโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าชุมชน โดยร่วมมือกับกรมป่าไม้ และใช้ เวทีการประกวดป่าชุมชนเป็นต้นทางในการกระตุ้นเพื่อให้เกิดกระบวนการในการ อนุรักษ์และพัฒนา ป่าอย่างเข้มแข็ง (อ่านรายละเอียดใน ล้อมกรอบ)

ที่ ผ่านมามีการจัดกิจกรรมให้ "พนักงาน" ลงไปปลูกป่าในพื้นที่ป่าชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีนัยของการสร้างจิตสำนึก เรียนรู้ถึงความสำคัญและการมีส่วนร่วมกับกิจกรรม CSR หลักในเรื่องของป่าชุมชน นับจากนี้

สร้างคน-สังคม

" ณรงค์ สีตสุวรรณ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "เป็นเรื่องที่ดีที่พนักงานจะได้มีโอกาสเรียนรู้ว่าบริษัทกำลังจะทำอะไร เราพยายามสร้างให้เขามีส่วนร่วมกับสิ่งที่บริษัทกำลังทำ นับตั้งแต่วันแรกในการประชุมประจำปีนอกสถานที่ของพนักงาน ในบริษัท เราเปิดโอกาสให้มีการระดมสมองว่า ถ้าเราจะต้องทำกิจกรรมเพื่อสังคมภายนอก เราจะทำอะไรกัน มีประเด็นต่างๆ ที่ถูกหยิบยกมามากมาย จากนั้นเราใช้เวลากว่า 6 เดือนเพื่อที่จะคัดกรองโดยตั้งอยู่บนพื้นฐาน 2 เรื่อง 1.การเกิดผลในวงกว้าง 2.เป็นเรื่องที่ยังไม่มีคนทำ เพื่อที่เราจะได้เข้าไปเกื้อกูลในระยะยาว แม้ระยะแรกเราจะวางไว้เพียง 5 ปี แต่ในระยะยาวเราไม่ได้มองจุดสิ้นสุด และจะทำไปจนกว่าจะประสบความสำเร็จ"

แม้ จะอีกยาวไกลกว่าไปถึงปลายทางแต่อย่างน้อยก็สามารถสะท้อนวิธีคิดของการ "ปลูกป่า" ไม่ว่าจะในรูปแบบของกิจกรรมเสริมหรือกิจกรรมหลัก แต่หากผ่านการคิดและการทำอย่างเป็นระบบ การปลูกป่านอกจากจะสร้างผลกระทบในเชิงบวกให้กับ สิ่งแวดล้อม ยังคงมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ตามมาและอาจทำให้การปลูกป่าก้าวไปไกลกว่าคำ ว่า "แฟชั่น" !!

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 8 กันยายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01080951&day=2008-09-08&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: