วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2551

"ม. เกม" เพาะเมล็ดพันธุ์ การให้เยาวชน



เวลา เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ ปกติเราเห็นรายการพิเศษเพื่อระดมทุนมาช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามสถานีโทรทัศน์ ช่องต่างๆ อยู่เป็นประจำ แต่หากใครเคยดูรายการ ม. เกม ที่ออกอากาศทุกวันจันทร์ประมาณ 5 โมงครึ่งทางโมเดิร์นไนน์ทีวี จะทราบถึงความพิเศษของรายการประจำที่ทุกเทปผู้ร่วมแข่งขันที่เป็นเพียงแค่ เด็กชั้นมัธยมฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อนำเงินรางวัลไปช่วยเหลือสังคม นับเป็นไอเดีย กระฉูดที่จะช่วยปลูกฝังให้เด็กรู้จักการให้กับสังคมได้ รายการได้ ผู้ชมได้ โดยรายการนี้ได้ 2 พี่น้อง แทนไทย-วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล มารับหน้าที่พิธีกร

วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ หรือพี่ซุป เจ้าของรายการ ม. เกม เล่าว่า โจทย์ที่เราได้ตอนแรก คือ อยากทำรายการวัยรุ่น แต่คิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เป็นรูปแบบเหมือนเกมทั่วๆ ไปที่ทำแล้วเกิดการตั้งคำถามว่าผู้เข้าแข่งขันหรือผู้ชมจะได้อะไร ก็เปลี่ยนเป็นให้เด็กมัธยมแข่งกันเพื่อนำเงินรางวัลไปให้กับองค์กรที่เขา อยากจะช่วยเหลือแบบนี้จะดีกว่า และเมื่อเป็นรายการวัยรุ่นเราก็ต้องนึกถึงคนที่จะทำหน้าที่สื่อสารข้อความไป ถึงวัยรุ่นได้ เราก็อยากให้มีพิธีกร 2 คนที่เป็นทั้งเพื่อนและพี่น้อง ในขณะเดียวกันก็สามารถมีข้อมูลให้แก่กันได้ ก็เลยนึกถึง 2 คนนี้ที่มีทั้งลักษณะของนักวิชาการและสามารถเล่นกับคนดูได้ จึงเป็นความลงตัวที่จะถ่ายทอดเรื่องราวตามรูปแบบของรายการได้

"ฝัน มานานแล้วว่าอยากจะทำรายการที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กมัธยม เพื่ออยากจะฟังว่าเขาคิดอะไรอยู่ วิธีที่จะฟังก็คือเราต้องสร้างเวทีให้เขา เรื่องราวต่างๆ ที่เราเรียบเรียงมาให้เขาได้เจอในรายการที่มีเนื้อหาอยู่ในชีวิตประจำวันของ เด็ก เช่น คอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย สังคม และแปรเปลี่ยนมาเป็นในรูปแบบของเกมบันไดงูที่เราเคยเล่นตอนเด็กๆ แนวคิดหลักอยากให้เป็นเวทีสำหรับวัยรุ่นได้ใช้พลังอย่างสร้างสรรค์ เพราะเด็กมีพลังเยอะเราจะเปลี่ยนพลังเป็นการทำความดีเพื่อสังคม"

สำหรับ เด็กที่มาร่วมรายการจะเป็นที่ ไอดอลของแต่ละโรงเรียนที่มีความสามารถในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกีฬา ดนตรี วิชาการ เชียร์ลีดเดอร์ มาเล่นในรายการที่มีเนื้อหาจากชีวิตของเด็กมัธยมมาสร้างสรรค์เป็นเกม โดยเนรมิตทั้งฉากขึ้นมาให้ในแต่ละช่องจะมีเรื่องราวอยู่ อย่างเช่น เมื่อได้ตัวเลขไปตกช่องนี้จะมีการให้เด็กส่ง SMS ภายในเวลาที่กำหนด หรือเป็นช่องหัวลำโพง มีฝรั่งเดินออกมาเพื่อคุยภาษาอังกฤษ

หรือบาง ช่องก็มีทักษะของเด็กที่มีอยู่เพื่อมาเล่นเกม เป็นกีฬา แก้ไขสถานการณ์ เมื่อแจ็กพอตแตกจะได้เงินรางวัล 1 แสนบาท เพื่อนำไปมอบให้กับสังคมตามที่เด็กต้องการ เกมบันไดงูจึงมีเป้าหมายอยู่ที่การให้สังคม เปลี่ยนจากการแข่งขันเพื่อตนเอง เป็นการให้ผู้อื่น

"เมื่อเกมจบเรา อยากจะปลูกฝังเรื่องการให้ ให้กับเด็กและคนในสังคม การแข่งขันให้ได้เงินรางวัลไปช่วยตามที่เด็กต้องการ แต่ถ้าทำไม่สำเร็จก็ไม่ได้หมายความว่าแนวคิดนั้นหมดไป เพราะการให้ก็มีวิธีอื่น อย่างน้องบางคนที่ตกรอบบอกกับเราว่า ถึงแม้จะไม่สามารถนำเงินไปมอบให้ตามที่มุ่งหวังไว้ได้ แต่เมื่อมีโอกาสเขาก็จะไปช่วยเหลือในสิ่งที่สามารถช่วยได้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องเงิน แต่อาจเป็นแรงกายหรือสละเวลาที่เขามีอยู่ เราพยายามบอกกับสังคมว่าการให้มีหลายวิธี ไม่จำเป็นว่าต้องชนะ" นายวิวัฒน์กล่าว

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 23 มิถุนายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr05230651&day=2008-06-23&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: