วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2551

CSR ยุคใหม่ต้องวัดผลได้ (2)

GRI มาตรฐานการจัดทำรายงานความยั่งยืน


จะว่าใหม่ก็ไม่ใหม่นักในเรื่องของมาตรฐานการจัดทำรายงานเพื่อการพัฒนาอย่าง ยั่งยืน โดยเฉพาะในกรอบของ global reporting innitiative (GRI) ซึ่งเริ่มต้นพัฒนามาตรฐานการจัดทำรายงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาตั้งแต่ ปี 2540 จนถึงวันนี้ได้พัฒนามาถึงเวอร์ชั่นที่ 3 ซึ่งเรียกว่า G 3

แม้ว่าปัจจุบันจะมีมาตรฐานการจัดทำรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมและรายงานการ พัฒนาอย่างยั่งยืน จะมีหลากหลายมาตรฐาน อาทิ UN Global Compact OECD Guideline แต่เหตุที่ GRI เป็นที่ได้รับความนิยมและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก สะท้อนภาพจากแบรนด์ชั้นนำในโลก ไม่ว่าจะเป็นไมโครซอฟท์ โคคา-โคลา จีอี ไอบีเอ็ม โนเกีย ฯลฯ ต่างก็เลือกใช้มาตรฐานนี้ในการจัดทำรายงานของตน รวมไปถึง "ท็อปโกลบอลแบรนด์" กว่า 80% และเกือบครึ่งหนึ่งของ 100 บริษัทชั้นนำทั่วโลกต่างเลือกใช้มาตรฐานนี้ โดยระบุด้วยว่าจากการจัดทำรายงานทำให้ผลกำไรดีขึ้น

เพราะอะไร GRI จึงได้รับความนิยม ผศ.ดร.สมพร กมลศิริพิชัยพร นักวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง CSR กล่าวไว้ในระหว่างการอบรมเชิงปฏิบัติการ "CSR Academy" ที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ในหัวข้อ "แนวทางการประเมินผลและการจัดทำรายงาน CSR" ซึ่งเป็นหนึ่งใน 6 หัวข้อซึ่งจัดขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม 2551 ว่า

"เหตุที่ GRI ได้รับการยอมรับเพราะที่ผ่านมามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (stekeholders) ในทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมและนำมาสู่การปรับปรุงมาตรฐานจนถึง เวอร์ชั่นปัจจุบัน"

"ปัจจุบันแนวโน้มการจัดทำรายงานเพื่อการพัฒนา อย่างยั่งยืน (sustainability report) นั้นเกิดขึ้นทั่วโลก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงกดดันของสังคม ไม่ว่าจะจากสาธารณะ องค์กรพัฒนาเอกชน สหภาพแรงงาน เพราะในโลกยุคโลกาภิวัตน์ พวกเขาอยากรู้ว่า เมื่อไปเปิดกิจการในที่อื่นๆ เขาทำเหมือนที่บ้านตัวเองหรือเปล่า โดยเฉพาะต้องดูในเรื่องของสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย"

เสียงเรียกร้องจากนักลงทุน

" ยิ่งในปัจจุบันนักลงทุนที่สนใจในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของบริษัทมีมากขึ้น มีกองทุนที่เลือกลงทุนกับธุรกิจลักษณะนี้มากขึ้น นักลงทุนจึงต้องการเห็นผลการดำเนินการในเรื่องต่างๆ มากกว่าเพียงรายงานทางการเงิน เพราะเขาต้องการรู้ว่าบริษัทนั้นๆ ดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เพราะหากทำถือเป็นการลดความเสี่ยงทางการลงทุนอย่างหนึ่งของธุรกิจ"



แม้ ว่าปัจจุบันกองทุนในลักษณะนี้ในไทยจะยังไม่เกิด ซึ่งทำให้ความตื่นตัวในเรื่องการจัดทำรายงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในบ้านเรายังมีไม่มากนัก รวมถึงไม่มีมาตรการใดๆ เป็นการบังคับ เพียงแต่ปัจจุบันน่าจะมีสัญญาณที่ดีขึ้น จากการส่งเสริมเรื่องนี้อย่างจริงจังของตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ต้องการให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดจัดทำรายงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งครอบคลุม 3 มิติ คือ ด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม มากไปกว่าเพียงการจัดทำรายงานทางการเงินหรือรายงานประจำปีเพียงอย่างเดียว

โดย ปัจจุบันการจัดทำรายงาน CSR (CSR report) หรือรายงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainability report) ได้รับการบรรจุอยู่ในแนวปฏิบัติและหลักการเบื้องต้นในการแสดงความรับผิดชอบ ต่อสังคมของธุรกิจ ที่ชื่อ "คู่มือเข็มทิศธุรกิจ" ซึ่งจัดทำโดยคณะทำงานส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัท จดทะเบียน หลายองค์กรอาจจะมองว่านี่เป็นภาระที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจ แต่ในฐานะ ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง GRI ผศ.ดร.สมพรบอกว่า "เมื่อเราทำ CSR แล้ว ก็ต้องสื่อสารในความเป็นจริง การจัดทำรายงานซึ่งมีกรอบมาให้เราในทุกๆ เรื่องทั้ง 3 มิติ ไม่เพียงแต่จะทำให้เราสามารถสื่อสารข้อมูลทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านดี และด้านไม่ดี กับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อที่จะเข้าใจองค์กรมากขึ้นกว่าเพียงข่าวร้ายที่ปรากฏผ่านหน้าสื่อ หนังสือพิมพ์ ในเวลาเดียวกัน ยังช่วยให้องค์กรที่จัดทำรายงานตามมาตรฐาน GRI สามารถทบทวนตัวเองและนำไปปรับปรุงการดำเนินธุรกิจการดำเนินธุรกิจอย่างมี ความรับผิดชอบเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับองค์กรของตน"

โอกาสของธุรกิจจาก GRI

ตัวอย่าง เช่น มีบริษัทไทยบริษัทหนึ่ง ก่อนหน้าที่จัดทำรายงาน เขาไม่รู้และตระหนักเลยว่าการเปิดโอกาสให้พนักงานพัฒนาตัวเองผ่านการฝึกอบรม ในแต่ละปี ผ่านหลักสูตรอบรมต่างๆ นั้น กระจุกอยู่ในระดับผู้บริหาร แต่เนื่องจากเรื่องนี้เป็นหมวดหนึ่งที่ GRI กำหนด เมื่อต้องทำรายงานทำให้พบข้อผิดพลาดเรื่องนี้ ดังนั้นจึงกลายเป็นที่มาที่ทำให้บริษัทนั้นนำไปปรับปรุงกลยุทธ์ในการดำเนิน งานด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งในท้ายที่สุดประโยชน์ก็จะตกอยู่กับองค์กรในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ "ประชาชาติธุรกิจ" ได้สอบถามไปยังธุรกิจต่างๆ ที่ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ในปัจจุบันเกี่ยวกับเรื่องการจัดทำรายงานตามมาตรฐาน GRI พบว่าองค์กรส่วนใหญ่คิดว่ามาตรฐานสากลในการจัดทำรายงานนี้เป็นเรื่องยากและ ยังเข้าใจได้ยาก

แต่หากพิจารณาแนวทางในการจัดทำรายงานเพื่อการพัฒนา อย่างยั่งยืนตามที่ ผศ.ดร.สมพรได้แนะแนวทางไว้ในหลักสูตร "CSR Academy" น่าสนใจว่า การจัดทำรายงานตามมาตรฐานสากลนั้นไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไป โดยเวอร์ชั่น G 3 ของ GRI แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนหนึ่งคือหลักการและแนวปฏิบัติ ส่วนที่ 2 การเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐาน และส่วนที่ 3 การรายงานข้อมูลอื่นๆ

เมื่อจะต้องทำ SD report

" ในส่วนแรกก่อนที่จะจัดทำรายงาน เราก็ต้องพิจารณาก่อนว่าเราจะรายงานอะไร เพราะเขาไม่ได้ออยากได้น้ำ แต่อยากได้เนื้อๆ ในสิ่งที่องค์กรทำจริง โดยต้องเป็นข้อมูลที่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรสนใจ และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเขา ถ้าเป็นนักลงทุนก็ต้องดูว่าจะส่งผลให้เขาตัดสินใจลงทุนกับบริษัทเรา ฉะนั้นต้องดูแนวคิดและความสนใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย โดยที่องค์กรเองก็ต้องมีการจัดอันดับความสำคัญของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้ดี แต่โดยส่วนใหญ่ในต่างประเทศจะเน้นไปที่นักลงทุน"

จะค้นหา เนื้อหาสาระที่จะสื่อสารได้เช่นนั้นได้ มีกระบวนการในการทำงานอยู่ 3 ขั้นตอน 1.รวบรวมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบริษัท 2.พิจารณาประเด็นที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย 3.ทบทวนและวิเคราะห์

ผศ.ดร.สมพรยกตัวอย่าง "รายงานของฟอร์ด" ว่า "ฟอร์ดนี่แรกเริ่มเขาเลือกประเด็นและเก็บข้อมูลต่างๆ มา 500 ประเด็น จากนั้นก็ให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกองค์กรเข้ามาให้ความ เห็นว่าสนใจเรื่องไหน ก่อนจะเหลือ 15 หัวข้อ จากนั้นเขาเอามาจัดลำดับความสำคัญของฟอร์ด เขาพิจารณาจากว่าเป็นประเด็นที่มีผลกระทบต่อบริษัทหรือไม่ ผู้ที่เกี่ยวข้องสนใจไหม และเป็นเรื่องที่สามารถควบคุมได้ จากนั้นมีการนำมาทบทวนโดยมีการเวิร์กช็อปภายในองค์กรอีกครั้ง อาจมีเอ็นจีโอเข้ามาช่วยดูด้วยว่าประเด็นที่จะรายงานนั้นครอบคลุมสิ่งที่ สังคมอยากรู้ หรือไม่"

โดยหัวใจสำคัญในขั้นตอนนี้ คือ การจัดลำดับความสำคัญของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ว่าองค์กรจัดอันดับความสำคัญอย่างไร เพื่อที่จะสามารถจำแนกและแยกแยะประเด็นที่จะรายงานที่ตรงกับความต้องการ

องค์ประกอบของรายงาน

" เมื่อเราหาข้อมูลเตรียมที่จะรายงานได้แล้ว ต้องมาพิจารณาว่า จะต้องรายงานใน 3 ส่วนตามที่ GRI กำหนด คือ ข้อมูลของบริษัท (profile) วิธีที่บริหารจัดการให้เป็นไปตามเป้าหมาย (management approach) และเครื่องมือชี้วัดประสิทธิผล (performance indicators) โดยเขาจะเรียงลำดับมาให้ว่า ข้อ 1.1 ควรรายงานอะไร 1.2 ไล่ไปเรื่อยๆ ซึ่งเราก็สามารถใส่ข้อมูลตามนั้น

หน้าแรกเปิดมาเลยก็คงเป็น CEO statement หลายคนไม่เข้าใจ แต่ที่ต้องทำเพราะเมื่อมีรูปมีคำมั่นของซีอีโออยู่ข้างหน้านั่นเป็นภาพ สะท้อนว่ารายงานฉบับนี้ต้องเชื่อถือได้ ส่วนที่ 2 เรื่อง profile ของบริษัทก็ต้องมีโครงสร้างขององค์กร ซึ่งตอนนี้บริษัทใหญ่ๆ ก็มีผู้บริหารระดับสูงดู เนื่องด้วย CSR รวมไปถึงวิสัยทัศน์ พันธกิจ และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในส่วนขององค์กร"

ในส่วนของ management approach เราก็ต้องรายงานทั้ง 3 มิติ คือ ด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม

" หมายถึงว่าเราต่องบอกวิธีที่จะทำให้การบริหารจัดการใน 3 มิตินั้นเป็นไปตามเป้าหมาย เช่น management approach ด้านสิ่งแวดล้อมของโคคา-โคลา จะมีระบบที่เรียกว่า quality system evaluation approach ซึ่งเป็นมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่องค์กรกำหนดขึ้นมาและใช้ทั่วโลก หรือในเรื่องนี้จะมีการใส่มาตรฐานต่างๆ จากภายนอก อาทิ มาตรฐาน ISO ที่องค์กรนำมาใช้"

สำหรับเครื่องชี้วัด ซึ่งต้องรายงานทั้ง 3 ส่วนเช่นเดียวกัน

" บางทีเราก็จะนึกไม่ออกว่าจะรายงานด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ได้อย่างไร แต่ที่เราเห็นๆ จากตัวอย่างของต่างประเทศจะเห็นว่าในส่วนนี้เขารายงานว่า คุณค่าทางด้านเศรษฐกิจ คือรายได้ที่บริษัทได้รับมากระจายไปในส่วนใดบ้าง และเป็นรายได้กี่เปอร์เซ็นต์ ลงไปถึงผู้ถือหุ้น ซัพพลายเออร์ กี่เปอร์เซ็นต์ และกระจายไปที่ชุมชนเท่าไร หรืออย่างด้านสิ่งแวดล้อม เราก็สามารถรายงาน หมวดใหญ่ก็มีเรื่องวัตถุดิบ พลังงาน น้ำ ของเสียที่ปล่อยออกมา อย่างเทสโก้ฯนี่ทำเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ ว่าเขาสร้าผลกระทบอะไรบ้าง และพูดถึงแผนในอนาคต"

"จะเห็นได้ว่า รายงานทำให้เราสามารถมองเห็นการวางแผนของธุรกิจ ที่ไม่ใช่พูดเฉพาะเรื่องกำไร ขาดทุน แต่หมายถึงว่าเขาจะต้องรับผิดชอบต่อโลกอย่างไร และจะต้องแก้ไขอะไรบ้าง" ผศ.ดร.สมพรกล่าวในที่สุด

และนี่เป็นภาพบางส่วนของ GRI ที่เป็นเครื่องสะท้อนว่าจะนำไปใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือการประเมินองค์กรได้ อย่างไร การให้ความสำคัญเรื่องนี้ของหลายองค์กรในไทยรวมถึงมาตรฐานด้านความรับผิดชอบ ต่อสังคมต่างๆ นี่จึงอาจจะเป็นสัญญาณเตือนว่า เมื่อถึงวันหนึ่งธุรกิจยากจะหลีกเลี่ยง !!

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 15 กันยายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01150951&day=2008-09-15&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: