วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

จิตอาสาของคนไม่สำคัญ

อนันตชัย ยูรประถม มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา ปกติ ผมไม่ค่อยได้พูดถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในลักษณะของเชิงจิตอาสา หรือเรื่องอะไรที่มาทางนี้ซักเท่าไร ไม่ใช่ไม่เชื่อ แต่เรื่องของจิตใจสำหรับผมเองไม่รู้ว่าจะเอาอะไรไปวัด ก็คงต้องมองจากการกระทำแต่หลายครั้งบางคนก็ทำซะจนเนียน มองไม่ออกก็มีเหมือนกัน กว่าจะรู้ ก็เล่นซะจน บ้านเมืองเกือบจะวินาศสันตะโร แต่ที่แปลกกว่าก็คือยังมีคนแห่กันสรรเสริญเยินยอ เราจึงได้เห็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ท่านตะแบงออกมาเป็นการกระทำในรูปแบบ แปลกๆ เต็มไปหมด นี่เป็นเรื่องของคน (ที่เชื่อกันว่า) สำคัญของบ้านเมืองเรา

แต่จิตอาสาที่ผมหันกลับมาเชื่อเป็น เรื่องของคนธรรมดาคนหนึ่ง "พิเชษฐ์ บุตรปาละ" คนทั่วไปไม่รู้จักหรอกครับ เพราะเค้าไม่ใช่เป็นคนสำคัญในระดับการบ้านการเมือง แต่สำหรับเพื่อนๆ นักข่าว NGO หลายๆ องค์กร พี่น้องชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจน และช่วงหลังๆ ที่แกลงไปคลุกคลีทำโครงการให้กับเด็กด้อยโอกาสในโรงเรียนแถวอีสานร่วมกับ มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา หรือ EDF คงจะรู้จักดี แต่คน CSR คงจะไม่คุ้นเคยหรือไม่คิดว่าจะเกี่ยวข้องอะไรเลย เบื้องหลังที่แท้จริงก็คือ หลายปีมาแล้วที่พิเชษฐ์ผันตัวมาช่วย EDF ในการรณรงค์หาทุนมาทำโครงการต่างๆ ในโรงเรียน เป้าหมายของเราก็คือธุรกิจ แต่เราไม่อยากเดินไปแบมือขอเงินจากบริษัทแล้วก็บอกว่า "คุณจะได้ภาพลักษณ์ที่ดีในสังคม" แต่เราเชื่อเรื่องความร่วมมือและการพัฒนาที่ทำให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ใน ระยะยาวในลักษณะ win-win-win นั่นหมายถึง NGO ได้รับการสนับสนุนตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กร โรงเรียนได้รับประโยชน์จากการพัฒนา และบริษัทให้แล้วก็สามารถสร้างคุณค่าย้อนกลับมาให้กับบริษัทได้ พิเชษฐ์เองในฐานะนักกิจกรรมตัวยงจึงช่วยกันศึกษาถึงกิจกรรมการกุศลที่มี ลักษณะอย่างที่หวังไว้ จนกระทั่งได้พบกับคำว่า cause-related marketing พอเริ่มอ่านรายละเอียด แนวคิด วิธีการและผลลัพธ์ เราตื่นเต้นกันมาก พอสืบสาวกันมากขึ้นข้อมูลต่างๆ ก็หลั่งไหลกันเข้ามาในชื่อของ corporate social responsibility เราก็เริ่มคิดโครงการที่สอดคล้องกับ initiatives ของ CSR ในรูปแบบต่างๆ เราเชื่อว่าโครงการของเราในทิศทางใหม่เป็นสิ่งยอดเยี่ยม การเดินสายเข้าบริษัทก็เริ่มต้นขึ้น เป็นครั้งแรกครับที่ NGO นั่งรอนำเสนองานต่อคิวกับเอเยนซี่โฆษณา เป็นไปตามคาด เกือบทุกบริษัทประทับใจกับโครงการของเรา เพราะเราอาศัยข้อมูลทางการตลาดของบริษัทมาเป็นตัวตั้งต้น

ดังนั้น ทุกโครงการจึงถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อตอบโจทย์ของแต่ละบริษัท และเราไม่ได้พูดเฉพาะเรื่องของการอยู่ดีกินดี นักเรียนและชุมชนจะมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไร เรายังพูดถึงเรื่องของยอดขาย การสร้าง แบรนด์ การสร้างการเป็นที่รู้จัก หรือแม้แต่การเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ทุกคนชอบ แต่...ไม่มีบริษัทไหนซื้อโครงการของเราเลย เพราะอะไร เมื่อ 4-5 ปีที่แล้วไม่มีใครเคยได้ยิน CSR ครับ ทุกคนเบื่อกับการบริจาคเพื่อได้ภาพลักษณ์ อยากได้มากกว่านั้น แต่ก็เชื่อว่าการบริจาคเป็นได้แค่นั้น

พิเชษฐ์ไม่เคยท้อครับ ยังคงมุ่งมั่นผลักดันให้ EDF เดินมาในทิศทางนี้โดยตลอด เขาหันไปหาสื่อซึ่งก็โชคดีที่ได้พบกับประชาชาติธุรกิจ เราก็เลยเป็นพันธมิตรกันตั้งแต่นั้นมา และร่วมกันศึกษาพัฒนาด้วยความเชื่อที่ว่า CSR จะเป็นสิ่งสำคัญของการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนของสังคมไทย พิเชษฐ์ทุ่มเทกับโครงการจนกระทั่งเมื่อเดือนที่แล้ว เขาตรวจพบโรคร้ายคือมะเร็งตับระยะสุดท้าย จนต้องกลับไปรักษาตัวที่ขอนแก่น ตลอดระยะเวลาเดือนกว่า ผมได้รับโทรศัพท์จากภรรยา เพื่อนๆ และคนที่ผมไม่รู้จัก ติดต่อเพื่อขอข้อมูลโครงการในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง จึงได้รู้ว่าบรรดาเพื่อนฝูง คนรู้จักที่ไปเยี่ยมพิเชษฐ์ นอกจากจะได้รับข้อมูลอาการป่วยของเขาแล้ว ทุกคนจะได้รับข้อมูลเรื่องการพัฒนาการศึกษาให้กับเด็กด้อยโอกาส แม้กระทั่งระยะท้ายๆ ที่ต้องได้รับมอร์ฟีนตลอดเวลา พิเชษฐ์ก็พยายามพูดเท่าที่ทำได้ พร้อมกับบอกผมว่า "ถ้ามีคนโทร.มาให้บอกด้วยว่า เขาอาจจะพูดไม่รู้เรื่องเพราะฤทธิ์ยา อย่าลืมให้ข้อมูลเพิ่มด้วยนะ"

วันนี้พิเชษฐ์จากไปแล้ว แต่เจตนารมณ์ที่เขาฝากไว้กับภรรยาก็คือ ช่วยทำเสื้อขาย เพื่อนำรายได้ไปบริจาคให้เด็กๆ ด้วยนะ ตั้งโต๊ะรับบริจาคด้วย

พิเชษฐ์ ทำให้ผมต้องหันกลับมามองเรื่องของจิตอาสาใหม่อีกครั้ง จิตอาสาที่เป็นของคนธรรมดาคนหนึ่งที่ให้แม้งานของตัวเองเป็น CSR initiative สุดท้ายของชีวิต ผมอยากจะบอกพิเชษฐ์ว่า "พี่เอ๋ครับ CSR เกิดและเติบโตแล้วในบ้านเรา และมันจะยังคงเจริญเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน...ผมเชื่ออย่างนั้นครับ"

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 12 เมษายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03120551&day=2008-05-12&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: