วันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2551

SMEs ควรทำ CSR หรือไม่ ?

องค์กรขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ควรทำ CSR หรือไม่ ?

ดร.พรชัย ศรีประไพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส อิมพีเรียล เวิลด์ กรรมการมูลนิธิรักษ์ไทย
กล่าวว่า ผม ได้เขียนถึงองค์กรขนาดใหญ่มาหลายครั้งแล้วว่าการทำ CSR (corporate social respon sibility) มีส่วนช่วยองค์กรหลายประการ ที่สำคัญก็คือ CSR จะช่วยทำให้วัฒนธรรมองค์กรที่เน้นเรื่องคุณธรรมและการทำประโยชน์ให้กับสังคม นั้นเข้มแข็งและมีความหมายมากขึ้น CSR จะช่วยบ่มเพาะนิสัยสังคมที่ดีให้แก่พนักงาน ให้พนักงานมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคมอย่างจริงจัง

บริษัทที่ผมเคยทำงานอยู่หลายบริษัทมีกฎเกณฑ์ดีๆ หลายอย่างที่พนักงานต้องปฏิบัติ เช่น

- ห้ามพูดโทรศัพท์มือถือขณะขับรถ (ก่อนจะออกมาเป็นกฎหมาย) และถ้าพนักงานระดับบริหารถูกจับได้ว่าละเมิดกฎข้อนี้จะถูกพิจารณาโทษอย่าง หนักถึงขั้นไล่ออก (เป็นตัวอย่างไม่ดี) - นำหลักการเกี่ยวกับความปลอดภัยที่ใช้ในสำนักงานไปใช้ที่บ้าน เช่น ความปลอดภัยด้านไฟฟ้า (ห้ามเสียบสายไฟพะรุงพะรังจนเกิดอันตราย จะต้องมี safety cut เพื่อตัดไฟฟ้า ฯลฯ) ด้านระบบดับเพลิง ด้านการหนีไฟ ฯลฯ - ห้ามนำวิธีการให้สินบนเจ้าพนักงานมาใช้ ทั้งในชีวิตส่วนตัวหรือในขณะที่ทำงาน แม้แต่จะจ่ายเงินให้ตำรวจจราจรก็ถือว่าทำผิด ต้องไปจ่ายที่สถานีตำรวจ ให้เคารพกฎหมายและทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด - ให้นำวิธีการแยกขยะไปใช้ที่บ้านอย่างน้อยๆ ก็เริ่มต้นจากขวดพลาสติก แยกขยะแห้งออกจากขยะเปียก เป็นต้น - แนะนำให้ใช้น้ำยา EM (effective micro organisms) หรือกลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถทำลายความสกปรกได้ทุกอย่างมาใช้ในบ้านแทนสาร เคมี เพื่อกำจัดแมลง และใช้เช็ดถูบ้านทำความสะอาด - ตั้งอุณหภูมิของระบบแอร์ทั้งในบ้านและในรถให้อยู่ในระดับ 25 องศาเซนติเกรด - จ่ายเงินเดือนให้พนักงาน พันธมิตรธุรกิจ ผู้ร่วมค้าและเจ้าหนี้ทุกรายให้ตรงเวลา - ซื้อของจากบริษัทที่ส่งเสริมสังคม ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

การบ่มเพาะนิสัยดีๆ เหล่านี้ทำได้ในทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ถ้าองค์กรขนาดเล็กจะนำมาใช้ก็จะยิ่งดีใหญ่เพราะสามารถทำได้ง่ายกว่า ควบคุมดูแลพฤติกรรมของพนักงานได้อย่างทั่วถึง และถ้าทำได้ดีจริงก็จะสามารถสร้างเป็นภาพลักษณ์ขององค์กรที่รับผิดชอบต่อ สังคมได้อย่างไม่ยากนัก

Guy Rider ที่เป็นเลขาธิการของกลุ่มสมาพันธ์การค้าเสรีนานาชาติ (General Secretary of the International Confederation of Free Trade Union) เคยกล่าวไว้ในที่ประชุมองค์การสหประชาชาติที่กรุงเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เมื่อปี ค.ศ.2006 ว่า :

"CSR ไม่ใช่เรื่องของการบริจาคหรือการทำกุศล แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพื้นฐานของการทำธุรกิจที่ดี"

คำ กล่าวสั้นๆ นี้มีความหมายลึกซึ้ง ทีเดียว การทำธุรกิจที่ดีคือการทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบทั้งต่อความสำเร็จของ ธุรกิจเอง ต่อสังคมและต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ การทำธุรกิจที่ดีจะต้องพยายามระมัดระวังไม่ให้เกิดผลลบต่อสังคมและสิ่งแวด ล้อม พยายามสร้างผลบวก สร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

และก่อนที่เราจะทำธุรกิจที่ดีได้ เราจึงจะต้องสร้างวัฒนธรรมที่ดีให้กับองค์กร สร้างนิสัยที่ดีให้กับพนักงาน เป้าหมายสูงสุดของการทำธุรกิจไม่ได้อยู่ที่เพียงผลกำไร แต่จะต้องสร้างผลประโยชน์สูงสุดให้กับลูกค้า ชุมชน และสังคม

หลายคนคงจะสงสัยว่า ถ้าธุรกิจมุ่งไปที่ผลประโยชน์ลูกค้า ชุมชน และสังคม ต้นทุนคงจะสูงและคงไม่สามารถธำรงธุรกิจให้ยั่งยืนได้

ธุรกิจ ที่เอาลูกค้าไว้ในดวงใจ เอาลูกค้าไว้เป็นศูนย์กลาง สนใจในประโยชน์ของลูกค้า ธุรกิจนั้นจะไม่มีทางที่จะขาดทุน เพราะลูกค้าจะตอบสนองกับธุรกิจนั้นเอง ตรงกันข้ามธุรกิจที่คิดแต่จะเอาประโยชน์จากลูกค้าฝ่ายเดียว ธุรกิจนั้นจะไม่ยืนยง

ธุรกิจที่สนใจกับชุมชน เข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของชุมชน จะได้รับการตอบสนองจากชุมชนเช่นเดียวกัน ชุมชนจะมองธุรกิจนั้นว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และยิ่งถ้าเป็นธุรกิจ SMEs ด้วยแล้ว ชุมชนก็จะเข้ามาโอบอุ้มธุรกิจนั้นเอง

ในทำนองเดียวกัน ถ้าธุรกิจตอบสนองต่อความรับผิดชอบในสังคม ในระดับที่องค์กรหรือบริษัทสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องทุ่มเททุนทรัพย์ แต่สามารถช่วยเหลือสังคมด้วยวิธีอื่นๆ เช่น ด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะของบริษัท ด้วยทรัพยากร หรือองค์ความรู้ของบริษัท สังคมก็จะตอบสนองกับธุรกิจเหล่านั้นในสัดส่วนที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับ ธุรกิจอย่างมากมาย

ธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อมที่เริ่มสร้างวัฒนธรรม องค์กรที่รับผิดชอบต่อสังคมดังกล่าวข้างต้นจะพบว่า 1) การสรรหาพนักงานจะง่ายขึ้นเพราะคนส่วนใหญ่อยากจะทำงานกับองค์กรที่มีคุณธรรม องค์กรที่มีระบบและยึดมั่นในคุณค่า (value) ที่ยึดถืออย่างจริงจัง 2) พันธมิตรธุรกิจอยากที่จะเข้ามาร่วมทำงานด้วยเพราะเกิดความเชื่อถือ ไว้วางใจในความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมาขององค์กร ทำให้การต่อรองแบบ win-win ทำได้ง่าย ข้อตกลงทางธุรกิจก็ไม่ยุ่งยากเมื่อมีความเชื่อใจซึ่งกันและกัน 3) สามารถดึงดูดลูกค้าได้ง่ายขึ้นเมื่อลูกค้ารู้ว่าจะได้รับการดูแลเอาใจใส่ อย่างดี องค์กรที่ยึดมั่นในคุณค่าของลูกค้าสามารถสร้างลูกค้ารายใหม่ๆ ได้ไม่ยากนัก 4) ภาพลักษณ์และ brand ขององค์กรจะดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ อย่าลืมว่าพนักงานและสินค้าคือตัวแทนภาพลักษณ์ขององค์กร 5) สามารถลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานมากขึ้น ทั้งนี้เกิดจากการทำงานอย่างทุ่มเทของพนักงาน การลด turn-over rate ลดปัญหาความขัดแย้งกับผู้บริโภคและซัพพลายเออร์ทุกขั้นตอนของการทำงาน ถ้าพนักงานทำงานด้วยใจและมีหลักการประสิทธิภาพของงานก็จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่ นอน 6) สามารถป้องกันตนเองจากกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่อาจจะมีการควบคุมที่เข้มงวดขึ้น 7) ธุรกิจจะเติบโตในทิศทางที่มั่นคง มีรากฐานที่ดี

หลายๆ องค์กรจึงมักจะมีคำขวัญในแนวทางที่เกี่ยวข้องกับคุณค่าของวัฒนธรรมองค์กร เช่น Live your value (ใช้ชีวิตตามคุณค่าที่คุณยึดถือ) Value forever (ยึดมั่นคุณค่าให้ยืนยง) Your value reflects your company (คุณค่าของคุณสะท้อนคุณค่าขององค์กร)

ผมจึงคิดว่าบริษัทขนาดกลาง และขนาดย่อมสามารถนำหลักการเกี่ยวกับคุณค่าของ CSR มาใช้ได้ทันที ทำได้ง่ายและในระยะยาวจะได้ผลตอบแทนอย่างไม่คาดคิด

มาเริ่มกันวันนี้เลยดีไหมครับ

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 6 ตุลาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03061051&day=2008-10-06&sectionid=0221

การปรับตัวของ "ฮาบิแทต"



แม้ "มูลนิธิที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติ ประเทศไทย" หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ "ฮาบิแทต" (Habitat) องค์กรภาคสังคมที่ทำงานโดยมีเป้าหมายในการช่วยเหลือคนไร้ที่อยู่อาศัยนั้น เป็นองค์กรภาคสังคมชั้นนำในระดับโลก ที่เข้ามาทำงานอยู่ในไทยมากว่า 10 ปี แต่ชื่อชั้นของ "ฮาบิแทต" กลับเพิ่งเป็นที่รู้จักในไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และเริ่มปรากฏให้เห็นผ่านสื่อมากขึ้น

รวมไปถึงการแต่ง ตั้ง "ฟิล์ม" รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ ศิลปินค่าย "อาร์เอส" เป็นทูตของมูลนิธิ และล่าสุด "ฮาบิแทต" ในไทยเตรียมจะประกาศจัด "เวิร์ล อีเวนต์" ซึ่งเป็นงานอาสาสมัครเพื่อสังคมครั้งสำคัญที่จะระดมอาสาสมัครจากทั่วโลกกว่า 2,000 คนมาสร้างบ้านให้ผู้ไร้ที่อยู่อาศัยและมีปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดินกว่า 82 หลังที่จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้โครงการที่ชื่อ "จิมมี่ และโรสลีน คาร์เตอร์ สร้างบ้าน ครั้งที่ 26" ซึ่งจะจัดขึ้นในปี 2552 โดยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา "จิมมี่ คาร์เตอร์" และภริยาจะเดินทางมาเป็นอาสาสมัครในการสร้างบ้านด้วยตัวเองเป็นเวลา 1 สัปดาห์

"โครงการที่เราจะทำในปี 2552 นั้นไม่ได้มีเป้าหมายอยู่ที่แค่การสร้าง 82 หลัง แต่เราเชื่อว่าการมาสร้างบ้านของจิมมี่ คาร์เตอร์และเหล่าอาสาสมัครจากทั่วโลกนั้นจะเป็นแรงกระเพื่อมในการสร้างความ ตระหนักของปัญหาคนไร้ที่อยู่อาศัยในไทยไปอีกหลาย 10 ปี โครงการนี้แม้จะต้องใช้งบประมาณมาก แต่เราก็ถือว่าคุ้มค่าและอยากเชิญชวนองค์กรธุรกิจที่ทำ CSR ให้เข้ามาร่วมโครงการ" ดร.ชัยณรงค์ มณเทียรวิเชียรฉาย ประธานมูลนิธิที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติ ประเทศไทย กล่าวถึงโครงการใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า

ในฐานะองค์กรภาคสังคม ทุกขยับก้าวของ "ฮาบิแทต" วันนี้จึงน่าสนใจ เพราะไม่เพียงจะมีสารพัดกลยุทธ์ ที่ส่งให้องค์กรกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นในระยะเวลารวดเร็วเพียง 2-3 ปีให้หลัง แต่ยังสามารถเพิ่มการช่วยเหลือคนไร้ที่อยู่อาศัยในไทยได้เพิ่มมากขึ้นจาก 100 ครัวเรือนต่อปีเป็น 1,000 ครัวเรือนต่อปี

และหลังจากนี้ไปอีก 3 ปีคาดว่าการสร้างบ้านให้คนไร้ที่อยู่อาศัยในไทยจะขยับขึ้นไปเป็น 5,000 หลัง ซึ่งเท่ากับจำนวนบ้านที่สร้างได้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การก่อตั้งมูลนิธิขึ้นในไทย

"ความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นกับฮาบิแทต เป็นเพราะเราเปลี่ยนเป้าหมายจากการทำเท่าที่เราทำได้ มาเป็นการทำในเชิงรุกมากขึ้น เพราะเรามองว่าความจำเป็นมีมากขึ้นและเขาไม่สามารถรอความช่วยเหลือได้ ถ้าเรายังให้การช่วยเหลือแบบเดิมคือทำเท่าที่ทำได้ ซึ่งเราทำได้ปีละ 100 หลัง แต่มีคนที่รอความช่วยเหลือ 3 แสนครัวเรือน คนที่ได้การช่วยเหลือจากเราครอบครัวสุดท้ายที่จะได้บ้านคืออีก 3,000 ปีข้างหน้า ทำให้เราต้องเปลี่ยนเป้าหมายมาพยายามทำให้เป็น 1,000-1,500 หลังต่อปี และเพราะความตื่นตัวเรื่อง CSR ขององค์กรธุรกิจด้วยที่ทำให้มีงบประมาณมาสนับสนุนเพิ่มขึ้นด้วย"

ไม่ เท่านั้น ดร.ชัยณรงค์ยังเล่าว่า การ ปรับเปลี่ยนที่ผ่านมามีการปรับตั้งแต่ซีอีโอ โดยสรรหาคนที่จะสามารถทำโครงการใหญ่ๆ ได้ และมีการจัดระบบเรื่องการระดมทุนและเข้าหาองค์กรธุรกิจที่มี CSR อย่างเป็นกิจจะลักษณะ มีแผนกที่ดูแลอาสาสมัครให้เขารู้สึกประทับใจและกลับมาใหม่ เป็นต้น

แต่ หัวใจที่สำคัญ เขาเชื่อว่าสิ่งที่ทำให้ "ฮาบิแทต" เป็นที่ดึงดูดสำหรับองค์กรธุรกิจที่ทำ CSR เป็นเพราะผู้บริจาครู้ว่าเงินที่บริจาคมาไปสู่ผู้ที่เดือดร้อนจริง ในไทย ฮาบิแทตใช้บริษัทตรวจสอบบัญชีอันดับท็อป 4 ของประเทศมาตรวจสอบ และในอนาคตกำลังเตรียมที่จะให้องค์กรสามารถติดตามการใช้งบประมาณผ่านเว็บไซ ต์ มากกว่านั้นถือเป็นระเบียบของฮาบิแทตทั่วโลกที่จะกำหนดให้ใช้เงินในการ บริหารจัดการโครงการไม่เกิน 15% ขณะเดียวกันเงินบริจาคที่ได้มาไม่ได้ใช้แล้วหมดไป เนื่องจากการช่วยเหลือของฮาบิแทตต่อผู้ไร้ที่อยู่อาศัยนั้น ไม่ได้เป็นการให้เปล่า

ดร.ชัยณรงค์ขยายความว่า "บ้านของเราไม่ได้เป็นการสร้างให้ฟรียกเว้นผู้ประสบภัยซึ่งไม่มีอะไรเหลือ กลุ่มที่เราจะเข้าไปช่วยเหลือคือเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถกู้เงินได้ตามระบบ ปกติ แต่ก็ยังเป็นคนที่พอมีรายได้บ้าง แต่ก็ไม่มีเงินพอเป็นหลักประกันที่ธนาคารจะให้กู้ และมีที่พักที่อยู่ในสภาพที่ไม่น่าจะเรียกว่าเป็นบ้านได้ โดยเราจะกำหนดว่าเขาจะต้องจ่ายเงินคืนไม่เกิน 20% ของรายได้ และก่อนที่จะเข้าไปสร้างบ้านนั้นเราจะให้เขาทดลองออมเงินก่อนว่าจะสามารถทำ ได้มั้ย ระบบแบบนี้ทำให้เราแทบจะไม่มีหนี้เสียและสามารถนำเงินไปช่วยเหลือคนไร้ที่ อยู่อาศัยในพื้นที่อื่นอีก"

"เราไม่ใช่บริษัทสร้างบ้าน แต่ทำฝันของคนอยากมีบ้านให้เป็นจริง และถ้าทำให้คนมีสิ่งที่เรียกว่าบ้านได้ ปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยก็จะไม่เกิด เราจึงไม่ได้แต่สร้างบ้าน แต่เรากำลังสร้างอนาคตและสร้างชีวิต" ดร.ชัยณรงค์กล่าวในที่สุด


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 6 คุลาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr02061051&day=2008-10-06&sectionid=0221

ถางทางสร้าง "เอ็นจีโอ" พันธุ์ใหม่

ถางทางสร้าง "เอ็นจีโอ" พันธุ์ใหม่ ความเปลี่ยนไป...กลางกระแส CSR


ใน ขณะที่เส้นเลือดใหญ่ที่คอยหล่อเลี้ยง "องค์กรพัฒนาเอกชน" หรือ "เอ็นจีโอ" ในไทยกำลังเหือดหาย เพราะเงินทุนจากต่างประเทศที่เคยเป็นรายได้หลักนั้นเปลี่ยนเป้าหมายปลายทาง ไปยังประเทศอื่น เส้นทางการดำรงอยู่ของ "เอ็นจีโอ" ไทยวันนี้กำลังยืนอยู่บนเส้นด้าย

ท่ามกลางกระแสความรับผิดชอบต่อ สังคมขององค์กร (CSR) ที่กำลังถาโถมใส่องค์กรธุรกิจ สารพัดโครงการเพื่อสังคมที่เกิดขึ้นอาจจะดูเป็นจุดหมายปลายทางในการระดมทุน และแหล่งเงินทุนก้อนใหม่ของเอ็นจีโอ

แต่คำถามที่เกิดขึ้นในวันนี้ ก็คือ "เอ็นจีโอ" ไทยวันนี้มีความพร้อมหรือไม่ในการปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ ว่า เพราะต้องไม่ลืมว่าแม้องค์กรธุรกิจจะมีงบประมาณที่ใส่ลงในโครงการเพื่อ สังคมมากขึ้นก็จริง แต่นิยาม "การให้" ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ "ธุรกิจ" ไม่น้อย มองข้ามการบริจาคแบบให้เปล่าไปสู่การทำโครงการเพื่อสังคมที่ซับซ้อนขึ้น และสามารถตอบโจทย์ความยั่งยืน โครงการความร่วมมือระหว่างธุรกิจและเอ็นจีโอ จึงเดินมาถึงจุดที่เรียกร้องการทำงานเพื่อสังคมอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ มากขึ้น

ทางรอดของ "เอ็นจีโอ"

"ประสิทธิภาพในการ จัดการเป็นเรื่องที่ทุกองค์กรมีความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือไม่ใช่ธุรกิจ" สุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง ประธานโครงการแบ่งปันเพื่อสังคม องค์กรกลางในการจับคู่ทำงานระหว่างองค์กรธุรกิจและองค์กรพัฒนาเอกชนในการทำ งานเพื่อสังคม กล่าวไว้ตอนหนึ่งในงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการพัฒนาศักยภาพ ผู้ประกอบการทางสังคม ซึ่งโครงการ แบ่งปันร่วมกับไมโครซอฟท์และ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และถือเป็นครั้งแรกในไทยที่มีหลักสูตรการอบรมเพื่อนำเครื่องมือด้านการ บริหารจัดการองค์กรมาถ่ายทอดให้กับองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากและเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น

เขา กล่าวด้วยว่า "ที่ผ่านมาการทำงานระหว่างเอ็นจีโอและภาคธุรกิจยังมีความช่วยเหลือระหว่าง กันไม่มากนัก เมื่อก่อนเรา มักจะได้ยินว่าเอ็นจีโอมักรับเงินจากองค์กรในต่างประเทศที่ส่งเข้ามาช่วย เหลือ แต่หลังจากที่เราประกาศว่าประเทศไทยเป็นประเทศผู้ให้ไม่ใช่ผู้รับเงินตรง นั้นก็ถูกตัดไปเพื่อช่วยเหลือประเทศอื่นแทน เอ็นจีโอในไทยต้องดิ้นรนที่จะเลี้ยงตัวเอง มีคำถามจากเอ็นจีโอว่าแล้วเขาจะอยู่อย่างไร โดยต้องหาเงินด้วยและมีงานอะไรที่เอ็นจีโอสามารถทำได้บ้าง ผมเห็นว่าสิ่งที่เอ็นจีโอทำแบบไม่แสวงหากำไรดีอยู่แล้ว แต่ในส่วนของเงินที่เข้ามาต้องแสวงหาความร่วมมือ ประกอบกับกระแส CSR ที่เกิดขึ้น ซึ่งองค์กรธุรกิจไม่ได้มีความรู้ความสามารถในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวด ล้อม ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายมาเจอกันจะเกิดจุดที่สมดุลพอดี"

สร้างโอกาสจากกระแส CSR

ฉะนั้น "โอกาส" ที่ "เอ็นจีโอ" จะ สามารถคว้าได้ท่ามกลางกระแสความตื่นตัวเรื่อง CSR ขององค์กรธุรกิจจึงต้องเกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนตัวเอง เช่นเดียวกับสิ่งที่ มูลนิธิที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติหรือฮาบิแทต (Habitat) องค์กรภาคสังคมระดับนานาชาติ ที่เข้ามาลงหลักปักฐานในไทยมากว่า 10 ปี ทำในการปรับตัว ยกระดับและสร้างที่ยืนและระดมทุนได้มากในระดับหลายเท่าตัวในช่วง 2-3 ปีหลัง

ดร.ชัยณรงค์ มณเทียรวิเชียรฉาย ประธานมูลนิธิที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติ อธิบายว่า "เป็นเพราะการปรับตัวขององค์กรในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสอดรับกับกระแสความตื่นตัวเรื่อง CSR ขององค์กรในไทย ซึ่งทำให้เราสามารถเพิ่มการช่วยเหลือจาก 100 ครัวเรือนต่อปี ขยับไปเป็น 1,000-1,500 ครัวเรือนต่อปี เราต้องเอาผู้บริจาคเป็นตัวตั้ง และทำในสิ่งที่เพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะสมโดยไม่ต้องเปลี่ยนวิสัยทัศน์และพันธ กิจในความเป็นเรา" (อ่านรายละเอียดเพิ่มในล้อมกรอบ)

ด้าน "สินี จักธรานนท์" ผู้อำนวยการมูลนิธิอโชก้า กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้ว่า "ที่ผ่านมาคนที่เข้ามาทำงานในองค์กรภาคสังคมส่วนใหญ่ทำด้วยใจรักและต้องการ เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา ส่วนใหญ่จะมุ่งมั่นแก้ปัญหาในพื้นที่ มีประสบการณ์แต่ทักษะในการบริหารจัดการยังมีไม่มากหรือไม่มีเวลาไปพัฒนา"

และ มองว่าโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสังคมที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นจะสามารถนำ พาไปสู่ความเปลี่ยนแปลงนั้น โดยหลักสูตรที่อบรมจะมุ่งเน้นไปที่การใส่องค์ความรู้ด้านการจัดการสมัยใหม่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยี สารสนเทศ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม การเขียนโครงการของบประมาณสนับสนุน วิธีการบริหารและดำเนินโครงการ การตลาด กฎหมาย ประชาสัมพันธ์ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมืองและการเปลี่ยนแปลงทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น ทั้งยังเป็นการยกระดับการทำงานของ "เอ็นจีโอ" ให้มีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น และมีเส้นทางอาชีพชัดเจนเช่นเดียวกับในต่างประเทศ

"หากเป็นเช่นนี้เราก็สามารถแสดงให้สังคมเห็นว่าผู้ประกอบการทางสังคมนั้นสามารถทำได้เป็นอาชีพเหมือนกับธุรกิจ"

ยกระดับภาคประชาสังคม

" ผู้ประกอบการทางสังคม" ที่ "สินี" กล่าวถึงนั้นเป็นแนวคิดซึ่งมูลนิธิ "อโชก้า" พยายามส่งเสริมให้เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเชื่อว่าผู้ประกอบการทางสังคมนั้นมีคุณลักษณะเช่นเดียวกับผู้ประกอบการ ธุรกิจคือเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ มีความมุ่งมั่น จะผิดกันก็ตรงที่ว่าในขณะที่

ผู้ประกอบการธุรกิจมุ่งนำเสนอแนวคิด ในการพัฒนาสินค้าและบริการ ผู้ประกอบการทางสังคมจะมุ่งนำเสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหาทางสังคมและเป็นผู้ ที่ได้รับการยอมรับในสังคม

หากสามารถนำวิธีคิดด้านการบริหารจัดการ สมัยใหม่มาใช้ ถึงวันหนึ่งไม่เพียงจะสามารถทำงานกับองค์กรธุรกิจได้อย่างราบรื่นขึ้น "คนทำงานทางสังคม" ก็อาจจะสามารถอยู่รอดได้โดยไม่เพียงต้องพึ่งพาเงินบริจาคเพียงอย่างเดียว

ภาพ ของความตื่นตัวของ "ผู้คนในภาคประชาสังคม" ที่หลั่งไหลเข้ามาร่วมในหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทางสังคมที่จัด ขึ้นเป็นครั้งแรกอย่างเนืองแน่นกว่า 31 องค์กร 44 คน เช่น มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็ก มูลนิธิส่งเสริมและพัฒนาคนพิการฯ และทำให้อาจจำเป็นต้องเปิดคอร์สเพิ่มเติมอีกเพื่อรองรับนั้นเป็นเหมือน สัญญาณของ "เอ็นจีโอ" ไทยที่ตื่นตัวและเห็นความจำเป็นของความเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทสังคมใหม่

และ ในอนาคตหากสามารถยกระดับวิชาชีพคนทำงานภาคสังคม แนวโน้มของคนที่ก้าวเข้าสู่การเป็น "เอ็นจีโอ" มืออาชีพย่อมมีมากขึ้น เช่นเดียวกับแนวโน้มที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ อย่างที่ "เอื้อ แก้วเกตุ" ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเยาวชน YPDC กล่าวว่า "แนวโน้มปัจจุบันมีความชัดเจนว่าคนหันมาสนใจเรื่องการพัฒนาสังคมมากขึ้น ในนิวยอร์กคนทำงานในสังคมเพิ่มขึ้นเพียง 5% แต่คนในที่ทำงานเอ็นจีโอที่ไม่แสวงหากำไรเพิ่มขึ้นถึง 25% โอกาสแบบนี้จะทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจทำงานเพื่อสังคมมากขึ้นในอนาคต"


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 6 ตุลาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01061051&day=2008-10-06&sectionid=0221

วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2551

"ฟอร์ด" อนุรักษ์เต่า One Team One Plan One Goal



จะ ว่าไปถึงวันนี้งานอาสาสมัครพนักงานไม่ใช่เรื่องใหม่ อีกต่อไป หลายองค์กรหยิบเอากิจกรรม "อาสาสมัครพนักงาน" มาเป็นหนึ่งในการเติมพลังในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้แข็งแกร่งขึ้น

เช่น เดียวกับ "ฟอร์ด" ค่ายรถยนต์อันดับ 2 ของโลก ที่เมื่อวันที่ 11-12 กันยายนที่ผ่านมา "อดิศักดิ์ หวังพงษ์สวัสดิ์" รองประธานฝ่ายขายและพัฒนาธุรกิจผู้จำหน่าย ฟอร์ด ประเทศไทย นำทีมอาสาสมัคร พนักงานและผู้จัดจำหน่ายของฟอร์ด กว่า 40 ชีวิตลงพื้นที่ สร้างแคมป์เฮาส์ส่งเสริมการศึกษาสิ่งแวดล้อมชายฝั่งเกาะมันใน จ.ระยอง ภายใต้โครงการ "เกาะมันในสู่การเป็นเกาะแห่งการเรียนรู้และอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง ตะวันออกแห่งแรกของไทย" ที่ฟอร์ดสนับสนุน

"การที่เราเลือกสนับสนุน โครงการนี้เพราะเห็นว่าปัจจุบันเต่าทะเลกำลังลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจาก ธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ และมีแนวโน้มที่จะสูญพันธุ์ไปในไม่ช้า" อดิศักดิ์ หวังพงษ์สวัสดิ์ เล่าถึงที่มาที่ไปว่าเพราะเหตุใด ฟอร์ดถึงเลือกให้การสนับสนุนเรื่องนี้ โดยที่ผ่านมาได้สนับสนุนโครงการอนุบาลและเผยแพร่พันธุ์เต่าทะเล ในการสนับสนุนศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตะวันออก ในการสร้างบ่ออนุบาลและช่วยชีวิตเต่าและพะยูน และปล่อยเต่าทะเลกลับคืนสู่ธรรมชาติ รวมไปถึงการนำอาสาสมัครลงพื้นที่ในการสร้างแคมป์เฮาส์เพื่อเป็นที่พักสำหรับ เยาวชนและนักศึกษาที่จะสามารถเข้ามาเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรชายทะเล ภาคตะวันออก แบบครบวงจรแห่งแรก เพื่อปลูกฝังแนวคิดการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนกับเยาวชน

กิจกรรมอาสา สมัครพนักงานครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงการลงทุนและลงแรงของพนักงานฟอร์ดในไทยเท่านั้น ในเวลาเดียวกันพนักงานของฟอร์ดทั่วโลก ได้ร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมพร้อมกันในโครงการที่ชื่อว่า สัปดาห์ฟอร์ดห่วงใยโลก (Ford Global Week of Caring) ซึ่งถือเป็นประเพณีปฏิบัติที่พนักงานฟอร์ดทั่วโลกจะร่วมกันทำกิจกรรมอาสา สมัครเพื่อสังคม ในเดือนกันยายนของทุกปี

จบสัปดาห์ฟอร์ดห่วงใยโลก ระหว่าง วันที่ 6-14 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา คาดว่าในปีนี้พนักงานฟอร์ดกว่า 8,000 คนทั่วโลกได้ใช้เวลารวมกว่า 24,000 ชั่วโมงในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมในชุมชนกว่า 175 โครงการ

ดวงพร อิศรพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ฟอร์ดเซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "เรื่องนี้กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรของเราไปแล้ว หลังจากเริ่มต้นเป็นครั้งแรกในเหตุการณ์ธรณีพิบัติสึนามิ ที่พนักงานของฟอร์ดมาร่วมช่วยกันสร้างบ้าน 100 หลัง ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นโครงการประจำปี เราคิดว่าการพัฒนาชุมชนวันนี้อยู่ใน สายเลือดของฟอร์ดและเราไม่ได้เห่อตามกระแส แต่เป็นการสร้างจิตสำนึกและ ส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วม"

"เราเชื่อว่าการสร้างจิตสำนึกเรื่อง สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ เราเชื่อว่างานอาสาสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนในองค์กรได้ เพราะถ้าคุณมีจิตใจที่แบ่งปัน เวลาทำงานก็จะส่งผลให้การทำงานดีขึ้น"

เพราะ กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยสร้าง one team ในการสร้างน้ำหนึ่งใจเดียวกันของการทำงานในองค์กรของทุกแผนกทั่วโลก ภายใต้ one plan การกำหนดทิศทางในเชิงรุก และนำไปสู่ one goal ที่จะบรรลุเป้าหมายหนึ่งเดียวในการดำเนินธุรกิจ ในฐานะพลเมืองที่ดีของสังคม

ที่ ไม่ว่าจะทำงานอยู่ที่ใดในโลกก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้จะไม่ค่อยได้สื่อสารกับภายนอกมากนักถึงสิ่งที่ตัวเองทำ แต่ภายใต้ one team one plan one goal ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางในกระบวนการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืน ฟอร์ดจะให้ความสำคัญกับการสื่อสารภายในองค์กร

"ทุกเช้าวันศุกร์ จะมีการประชุมร่วมกันแต่ละแผนกว่าเราทำอะไรกันมา รวมถึงมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ภายในองค์กร เราเชื่อว่างานจะสำเร็จได้ต้องทำจากภายในออกสู่ภายนอก" ดวงพรกล่าวในที่สุด

เป็น การสร้างการรับรู้และจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้แข็งแกร่งจากภายใน ก่อนที่ไปสู่ปลายทางให้คนภายนอกรับรู้ว่า ฟอร์ดคือเพื่อนบ้านที่แสนดีในชุมชน อย่างเป้าหมายที่วางไว้

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ 29 กันยายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr05290951&day=2008-09-29&sectionid=0221


ผ่าความสำเร็จ องค์กรต้นแบบ บนคลื่นนวัตกรรม CSR


ถ้า พลิกคู่มือ "เข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม" แนวปฏิบัติสู่การเป็นองค์กรธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งคณะทำงาน ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและ สิ่งแวดล้อมของบริษัทจดทะเบียน ระบุไว้นั้น ประเด็นในเรื่องนวัตกรรมและการเผยแพร่นวัตกรรมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อ สังคม ถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของ CSR ในแบบฉบับไทย

ซึ่ง "มัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา" ที่ปรึกษาสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวไว้บนเวที "CSR Best Practices : กรณีศึกษาการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม" ที่ ศูนย์สร้างเสริมศักยภาพในการแข่งขัน คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA CEC) ร่วมกับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ร่วมจัดขึ้นเมื่อวันที่18 กันยายนที่ผ่านมา ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ว่า "นี่คือจุดเด่นเรื่อง CSR ของเราอีกข้อที่ต่างประเทศไม่มีคือ การค้นพบนวัตกรรมและการเผยแพร่ ถ้าทำ CSR ไม่ครบตามนี้ก็ถือว่ายังแหว่งอยู่ เวลาพูดถึง CSR ผมมักจะบอกว่าเป็นการทำธุรกิจบนเส้นทางอรหันต์ คือถ้าทำได้ครบจะไม่มีบาปเกิดขึ้นเลย และทุกวันนี้การมีธรรมาภิบาลอย่างเดียวไม่ได้เพราะส่วนใหญ่ยังคำนึงแค่ ผู้ถือหุ้นแต่ยังขาดเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม"

น่าสนใจว่า อะไรคือนวัตกรรมจาก CSR โดยหลักการในหนังสือคู่มือเข็มทิศธุรกิจระบุว่า ความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ในการดำเนินงานด้าน CSR สามารถนำมาพัฒนาปรับใช้รวมไปถึงคิดค้นให้เกิด นวัตกรรมทางธุรกิจ ซึ่งสามารถสร้างประโยชน์ความสามารถในการแข่งขันและมูลค่าเพิ่ม ทั้งธุรกิจและสังคมไปพร้อมๆกัน

บนเวทีเดียวกัน "วีนัส อัศวสิทธิถาวร" ผู้ช่วยผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรเครือซิเมนต์ไทย (SCG) กล่าวว่า เรื่องนวัตกรรม ไม่เพียงจะเป็นหนึ่งในเป้าหมายในการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน ขณะเดียวกัน SCG ถือว่านวัตกรรม ถือเป็นหนึ่งในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR)

ฉะนั้นถ้าแบ่งขาย CSR ของเครือ ซิเมนต์ไทย จะเห็นได้ว่ามี 2 ด้าน 1.คือ การดำเนินความรับผิดชอบในกระบวนการธุรกิจ (CSR in process) 2.การดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม

พร้อมขยายความ "ความรับผิดชอบต่อสังคมภายในกระบวนธุรกิจ" ว่า "ความรับผิดชอบภายในหมายถึง เราต้องมีความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจ ในไทยวันนี้เริ่มมีการพูดกันว่าผลิตสินค้าต้องเป็นธรรม ราคาต้องเป็นธรรม คุณภาพต้องดี เหมาะสม และนวัตกรรมก็เป็นอีกเรื่องที่เราพยายามนำเข้ามาและถือเป็น CSR อย่างตอนนี้เรามีกระดาษที่นำมาใช้ใหม่ที่เรียกว่า กรีนเปเปอร์ ซึ่งเป็นกระดาษที่ทำให้ลดการตัดต้นไม้ การใช้พีวีซีมาแทนกรอบประตูไม้ รวมไปถึงการนำคอนกรีต มาทำเป็นหมอนรถไฟ หรือวัสดุก่อสร้าง"

เหล่านี้เป็น "นวัตกรรม" ใหม่ของธุรกิจที่เกิดจากการใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมและนำมาซึ่งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

อย่าง ไรก็ตาม สำหรับกลุ่มธุรกิจสื่อสารอย่าง "ทรู" ที่วันนี้ไม่เพียงเป็นองค์กรที่ได้รับการยกย่องให้เป็นองค์กรนวัตกรรม โดยได้รับรางวัลด้านนวัตกรรม 2 ปีซ้อนใน ปี 2549 และปี 2550 จากหนังสือพิมพ์เดอะ วอลล์สตรีต เจอร์นัล แต่ในการกิจกรรมเพื่อสังคมอย่าง "ทรูปลูกปัญญา" ซึ่งกลายมาเป็นนวัตกรรมทางสังคม โดยนำสื่อครบวงจรที่ทรูให้บริการ ในการสร้างการเรียนรู้ของเด็กไทย เรื่องนี้ ดร.กันทิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ทรูวิชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับผิดชอบกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ในฐานะที่เราเป็นบริษัทสื่อสารที่เป็นของคนไทย 100% ก็อยากมีส่วนในการสร้างสังคมไทย เราทราบข้อมูลมาว่าเด็กนักเรียน ครู ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศยังขาดการเข้าถึงความรู้ บางทีครู 1 คนต้องสอนทุกวิชาและทุกชั้นเรียน คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ก็บอกว่าเราต้องนำเทคโนโลยีสื่อสารที่มีอยุ่ไปทำให้คนเหล่านี้เข้าถึงความ รู้ จากสื่อที่เข้าไปง่ายที่สุดคือโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ทำให้เด็กๆ และครูมีโอกาสที่จะเข้าถึงความรู้เหมือนกับเด็กที่อยู่ในเมืองใหญ่และทั่ว โลก ผลที่ กลับมาเด็กสามารถใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และครูก็สามารถที่จะนำความรู้ ที่ได้ไปต่อยอดขยายผลในการเรียนการสอน ตอนนี้ยังมีโรงเรียนอีกกว่า 30,000 แห่งที่ยังขาดสื่อในการเข้าถึงความรู้กว่า 10,000 แห่ง ซึ่งเราก็พยายามจะขยายไปเรื่อยๆ ในปีนี้ยังมีการเปิดเว็บไซต์ปลูกปัญญา เพื่อให้เป็นสื่อกลางระหว่างโรงเรียนในการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน"

ซึ่ง ถือเป็นหนึ่งในการพัฒนากระบวนการในการทำงานเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยนำนวัตกรรมซึ่งเป็นขีดความสามารถหลักมาพัฒนาสู่นวัตกรรมใหม่ๆ ของกิจกรรมเพื่อสังคม

เป็นความรับผิดชอบที่แตกดอกออกผล จากจุดเริ่มต้นของความใส่ใจสังคมและ สิ่งแวดล้อม !!

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 29 กันยายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr04290951&day=2008-09-29&sectionid=0221


ความสำคัญของการมีส่วนร่วม ในกิจกรรม CSR

ความสำคัญของการมีส่วนร่วม ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจกรรม CSR

ดร.อัศวิน จินตกานนท์ กรรมการมูลนิธิรักษ์ไทย และที่ปรึกษาอาวุโสกลุ่มบริษัททีม

CSR เป็นความมุ่งมั่นของธุรกิจที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง อย่างมีจริยธรรมและมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนในสังคมโดยการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และสังคมในวงกว้าง ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ

1.CSR "ในบ้าน" หรือความรับผิดชอบต่อสังคมในองค์กรของตนเอง ไม่เสแสร้งทำเพื่อการสร้างภาพระยะสั้น เช่น ดำเนินธุรกิจอย่างถูกกฎหมาย กฎเกณฑ์และระเบียบของอุตสาหกรรมนั้นๆ รับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ต่อพนักงาน ต่อแรงงาน และดูแลความปลอดภัย ทุกข์สุขและความก้าวหน้าของพนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจกรรมของ องค์กร

2.CSR "รอบรั้วขององค์กร" หรือความรับผิดชอบในบริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งขององค์กรหรือโรงงาน เช่น การช่วยเหลือชุมชนรอบโรงงาน หรือใกล้องค์กรเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

3.CSR "นอกรั้ว" หรือความรับผิดชอบต่อสังคมที่ไกลออกไป เช่น การช่วยเหลือ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่ใกล้เคียงองค์กรหรือโรง งาน เช่น การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในประเทศพม่า

ประเภทของกิจกรรม CSR ที่นิยมดำเนินการร่วมกับชุมชนทั่วไป (1) มีอยู่ประมาณ 10 ประเภทด้วยกัน คือ

1. กิจกรรมที่บรรเทาหรือลดความยากจน 2.กิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม 3.กิจกรรมเกี่ยวกับความปลอดภัยและทุกข์สุขของแรงงาน 4.กิจกรรมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน 5.กิจกรรมเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน 6.มาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่ดีตามกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯสำหรับบริษัทจด ทะเบียน 7.กิจกรรมเกี่ยวกับสุขอนามัยในชุมชน 8.กิจกรรมเกี่ยวกับการบรรเทาสาธารณภัย 9.กิจกรรมเกี่ยวกับการศึกษาและการพัฒนาภาวะผู้นำ 10.กิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กร

(1) ที่มา : CSR-กระแสคุณธรรมของธุรกิจในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ศิริชัย สาครรัตนกุล

การดำเนินกิจกรรมโดยการมีส่วนร่วม

ใน การดำเนินโครงการ CSR ที่ดีนั้น ผู้ดำเนินโครงการควรให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stake holders) มีส่วนร่วมใน กระบวนการตัดสินใจและในการวางแผน ตลอดจนในการคัดเลือกโครงการหลายโครงการที่จบลงด้วยความล้มเหลวเป็นเพราะ "ผู้ให้" หรือ "ผู้อยากจะให้" ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของผู้รับ เพียงแต่ตัดสินใจข้างเดียวว่าต้องการจะให้อะไร และเรียก "ผู้รับ" มารับของไป การกระทำเช่นนี้ไม่ใช่ไม่ได้ให้เกียรติผู้รับอย่างเดียว แต่ยังเป็นกิจกรรมที่ไม่มีความยั่งยืน เพราะผู้รับมารับบริจาคเพียงครั้งเดียวแล้วก็ไปโดยไม่ได้มีการแลกเปลี่ยน ความเห็นกันเลย

บางครั้งผู้ให้คิดว่าการที่จะต้องมาฟังความคิดเห็น จากผู้รับ เป็นการเสียเวลา เสียทรัพยากร แต่หาคิดไม่ว่า "ผู้รับของ" ก็มีเกียรติและมีศักดิ์ศรี

ดังนั้น การรับฟังความคิดเห็นโดยให้ผู้รับและ NGO ที่ร่วมดำเนินการ จะแสดงถึงความจริงใจและความห่วงใยของผู้ให้ อาจทำให้ผลลัพธ์ได้ผลดีและยั่งยืน

การดำเนินกิจกรรม CSR โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stake holders) ในทุกๆ กรณีจึงควรที่จะมีการปรึกษาหารือและรับฟังความคิดเห็น ซึ่งมีอยู่ 4 ระดับด้วยกัน คือ

1.การให้ข้อมูลโดยผู้ให้อธิบายถึงวัตถุประสงค์ของ การทำ CSR และผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้ ผู้รับอธิบายถึงความต้องการและความพร้อมของเขาที่จะรับความช่วยเหลือ

2. การปรึกษาหารือ (consultation) เป็นการที่ผู้รับและผู้ให้ปรึกษาถึงวิถีทางที่จะดำเนินการให้ดีที่สุด และเป็นที่ยอมรับของชุมชน ในขั้นตอนนี้ผู้ให้ควรจะระมัดระวังที่จะไม่ให้ผู้รับมีความรู้สึกว่าเป็นการ "ให้ทาน" ซึ่งโดยทั่วไปองค์กรเอกชน (NGO) จะเข้าประสานงานให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันอย่างดี

3.การตัดสินใจร่วม กัน (collaborative decision making) การตัดสินใจร่วมกันนี้เป็นการทำให้ผู้รับมีความรู้สึกว่าเขามีส่วนในการทำ ให้โครงการ CSR ประสบผลสำเร็จ เพราะได้ผลประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

4. การให้อำนาจต่อผู้รับความช่วยเหลือ (empowerment) หาก "ผู้ให้" ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว ผู้รับจะมีความรู้สึกว่าเขาได้รับเกียรติและยินดีที่จะร่วมในทุกๆ ขั้นตอนของโครงการ CSR

บทบาทขององค์กรเอกชน (NGO)

บทบาทของ องค์กรเอกชนเสมือน "พ่อสื่อหรือแม่สื่อ" ระหว่างองค์กรธุรกิจกับชุมชน เนื่องจากองค์กรเอกชนมีความเข้าใจในชุมชนดี และทราบถึงความต้องการ ตลอดจนความสามารถพิเศษของภูมิปัญญาในชุมชน ดังนั้นองค์กรเอกชนจึงอยู่ในฐานะที่จะให้คำแนะนำต่อองค์กรธุรกิจที่สนใจทำ CSR ในชุมชนนั้นๆ

ธุรกิจซึ่งมีความสามารถพิเศษและมีความรู้ด้าน ธุรกิจ เช่น การตลาด การผลิต การควบคุมคุณภาพ การบริหารการเงิน และ logistics สามารถลดความยากจนในชุมชนโดยการแนะนำความรู้ด้านธุรกิจให้แก่ชุมชน ตัวอย่างที่เห็นทั่วไปก็คือ OTOP ซึ่งช่วยให้ชุมชนหลายชุมชนสามารถเอาชนะความยากจนโดยการขายภูมิปัญญาในรูปแบบ ของผลิตภัณฑ์ OTOP แต่หลายชุมชนก็ต้องเสียใจเพราะความเร่งรีบของรัฐบาลที่จะให้ OTOP แสดงผลงาน ทำให้หลายชุมชนไม่สามารถเตรียมความพร้อมได้

ในการสัมมนา เกี่ยวกับโครงการ CSR ซึ่งจัดโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย ผู้เข้าร่วมสัมมนาซึ่งเป็นผู้แทนจาก NGO และธุรกิจ ได้พูดถึงปัจจัยที่ทำให้ CSR ประสบความสำเร็จ คือ

1.การเลือก พันธมิตรที่ถูกต้อง ระหว่างธุรกิจองค์กรเอกชนและชุมชน โดยองค์กรเอกชนต้องแนะนำโครงการที่เหมาะสมให้กับธุรกิจที่จะทำกับชุมชน

2.ความสามารถในความไว้เนื้อเชื่อใจทั้งสองฝ่าย คือ ธุรกิจและชุมชนต้องเข้าใจความรู้สึก ค่านิยม ทัศนคติ และความต้องการของแต่ละฝ่าย

3. การมีผลประโยชน์ร่วมกัน องค์กรเอกชนต้องเข้าใจว่าธุรกิจเป็นจำนวนมากทำ CSR เพื่อจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเพื่อประโยชน์ด้านธุรกิจ และธุรกิจต้องทำกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้น กิจกรรม CSR ควรช่วยเสริมธุรกิจให้กับธุรกิจของเขา ในขณะเดียวกันธุรกิจก็ต้องเข้าใจองค์กรเอกชนว่า องค์กรเอกชนต้องการสร้างผลงาน เพราะความสำเร็จของโครงการจะทำให้เขาได้รับการบริจาคเพื่อช่วยเหลือชุมชนมาก ขึ้น ชุมชนต้องการความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาชุมชนของตนให้เป็นชุมชนที่เข็มแข็ง มีสภาพการศึกษาที่ดี และมีสถานีอนามัยที่มีความสามารถที่จะให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและคนชราได้ดี มีน้ำดื่มที่สะอาด เป็นต้น

การเข้าใจซึ่งกันและกันจะทำให้ทุกฝ่ายไม่ สร้างความหวังที่เกินความจริง และอาจเกิดความผิดหวังในอนาคต การมีความจริงใจต่อกัน ความคาดหวังที่เหมาะสม ความพร้อมที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันจะนำไปสู่ CSR ที่ประสบความสำเร็จ


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 29กันยายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03290951&day=2008-09-29&sectionid=0221

วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ก้าวต่อ MQDC ฝันใกล้ (เป็น) จริง "บ้านพักคนชรา-เด็กกำพร้า"



อาจ จะดูเป็นเพียง "ความฝัน" บนกระดาษ สำหรับโครงการ "บ้านพักผู้สูงอายุและเด็กกำพร้า" หรือ "บ้านสำหรับคนสองวัย" ที่บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ผ่านการประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคม Innovation World,s CARE Award หรือ iCARE Award ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไปส่งแผนธุรกิจเข้าประกวด โดยแผนธุรกิจ ดังกล่าวนอกจากจะต้องวางแนวคิดในการนำคนทั้งสองวัยมาอยู่ร่วมกันบนพื้นฐาน ชีวิตที่มีคุณภาพแล้ว ในเวลาเดียวกันต้องมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ ที่จะทำให้องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นแม้จะเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรจะต้อง สามารถยืนอยู่ได้บนขาของตัวเอง เพื่อค้นหาผู้ชนะเลิศ ก่อนที่แผนธุรกิจ ดังกล่าวจะถูกปลุกปั้นจากกระดาษสู่การดำเนินการจริง ในราวต้นปี 2552 ที่จะถึง

ที่ว่าเป็น "ความฝัน" เพราะหากโครงการนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง นี่จะเป็นครั้งแรกในโลก ซึ่งเป็นบ้านพักที่นำคนสองวัยคือผู้สูงอายุและเด็กกำพร้าที่ถูกทอดทิ้ง มาอยู่ร่วมกันและน่าจะเป็นครั้งแรกๆ ในไทยที่แนวคิด "ผู้ประกอบการทางสังคม" (social entrepreneur) องค์กรทางสังคมที่สามารถหารายได้จากการทำธุรกิจเพื่อดูแลตัวเองได้จะก่อตัว เป็นรูปเป็นร่าง ทั้งยังเป็นโครงการเพื่อสังคมในเชิงรุก เพื่อ เตรียมรองรับปัญหาผู้สูงอายุ ที่กำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในอนาคต (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบ)

ตะลุยญี่ปุ่น ค้นหา "ต้นแบบ"

" ตั้งแต่เราทำโครงการแม้เราจะมั่นใจว่าแนวคิดนี้เดินมาถูกต้องจากการศึกษาและ วิจัย ในการที่จะเติมเต็มช่องว่างความรักของคนสองวัยนี้เข้าด้วยกัน แต่เท่าที่เราไปคุยกับหน่วยงานที่ดูแลเด็กและผู้สูงอายุในไทยตลอดระยะเวลา ที่ผ่านมา หลายคนบอกกับเราว่าเขาพยายามทำแล้ว แต่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก เพราะเป็นการนำคนที่ขาด ซึ่งต้องการผู้ดูแลมาเติมเต็มซึ่งกันและกัน" วิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ กรรมการผู้จัดการ สายธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บอกเล่าให้ฟังถึงโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของบริษัทที่ได้ริเริ่มขึ้นมานับตั้งแต่ต้นปี

"แต่พอมาที่ญี่ปุ่นและ เห็นต้นแบบซึ่งใกล้เคียงกับโมเดลของเราที่สุด ในการนำเด็กและผู้สูงอายุมาอยู่ร่วมกันได้อย่างดี ทำให้เราเริ่มเห็นว่าในความเป็นจริงโอกาสที่จะเกิดขึ้นในไทยนั้นมีความเป็น ไปได้" เขากล่าวระหว่างนำคณะทีมผู้เข้าประกวดรอบสุดท้ายจำนวน 8 ทีมกว่า 50 ชีวิตไปดูงานบ้านพักคนชราที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน เมื่อเร็วๆ นี้

ซึ่งมีความใกล้เคียง "ฝัน" ของ MQDC มากที่สุดในโลก เท่าที่สามารถสืบค้นได้

" โคโตเอ็น" (KOTOEN) บ้านพักคนชราที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คือต้นแบบของบ้านพักคนชราและเด็กที่ว่านั่นแหละ ที่นี่ยังเป็นบ้านพักคนชราแห่งเดียวในญี่ปุ่นที่เปิดโอกาสให้คนสองวัยมาอยู่ ร่วมกัน

ลดกำแพง เติมเต็ม "คนสองวัย"

ในอาคารเดียวกัน มีตั้งแต่เด็กแรกเกิด จนถึงผู้สูงอายุที่อายุมากที่สุด 107 ปีมาอยู่ร่วมกัน มีทั้งผู้สูงอายุที่อยู่ในความดูแล และผู้สูงอายุที่มาเป็นครั้งคราว โดยมาเข้าร่วมกิจกรรม ขณะที่เด็กทั้งหมดไปเช้าเย็นกลับ ระหว่างการอยู่ร่วมกันจะมีกิจกรรมที่ทั้งเด็กและผู้สูงอายุได้ใช้เวลาร่วม กัน ตั้งแต่การออกกำลังกายในตอนเช้า การที่ผู้สูง อายุมาดูแลเด็ก เด็กๆ มาเยี่ยมผู้สูงอายุ จนกระทั่งกิจกรรมที่ทำร่วมกันในวันเสาร์ ซึ่งผู้ปกครองของเด็กๆ จะมาเป็นอาสาสมัครและใช้เวลาร่วมกัน โดยนอกจาก พนักงานประจำที่มาดูแลเด็กและคนชราแล้ว ยังมีอาสาสมัครทั้งชาวต่างชาติ ประชาชนทั่วไปและเด็กโตที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงมาทำงานดูแลทั้งเด็กและคนชรา

ผู้ ดูแลบ้านพักเล่าถึงที่มาที่แนวคิดนี้ว่า "แรกทีเดียว บ้านพักคนชราแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนยากจน ก่อนจะปรับรูปแบบเมื่อหลายปีก่อนในการนำคนสองวัยมาอยู่ร่วมกัน แต่เราเห็นปัญหาว่าตอนนี้ครอบครัวส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นจะเป็นครอบครัวเดี่ยว ไม่ได้อยู่กับคุณตาคุณยาย ฉะนั้นจะเกิดกำแพงระหว่างวัยซึ่งเราพยายามที่จะลดกำแพงเหล่านี้ เราอยากให้เด็กได้เรียนรู้ว่าในโลกเป็นอย่างนี้ เราอยากให้เขาสามารถวิ่งเข้าไปกอดคนพิการ คนสูงอายุได้โดยสนิทใจ และเราก็พยายามอธิบายวิธีคิดนี้ให้ผู้ปกครองเด็กฟัง พ่อแม่ของเด็กๆ ที่หยุดทำงานในวันเสาร์ก็จะมาช่วยเป็นอาสาสมัคร"

"เรายังเชื่อด้วย ว่าการที่เด็กและคนชราได้มีโอกาสสัมผัสกัน จะทำให้เด็กโตขึ้นไปแล้วมีจิตใจที่ดี ในทางกลับกันการที่เด็ก อยู่ในอาคารนี้จะทำให้อาคารมีชีวิตชีวา สีสันมากขึ้น คนสูงอายุยังรู้สึกว่าตัวเอง มีคุณค่ามากขึ้นด้วย เมื่อเขาได้มีโอกาส ทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าจะเปลี่ยนเสื้อผ้า อ่านนิทานให้เด็กๆ ฟัง"

โอกาสบนปัจจัยที่ต่างกัน

แม้ จะมีความใกล้เคียงที่สุด แต่สำหรับบ้านพักคนชราและเด็กที่ "โคโตเอ็น" และ "บ้านพักสำหรับผู้สูงอายุและเด็กกำพร้า" ของ MQDC นั้นก็ยังมีความแตกต่าง

ความ แตกต่างประการแรก เด็กที่มาอยู่ที่ "โคโตเอ็น" เป็นเด็กที่มีครอบครัวดูแล และมาแบบเช้าไปเย็นกลับ ขณะที่ตามแผนของ MQDC เด็กที่จะมาอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุจะต้องเป็นเด็กกำพร้า ซึ่งถือเป็นพันธกิจข้อหนึ่งของกลุ่มบริษัทดีที ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ MQDC ที่นอกเหนือจากเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังต้อง "สามารถช่วยเหลือเด็กยากจนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" โดยที่ผ่านมาส่วนใหญ่ทำงานช่วยเหลือเด็กกำพร้าผ่านมูลนิธิพุทธรักษาที่ก่อ ตั้งขึ้น

ความแตกต่างอีกประการ ในขณะที่ "โคโตเอ็น" มีเงินสนับสนุนจากภาครัฐและ ผู้สูงอายุที่จะเข้าไปพักอาศัย แต่ "บ้านพักสำหรับคนสองวัย" ที่ MQDC หวังจะให้เกิดจะต้องไม่มีการเก็บ

ค่า ใช้จ่าย ทั้งยังต้องดูแลผู้สูงอายุและเด็กกำพร้าที่ถูกทอดทิ้งให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นนี้จะต้องสามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองได้ โดย MQDC จะสนับสนุนงบประมาณเรื่องจัดหาที่ดิน ลงทุนก่อสร้างอาคารกว่า 15 ล้านบาท รวมไปถึง งบประมาณในการบริหารจัดการในช่วง 3 ปีแรกอีกราว 5 ล้านบาท

ฉะนั้นนี่คือ "ความยาก" ของปั้นฝันให้เป็นจริง ของโครงการ "บ้านพักคนชราและเด็กกำพร้า" แห่งแรกที่จะเกิดขึ้นในไทย !!

" พงศ์" ธรากร กมลเปรมปิยะกุล ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของ "ทีบีดับบลิวเอ" จากทีม "บ้านบุญธรรม" หนึ่งในผู้เข้ารอบสุดท้ายประเภทประชาชนทั่วไป บอกว่า "ผมว่าภาพที่เราเห็นเด็กๆ วิ่งมากอดผู้สูงอายุ ถึงแม้เราจะฟังภาษาเขาไม่ออก แต่ผมว่าเสียงเจื้อยแจ้วของเด็กๆ มันเป็นภาษาสากล ที่เกิดขึ้นในประเทศที่มีระบบจัดการที่ดี แต่ความยากของเราอยู่ที่ว่าเราไม่ได้มีรัฐมาสนับสนุนเหมือนเขา และเราต้องทำบ้านสำหรับคนที่ขาด ดูอย่างการประกวดนี่ก็เป็นการริเริ่มของเอกชน ผมว่าเราคงคาดหวังอะไรจากภาครัฐไม่ได้ นอกจากคาดหวังกับพวกเราด้วยกันเองที่มีความชำนาญบางด้านที่สามารถมาช่วย สังคมได้"

สำหรับตัวเขา ในฐานะนักโฆษณา แผนธุรกิจเพื่อสังคมของทีม "บ้านบุญธรรม" จึงมองความเป็นไปได้ที่บ้านพักคนสองวัย จะสามารถสร้างรายได้จากการ "สร้างแบรนด์" ในขณะที่ทีมอื่นๆ ทั้งประเภทบุคคลทั่วไปและนักศึกษาต่างก็มีไอเดีย ที่แตกต่างกันไป อาทิ แผนธุรกิจสร้างรายได้จากการเป็น ผู้เชี่ยวชาญการฝึกอบรมเพื่อดูแลผู้สูงอายุและเด็กทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แผนธุรกิจสร้างรายได้จากเกษตรกรรม และการบริหารเงิน แผนธุรกิจที่สร้างโรงแรมสำหรับผู้สูงอายุและดูแลสุขภาพแบบครบวงจร การสร้างร้านอาหารสำหรับคนชรา เป็นต้น

ส่วน "ฝัน" จะเป็นจริงได้แค่ไหน ถึงเวลานี้เพียงแค่นับถอยหลัง และต้องติดตามแบบห้ามกะพริบตา


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 29 กันยายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01290951&day=2008-09-29&sectionid=0221

เหตุและความจำเป็นของ "บัญชีสิ่งแวดล้อม"



ด้วย ความที่มีพื้นฐานของนักวิชาการด้านบัญชี บวกกับความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำให้ รศ.วัชนีพร เศรษฐสักโก อาจารย์ประจำภาควิชาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ติดตามเรื่อง "บัญชีสิ่งแวดล้อม" มายาวนาน

ไม่ เพียงตีพิมพ์บทความเรื่องการบริหารธุรกิจเพื่อความยั่งยืนกับการบัญชีเพื่อ ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ในหนังสือกระบวนทัศน์วิชาชีพบัญชีเพื่อการบริหารธุรกิจ ต้นปีที่ผ่านมา บทความ เรื่อง Determinants corporate sustainability : Thai frozen seafood processors ของ รศ.วัชนีพร ซึ่งทำการศึกษาด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็งซึ่งเป็น อุตสาหกรรมหลักของไทยยังได้รับการ ตีพิมพ์ ในวารสารวิชาการ British food journal อีกด้วย

มุมมองของ รศ.วัชนีพร จึงน่าสนใจอย่างยิ่งเมื่อ พูดคุยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ในยุคสมัยที่แนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) กำลังกลายเป็นกระแสในสังคมไทย

- มองกระแส CSR ไทยในอย่างไร

บาง คนเวลาดูเรื่อง CSR ก็จะนึกถึงแต่ผลกระทบทางด้านสังคม การบริจาค ให้ทุนการศึกษา เพื่อให้บริษัทมีภาพลักษณ์ที่ดี แต่ถ้ามีการปรับกันตั้งแต่ภายในกระบวนการผลิต ทำด้วยความจริงใจบางทีค่าใช้จ่ายที่มาทำกิจกรรมภายนอกก็อาจไม่ต้องจ่ายก็ได้ แต่ทำให้ชุมชนรู้สึกดี โดยที่เราปฏิบัติที่ดีอย่างแท้จริงกับชุมชนนั้นๆ หลายครั้งก็มองผ่านการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลายคนมองเป็นต้นทุน ทั้งๆ ที่การทำเรื่อง CG และ CSR ให้ชัดเจนต้องมองทั้ง 3 ส่วนประกอบคือ คุณค่าที่ได้ทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในบ้านเรายังขาดตรงนี้มาก ซึ่งบัญชีสิ่งแวดด้อมจะเข้ามาช่วยตรงนี้

- บัญชีสิ่งแวดล้อมจะเข้ามาช่วยเรื่องความรับผิดชอบขององค์กรอย่างไร

บัญชี สิ่งแวดล้อมจะเป็นข้อมูลที่สามารถนำเสนอให้ผู้บริหารเห็นว่า มีประโยชน์และจะได้คุณค่ากลับมาเท่าไหร่ ลดต้นทุนเท่าไหร่ พอเขาเห็นผลประโยชน์ที่กลับมา ความรับผิดชอบจริงก็จะเกิดขึ้น การที่จะทำให้เห็นภาพใหญ่แบบนั้นได้เพราะในแนวคิดของบัญชีสิ่งแวดล้อม มีการบวกรวมเรื่อง ต้นทุนของสังคมและชุมชนเข้าไปด้วย เช่น การปล่อยฝุ่นแล้วผู้ที่เกี่ยวข้องเกิดโรคทางเดินหายใจ ตรงนี้ก็ต้องคิดเป็นต้นทุนของบริษัท ส่วนใหญ่บริษัทมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องผลักภาระให้รัฐ มีการเพิ่มต้นทุนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเข้าไป เช่นต้นทุนการกำจัดน้ำเสีย ซึ่งบัญชีแบบเดิมนี่จะใส่ลงไปในการดำเนินการ ฉะนั้นก็จะไม่สามารถเห็นภาพว่าเกิดขึ้นเท่าไหร่ ทีนี่เวลาจะลดต้นทุนในส่วนนี้ก็ลดไม่ได้ แต่ถ้าใช้บัญชีสิ่งแวดล้อมพอเห็นตัวเลขจากรายงานผู้บริหารก็จะเห็นชัดว่าจะ ทำอะไร อย่างไร ที่ผ่านมาถ้าไม่ใช่ในบัญชีสิ่งแวดด้อมอาจจะจับต้องไม่ได้ แต่ทีนี้พอเห็นตัวเลขชัดๆ ก็จะเห็นเลยว่าต้นทุนลดลงเท่าไหร่กับการที่เราจัดการกับปัญหาด้านสิ่งแวด ล้อมต่างๆ ซึ่งก็ส่งผลดีกับบริษัท ชุมชนด้วย ไปจนถึงซัพพลายเออร์ ว่าจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างในการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ จับเป็นจุดไม่ได้มองภาพกว้างต้นทางถึงปลายทาง และบัญชีสิ่งแวดล้อมนี่จะทำให้เขาเห็นภาพชัดขึ้น หลายบริษัทก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

- ถึงวันนี้มีความจำเป็นแค่ไหนที่องค์กรต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้

ต้อง ไม่ลืมว่า การที่บริษัทจะอยู่รอดได้ คนอื่นก็ต้องอยู่รอดด้วย ถ้าประยุกต์หลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ คือ เราอยู่รอด ชุมชนอยู่รอด ประเทศชาติก็อยู่รอดไปด้วย เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมมันจะมีผลกระทบตั้งแต่จุดเล็กไปจนถึงจุดใหญ่ อย่างการทำวิจัยเรื่องอาหารแช่แข็ง จะเห็นว่าในอดีตเราทำฟาร์มกุ้งมาก และทำให้สิ่งแวดล้อมรอบๆ บ่อกุ้งเสียไป แม้จะหยุดเลี้ยงกุ้งก็ใช้เวลานานกว่าจะปรับพื้นที่ตรงนั้นให้ใช้ได้ ป่าโกงกางที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงก็เสียหาย ตอนหลังก็เป็นภาระที่ประเทศชาติจะต้องเข้ามาจ่ายเงินทำให้ดีขึ้น นี่เลยถามว่าเขารู้เรื่องนี้ตั้งแต่ต้นนั้น บางทีเขามองแต่จุดเดียวคือทำขายแล้วก็จบ แต่ถ้าความรับผิดชอบจริงๆ ต้องมองไปถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ดังนั้นถ้าเรามีบัญชีสิ่งแวดล้อมเข้าไปจากเดิมที่เราเคยดูด้านการลงทุน ดูว่าคุ้มทุนมั้ย คราวนี้เราก็จะกลับไปดูต้นทุนของสังคมและชุมชนในอนาคตด้วย มองนอกจากแค่มุมของการค้าขาย นี่เป็นบทบาทใหม่ของนักบัญชี นักบัญชีจะเข้ามาช่วยในส่วนนี้คือจะโชว์ภาพให้เห็นว่า จากกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม (green activity) ต่างๆ ที่บริษัททำลดต้นทุนไปได้เท่าไหร่ การลงทุนในอนาคตจะเกิดผลกระทบอย่างไร ซึ่งถ้าเอาแนวคิดนี้ไปใช้จริงในอนาคตก็จะสามารถลดต้นทนุของสังคมและชุมชนได้ ด้วย ซึ่งการที่จะคำนวณผลกระทบทางสังคมต่างๆ ออกมาได้ ไม่ใช่เพียงฝ่าย สิ่งแวดล้อม ฝ่าย CSR แต่ต้องมีการทำงานข้ามสายงานกับนักบัญชีด้วย คือต้องทำงานเป็นทีม ซึ่งบ้านเรายังขาดการทำงาน เป็นทีม


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 22 กันยายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr05220951&day=2008-09-22&sectionid=0221


CSR จำเป็นถ้าเราจะยกระดับผลผลิตท้องถิ่น

ดร.พรชัย ศรีประไพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส อิมพีเรียลเวิลด์ และ กรรมการ มูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่าบ่อยๆ ครั้งที่ผมได้ร่วมออกเดินทางไปต่างจังหวัดกับมูลนิธิรักษ์ไทย หรือกับโครงการอื่นๆ เพื่อไปเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์และผลงานระดับหมู่บ้าน ผมมักจะคิดถึงรูปแบบของการพัฒนางาน OTOP ที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ (THAILAND STAND-UP, สำนักพิมพ์ BRAND AGE BOOKS กรุงเทพฯ 10400) เคยทำเป็น chart เอาไว้ว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ OTOP นั้นแบ่งเป็น 5 generation ดังนี้

generation ที่ 1 ชาวบ้านพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างโดดเดี่ยว

generation ที่ 2 ชาวบ้านมีองค์กรของรัฐเข้ามาช่วย

ทั้ง 2 generation นี้ เป็นรูปแบบของการพัฒนาขั้นพื้นฐานที่เราเห็นได้ทั่วไป จากการพัฒนาขั้นพื้นฐานดังกล่าวจะถูกก้าวไปสู่การพัฒนาขั้นก้าวหน้า (advance) ใน generation ที่ 3 และ 4 ดังนี้

generation ที่ 3 ชาวบ้านมีองค์กรของรัฐและภาคเอกชนเข้ามาช่วย

generation ที่ 4 ชาวบ้านมีองค์กรของรัฐ ภาคเอกชนและปัญญาชน เข้ามามีส่วนร่วมและท้ายสุดก็จะเป็นรูปแบบที่ถาวรใน generation ที่ 5

generation ที่ 5 ชาวบ้าน ภาคเอกชน และปัญญาชนร่วมมือกันพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยมีภาครัฐถอยออกไป

จาก ประสบการณ์ที่ผ่านมาผมมักจะได้เห็นความพยายามของชาวบ้านและผลผลิตที่ได้ยัง วนเวียนอยู่ในระดับ generation ที่ 1 และ 2 เท่านั้น ที่ประสบผลสำเร็จคือกลุ่มผลิตที่สามารถสร้างตัวเองออกมาให้กลายเป็นระดับ อุตสาหกรรม ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ยังมีน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มใหญ่ทั้งหมด

ศูนย์ กลางของความร่วมมือระหว่างรัฐกับชาวบ้าน หรือ NGO กับชาวบ้านจะอยู่ที่การสนับสนุนให้ชาวบ้านใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมสร้าง ผลิตภัณฑ์ขึ้นมาแล้วรัฐหรือ NGO ก็จะเข้าไปส่งเสริมทางด้านต่างๆ ดังนี้

1) จัดการให้เกิดมีการรวมกลุ่มกันขึ้นอย่างมีระบบและมีวิธีการผลิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติและวัฒนธรรมเดิม

2) จัดหาทุนมาเพื่อสนับสนุนโครงการ โดยเฉพาะด้านการลงทุนเริ่มแรก ตั้งแต่เรื่องเครื่องจักรหรือเครื่องมือที่ใช้วัตถุดิบ โรงงาน ทุนหมุนเวียนต่างๆ

3) ส่งเสริมระบบการตลาดเบื้องต้น โดยการหาผู้ซื้อ หาตลาดให้ แนะนำช่องทาง

การตลาดใหม่ๆ การตั้งราคา การวางระบบบัญชี และระบบบริหารจัดการ เบื้องต้น

4) สนับสนุนด้านอื่นๆ ที่จะมาช่วยให้โครงการดำเนินไปได้โดยปราศจากอุปสรรค เช่น ส่งเสริมศูนย์ดูแลเด็ก สำหรับผู้ทำงาน ศูนย์สุขภาพอนามัย ส่งเสริมด้านการศึกษาและพัฒนาฝีมือแรงงาน ส่งเสริมการหารายได้เพิ่มจากกิจกรรมอื่นๆ ฯลฯ

อันที่จริงแล้วงานทั้ง หมดที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการเริ่มต้นที่ดีและจำเป็นที่ ชาวบ้านได้รับการสนับสนุนในระดับที่ทำให้พวกเขาเริ่มวิถีชีวิตใหม่ได้ ทุกคนมีงานทำ มีรายได้ มีการดูแลคุณภาพของชีวิตที่ดีพอสมควร เศรษฐกิจของชุมชนก็ได้รับการพัฒนาขึ้นมาระดับหนึ่ง

สิ่งที่มักจะตาม มาก็คือ ผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมานั้นมักจะเป็นรูปแบบเดิมๆ หรือคล้ายของเดิม ขาดดีไซน์หรือรูปแบบใหม่ๆ ขาดการเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้า ทำให้หาตลาดใหม่ยากขึ้น ขณะที่ตลาดเดิมก็จะเต็มไปด้วยคู่แข่งขันที่สร้างผลิตภัณฑ์คล้ายๆ กันออกมา

โครงการ เหล่านี้มักจะหยุดการเติบโต และถ้าโชคไม่ดีก็อาจจะหมดแรง หมดการสนับสนุนไปเองในที่สุด แนวทางอย่างที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เสนอมาจึงเป็นทางออกที่ดีที่จะผลักดันให้การพัฒนาการผลิตก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง

นั่น ก็คือการเข้ามาของเอกชนที่จะมีส่วนร่วมในการปรับปรุงและพัฒนาโครงการเหล่า นี้ แต่ก็ต้องไม่ใช่เข้ามาแบบฉาบฉวย แบบให้เงินบริจาคหรือแบบให้คำปรึกษาอยู่รอบนอกแต่จะต้องเข้ามาแบบ CSR (corporate social responsibity) ที่องค์กรอุทิศตนเองกับกลุ่มชุมชน มีเป้าหมายชัดเจนที่จะช่วยผลักดันโครงการของชุมชนไปสู่ generation ที่ 3, 4, 5 ตามลำดับ

โดยชูธงด้านความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญที่องค์กรมี มาร่วมสร้างโครงการกับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านการตลาด ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้านการสร้างหรือหา segment ของลูกค้าที่เหมาะสม การสร้าง brand ให้กับสินค้า สร้างภาพลักษณ์ให้กับชุมชน วางระบบการจัดการให้กับการผลิตและการจัดจำหน่าย

องค์กร เอกชนเองจะต้องมาช่วยวางกลยุทธ์แบบ win-win เพื่อสรรหาพันธมิตรที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรจากปัญญาชน (มหาวิทยาลัย) พันธมิตรทางด้านวัตถุดิบ ด้านการกระจายสินค้า ด้านการขนส่ง ด้านเทคโนโลยี และด้านอื่นๆ ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับชุมชน

แนว คิดแบบ win-win และการสร้างพันธมิตรเป็นเรื่องสำคัญ เพราะทุกวันนี้ชุมชนขาดทักษะในการเจรจาต่อรอง เมื่อทำธุรกิจกับใครก็มักจะถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกกดราคา ชุมชนกลายเป็นแหล่งผลิตที่ดี ราคาถูก กลายเป็นแหล่ง outsources ที่อุตสาหกรรมใหญ่เริ่มเข้ามามองหาฐานการผลิตที่ชุมชน รัฐ หรือองค์กร NGO สร้างเอาไว้กลายเป็นฐานสำคัญของอุตสาหกรรมไป

ผลสุดท้ายชุมชนจะได้รับ ผลประโยชน์น้อยที่สุดจากแรงและความพยายามที่ได้ทำไป มีรายได้ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำโดยเฉลี่ย แต่ก็ต้องทำต่อไปเพราะได้ลงทุนไปแล้วระดับหนึ่ง

การที่จะพัฒนาหรือเติบโตไปอย่างยั่งยืนมักจะไม่เกิดขึ้น

เว้นเสียแต่องค์กรเอกชนจะเข้ามาทำ CSR อย่างจริงจัง

เรื่องเหล่านี้ผมมีตัวอย่างอยู่พอประมาณและคงจะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อๆ ไปอีก

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 22 กันยายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03220951&day=2008-09-22&sectionid=0221


CESR ฐานรากความยั่งยืน ในคลื่นลูกที่ 3 ของ "แอล.พี.เอ็น.ฯ"




ใน ช่วงปีที่ผ่านมาท่ามกลางแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR : corporate social responsibility) กำลังได้รับการต่อยอดขยายผลในแวดวงธุรกิจไทย แต่ดูเหมือนว่าหากโฟกัสเฉพาะกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จะเห็นได้ว่าแทบจะเป็นกลุ่มที่ตกสำรวจ โดยในรายงานสำรวจสถานการณ์ CSR ในไทยปี 2549 ของโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเผยแพร่เมื่อกลางปี 2550 ระบุว่า หากเปรียบเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีการเผยแพร่กิจกรรมเพื่อสังคมผ่านสื่อเพียง 6.1% ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่ขึ้นแท่นอุตสาหกรรมที่มี การเผยแพร่กิจกรรมผ่านสื่อถึง 15.6% แต่นั่นอาจไม่ได้ตอบคำถามถึงความไม่ตื่นตัวของกลุ่ม ธุรกิจนี้

นัย สำคัญของเรื่องนี้ "โอภาส ศรีพยัคฆ์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า "ในกลุ่มดีเวลอปเปอร์มีความตื่นตัวมากบ้างน้อยบ้าง แต่อาจจะไม่ค่อยได้มีการสื่อสารออกสู่ภายนอก เพราะสังคมยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก"

โดยเฉพาะสังคมใน ส่วนที่จะพัฒนามาเป็น "ลูกค้า" เพราะในธุรกิจนี้การตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อนั้นมีปัจจัยมากมาย ไม่เหมือนกับสินค้าอาหารที่เรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรกระทบ กับตัว "ลูกค้า" โดยตรงกับตัวเอง เช่น กระแสความนิยมของผักปลอดสารพิษ ฯลฯ

CSR ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย "ผู้บริโภค"

" การซื้อที่พักอาศัยเป็นสินค้าชิ้นใหญ่ แล้วก็มีองค์กรประกอบในการตัดสินมาก CSR จึงเป็นส่วนเล็กๆ ที่ผู้บริโภคยังไม่ค่อยมองมากนัก รวมถึงนำมาเป็นจุดในการตัดสินใจ แต่ในอนาคตความสำคัญของเรื่องนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป"

เมื่อคราวประกาศวิสัยทัศน์ ระยะที่ 3 ของปี 2551-2553 ภายใต้วิสัยทัศน์ของการพัฒนาเชิงคุณภาพหรือคลื่นลูกที่ 3 ในการรักษาความเห็นผู้นำในตลาดคอนโดมิเนียม เมื่อช่วงต้นปี 2551 ที่ผ่านมา

"บิ๊กเพลเยอร์" ในตลาดคอนโดมิเนียมอย่าง แอล.พี.เอ็น.ฯจึงไม่เพียงมองในเชิงธุรกิจที่ต้องแข่งขันกับตัวเอง เพื่อรักษาไว้ซึ่งการเป็นผู้นำตลาด แต่ยังมองไปถึงการพัฒนากระบวนการทำงานด้านคุณภาพทุกเรื่อง รวมไปถึงการเน้นย้ำถึงการรักษาสมดุลระหว่างการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร คุณภาพของชุมชนและหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ

และถือเป็นการปัก ธงสู่ความยั่งยืน โดยนำความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ซึ่ง แอล.พี.เอ็น.ฯใช้คำว่า CESR (corporate environment social responsibility) มาเป็นส่วนหนึ่งในการ ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย

พลังปากต่อปาก

" แม้วันนี้ CSR จะไม่ได้ช่วยเราตรงๆ และไม่สามารถเอาประเด็นจากการทำ CSR มาโฆษณา แต่เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นตัวช่วยทางอ้อมจากสิ่งที่เราทำ โดยเฉพาะคุณค่า (value) ที่เห็นได้ชัดเจนคือยอดขายที่เราได้เพิ่มขึ้นจากการบอกต่อแบบปากต่อปาก ซึ่งลูกค้าที่เข้ามาอยู่ในโครงการเรา เข้าใจในสิ่งที่เราทำ แนะนำคนอื่นมาซื้อต่อ ซึ่งสัดส่วนนี้มีมากถึง 10-20% ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากพอสมควร"

ไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่า ความใส่ใจต่อ สิ่งแวดล้อมและการดูแลสังคมที่ทำมา กำลังจะแตกดอกออกผล

แม้ว่า 17-18 ปีก่อน ครั้งเมื่อเริ่มต้นธุรกิจจะยังไม่มีการนิยามคำว่า CSR ก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้อยู่ในสำนึกขององค์กรมาตลอด

" การที่เราให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่แรกๆ ในการทำธุรกิจ เพราะผู้บริหารส่วนใหญ่เป็นสถาปนิกและวิศวกร ในการเรียนการสอนสถาปนิกก็พูดถึงเรื่องเหล่านี้ไว้อย่างชัดเจนว่าสิ่งแวด ล้อมจะเข้ามามีส่วนสำคัญกับการออกแบบ เช่น การวางอาคารอย่างไรจึงจะช่วยประหยัดพลังงาน ฉะนั้นตลอดเวลาเราจะคิดถึงเรื่องพวกนี้ตลอด"

จากจิตสำนึกสู่กลยุทธ์

แต่ จุดเปลี่ยนสำคัญของการนำแนวคิดนี้มาปรับใช้ในองค์กรเกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อนที่มีการจัดระบบระเบียบของจิตสำนึกพื้นฐานมาสู่การวางกลยุทธ์ CESR

" โอภาส" บอกว่า "เมื่อ 3 ปีที่แล้วเราเริ่มเห็นคำนี้ และเห็นว่าแนวคิดนี้เป็นสิ่งที่เราทำมาตลอด จึงเป็นที่มาของกลยุทธ์ CESR ซึ่งการวางกลยุทธ์ทำให้เราเห็นภาพในการทำงานและสามารถบอกกับคนอื่นได้ชัดเจน ขึ้น"

"ในแนวคิด CESR เราเริ่มจากตัวของเราเองก่อน พนักงาน ผู้ที่เกี่ยวข้อง พูดง่ายๆ ก็คือทำตัวเองให้ดี จากนั้นก็มองไปสู่โครงการที่เราพัฒนา คือลูกค้าของเรา หลังจากนั้นก็ขยายออกไปรอบๆ โครงการ เพราะต้องไม่ลืมว่าเขาเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโดยตรง"

ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า กลยุทธ์ CESR จึงให้ความสำคัญกับการแสดงความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ตลอดทั้งกระบวนการธุรกิจ (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบ)

มากกว่าการบริหารอาคาร

" เมื่อโครงการแล้วเสร็จมีคนเข้าไปอยู่ นโยบายของเราคือต้องเข้าไปดูแลต่อ และไม่ใช่แค่การบริหารอาคาร แต่เราเรียกว่าการบริหารชุมชน เพราะอาคารก็เป็นแค่สิ่งปลูกสร้างแต่ชุมชนนั้นมีความหมายรวมถึงสิ่งมีชีวิต และไม่มีชีวิต ตรงนี้จึงเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมจริงๆ การบริหารอาคารของคนอื่นอาจจะทำเพียงแค่ให้น้ำไหล ไฟสว่าง แต่ของเราไม่ใช่แค่นั้น เราจะพูดถึงความสุข คุณภาพชีวิต ความเป็นสังคมครอบครัว"

ไม่เพียงมีเป้าหมายในด้านอนุรักษ์สิ่งแวด ล้อม ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวคืนกลับชุมชนและสังคม การบริหารทุกโครงการยังมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดการใช้พลังงานลงให้ได้ปี ละ 5% รวมไปถึงกิจกรรมต่างๆ ที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนไม่ว่าจะเป็นการทำบุญตักบาตร การบริจาคโลหิตทุก 3 เดือน การทำกิจกรรมเพื่อสังคมนอกพื้นที่ อาทิ การสร้างบ้านดิน ฯลฯ ล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อสร้างสังคมที่มีความสุข

" เราต้องยอมรับว่าในฐานะดีเวลอปเปอร์ เราเป็นคนที่สร้างผลกระทบให้ชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน ในโครงการนับร้อยโครงการของเราในปัจจุบันมีคนอยู่อาศัยกว่า 30,000 ครอบครัว แต่ละโครงการอย่างน้อยๆ ก็มีคนอยู่ประมาณ 300 ครอบครัว ซึ่งหนาแน่นกว่าชุมชนบ้านจัดสรร ยิ่งคนหนาแน่นมากผลกระทบที่ตามมาก็มีมากขึ้นด้วย และถ้าเราไม่เข้าไปบริหารจัดการ ก็จะเป็นเหมือนการสร้างภาระสังคมเพิ่มขึ้นมาอีก"

ส่วนที่ยังขาดหาย

อย่าง ไรก็ตาม แม้จะให้ความสำคัญกับทุกขั้นตอน แต่ "โอภาส" ก็ยอมรับว่า "ยังไม่สมบูรณ์ทั้ง 100% โดยเฉพาะในช่วงของการพัฒนาโครงการที่มีการก่อสร้าง ก็มีคนร้องเรียนบ้าง ก็ต้องยอมรับว่าบางอย่างยังมีข้อผิดพลาด หรือเรื่องสุดวิสัย ก็มีโอกาสเกิด แต่ถ้าเกิดจากความตั้งใจนั้นไม่มี และเราก็พยายามที่จะลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด"

"ถึงวันนี้สิ่งที่เรา พยายามทำก็เพื่อให้คนรอบข้างสบายใจ เมื่อรู้ว่าเราจะมาพัฒนาโครงการในพื้นที่ใกล้บ้านเขา เพราะต้องยอมรับว่าทุกวันนี้การเรียกร้องสิทธิของชุมชนและผู้บริโภคกำลังมี อำนาจที่ต่อรองสูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไม่เอาจริงเอาจังและใส่ใจในอนาคต โครงการก็อาจจะมีปัญหา" โอภาสกล่าวในที่สุด

สิ่งที่เขากล่าวทิ้งท้าย นั่นอาจจะเป็นสัญญาณที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย ที่กำลังเตือนองค์กรว่าหากขาดความรับผิดชอบแล้ว ในอนาคตอาจจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้หรืออยู่ได้ก็ย่อมมากไปด้วยปัญหา

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 22 กันยายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01220951&day=2008-09-22&sectionid=0221