วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2551

"กล้ายิ้ม" ร่วมอนุรักษ์ป่าชุมชน



ใน ขณะที่หลายบริษัทมีโครงการปลูกป่าตามธรรมชาติ แต่ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้เลือกที่จะปลูกป่าชุมชนที่เป็นเพียงผืนป่าเล็กๆ แต่สร้างคุณค่าและความผูกพันให้กับคนในชุมชนได้อย่างมหาศาล

แนวคิด นี้ถูกริเริ่มนับตั้งแต่ ณรงค์ สีตสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เข้ามารับตำแหน่งได้ 2 ปี เขาปรับแผนการทำงานด้านสังคมเพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเห็นผลได้ โดยแบ่งโครงการเป็น 3 ระดับ คือ ทำกิจกรรมกับชุมชน 5 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า ทำในระดับจังหวัด และในระดับประเทศ เขาริเริ่มโครงการที่ให้ความสำคัญกับป่าชุมชน

"ณรงค์" บอกว่า ตอนแรกเราไม่ได้กำหนดว่าจะทำเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ประเด็นที่ได้มาจากการจัดเวิร์กช็อปเพื่อดูความสนใจของพนักงาน ซึ่งมีหลายด้านตั้งแต่การศึกษา สิ่งแวดล้อม สังคม แล้วจึงเลือกอันที่คนส่วนใหญ่สนใจและเป็นเรื่องเร่งด่วน และเห็นว่าเรื่องทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมสามารถตอบโจทย์ได้ทุกด้าน เพราะในที่สุดแล้วมันสะท้อนมาถึงพวกเราทุกคน ป่าไม้เป็นจุดเริ่มต้นของธรรมชาติและสร้างอาหารออกสู่สังคมเมือง หลังจากที่ไปศึกษาจากกรมป่าไม้จึงเลือกทำกับป่าชุมชน

ปีที่ผ่านมา บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นโครงการ "กล้ายิ้ม" โดยการพาอาสาสมัครพนักงานกว่า 100 คน ไปทำความรู้จักกับป่าชุมชนที่บ้านธรรมรักษ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมถึงเรียนรู้วิธีช่วยเหลือชุมชนให้อยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน และปีนี้ได้พาพนักงานและอาสาสมัครไปร่วมปลูกแม่พันธุ์ไม้หายากที่ป่าชุมชน บางกระเจ้า พร้อมเรียนรู้ระบบนิเวศ "ป่าในเมือง" เพื่อให้พนักงานในกลุ่มบริษัทพร้อมครอบครัวได้มีโอกาสเรียนรู้และทำกิจกรรม ด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหาร พนักงาน และครอบครัวไปพร้อมๆ กัน

"เรากำลังซีเอสอาร์ออกไปสู่สังคมภายนอก คนภายในจำเป็นต้องรู้ว่าป่าชุมชนคืออะไร เป็นการปูพื้นฐานให้พนักงานรู้จักการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของบริษัทที่จะทำ เพื่อสังคม ซึ่งเราจะได้ความร่วมแรงร่วมใจ ความใกล้ชิดกันของพนักงานในเครือ จากโครงการครั้งแรกมีการบอกต่อกัน ทำให้ครั้งที่ 2 มีพนักงานมาประมาณ 200 คนจากที่ตั้งเป้า 150 คน เมื่อพนักงานเรามีความใกล้ชิดกัน มีความคิดเป็นบวก เชื่อว่าทุกคนจะได้รับความสุขกลับบ้าน ผลของความสำเร็จเราต้องไปวัดที่ป่าชุมชนว่าคนสามารถอยู่กับป่าได้อย่าง ยั่งยืนหรือไม่ ส่วนพนักงานเราวัดจากการมีส่วนร่วม สำหรับโครงการป่าชุมชนจัดงบฯไว้เบื้องต้น 5 ปีประมาณ 60 ล้านบาท เราไม่ต้องการทุ่มเพราะไม่ได้เป็นตัวบอกว่าเงินมากแล้วจะดี แต่ก็ไม่ได้ไปจำกัดงบฯไว้สามารถขอเพิ่มได้"

จากโครงการ "กล้ายิ้ม" แตกยอดออกมาเป็นโครงการ "คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน" โดยบริษัทร่วมกับกรมป่าไม้จัดประกวดป่าชุมชนตัวอย่างระดับประเทศ ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีงบประมาณรวมเป็นเงิน 56 ล้านบาท พร้อมขับเคลื่อนตลอดอายุโครงการ ระยะเวลา 5 ปี แบ่งรางวัลป่าชุมชนตัวอย่างออกเป็น 3 ระดับ คือ ป่าชุมชนตัวอย่างระดับประเทศ จำนวน 1 รางวัล ป่าชุมชนตัวอย่างระดับภาค จำนวน 4 รางวัล และป่าชุมชนตัวอย่างระดับจังหวัด จำนวน 120 รางวัล รวมทั้งสิ้น 3 ล้านบาท รวม 125 รางวัล รวมมูลค่า 3.6 ล้านบาท

อย่าง น้อยวันนี้โครงการ "กล้ายิ้ม" น่าจะช่วยเริ่มปลูกต้นกล้าแห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติให้เกิดขึ้นในใจใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นคนในชุมชนหรือพนักงาน ที่หวังผลได้ไปถึงคนในประเทศ

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 9 มิถุนายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr04090651&day=2008-06-09&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: