วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551

ก้าวต่อไปของ "เอชพี" ความรับผิดชอบระดับ "ซัพพลายเชน"



แม้ โจทย์ของการแสดงความ รับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR : corporate social responsibility) ด้านหนึ่งจะอยู่ที่การสร้างคุณค่าให้กับสังคม แต่ต้องไม่ลืมว่าการผสานแนวคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังผ่านการดำเนินการอย่าง มีกลยุทธ์ ย่อมทำให้เห็นถึงประโยชน์ที่กลับคืนสู่องค์กร เป็นการสร้างสมดุลระหว่างธุรกิจกับสังคมที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างแท้ จริง

บทเรียนของ "เอชพี" ถือเป็นบทพิสูจน์หนึ่งของคำกล่าวนี้ !!

"เอชพี" ที่พึ่งได้รับการจัดอันดับจาก นิตยสาร "ฟอร์จูน" ให้เป็น1ใน10 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อม

ที่ น่าสนใจก็คือการใส่ใจในการพิทักษ์ สิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังของ "เอชพี" ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา นำไปสู่การสร้างคุณค่าให้กับองค์กรในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ถือเป็นนวัตกรรม ใหม่ซึ่งเกิดจากการวิจัยและพัฒนาภายใต้แนวคิดนี้ อย่างผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า "กรีน สตอเรจ" ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของเอชพีซึ่งช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานและสามารถตอบโจทย์ ความต้องการของลูกค้าได้ทั้ง 2 ด้านคือ การประหยัดเงิน และการประหยัดพลังงาน

รวมไปถึงขั้นการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ที่ สามารถนำพลาสติกที่ใช้แล้ว อย่างตลับหมึกเก่ามารีไซเคิลและผลิตเป็นตลับหมึกพิมพ์อิงก์เจ็ตของเอชพี ภายใต้โครงการ HP"s Planet Partners Program โดยมีการผลิตตลับหมึกจากเทคโนโลยีนี้ไปแล้ว กว่า 200 ล้านตลับ

หรือ แม้แต่การตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ที่ในปี 2549 สามารถลดการปล่อยก๊าซลงถึง 18% และภายในปี 2553 ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะลดการใช้พลังงานรวมในการปฏิบัติการและผลิตภัณฑ์ของ เอชพีลงร้อยละ 20 ของระดับการใช้ในปี 2548

พัฒนาสู่ระดับ "ซัพพลายเชน"

กระทั่ง ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาถือเป็นอีกครั้งที่ "เอชพี" ย้ำภาพการเป็นผู้นำเรื่องนี้และถือเป็นบริษัทไอทีรายแรกในโลกที่ประกาศราย ชื่อซัพพลายเออร์รายใหญ่ทั้งหมด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงการที่ส่งเสริมเรื่องความโปร่งใสขององค์กร และเพิ่มมาตรฐานของ "ซัพพลายเชน" ในอุตสาหกรรมนี้ มาร์ค เฮิร�ด ซีอีโอ ของเอชพีกล่าวไว้ว่า "การที่เอชพีเปิดเผยข้อมูลซัพพลายเออร์ของบริษัท จะเป็น การเพิ่มความสามารถตรวจสอบได้ และเป็นเหมือนพันธสัญญาของเราในการเป็นซัพพลายเชนที่โปร่งใส"

"เรา ทำงานใกล้ชิดกับซัพพลายเออร์ของเราในการส่งเสริมเรื่องการดูแลสังคมและสิ่ง แวดล้อม ซึ่งในกระบวนการผลิตทั้งหมดตลอดซัพพลายเชนของเรา เรามีส่วนเกี่ยวพันกับคนทำงานมากกว่า 400,000 คน ทั่วโลก" ฉะนั้นนอกเหนือจากที่บริษัทเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ของเอชพีจะปฏิบัติตาม แนวปฏิบัติในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอ นิกส์อย่าง EICC แล้วซัพพลายเออร์ของเอชพีทั่วโลกยังต้องให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ในมาตรฐานของเอชพีอีกด้วย ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนทำงานที่เกี่ยวข้องใน กระบวนการธุรกิจของเอชพีทั่วโลก

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการผสาน ความมุ่งมั่นในเรื่องการผสานความรับผิดชอบสู่ทุกกระบวนการของธุรกิจ ที่กลับมาสร้างคุณค่าให้กับองค์กรผ่านรูปแบบของ นวัตกรรมใหม่ที่สามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันและสามารถบรรลุเป้า หมายทางธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น

5 หลักการ สู่ "พลเมืองที่ดีของโลก"

การ ดำเนินการที่ปรากฏในทางปฏิบัติเกิดขึ้นภายใต้หลักการเป็นพลเมืองของโลก (global citizenship) ที่ "เอชพี" ยึดถือมายาวนานนับ 10 ปี แบ่งเป็น 5 หลักการสำคัญ หลักการแรกคือ การดำเนินธุรกิจโดยยึดถือความถูกต้องและซื่อสัตย์เป็นหลัก หลักการที่ 2 ประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่ภายนอกองค์กรจากหลายภาคส่วน หลักการที่ 3 เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีให้กับประชาชนเพื่อให้เกิดการ เรียนรู้ด้านการสนับสนุนอุปกรณ์ด้านไอที หลักการที่ 4 การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการอย่างยั่งยืนและให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และหลักการที่ 5 ปกป้องความเป็นส่วนตัวของลูกค้า คู่ค้า และพนักงานทุกคน

บนหลักการที่ชัดเจนจึงเป็นที่มาของการแตกหน่อต่อยอดไปสู่การดำเนินการโครงการต่างๆ

อย่าง ที่ "สรรพัชญ โสภณ" กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) จำกัด เล่าให้ฟังว่า "ในไทยเรานำหลักการที่มีมาประยุกต์ใช้ กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็มาจากหลักการเหล่านี้ ไม่ว่าจะกิจกรรมอนุรักษ์

เต่า ปลูกป่า รวบรวมขยะแบคเตอรี่ที่ใช้แล้วมากำจัด นี่เป็นสิ่งที่เราจับหลักขององค์กรมาเป็นรูปธรรม"

และเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่นอกจากจะเกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อมโลกยังมีผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจนกลับสู่องค์กร

" ในไทยเราอาจจะไม่ได้มีตัวเลขที่ชัดเจนว่าเราสามารถลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกได้กี่ตัน แต่เราพยายามทำจากสิ่งเล็กๆ และทำเรื่อยๆ อย่างตอนพักกลางวันไม่ต้องเปิดไฟ เดือนหนึ่งก็ลดค่าไฟฟ้าได้เป็นหลักแสน การเปิดแอร์ช้าลง ปิดแอร์เร็วขึ้นวันละครึ่งชั่วโมงนี่ก็ลดค่าไฟมหาศาล เราไม่ได้มีเป้าหมายว่าต้องทำได้เท่าไร แต่เราพยายามทำเท่าที่ทุกคน ทำได้ แม้จะไม่สะดวกสบายเหมือนก่อน แต่เราต้องการทำให้รู้สึกว่าให้เขาไม่ถูกบังคับและไม่มีใครต่อต้าน"

เพราะหัวใจสำคัญส่วนหนึ่งที่ "เอชพี" ให้ความสำคัญมิใช่เพียงความรับผิดชอบในระดับองค์กร แต่เป็นการปลูกจิตสำนึกความรับผิดชอบสู่ "คน"

โฟกัส "คน" สร้างสำนึก-ส่วนร่วม

" สรรพัชญ" บอกว่า "ผมเชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดภายใต้หลักการของเราคือ การพัฒนาคนให้มีจิตใจที่ทำอะไรตอบแทนสังคม เช่น เราพาพนักงานไปปลูกป่าชายเลน ผมถามว่าทำแบบนี้มันทำให้โลกดีขึ้นมากมั้ย ก็ต้องบอกว่าไม่มาก แต่มันเป็นการปลูกจิตสำนึกให้เกิดในใจคน ทำให้สังคมดีขึ้นกลับบ้านไปเขาก็ไปพูดกับลูก กับครอบครัว ผมว่ามันเป็นการทำให้จิตสำนึกเหล่านี้กระจายออกไป"

และเป็นการดึงเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ลงไปสู่ทุกภาคส่วนขององค์กร ก่อนที่จะไปทำสิ่งเหล่านี้ในภายนอก

หาก ไม่นับรวมในเรื่องผลิตภัณฑ์และเป้าหมายของ "เอชพี" ระดับโลก ในไทย "เอชพี" อาจจะอยู่เพียงช่วงเริ่มต้น โดยเฉพาะการสร้างแนวร่วมแห่งความรับผิดชอบ กลยุทธ์ที่ "สรรพัชญ" ในฐานะผู้นำองค์กรใช้ปลุกระดมสร้างแนวร่วมในองค์กรจึงน่าสนใจ ที่เริ่มตั้งแต่การวางโครงสร้างการทำงานในองค์กร ในการดูแลพนักงานเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมกับการสร้างแนวร่วมจิตสำนึกเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม

"ผมมี เวลาไปกินข้าวกับพนักงานในทุกเช้าวันศุกร์ กับพนักงานทุกระดับไปนั่งคุยกัน 3 ชั่วโมง ผมถามว่าเขาคิดยังไง พอใจกับการทำงานหรือเปล่า มีปัญหาอะไรหรือไม่ ก็แลกเปลี่ยนกัน และผมพยายามให้ทิศทาง และอธิบายว่าองค์กรจะเป็นอย่างไรและเวทีนี้ผมก็ได้ไอเดียในการทำ CSR จากพนักงานมาด้วย ที่เราทำอย่างนี้เพราะเอชพีเป็นองค์กรที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่ถ้าพนักงานไม่เข้าใจก็เป็นเรื่องลำบาก ถ้าคนระดับผู้บริหารระดับกลางสื่อสารดีก็ดี แต่บางคนก็สื่อครึ่งเดียว และบางทียังสื่อผิดอีก การพบกันแบบนี้ก็เป็นเรื่องดีที่เราจะได้คุยกันในสิ่งที่เขาสงสัย ที่สำคัญเพราะเวทีนี้ที่ผมนำเอาข้อเสนอจากพนักงานมาทำต่อ ตั้งแต่เรื่องการลดการใช้พลังงานในองค์กรด้วยวิธีการแบบนี้ผมเห็นว่าพอเรา ออกมาตรการอะไรไปคนก็มีความสุขและไม่ต่อต้าน การดึงแต่ละมุมคิดออกมาทำให้องค์กรแข็งแกร่งมหาศาล"

ของจริงในบริบทสังคมไทย

อย่าง ไรก็ตาม บนเส้นทางของ "เอชพี" ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะแม้จะมีหลักการ จะเต็มไปด้วยกลยุทธ์และวิธีการที่อาจจะประสบความสำเร็จในต่างประเทศ แต่อาจจะไม่เหมาะกับบริบทสังคมของไทย

"อย่างโครงการหนึ่งที่เรารับ ตลับหมึกคืนจากลูกค้าเพื่อจะนำมารีไซเคิล แม้ว่าเป็นโครงการที่มีมานาน เราเคยเอากล่องไปตั้งบนพันธุ์ทิพย์ฯปรากฏว่าแทบไม่มีตลับหมึกเหลืออยู่เพราะ พอลูกค้ามาหย่อนก็มีคนเก็บไปหมด เราเลยต้องประยุกต์มาใช้กับเฉพาะกลุ่มองค์กร"

บริบทสังคมจึงเป็น เรื่องที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างการทำงาน CSR ในที่หนึ่ง กับอีกที่หนึ่ง รวมไปถึงการสร้างสรรค์โครงการเพื่อสังคม

"โครงการ หนึ่งที่เราทำเมื่อปีที่แล้ว คือการใช้ไอทีเข้าไปพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งที่ในประเทศทางยุโรป สหรัฐอเมริกาอาจจะไม่เห็นแต่เราเห็นปัญหานี้ในไทย และคิดว่าเราทำได้ โดยเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการในเขตบางกอกน้อย 25 ราย ซึ่งคัดเลือกมาจาก 400-500 ราย โดยสอนการพัฒนาธุรกิจในด้านต่างๆ ตั้งแต่การออกแบบแพ็กเกจจิ้ง การทำบัญชีต้นทุนซึ่งใช้ไอทีมาช่วยเพื่อให้เขาพัฒนาศักยภาพของตัวเอง หลังอบรมเสร็จก็จะมีทีมที่ไปติดตามเพื่อให้เขานำสิ่งที่เรียนมาไปพัฒนา ธุรกิจได้จริง นี่เป็นมุมคิดในการทำงานซึ่งเราไม่มุ่งเน้นปริมาณ แต่ต้องการเห็นผลที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเราเชื่อว่าดีกว่าทำแล้วหว่านไปหมด สุดท้ายก็ไม่เห็นผลอะไร ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการขยายโครงการ"

ใน อนาคต "เอชพี" ในไทยยังเตรียมที่จะขยายความร่วมมือในการทำโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไปสู่ภาคีเครือข่ายอื่นๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งซัพพลายเออร์ คู่ค้า ฯลฯ เพื่อพัฒนา CSR ขององค์กรไปอีกก้าวหนึ่ง

เป็นก้าวที่พยายามสร้าง ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เข้าไปผสานอยู่ในทุกส่วนของกระบวน การดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ !!

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 26พฤษภาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01260551&day=2008-05-26&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: