วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2551

CSR ยุคใหม่ "ต้องวัดได้ "

ผ่าเครื่องมือ "การประเมินผล"

หลาย คนมักบอกว่า การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) นั้นเป็นเรื่องที่วัดยาก เพราะเรื่องการพัฒนาสังคม เรื่องของการทำดี นั้นไม่รู้จะเอาอะไรวัด อย่างมากถ้าในรูปแบบของกิจกรรมเพื่อสังคมที่แต่ละองค์กรทำ อย่างมากก็วัดผลและประเมินผลโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสังคมนั้นจากจำนวนผู้ เข้าร่วม ประมาณว่าถ้ามีคนเข้าร่วมมาก ก็แปลว่าโครงการหรือกิจกรรมนั้นประสบความสำเร็จมาก และกิจกรรมนั้นดีมาก

ในความเป็นจริงแล้ว โครงการหรือ กิจกรรมนั้นๆ ประสบความสำเร็จแล้วจริงหรือ !!

ในความเป็นจริงแล้ว โครงการเพื่อสังคมนั้นๆ ได้ย้อนกลับมาสร้างคุณค่า (value) อะไรให้กับองค์กรได้บ้าง !!

และ นี่คือสิ่งที่หลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการ "CSR Academy" ที่ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และ สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ร่วมกันจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา ในหัวข้อ "แนวทางการประเมินผลและการจัดทำรายงาน CSR" พยายามจะตอบคำถาม

โดยเฉพาะคำถามที่มักพบในองค์กรว่า "CSR เป็นเรื่องที่จับต้องได้ยาก ฉะนั้นจะวัดและประเมินผลได้อย่างไร" !!

" ปัญหาใหญ่ที่คนมักชอบพูดว่า การประเมินเรื่อง CSR มันยากเพราะความดีและผลกระทบทางสังคมเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้ ผมจะถามว่าแล้วทำไมถึงวัดได้ยาก ก็เพราะในกระบวนการทำงานไม่มีวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน ถ้าไม่มีเมื่อเราจะวัดกิจกรรม เราก็อาจจะวัดได้ในลักษณะแค่จำนวนคนที่เข้าร่วมโครงการ การได้ลงสื่อ อะไรทำนองนั้น จึงไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าโครงการหรือกิจกรรมนั้นๆ ดีจริงหรือไม่ สร้างคุณค่าให้องค์กรได้ตรงไหน และถ้าไม่ดี ไม่ดีเพราะอะไร จะกลับเข้าไปแก้ไขได้ที่ใด" อนันตชัย ยูรประถม วิทยากรประจำหลักสูตร CSR Academy บอกในระหว่างการอบรม

แนวคิดในหลักสูตร จึงพยายามมอง "การประเมินผล" ที่ไม่เพียงใช้เครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่ง แต่พยายามสะท้อนให้เห็นระบบและแนวคิดของ "การประเมินผล" ที่หากมองเช่นนั้นแล้ว ในฐานะคนทำงาน CSR สามารถเลือกใช้เครื่องมือการประเมินผลที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน รวมทั้งสามารถคิดค้นเครื่องมือการชี้วัด (indicator) ของตัวเองได้


ยิ่ง ถ้ามอง CSR ในเชิงของการแบ่งปันคุณค่าระหว่าง "องค์กรและสังคม" (shared value) นั่นหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่องค์กรแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม จะสามารถสะท้อนกลับมาสร้างคุณค่าให้กับสังคม พร้อมๆ กับการสร้างคุณค่าให้องค์กร

ฉะนั้นถ้าการทำ CSR ขององค์กรดีจริงๆ จะต้องสามารถย้อนกลับไปตอบตัวชี้วัด (KPI) ของกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจได้

ทำไม CSR ถึงวัดไม่ได้

" ถ้าเราดูสถานการณ์ของการประเมินทุกวันนี้ เราจะเห็นว่าทุกองค์กรมีส่วนแรก คือ มีวิสัยทัศน์ พันธกิจ มีกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งก็มีตัวชี้วัดและประเมินผลต่างๆ ขณะเดียวกันในแต่ละกิจกรรม CSR ก็มีตัวชี้วัดความสำเร็จของแต่ละกิจกรรม เราก็มักจะบอกว่าดี แต่ในท้ายที่สุด เราไม่มีตัวที่จะมาเชื่อมโยงว่า แล้วที่ว่าดีนั้นมีคุณค่ากับองค์กรอย่างไร เพราะเราขาดส่วนกลางคือการวางกลยุทธ์ CSR และตัวชี้วัดของกลยุทธ์ (ดูโมเดลประกอบ) และการประเมินผลอย่างเป็นระบบ" อนันตชัยกล่าว

ดัง นั้นในการเริ่มต้น "ประเมินผล" จึงต้องเริ่มต้นด้วย การวิเคราะห์และประเมินผลขององค์กร ตั้งแต่ ปัจจัยนำเข้า (input) กระบวนการ (process) ผลที่ได้ (output) และผลที่ตามมา (outcome) ด้วยการมองอย่างเป็นระบบ

ปัจจัยนำเข้า (input) ที่ว่าประกอบไปด้วย ปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายใน บริบทของธุรกิจ ทรัพยากรมนุษย์ และแหล่งเงิน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะนำมาสู่สิ่งที่ผู้บริหารองค์กรจะต้องนำมาสู่กระบวนการ ในการดำเนินการ (process) ตั้งแต่การวางโครงสร้างการทำงาน กลยุทธ์ความยั่งยืน โครงการต่างๆ ไปจนถึงการลงมือปฏิบัติ ซึ่งนำมาสู่ผลลัพธ์ (output) ที่จะออกมาในรูปของประสิทธิผลของความยั่งยืน และความสามารถในการตอบสนองต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) โดยผลลัพธ์ในกลุ่มนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ด้านหลักๆ ด้านการเงิน ผลกระทบทางสังคม และผลกระทบต่อความยั่งยืนทางการเงิน จากนั้นจะนำไปสู่ผลที่ตามมาในระยะยาว (outcome) ที่จะเกิดขึ้น

สิ่งสำคัญคือทุกๆ จุดในระบบนี้จะต้องสามารถวัดผลและประเมินผลด้วยตัวชี้วัดต่างๆ ได้

ประเมิน-วัดบนหลักเหตุและผล

" อนันตชัย" ขยายความโดยยกตัวอย่าง องค์กรองค์กรหนึ่ง ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ปัจจัยนำเข้า ซึ่งมาจากบริบทภายนอกว่าโรงงานต้องมีมาตรฐานในการผลิต ดังนั้นกระบวนการแสดงความรับผิดชอบกระบวนการธุรกิจ อาจจะใช้มาตรฐาน ISO 14001 มาจับ โดยใช้มาตรฐาน เหล่านั้นเป็นตัวประเมินผลของการทำงาน ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการอีกส่วนหนึ่งในการปรับปรุงเทคโนโลยี ซึ่งประเมินโดยดูที่การพัฒนาเทคโนโลยี จากกระบวนการเหล่านั้นก็จะนำมาสู่ผลลัพธ์ทั้งในเรื่องการปรับปรุงความ ปลอดภัยของผลิตภัณท์ จะนำไปสู่ผลระยะยาวในเรื่องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะวัดได้ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ไม่ว่าจะจากสถิติของการลดการปล่อยของเสีย รวมถึงข้อร้องเรียนของชุมชนที่ลดลง เป็นต้น

"เราเรียกการประเมินแบบ นี้ว่า การประเมินในรูปแบบของเหตุและผล เราจะสามารถเชื่อมโยงและเห็นที่มาที่ไปจากการประเมินผลด้วยเครื่องมือและตัว ชี้วัดแบบเป็นขั้นเป็นตอนทุกจุด เวลาผลการประเมินปลายทางไม่ดี เราจะสามารถย้อนกลับมาหาจุดตั้งต้นของผลการประเมินผลในแต่ละลำดับได้ว่าเป็น เพราะอะไร ไม่ว่าจะเป็นเพราะกระบวนการไม่ดี ผู้นำไม่ดี อย่างนี้เราประเมินผลจะนำไปสู่การนำไปปรับปรุงแก้ไขและพัฒนา CSR ได้ดียิ่งขึ้น"

กิจกรรมก็ประเมินเป็นระบบได้

นั่นเป็น การประเมินผลในภาพรวมขององค์กร และด้วย "วิธีคิด" เดียวกัน ด้วยการมองเป็นระบบตั้งแต่ ปัจจัยนำเข้า (input) กระบวนการ (process) ผลที่ได้ (output) และผลที่ตามมา (outcome) สามารถนำไปประยุกต์ในการประเมินผล CSR ในระดับกิจกรรมได้ด้วยเช่นกัน

เรื่อง นี้ "อนันตชัย" หยิบโครงการ "ช่วยเหลือเด็กพิการ" ที่มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา (EDF) ดำเนินการร่วมกับภาคีทั้งองค์กรธุรกิจ อย่าง เดนโซ่ โรงเรียน ชุมชนและโรงพยาบาล ในการเข้าไปช่วยเหลือเด็กผู้พิการของชุมชนในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจากการประเมินผลด้วยวิธีคิดในระบบนี้ ทำให้พบจุดอ่อนที่ทำให้โครงการบริจาครถเข็นและการมอบทุนการศึกษาให้เด็กผู้ พิการ ถูกพัฒนาไปสู่การปรับปรุงโครงสร้างและสาธารณูปโภคในโรงเรียน

" โจทย์เดิมของโครงการนี้มีปัจจัยนำเข้าที่เรามอง คือ เรื่องการให้ทุนการศึกษาและรถวีลแชร์ โดยใช้กระบวนการความร่วมมือของพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่สามารถช่วยเหลือเด็กพิการที่ไม่มีครอบครัว ไม่ได้มีโอกาสไปโรงเรียนได้ไปโรงเรียน โดยมีผลลัพธ์ระยะยาวในการเปลี่ยนทัศนคติพ่อแม่

ผู้ปกครองที่คิดว่า เด็กพิการเป็นเด็กที่มีกรรม เพราะฉะนั้นก็ต้องให้รับกรรมไปตลอดชีวิต แต่พอเราประเมินผลในแต่ละจุด เราพบว่ากระบวนการในการทำงานไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เพราะเราไม่ได้ให้โรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วม ครูเองก็ยังไม่พร้อมที่จะรองรับเด็กกลุ่มนี้ ทำให้เราจำเป็นต้องขยายโครงการเข้าไปปรับปรุงสาธารณูปโภคต่างๆ ในโรงเรียนเพื่อให้สามารถรองรับได้ ขณะเดียวกันก็มีการให้ความรู้ครูไปพร้อมๆ กัน ในที่สุดโครงการก็สามารถเดินหน้าไปได้ด้วยดี"

ผลที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่เป็นผลจากการประเมินผลด้วยการมองอย่างเป็นระบบ

อย่าง ที่ "อนันตชัย" กล่าวทิ้งท้ายว่า "ความดีอาจเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยาก แต่สิ่งที่เราต้องพยายามทำคือการนำสิ่งที่จับต้องได้ยากนั้นมาสู่สิ่งที่จับ ต้องได้มากที่สุด"

เพื่อจะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนา CSR ในระดับต่างๆ ขององค์กร ไม่เช่นนั้นคงเป็นเรื่องยากในการเดินไปสู่ปลายทางของความยั่งยืน !!

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 1 กันยายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01010951&day=2008-09-01&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: