วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2551

ฟื้นฟูชีวิต "ผู้ประสบภัย" กับสิ่งที่ "ธุรกิจ" ต้องเรียนรู้



ใน หลายเวทีระดมสมองเรื่องการรับมือพิบัติภัย หลายคนมองว่า เหตุการณ์ธรณีพิบัติ "สึนามิ" นั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เริ่มต้นที่จะรับมือกับภัยพิบัติที่กำลังจะมีเพิ่มมากขึ้น บ่อยครั้งขึ้นทั่วโลก ความรุนแรงจากพิบัติภัย 2 เหตุการณ์ทั้งในพม่าและในจีนเมื่อเร็วๆ นี้ อาจเป็นการตอกย้ำเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้น ฉะนั้นการย้อนกลับไปมองบทเรียนการรับมือกับภัยพิบัติจากสึนามิ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเรียนรู้ร่วมกัน โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจ ซึ่งกลายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการปักหลัก ช่วยเหลือผู้ประสบภัยนับตั้งแต่วันเกิดเหตุจนปัจจุบัน

เพราะไม่เช่น นั้นแล้ว "การให้" ด้วยเจตนาดีขององค์กร อาจจะกลายเป็นการให้แบบไม่สร้างสรรค์และทำลายวิถีชีวิตชุมชนอย่างน่าตกใจ และจะยิ่งนำไปสู่สิ่งที่เป็น "อภิมหาภัยพิบัติ"

เช่นที่วงสนทนา การประชุมสรุปบทเรียนรู้ 3 ปีสึนามิ "เพื่อสังคมไทยที่พร้อมพอต่อภัยพิบัติ" ในโครงการถอดรหัสข้อเรียนรู้เพื่อการอยู่ดีจากกรณีธรณีพิบัติภัยใต้ทะเลและ คลื่นยักษ์ โดยเมื่อปลายปีที่ ผ่านมา มีความตอนหนึ่งน่าสนใจว่า "ผู้ประสบภัย" นั้นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 1.ชาวบ้านหรือผู้ประสบภัย 2.เหล่าอาสาสมัครหรือหน่วยงานต่างๆ ก็ถือเป็นผู้ประสบภัยเช่นกัน เพราะไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง รวมถึงต้องรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาจำนวนมาก 3.ผู้บริจาคก็ถือว่าเป็น "ผู้ประสบภัย" เช่นกัน เพราะแม้ว่ามีใจอยากช่วยเหลือ บริจาค แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรเมื่อทั้ง 3 กลุ่มมาเจอกัน จึงกลายเป็น "อภิมหาภัยพิบัติ"

เพราะที่ผ่านมา แม้จะผ่านเหตุการณ์เฉพาะหน้าเมื่อเกิดภัยแล้ว แม้ในช่วงเวลาของการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ ชาวบ้านบางส่วนยังรู้สึกสับสนถึงความช่วยเหลือต่างๆ ที่ประเดประดังเข้ามา ด้วยไม่รู้ว่าจะทำโครงการอะไร เพราะมีโครงการส่งเสริมอาชีพนับ 10 อาชีพ โครงการอื่นๆ อีกหลายต่อหลายอย่าง จึงเป็นเหตุให้นำมาซึ่งความล้มเหลวในหลายโครงการ ฉะนั้นในทุกๆ ระดับของความช่วยเหลือนับตั้งแต่เหตุการณ์เฉพาะหน้า มาจนกระทั่งระดับของการฟื้นฟูชีวิตนั้น ย่อมมีรายละเอียด ซึ่งต้องระมัดระวัง

โดยเฉพาะการสร้างสมดุลระหว่าง "ความอยากให้" ขององค์กรธุรกิจ กับ "ความต้องการของชุมชน" ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

" เราต้องให้เกียรติผู้ประสบภัย ให้ในสิ่งที่เขาต้องการ ไม่ใช่ให้ในสิ่งที่เราอยากให้ ชาวบ้านบอกว่าเรือสำคัญกว่าบ้าน เพราะต้องใช้ทำมาหากิน ทำอย่างอื่นก็คงไม่ได้ จะปลูกยางก็คงไม่มีที่ดิน เราก็ช่วยให้ตรงจุด การช่วยเหลือนั้นก็ต้องเกิดความยั่งยืน ไม่ใช่แค่ให้เงิน แต่เราต้องไปช่วยให้เขาสามารถอยู่ได้เมื่อเราถอนตัวกลับมา หรือหาพันธมิตรให้ทำงานร่วมกันและสร้างเครือข่ายให้จนเกิดเป็นชุมชนที่เข้ม แข็งดูแลตนเอง เมื่อมีภัยมาก็สามารถตั้งรับได้ ทันและอยู่ได้ด้วยตนเอง "มัทนา เหลืองนาคทองดี" ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เคยกล่าวถึงแนวคิดในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ไม่ใช่เฉพาะเครือ ซิเมนต์ไทย หลายองค์กรธุรกิจ มีแนวคิดในการช่วยเหลือในลักษณะที่คล้ายๆ กัน

สิ่งสำคัญไม่แพ้กัน อยู่ที่การเลือกพันธมิตรในการ "นภดล ศิวะบุตร" ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายองค์กรสัมพันธ์บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) บอกว่า "เราต้องมองพันธมิตรที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น การที่เราเลือกพีดีเอก็เพราะเขามีประสบการณ์ยาวนานในการพัฒนาชุมชนซึ่งมีบท เรียนให้เรียนรู้มากจากพื้นที่อื่น ที่สำคัญเขาคิดเหมือนกับเราในการช่วยเหลือเพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถช่วย เหลือตัวเอง"

"หลักของการทำงานกับ "ชุมชน" ต้องไม่ใช้ "เงิน" เป็นตัวนำ แต่สิ่งสำคัญต้องสอนให้เขาคิดเป็นและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง" "อำนวย ชูหนู" หัวหน้างานศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสาน สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (พีดีเอ) บอกเล่าประสบการณ์ในการทำงานในพื้นที่ประสบภัยในช่วงที่ผ่านมาว่า "ความล้มเหลวของโครงการ ส่วนใหญ่ที่เห็นเป็นเพราะเอาเงินเป็นตัวตั้ง และเป็นอย่างนั้นเมื่อไหร่โครงการมักจะล้มเหลว เคยมีคนทดลองมาแล้วตอนเข้าไปให้ชาวบ้านช่วยกันคิดว่าอยากฟื้นฟูชีวิตคนใน ชุมชนอย่างไร วันแรกก็มีคนเสนอแนวคิดมากมาย แต�พอวันต่อมาพอบอกว่าได้งบประมาณเท่าไหร่ แทนที่จะคุยกันเรื่องงาน ก็จะคุยกันเรื่องเงินก่อน แล้วก็วงแตกในที่สุด"

โครงการ "ชีวิตใหม่หลังสึนามิ" ที่พีดีเอร่วมกับภาคีซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจจำนวนมาก อาทิ เนสท์เล่ ไทยพาณิชย์ ฯลฯ ที่เข้าไปฟื้นฟูชีวิตในหลายชุมชน จึงไม่ได้ใช้ "เงิน" เป็นตัวนำ แต่ใช้วิธีในการสร้างกระบวน การมีส่วนร่วม ทุกอย่างเริ่มต้นที่ความต้องการของชาวบ้านซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเข้ม แข็งให้ชุมชนในระยะยาว

ไม่ว่าจะโครงการจัดตั้งองค์การบริหารหมู่บ้าน เยาวชน ที่จะนำไปสู่การสร้างภาคีเครือข่ายเยาวชนที่เข้มแข็ง การสร้างเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจแก่สตรีและความเข้มแข็งชุมชน ผ่านการพัฒนาอาชีพด้านต่างๆ รวมไปถึงธนาคารหมู่บ้าน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ

"อำนวย" บอกว่า ประสบการณ์บอกเราว่า ถ้ามีแหล่งทุนที่เข้มแข็ง การพัฒนาส่วนอื่นๆ ก็จะตามมา วันนี้มีองค์กรธุรกิจจำนวนมากที่ยังเข้ามาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าหลายโครงการกำลังจะจบลง แต่วันนี้เชื่อว่ากระบวนการทำงานที่ผ่านมาเริ่มต้นสร้างความเข้มแข็งให้ชาว บ้านให้สามารถเรียนรู้ที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง

แม้ว่าวันนี้ชุมชน กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาใหม่ๆ พวกเขากำลังเรียนรู้วิธีการรับมือกับปัญหาเหล่านั้นด้วยตัวเอง "บังดำ" ธีรยุทธ วงค์ฤทธิ์ แห่งหมู่บ้านหินร่ม จ.พังงา บอกว่า จากการสนับสนุนของเนสท์เล่และพีดีเอ ในการจัดตั้งกองทุนหรือธนาคารหมู่บ้าน ซึ่งมีเงินช่วยเหลือในเบื้องต้นไม่มากนัก โดยสามารถช่วยชาวบ้านให้มีเรือใหม่ในการทำประมงได้ 6 ลำ แต่ 3 ปีที่ผ่านมาขยายเป็น 43 ลำ โดยส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมามาจากการเก็บเงินออมจากสมาชิกในชุมชน

" วันนี้ชีวิตชาวบ้านดีขึ้นมาก มีความเข้าใจและไว้วางใจกันมากขึ้น แต่จะให้ทุกคนคิดเหมือนกันหมดคงไม่ได้ และแม้ว่าวันนี้เราจะมีอุปกรณ์ มีอาชีพแล้ว แต่ในภาวะวันนี้ราคากุ้งก็ถูกลง ราคาน้ำมันก็แพงขึ้น เรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาใหม่ ที่ใน ขณะนี้เรากำลังพยายามหาทางออกร่วมกันในชุมชนว่าจะทำอย่างไร"

ผลที่ เกิดขึ้นจากการสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในชุมชนอาจจะไม่ได้มีคำตอบอยู่กับ ที่การให้อุปกรณ์ เครื่องมือทำมาหากิน และปัจจัยพื้นฐาน แต่การปลูกฝังวิธีคิดต่างหากจะทำให้พวกเขาสามารถเผชิญหน้ากับทุกปัญหาที่ เข้ามาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาใดก็ตาม
!!

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 2 มิถุนายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03020651&day=2008-06-02&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: