วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2551

ความร่วมมือระหว่างบริษัท และองค์กรไม่แสวงหากำไร

ไฮน์ซ ลันดาว ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ เมอร์ค ประเทศไทย กล่าวว่า การที่บริษัทจะก้าวล้ำจากส่วนธุรกิจไปสู่การทำประโยชน์สูงสุดให้แก่สังคม จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในปัญหาที่แท้จริงของสังคม เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าบริษัทนั้นก่อตั้งมาเพื่อแสวงหาผลกำไร และมีความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ โดยไม่ได้มีองค์ความรู้ด้านประเด็นปัญหาสังคมเหมือนองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นแหล่งความรู้ทางด้านสังคมที่มีคุณค่า สามารถเติมเต็มส่วนที่บริษัทขาด และช่วยให้บริษัทไม่สับสนไปกับความละเอียดอ่อนและความหลากหลายของปัญหาสังคม รอบตัวเรา

เมอร์ค ประเทศไทย มีจุดมุ่งหมายในความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่ 3 ด้าน ที่สำคัญคือ ความรับผิดชอบต่อพนักงาน ความรับผิดชอบต่ออาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคมไทย เมอร์ค ประเทศไทย จึงได้ร่วมมือกับองค์การแคร์ประเทศไทย/มูลนิธิรักษ์ไทย ตั้งแต่ปี 2545 โดยมีวัตถุประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือ ครอบครัวและชุมชนที่ด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกล ด้วยความเชื่อที่ว่าความยากจนเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาชนบท อีกทั้งยังนำไปสู่ปัญหาทางสังคมที่รุนแรงอีกด้วย

ในช่วงเริ่มแรกมี การระบุโครงการที่เหมาะสม 3 โครงการหลัก โดยเริ่มจาก พื้นฐานที่เมอร์ค ประเทศไทย เน้นความสำคัญด้านการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เรามิได้ต้องการเพียงแค่บริจาคแล้วผ่านเลย บริษัทยังได้จัดหาทุนเพื่อสนับสนุนโครงการและสร้างการมีส่วนร่วมของบริษัท และชุมชน โดย 3 โครงการหลักที่น่าจะเป็น case study และสามารถจุดประกายให้กับองค์กรหรือหน่วยงานที่เริ่มเห็นความสำคัญของงาน CSR ดังนี้

โครงการเมอร์คเพื่อสร้างเสริมภาวะผู้นำเยาวชน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุดรธานี และหนองคาย มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้และด้อยโอกาส โดยครอบคลุมถึงการพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำของเยาวชนที่ขาดโอกาสในชนบท พร้อมทั้งส่งเสริมความรู้ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำในการพึ่งพาตนเองของเยาวชน ทั้งนี้เพื่อช่วยลดอัตราการย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมืองใหญ่ของผู้คนในชนบท

โครงการเมอร์คเพื่อชุมชนมีสุข ในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ทางภาคเหนือของประเทศไทย

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริม

สร้าง ศักยภาพให้กับชุมชนในการแก้ไขปัญหาการจัดการสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาภาวะโลกร้อนผ่านกิจกรรมต่างๆ รวมถึงส่งเสริมให้ชุมชนมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

โครงการเมอร์คเพื่อผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิ ที่จังหวัดระนอง และกระบี่ มีการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อฟื้นฟูอาชีพสำหรับครอบครัวที่ประสบความ เดือดร้อนจากภัยสึนามิ เพื่อใช้ในการซื้อเรือและอุปกรณ์หาปลาต่างๆ ที่สูญหายไป เพื่อที่พวกเขาจะสามารถกลับมามีวิถีชีวิตที่เป็นปกติสุขและยั่งยืน และยังได้มีการร่วมกันสร้างอาคารอเนกประสงค์ รวมถึงอาคารหอพักสำหรับครู อาจารย์ และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ในอำเภอบ้านบางเบน จังหวัดระนอง ด้วยความร่วมมือจากเมอร์ค ประเทศไทย และลูกค้าของบริษัท โดยอาคารอเนกประสงค์ที่สร้างขึ้นนั้นมีจุดประสงค์เพื่อการจัดกิจกรรมต่างๆ ในการป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงยังใช้เป็นศูนย์รวมของชุมชนในกิจกรรมสร้างอาชีพ กิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ในชุมชน และกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มเยาวชน

จวบจนปัจจุบัน นับเป็นปีที่ 6 ของความร่วมมือ ซึ่งโครงการเหล่านี้ได้เข้าถึงผู้ด้อยโอกาสในสังคมมากกว่าหนึ่งหมื่นคน โดยทั้งสามโครงการนี้ยังคงดำเนินอยู่อย่างเข้มแข็งด้วยแรงแห่งความตั้งใจที่ งดงามของเจ้าหน้าที่ ชุมชน และบริษัท อย่างมีส่วนร่วม ผมขอสนับสนุนให้ทั้งบริษัทและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรพยายามที่จะหาจุดยืนที่ ทั้งสองฝ่ายสามารถร่วมกันทำประโยชน์ให้กับสังคมไทยของเรา ก่อนจากกันในฉบับนี้ อย่าลืมหันมองรอบๆ ตัวท่านเพื่อหาภาคีที่มีความตั้งใจ มีจุดมุ่งหมายร่วมกับท่านในการก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นต่อ สังคมไทย และโลกของเราร่วมกับคุณ ขอให้โชคดีครับ

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 14 เมษายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr02140451&day=2008-04-14&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: