วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2551

Simple Way to Success "กรุงไทย" หยั่งรากสู่ความยั่งยืน




" ธนาคารกรุงไทย" ถือเป็นองค์กรเพียงไม่กี่แห่งในไทยที่เดินหน้าแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคม ขององค์กร (CSR) โดยประยุกต์หลักการของ ISO 26000 ที่ว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งกำลังจะประกาศใช้ในปี 2553 มาดำเนินการในองค์กร

ฟังดูสำหรับองค์กรเล็กๆ การเดินทางสู่ความรับผิดชอบให้เป็นไปตามมาตรฐานนั้น จึงอาจจะไกลเกินเอื้อม

แต่ เมื่อฟังแนวคิดและประสบการณ์การทำงานของ "ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์" ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่วันนี้กลายมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการขับเคลื่อน CSR ของ กรุงไทยที่ใช้คำว่า CSER : corporate social environment responsibility ด้วยตัวเอง ในวันนี้นั้น

บทสรุปข้อหนึ่งน่าสนใจว่า ไม่ว่าจะกี่มาตรฐานจะกี่ทฤษฎีจากฝั่งตะวันตก สุดท้ายไม่พ้นหลักการบนพื้นฐานความเป็นตัวของตัวเองและเหมาะสมกับบริบทของ สังคมและวัฒนธรรมองค์กร

กรอบ CSER ที่ ดร.ชัยวัฒน์เล่าให้ฟังนั้น มีเพียง 4 หลักการง่ายๆ

1.คือต้องทำอย่างต่อเนื่อง

2.ต้องมีความเชื่อมโยงโครงการต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดพลัง

3.ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานตั้งแต่ระดับนโยบายคือคณะกรรมการ มาถึงผู้บริหาร จนถึงพนักงาน

เพราะหัวใจของการทำ CSER ไม่ใช่แค่การช่วยเหลือทางการเงิน แต่เป็นการทำด้วยใจและการมีส่วนร่วม

และ 4.การสร้างพันธมิตร ปัจจุบันมีองค์กร หน่วยงาน ที่คิดอย่างเดียวกันและทำบางอย่างคล้ายคลึงกัน ถ้ามารวมทำร่วมกันได้ ผลต่อเนื่องก็จะตามมา หลักการง่ายๆ นี้ได้รับการพิสูจน์มาแล้วจากการทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่ผ่านมา ที่ปรากฏผลสำเร็จ และถูกแตกหน่อต่อยอดในปัจจุบัน

โดยเฉพาะโครงการใหม่ล่าสุด "Krungthai Growing Green" หรือ กรุงไทยหัวใจสีเขียว

" เดิมทำในมุมแคบคือเรามีอาคารที่เรียกว่าอนุรักษ์พลังงาน ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ช่วยประหยัดพลังงาน จากความรู้ที่เรามี จึงขยายความรู้ที่มีจากการเป็นอาคารประหยัดพลังงาน จากนี้ไปสาขาที่เกิดใหม่เป็นสาขาที่อนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวด ล้อม หมายถึงว่าคิดตั้งแต่คอนเซ็ปต์ในการสร้างอาคาร การออกแบบที่ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทำอย่างไร วัสดุตั้งแต่ภายนอก ภายในทำให้ประหยัดพลังงาน รวมทั้งการเลือกสี ซึ่งสาขาแก่งคอยเป็นสาขาแรกที่เพิ่งเปิดเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีคณะ สถาปัตย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันนี้เป็นพันธมิตรอีกราย ที่สร้างตามแบบมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์พลังงาน เช็กลิสต์ได้เป็นสาขาแรก"

"มิติสิ่งแวดล้อมเราจะขยายผลมากกว่านี้ นอกจากอาคาร เราต้องการให้ธนาคารมีส่วนร่วมในการช่วยแก้โลกร้อน จะเปิดตัววันที่ 18 ก.ค.นี้ เป็นโครงการ Krongthai Growing Green หรือโครงการกรุงไทยหัวใจสีเขียว จะค่อยๆ งอกงามเป็นสีเขียวมากขึ้นเรื่อยๆ เราค่อยใส่สีเขียวคือต้นไม้รูปแบบต่างๆ เข้าไปในธนาคาร เช่น หลังคา สีเขียว (roof garden) เป็นการแนะนำว่าถ้าอาคารพาณิชย์จะปลูกต้นไม้เป็นเรื่องเป็นราว ทำให้หลังคาเป็นสวน มีรูปแบบจาก สถาปัตย์มาอธิบาย แนะนำ และมีการทำต้นไม้ในแนวตั้ง (vertical garden) ต้นไม้แบบไหนช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน โดยหวังว่าแนะนำให้คนเข้าใจปัญหาและประยุกต์ได้กับอาคารตัวเอง บ้านของตัวเอง ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างให้เกิดการตระหนักให้เกิดการเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก...เรา จะ

ให้ลูกหลานพนักงานกรุงไทย ต่อไปขยายไปยังลูกหลาน ลูกค้า โรงเรียนในเครือของธนาคาร ให้ได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม"

นี่ เป็นการพัฒนาและต่อขยายแนวคิดในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่เป็นหนึ่งใน 2 เรื่องหลัก บนแนวคิด CSER ของ "กรุงไทย" นอกเหนือจากเรื่องทุนทางปัญญาซึ่งเป็นการส่งเสริมความรู้ด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับการดำรงชีวิต ชีวิตที่มีคุณภาพ

เรื่องสิ่งแวดล้อม ยังจะถูกถ่ายทอดไปในโครงการกว่า 96 โรงเรียนที่กรุงไทยอุปถัมภ์ ในโครงการ "กรุงไทยสานฝันโรงเรียนดีใกล้บ้าน"

เป็นการเชื่อมต่อเรื่องหนึ่งเข้ากับอีกเรื่องหนึ่ง ที่เชื่อว่าจะเป็นการเพิ่มพลังของการทำงานเพื่อสังคมให้มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น !!

ดร. ชัยวัฒน์กล่าวว่า "ในโครงการทุนทางปัญญาใช้หลักการประยุกต์ให้โครงการต่างๆ เชื่อมโยงกัน โครงการที่เป็นหัวใจคือ "กรุงไทยสานฝันโรงเรียนดีใกล้บ้าน"

" หลาย ร.ร.ไปพัฒนาซอฟต์แวร์ในการสอน นำมาแสดง มาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน อันไหนดีๆ ก็นำมาเป็นต้นแบบให้คนอื่นเอาไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนี้เราให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการค่อนข้างมาก เราได้พัฒนาผู้อำนวยการโรงเรียนต่างๆ สร้างเป็นเครือข่าย แลกเปลี่ยน ทำอะไรร่วมกัน ช่วยเหลือกัน"

นอกจากนี้พยายามให้นักเรียนได้รับคือ แง่มุมต่างๆ ที่เรียนรู้นอกห้องเรียน เสริมจากหลักสูตรที่ สพฐ.สอน จึงเชื่อมโยงกับโครงการอื่นๆ กรุงไทยได้ทำให้ ร.ร.ต่างๆ มิติที่ใกล้ตัว เช่นความรู้เรื่องการเงิน การธนาคาร การออม และเรื่องที่เชื่อมโยงกันให้เด็กมีพื้นฐานความรู้การทำธุรกิจ

"อีก 2-3 มิติที่เราพยายามใส่เข้าไปคือด้านศิลปวัฒนธรรม เรากำลังทำโครงการกระตุ้นการอ่าน จัดหาหนังสือดีๆ แนะนำว่าการอ่านหนังสือควรทำอย่างไร เพราะทุนทางปัญญาไม่ได้หมายถึงว่าสิ่งที่เราเอาไปใช้ในการทำงาน แต่หมายถึงการได้ความรู้ด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับการดำรงชีวิต ชีวิตที่มีคุณภาพ

จากประสบการณ์ส่วนตัวของ ดร.ชัยวัฒน์ที่ได้ร่ำเรียนทางด้านศิลปศาสตร์ หรือ liberal art เป็นการเรียนการสอนที่ปูพื้นฐานให้นักเรียน นักศึกษา มีความรู้พื้นฐานในทุกๆ ด้าน ทั้งศิลปะ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กีฬา ฯลฯ จึงเป็นที่มาของการพยายามประสานและรวมศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกันในการทำโครงการ

เขาเชื่อว่า "มิติการใช้ชีวิตของคน ไม่ใช่มิติในการทำงานอย่างเดียว เราต้องมีความสุขกับการอยู่กับครอบครัว กับคนใกล้ตัว กับสิ่งแวดล้อม กับตัวเอง มีอะไรที่เราทำด้วยตัวเองได้ เช่นอ่านหนังสือ ศิลปวัฒนธรรม ดนตรี ถ้ามีโอกาสแบงก์กรุงไทยจะประยุกต์สิ่งพวกนี้ในโรงเรียนต่างๆ ด้วย"

เมื่อตั้งอยู่ในหลักการที่ชัด แม้จะเป็น กิจกรรมเล็กๆ และสิ่งละอันพันละน้อยที่องค์กรทำ จึงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ทำให้กับพนักงานและบุตรหลานของพนักงาน

และนี่เป็นบทพิสูจน์ซึ่งเป็นที่มาของหลักการ "แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม" แบบง่ายๆ

ซึ่ง หากตั้งอยู่บนหลักการ ทำอย่าง ต่อเนื่อง ทำอย่างมีส่วนร่วมทั้งคนในองค์กร มีพันธมิตรมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดจะขยายผลและเป็นจุดเปลี่ยนในการหยั่งรากสู่องค์กรที่ยั่งยืน !!

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 9 มิถุนายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01090651&day=2008-06-09&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: