วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

กระแส CSR พ่นพิษ "เอเยนซี่" ป่วน ดัน ตลท.ออกหลักเกณฑ์-สร้างความเข้าใจบริษัท

กระแส CSR พ่นพิษ "เอเยนซี่" ป่วน ดัน ตลท.ออกหลักเกณฑ์-สร้างความเข้าใจบริษัท


ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้บริษัทจำนวนมากมีความตื่นตัวในการ ขับเคลื่อนเรื่องนี้ แต่กระแสที่ว่าไม่ได้ส่งผลกระทบในเชิงบวกเท่านั้นแต่บางส่วนกลับสร้างผลกระทบในเชิงลบ

โดยผลสรุปจากการประชุมคณะ กรรมการทำงาน Strategic Environmental Working Group Against Global Warming ซึ่งจัดตั้งขึ้น จากเวทีเสวนาของเครือข่ายความร่วมมือภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Network ประเทศไทย) โดยเป็นการทำงานระหว่างองค์กรธุรกิจและองค์กรพัฒนาเอกชน

ได้สรุปสถานการณ์ CSR ในไทย และพบว่าจากความตื่นตัวของบริษัทจำนวนมากที่ต้องการทำกิจกรรมเพื่อสังคมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน CSR ขององค์กรนั้น แม้ว่าบริษัทมีความสนใจในด้านสังคมแต่ยังไม่มีความชำนาญมากจึงได้จัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ ซึ่งโดยธรรมชาติ บริษัทเหล่านี้ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างลึกซึ้ง ทำให้เกิดปัญหาการหลอกลวงองค์กรพัฒนาเอกชนให้ทำโครงการให้โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ขณะเดียวกันกิจกรรมที่เกิดขึ้นไม่เกิดประโยชน์กับสังคมอย่างเต็มที่

"ปารีณา ประยุกต์วงศ์" เลขาฯคณะทำงาน Strategic Environmental Working Group Against Global Warming กล่าวว่า ขณะนี้พบกรณีที่บริษัทเอเยนซี่จำนวนมากที่ได้รับการว่าจ้างจากองค์กรธุรกิจให้จัดทำโครงการและออกแบบกิจกรรมเพื่อสังคม แต่เนื่องจากเอเยนซี่เหล่านั้นขาดมิติและองค์ความรู้ด้านสังคม ทำให้ได้มีการขอความร่วมมือไปยังองค์กรพัฒนาเอกชนให้พัฒนาโครงการให้เนื่องจากขาดความรู้ในประเด็นทางสังคมนั้นๆ ซึ่งหลังจากองค์กรพัฒนาสังคมได้พัฒนาโครงการอย่างละเอียดเพื่อนำเสนอต่อ เอเยนซี่ เอเยนซี่ก็นำเสนอกลับไปยังบริษัทผู้ว่าจ้าง แต่เมื่อได้รับงานมิได้มีการอ้างชื่อองค์กรพัฒนาเอกชนนั้นๆ รวมทั้งไม่ได้ให้เข้ามาร่วมทำงานด้วย ทางคณะทำงานจึงเห็นว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความตื่นตัวในเรื่องนี้ จึงเตรียมที่จะยื่นหนังสือไปยังตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อขอความร่วมมือให้แก้ไขปัญหาการทำงานเพื่อสังคมที่ไม่ถูกหลักธรรมาภิบาล และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสังคม สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยนำเสนอเกณฑ์การทำกิจกรรมเพื่อสังคมของภาคธุรกิจที่พึงประสงค์ของสังคม เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมถึงการยกระดับการทำงานทุกภาคส่วนร่วมกัน

"ประเด็นสำคัญที่เราเห็นว่าน่าเป็นห่วงก็คือ ตอนนี้มีเอ็นจีโอจำนวนมากถูกหลอกให้เขียนโครงการซึ่งเขาก็ต้องการงบประมาณที่มาสนับสนุนในการทำโครงการ ขณะที่เราก็เชื่อว่าธุรกิจเองก็มีความตั้งใจดี เพียงแต่เอเยนซี่ที่เข้ามาเป็นตัวกลางกลับขาดจรรยาบรรณ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นพื้นฐานในการทำ CSR และในความเป็นจริงเขาน่าจะสามารถเป็นตัวกลางที่ดีในการผสมผสานเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิผลมากกว่าการมาหลอกลวงในลักษณะนี้" ปารีณากล่าว

สำหรับหลักเกณฑ์การทำงานด้านสังคมของภาคธุรกิจที่พึงประสงค์นั้น คณะทำงานมีข้อเสนอใน 4 ประการ ดังนี้ ประการที่ 1 ขอให้องค์กรภาคธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำความเข้าใจประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะมีการพัฒนาโครงการต่างๆ ประการที่ 2 บริษัทควรทำความเข้าใจและเชื่อมโยง ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม เริ่มทำงานกับ พนักงานเป็นลำดับต้น โดยการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างพนักงานกับสังคม และทำงานร่วมกับชุมชนหรือองค์กรพัฒนาที่จะทำให้กิจกรรมนั้นๆ การสร้างความร่วมมือกัน ทั้งพนักงาน บริษัท ชุมชน และสังคม ซึ่งภาคธุรกิจสามารถทำได้ด้วยตนเองภายใต้จริยธรรมของภาคธุรกิจ คือการทำกำไร การบริจาค และการทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างรับผิดชอบต่อสังคม อย่างที่เรียนว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าต่อการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม ในขณะที่กระบวนการทำกำไร การบริจาค และการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของภาคธุรกิจ บริษัทได้มีการเรียนรู้และเข้าใจสังคม ซึ่งเป็นการพัฒนาจริยธรรมอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การทำงานของภาคธุรกิจอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน สังคม และภาคีที่อยู่รายล้อมบริษัท จนเกิดเป็นการทำเพื่อแสดงออกถึงคุณธรรมของภาคธุรกิจ

ประการที่ 3 การพัฒนาโครงการกิจกรรมเพื่อสังคมขององค์กรภาคธุรกิจที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมโดยตรงนั้น หากสามารถพัฒนาโครงการอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน หรือองค์กรพัฒนาที่อยู่ในเป้าหมายที่ต้องการดำเนินโครงการ จะสามารถทำให้บริษัทเข้าถึงปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันบริษัทจะได้มีโอกาสสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนและองค์กรพัฒนาที่สามารถเข้าใจและเข้าถึงปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

ประการที่ 4 หากบริษัทต้องการทำงานกับเอเยนซี่ประเภทใด ขอให้บริษัทกำหนดว่า บริษัทเอเยนซี่นั้นทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาในชุมชน หรือในประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่บริษัทต้องการ และมีการจัดสรรงบประมาณที่โปรงใส่ เนื่องจากองค์กรพัฒนานั้นๆ มิได้ทำงานเพื่อแสวงหากำไร

โดยเร็วๆ นี้ นายมนตรี โยธารักษ์ รองผู้จัดการหอการค้าแห่งประเทศไทย และ คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช นายกสมาคมสร้างสรรค์ไทย จะเข้าพบเพื่อชี้แจงกับทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงการหาทางออกร่วมกันโดยเฉพาะการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องแนวทางการทำงาน CSR ให้กับบริษัทซึ่งเป็นต้นทางของการทำงานเรื่องนี้ต่อไป

ที่มา
ประชาชาติธุรกิจ 2008-07-07
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03070751&day=2008-07-07&sectionid=0221

วิถี "ซีพีเอฟ"ธุรกิจที่ดีคือคนดี

วิถี "ซีพีเอฟ"ธุรกิจที่ดีคือคนดี


ภาพจำของคนในสังคมที่มีต่อเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซี.พี.คงไม่พ้นอาณาจักรธุรกิจเกษตรครบวงจร หากจะเปรียบ "ซี.พี." เป็นแม่ "ซีพีเอฟ" หรือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ก็ถือว่าเป็นพี่ใหญ่ของเครือ

แม้จะแยกขาดจากกันในการทำธุรกิจ หากแต่รากเหง้าและวัฒนธรรมองค์กรแล้วย่อมไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะวิธีคิดและปรัญชาในการบริหารจัดการธุรกิจ

"เครือ ซี.พี.ไม่ได้ทำแค่เรื่องเกษตร แต่วันนี้เรามองว่าจะบริการคนทั้งโลกได้อย่างไรตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน โลจิสติกส์ ไปจนกระทั่งอาหารสมอง เราจึงมาเน้นที่การเพิ่มพลังชีวิต พลังความคิดให้คนเป็นหลัก ฉะนั้นถ้ามอง CSR ของเครือในเชิงแนวคิดการทำธุรกิจ เราถือว่าเราต้องทำทุกอย่างที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม"

อภัยชนม์ วัชรสินธุ์ รองกรรมการ ผู้จัดการด้านประสานกิจการสัมพันธ์ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ที่ดูแลงานด้านการช่วยเหลือสังคมและมูลนิธิพัฒนาชนบทฯ มายาวนาน บอกเล่าถึงปรัชญาและวิธีคิดของเครือ ซี.พี.เกี่ยวกับเรื่องนี้

"เราต้องการลดช่องว่างระหว่างภาคเมืองกับภาคชนบท ตั้งแต่ก่อนมีแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คนในภาคเกษตรมี 1 บาท คนนอกภาคเกษตรมี 6 สลึง แต่ถึงวันนี้คนในภาคเกษตรก็ยังมี 1 บาท แต่คนนอกภาคเกษตรมีรายได้ 12-18 บาท ถามว่านี่เป็นการพัฒนาอย่างไร ทำไมเราต้องกดราคาสินค้าเกษตรให้ต่ำอย่างที่เป็นอยู่"

"ซี.พี.มองเห็นคนไทย เห็นแผ่นดินไทยแข็งแรง แต่จะทำอย่างไรเราถึงจะสามารถหาเงินกลางอากาศ บทบาทนำของเราคือการสรรหาเทคโนโลยีมาบวกกับวัตถุดิบในประเทศ และทำให้เกิดมูลค่าขึ้น (transfer advance technology to grassroot) และความสามารถหลักของเครือคือการนำเอาความรู้ด้านการบริหารจัดการต่างๆ ในโลกมาถ่ายทอดสู่การปฏิบัติให้กับเกษตรกรได้จริง เป็นการนำทฤษฎีมาสู่การปฏิบัติ"

ถ้าจะเอาหลักคิดของ CSR มาจับ นี่เป็นการใช้ขีดความสามารถหลักขององค์กรตอบโจทย์ "ความรับผิดชอบต่อสังคม"

"สมัยก่อนเกษตกรเลี้ยงไก่ 100 ตัว เราบอกว่าต้องเลี้ยง 10,000 ตัว คนก็มองว่าอย่างนั้นก็ทำให้คนอีก 99 คนขาดรายได้ ตอนนั้นไม่มีใครมองเห็นแต่เรามองว่าเป็นเรื่องประสิทธิภาพว่า 8 ชั่วโมงในแต่ละวันการเลี้ยงไก่ 100 ตัวกับหมื่นตัวแตกต่างกัน เราก็บอกว่าอย่างนั้นแทนที่คุณจะเลี้ยงไก่เอากำไร 20 บาทต่อตัว ซึ่งทำให้ราคาไก่แพง ผมบอกว่าเอากำไรแค่ตัวละ 3 บาทได้มั้ย แต่เลี้ยงในเวลาเท่ากันให้ได้ 10,000 ตัว รายได้ก็มากขึ้นในเวลาเดียวกันผู้บริโภคก็ได้กินไก่ถูกลง 17 บาท นี่คือวิธีที่เราเรียกว่าหาเงินกลางอากาศ"

"ถ้าดูอิสราเอลเราจะเห็นว่าประเทศที่เป็นทะเลทรายแท้ๆ สามารถขายส้มเข้ายุโรป แถมยังขายล่วงหน้าได้ 3 ปีเก็บเงินก่อนตั้งแต่ต้นส้มยังไม่มีลูก นี่เป็นการหาเงินกลางอากาศ และที่เขาทำได้เพราะมีเทคโนโลยี เราก็มองว่าประเทศไทยแผ่นดินก็ดี คนก็สุดยอด เพียงแต่เอาความรู้ด้านการจัดการใส่เข้าไป เรามองไม่เห็นเลยว่าในศตวรรษที่ 21 ลูกหลานเราจะอยู่อย่างสุขสบายไม่ได้อย่างไร"

เพราะฉะนั้น ถ้าในระดับเครือ ซี.พี.มีการทำเรื่อง social accountability หรือความรับผิดชอบต่อสังคมมาตั้งแต่เมื่อ 30 กว่าปีก่อน

"ตั้งแต่ยุคเจียไต๋ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของ ซี.พี.เรามีคำใหญ่อยู่ 2-3 คำที่เป็นแนวคิดในการทำธุรกิจเครือที่ยึดถือมาตลอด ข้อแรกคือความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ผมคิดว่าใครๆ ก็พูดคำนี้ได้ แต่ซื่อสัตย์ในความหมายของเราหมายถึงคุณภาพของเมล็ดพันธุ์และสิ่งที่สอนเราในการทำธุรกิจมาตลอดว่า สินค้าเกษตรคุณหลอกชาวบ้านได้อย่างมากก็ 3 หน และเราถูกสอนกันมาอย่างนั้น ข้อ 2 เกษตรกรคือคู่ชีวิต ถ้าเกษตรกรอยู่ไม่ได้บริษัทก็อยู่ไม่ได้ และข้อ 3 การผลิตของดีด้วยราคาที่เป็นธรรม เพราะเราเชื่อว่าทั้งบริษัทและเกษตรกรอาจตายทั้งคู่ถ้า ผู้บริโภคไม่ซื้อของเรา เพราะในแง่การตลาดคนโง่ที่สุดในโลกก็ยังต้องการซื้อของดีราคาถูก เพราะฉะนั้นก็ต้องผลิตของที่ดีให้มีราคาเป็นธรรม"

ดังนั้น เมื่อมาถึงยุคนี้ CSR สำหรับเครือ ซี.พี.จึงเป็นเพียงคำใหม่ ซึ่งไม่ยากเลยหากจะนำแนวคิดจากฝั่งตะวันตกมาผนวกเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรและสิ่งที่องค์กรเป็น

"ผมว่า CSR เป็นคำของ พ.ศ.นี้ แต่ถ้ามองย้อนกลับไปเครือ ซี.พี.ทำเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมมานาน แต่ก็ต้องขอบคุณฝรั่งและหน่วยงานที่ออกมาส่งเสริมเรื่องนี้ เพราะทำให้เรานำสิ่งที่เราทำอยู่และทำมันให้เป็นภาษาสากล มันก็เหมือนเอารูปที่มีอยู่ไปใส่กรอบและปรับโฟกัสบางเรื่องให้ชัดเจน"

ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้วันนี้ "ซีพีเอฟ" เดินหน้าในการปรับกระบวนทัพการทำงานเช่นเดียวกันหลายองค์กรในปัจจุบัน จะต่างกันบ้างก็ตรงที่ความยากและความง่าย ขึ้นอยู่กับที่มา เจตนาในการทำธุรกิจและตัวตนขององค์กร

"สำหรับซีพีเอฟเราชัดเจนมาตลอด เพราะเรารับปรัชญาของเครือมาแล้ว สร้างสิ่งที่เป็นตัวของตัวเอง เรามีผู้ถือหุ้น มีผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในองค์กร (stakeholder) ในทีมผู้บริหาร มีการประเมินกันและเห็นว่าทุกเรื่องที่พูดกันวันนี้ตั้งแต่เรื่องความโปร่งใส สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติอย่างเป็นธรรม เราไม่ได้ต่ำกว่าเกณฑ์ และไปสูงกว่าตรงนั้นด้วยซ้ำ เพียงแต่ในบริบทใหม่เราก็ต้องหันกลับมามองกระบวนการทำงานของตัวเองและทำให้สิ่งต่างๆ เกิดภาพที่ชัดขึ้น"

3 ขาที่เป็นหลักในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบของ "ซีพีเอฟ" ในฐานะผู้นำในด้านเกษตรและอาหารวันนี้ประกอบด้วย ความปลอดภัย (safety) สุขภาพ (health) และสิ่งแวดล้อม (environment)

"ต้องไม่ลืมว่าเราเป็นผู้นำสำคัญในการผลิตอาหารเพื่อโลก จึงต้องคำนึงถึงเรื่องอาหารปลอดภัยเป็นลำดับแรก เพราะเราจะล้มละลายไม่ได้ถ้าผู้บริโภคกินแล้วต้องปลอดภัย มากกว่านั้นอาหารของเราไม่ได้อยู่แค่กินแล้วอิ่มท้องแต่ยังต้องคำนึงถึงสุขภาพ และเรื่องสุดท้ายคือเรื่องสิ่งแวดล้อมยังเป็นฝันแต่เราเห็นภาพนั้นในอนาคตแล้ว ที่เมื่อถึงวันหนึ่งเราจะบอกว่านี่ไก่จาก ซี.พี. เป็นไก่ที่กินวัตถุดิบจากกากถั่วที่สะอาดและคนปลูกถั่วมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นี่เป็นสิ่งที่เราจะทำและมองว่ามันคือต้นทาง ในการแสดงความรับผิดชอบ ภายในกระบวนการธุรกิจ"

"ความปรารถนาของเราอยู่ที่การผลิตทุกวันเพื่อให้คนสุขภาพดี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างเรากำลังจะทำอย่างไรที่จะเลี้ยงหมูบนเขา เพราะน้ำจากก๊าซเป็นปุ๋ยให้พืชผลอย่างอื่นและยังสามารถนำมาขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งเรากำลังจะประกาศเร็วๆ นี้ที่ตันละ 8 ยูโรกว่าที่เราสามารถขายได้จากประเทศที่พัฒนาแล้ว หรืออย่างเรื่องโปรไบโอติก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการเพาะเลี้ยงกุ้ง โดยใช้จุลินทรีย์แทนสารเคมีในบ่อดิน ฯลฯ เรื่องเหล่านี้เป็น CSR ภายในกระบวนการธุรกิจซึ่งเป็นกระบวนการจัดการที่จะช่วยเพื่อร่วมธุรกิจได้อีกมาก เพราะยิ่งเพื่อนร่วมธุรกิจดีมากเท่าไร ประเทศไทยก็จะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น"

"ในมุมของซีพีเอฟไม่เฉพาะแต่คนที่ด้อยโอกาสเท่านั้นที่ต้องการการเติมเต็ม แต่สิ่งที่เราทำทุกวันเพื่อให้ธุรกิจแข็งแรง ความสุขก็เกิดในขณะที่ด้านเศรษฐกิจก็เติบโตได้ ฉะนั้นสิ่งที่ซีพีเอฟคำนึงตลอดเวลาว่าต้องมอง CSR คลุกเคล้าเข้าไปในธุรกิจ เพราะเชื่อว่าถ้าคุณทำธุรกิจที่ดีมันก็พิสูจน์แล้วว่าคุณเป็นคนดี"

ความเปลี่ยนแปลงที่จะถูกปรับโฟกัสให้เห็นชัดมากขึ้น คือ ความรับผิดชอบต่อสังคมภายนอก

"เราคงต้องมีต้นไม้ CSR สักต้น เพื่อทำให้เห็นถึงการพัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคมภายนอก โดยเอาพลังซีพีเอฟประจำวันไปทำในส่วนที่นอกงานปกติมากขึ้น สิ่งที่เราเน้นชัดเจนมากคงจะเป็นเรื่องเกษตรสู่อาหาร ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจขององค์กร"

"อภัยชนม์" ขยายความถึงเรื่องนี้ว่า วันนี้ยังมีเรื่องเกษตกรและอาหารอีกหลายแขนงที่คนต้องทำความรู้ความเข้าใจ ฉะนั้นกระบวนการ CSR ต้องเป็นกระบวนการให้ความรู้เยาวชน โดยเราต้องการจะไปถึงจุดที่ว่าเด็กไทยทุกคนต้องรู้ว่าประโยชน์ที่แท้จริงจากไข่ทุกฟองคืออะไร รวมไปถึงการทำเรื่องเกษตรอาหารกลางวัน การส่งเสริมอาชีพ รวมไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชุมชนที่ทำอยู่แล้วเพื่อทำให้ดียิ่งขึ้น"

จากต้นทางของรากวิธีคิดในการทำธุรกิจของ "เครือ ซี.พี." ที่ปลายทางของ "ซีพีเอฟ" "วันหนึ่งเราอยากเห็นเกษตรกรมาถือหุ้นซีพีเอฟ และทุกเวลาผมต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ถือหุ้นได้ประโยชน์ ต้องตอบผู้ถือหุ้นให้ได้ นี่คือจิตสำนึกของ CSR ที่เราคิดทุกวัน หรือจะเรียกทุกวินาทีก็ว่าได้" อภัยชนม์กล่าวในที่สุด

ที่มา
ประชาชาติธุรกิจ 2008-07-07
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat.php?sectionid=0221&select_date=2008-07-07&status=&show=