วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2551

ป่าใต้น้ำ "นวัตกรรม" อนุรักษ์ปะการังของ "วีนิไทย"



จาก ความคิดของเด็กๆ และครูจากโรงเรียนพลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ที่ "ประสาน แสงไพบูลย์" พยายามผลักดันให้เด็กเรียนรู้จากการแก้ไขปัญหาจริง ปะการังที่ถูกทำลายจำนวนมากในพื้นที่แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี กลายเป็นที่มาของกิจกรรมในการทดลองเพาะเลี้ยงปะการังเพื่อเติมเต็มสิ่งที่ กำลังขาดหายไปในธรรมชาติ และค้นพบว่าท่อ พีวีซีเป็นวัสดุที่ดีที่สุดที่สามารถนำมาเพาะเลี้ยงปะการังจริง และสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติ แต่ในวันนั้นด้วยข้อจำกัดในแง่ งบประมาณทำให้กิจกรรมที่ว่าไม่สามารถขยายผลได้เท่าไหร่นัก

แต่ทันที ที่ข่าวการค้นพบถูกเผยแพร่ผ่านสื่อและปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ ทำให้ ผู้บริหาร บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทผลิตผงพีวีซี สนใจและเริ่มต้นในการเข้ามาสนับสนุน และกลายเป็นที่มาของการตั้งมูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ โดยมี "ประสาน" เป็นประธานมูลนิธิ

"เพราะผมไม่อยากให้ความรู้อยู่ที่ ผมคนเดียว การมีมูลนิธิจะทำให้การอนุรักษ์และฟื้นฟูปะการังนั้นสามารถดำเนินต่อไปได้ อย่างยั่งยืน" ประสานกล่าว

แม้ว่าในปี 2547 หลังจากเริ่มก่อตั้งมูลนิธิและทำงานในพื้นที่จะได้รับแรงต้านจากชุมชนด้วย ความไม่เข้าใจถึงสิ่งที่พวกเขากำลังทำ แต่เมื่อเริ่มให้ความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชน ทำให้ทุกวันนี้ชุมชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมดูแลทรัพยากรธรรมชาติ เพราะอย่างน้อย ชาวบ้านก็รู้ดีว่าทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพที่ดีนั้นจะส่ง ผลดีกลับมาที่ชุมชน ทั้งกับอาชีพประมงที่เป็นอาชีพหลัก รวมไปถึงการท่องเที่ยว

จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 5 ปี ในการลองผิดลองถูก ผ่านการเรียนรู้ จนทำให้มูลนิธิสามารถหาวิธีการในการดำเนินการปลูกปะการังเขากวางในท่อพีวีซี ได้อย่างมีประสิทธิผล และกลายมาเป็นจุดตั้งต้นของการทำโครงการวีนิไทยร่วมใจปลูกปะการัง 80,000 กิ่ง ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญ พระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา โดยนำนวัตกรรมที่ได้มาปลูกปะการังกว่า 80,000 กิ่ง ในระยะเวลา 5 ปีนับจากนี้

โดยไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯเสด็จฯเป็นองค์ประธานในการเปิดโครงการและปลูก ปะการัง กิ่งแรก เลขที่ 00001 ที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

มร.กุนเธอร์ นาโดนี กรรมการผู้จัดการ บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "หลายปีที่ผ่านมาเราสามารถปลูกปะการังไปได้กว่า 10,000 กิ่ง จากนี้เราจึงต้องการขยายโครงการให้ได้อีก 80,000 กิ่ง ในพื้นที่เกาะเสม็ด จ.ระยอง เกาะหวาย จ.ตราด เกาะทะลุ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ ที่เราให้การสนับสนุนการทดลองปลูกปะการังนี้มาตลอด เพราะเรามองว่าในฐานะที่บริษัททำผงพีวีซี และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การดำเนินการผลิต จนถึงการร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ทำงานร่วมกับชุมชน เราจึงสนใจกับการทดลองปลูกปะการังในท่อพีวีซี โดยเริ่มตั้งแต่การทำวิจัย จนประสบความสำเร็จและกลายเป็นที่มาของโครงการนี้"

อย่างไรก็ตามในมุมมองของเขามองว่า ผลจากการดำเนินโครงการที่เกิดขึ้นจะสำเร็จไม่ได้เลยถ้าไม่ให้ชุมชนเข้ามามี ส่วนร่วม

" แม้เราจะสนับสนุนเงินและมีมูลนิธิที่ทำในเรื่องวิจัย แต่การลงไปดูแลในแต่ละพื้นที่ ตามเกาะต่างๆ ที่เราไปปลูก เราอาจจะไม่มีกำลังไปดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ต้องอาศัยชุมชนเป็นผู้ดูแล จึงจะเห็นว่าสิ่งที่เราพยายามสร้างคือการดึงชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมกับเรา ทั้งภาครัฐ เอกชน โรงเรียน และผู้นำชุมชน เขาเริ่มต้นเข้ามาช่วยตั้งแต่เรื่องการปลูก เราเชื่อว่าถ้าทำแบบนี้ทุกคนก็จะรู้สึกมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากร ธรรมชาติ"

งานนี้ไม่ได้จบลงเพียงแค่การปลูกปะการัง แต่ภารกิจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลยังคงทำ ต่อไป ภายใต้การทำงานของมูลนิธิ โดยบริษัทกำลังให้ความสนใจที่จะสนับสนุนให้ทำงานวิจัยทดลองปลูกปะการังชนิด อื่นเพิ่มขึ้นด้วย

นี่เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เชื่อมโยงขีดความสามารถ หลักของธุรกิจ โดยเข้าไปเติมเต็มกิจกรรมเล็กๆ ที่ถูกคิดค้นโดยคนในพื้นที่ ให้สามารถก่อร่างสร้างตัว และจะอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 8 กันยายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03080951&day=2008-09-08&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: