วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ประเทศในสมาคมอาเซียนกับ CSR


โดย ดร.อัศวิน จินตกานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส มูลนิธิอนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทย

คน เป็นจำนวนมากสงสัยกันว่าในภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำเช่นนี้ CSR จะได้รับการกระทบกระเทือนอย่างไร งาน CSR เพิ่งที่จะเริ่ม มันจะต้องมาหยุดกลางคันหรือไม่ และงาน CSR ในประเทศในสมาคมอาเซียนจะถูกกระทบอย่างไร ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ได้เราจะต้องศึกษาลักษณะของประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน เสียก่อน

ลักษณะของประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน

สมาคมอา เซียนมีสมาชิกทั้งสิ้น 10 ประเทศ มีประชากรทั้งสิ้น 560 ล้านคน และมีรายได้ประชาชาติรวมทั้งสิ้น 1,100 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำการค้าขายระหว่างกันปีละประมาณ 1,400 พันล้านเหรียญสหรัฐ นับว่าเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีพลังการซื้อและการทำการค้าระหว่างกันที่สำคัญ ที่สุดกลุ่มหนึ่ง

สมาชิกอาเซียน มีความแตกต่างกันในหลายๆ ด้าน ประเทศที่ใหญ่ที่สุด ใหญ่กว่าประเทศที่เล็กที่สุดถึง 2,700 เท่า ในแง่ของประชากรประเทศที่ใหญ่ที่สุด (อินโดนีเซีย) มีประชากรมากกว่าประเทศที่มีประชากรน้อยที่สุด (บรูไน ดารุสซาลาม) 580 เท่า และในแง่ของความร่ำรวย ประเทศที่ร่ำรวยที่สุด (ในแง่ของรายได้ประชาชาติ/พลเมือง 1 คน บรูไน ดารุสซาลาม) ร่ำรวยกว่าประเทศที่ยากจนที่สุดถึง 145 เท่า ระดับการพัฒนาของ CSR และความต้องการของชุมชนในแต่ละประเทศก็ต่างกันโดยมีสิงคโปร์นำตามด้วยประเทศ มาเลเซียและประเทศไทย

ประเทศทั้ง 10 ต้องการสร้างตลาดให้กับสมาชิกอาเซียนเพื่อป้องกันภัยจากเศรษฐกิจที่เกิดจาก ตลาดหดตัวของตลาดส่งออก นอกจากนี้ในยามปกติอาเซียนต้องการค้าขายกับประชาคมยุโรปและสหรัฐอเมริกาซึ่ง มีกฎเกณฑ์มากมาย สมาชิกจึงจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมตัวเพื่อให้มีมาตรฐานการปฏิบัติที่เป็น ที่ยอมรับในประชาคมยุโรปและในสหรัฐอเมริกา มาตรการที่จะต้องปรับปรุงมี 7 ประการด้วยกัน คือ 1) มีการบริหารจัดการองค์กรที่ดี 2) ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน 3) ปฏิบัติต่อผู้ใช้แรงงานอย่างเป็นธรรม 4) การใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์พลังงาน 5) ดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค 6) ไม่โกงหรือละเมิด ลิขสิทธิผู้อื่น 7) ร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม



CSR ในสมาคมอาเซียน

ระดับ การพัฒนาของ CSR ในแต่ละประเทศต่างกันมาก เช่น ภาคธุรกิจเอกชนในประเทศกัมพูชา ลาว เวียดนาม และพม่า ถูกควบคุมโดยกลไกของรัฐ ภาคธุรกิจดังกล่าวยังเล็กและยังไม่สามารถให้การสนับสนุนกิจกรรม CSR ได้ ประกอบกับความเข้าใจในกิจกรรม CSR ยังไม่ดีนัก ในปัจจุบันบริษัทข้ามชาติได้เข้าไปทำกิจกรรม CSR แต่ก็ยังไม่ได้รับความไว้วางใจอย่างเต็มที่* ตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะนำมาเล่าให้ฟัง คือ เมื่อปี 2547 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระกระแสรับสั่งให้ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เข้าไปช่วยทำ CSR ในประเทศกัมพูชา ADB ได้ขอให้สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนรับเป็นที่ปรึกษาโครงการและเกิดโครงการ CBIRD ขึ้นในกัมพูชา**

ประเทศฟิลิปปินส์มีปัญหาอีกลักษณะหนึ่ง แม้ว่าจะเริ่มมี CSR เมื่อปี 2493 แต่การที่รัฐบาลไม่สามารถสร้างโครงการวางแผนครอบครัวได้ ทำให้ประเทศฟิลิปปินส์ยังอยู่ในสภาพยากจน เมื่อปี 2513 รายได้ประชาชาติ/คน และพลเมืองของประเทศฟิลิปปินส์กับประเทศไทยเท่ากันพอดี ปัจจุบันรายได้ประชาชาติ/คนของประเทศไทยเป็น 3 เท่าของประเทศฟิลิปปินส์มีพลเมือง 87.1 ล้านคนในขณะที่พลเมืองประเทศไทยมีแค่ 62.8 ล้านคน แม้ว่า NGO ในประเทศฟิลิปปินส์จะมีมากและเข้มแข็งแต่ CSR ยังต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก ประเทศอินโดนีเซียก็อยู่ในสภาพคล้ายกันแต่ความก้าวหน้าด้าน CSR ของอินโดนีเซียก็ไปได้ดี



ผลกระทบของสภาวะเศรษฐกิจต่อ CSR

ผล กระทบต่อ CSR ขึ้นอยู่กับประเภทของ CSR และการหาทุนขององค์กร NGOCSR ที่อยู่ในลักษณะของการบริจาคหรือทำทาน (philanthropy) จะได้รับผลกระทบกระเทือนค่อนข้างมากเนื่องจาก รายได้ขององค์กรและบริษัทลดลงมาก บางกิจการถึงกับขาดทุนทำให้ผู้ถือหุ้นต้องการลดกิจกรรม CSR ลง

CSR ประเภทที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ (ระยะยาว) ขององค์กรโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรใหญ่ๆ ที่ตั้งมูลนิธิขึ้นมาเพื่อทำ CSR โดยเฉพาะ จะไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนมาก เช่น มูลนิธิ Mitsubishi หรือมูลนิธิ Bill and Melinda Gates เป็นต้น เพราะมูลนิธิเหล่านี้มีการวางแผนระยะยาว

CSR ที่ฝังตัวอยู่ในธุรกิจขององค์กรจะ ไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนมาก เช่น บริษัทโคคา-โคลา มีแผนที่จะพัฒนาแหล่งน้ำที่ดีซึ่งเกี่ยวกับธุรกิจหลักของเขาโดยตรง โคคา-โคลาจะเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำอย่างแน่นอน

CSR ในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การอนุรักษ์พลังงาน การพัฒนาพลังงานทางเลือกหรือการพัฒนากลไกที่สะอาดจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และตรงกันข้ามอาจมีกิจกรรมเพิ่มขึ้นเนื่องจากประชาคมยุโรปเล็งเห็นอันตราย จากภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน

CSR ประเภทธรรมาภิบาลหรือการบริหารกิจการที่โปร่งใส ยุติธรรมต่อลูกค้า ลดการโกงและการละเมิดลิขสิทธิ์ จะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นหากธุรกิจนั้นต้องการที่จะอยู่ต่อไปในระยะยาว

บทสรุป

องค์กร NGO ในประเทศสมาชิกอาเซียนควรใช้เวลานี้ช่วยกันเสริมความแข็งแกร่งของ CSR นำความรู้และประสบการณ์ที่แต่ละองค์กรมาแลกเปลี่ยนกันและสนับสนุนกันในการ พัฒนาที่ยั่งยืน

การสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ (CSR) ในประเทศกลุ่มอาเซียนระยะนี้ (ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ เราน่าจะเน้น 4 ด้านด้วยกัน คือ 1) การสร้างความเข้าใจว่าความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจคืออะไร เป็นการสร้างภาพลักษณ์หรือน่าจะมีอะไรมากกว่านั้น 2) การฝึกอบรมพนักงานในองค์กรให้เข้าใจ มีความสามารถและมีความรักในการทำกิจกรรม CSR 3) การจูงใจให้ธุรกิจเล็กหรือใหญ่ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม 4) และอย่าให้ธุรกิจลืมว่าการบริหารงานด้วยความยุติธรรมและด้วยความโปร่งใสเป็น พื้นฐานของการรับผิดชอบต่อสังคม

อ้างอิง

* ข้อมูลจาก CSR International

** President Chino ADB (ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว)

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr04020352&day=2009-03-02&sectionid=0221


ไม่มีความคิดเห็น: