วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

CSR มาตรฐานที่ล้านแปด


โดย อนันตชัย ยูรประถม

Q : ตอนนี้มีมาตรฐาน CSR ใหม่ๆ เต็มไปหมด ธุรกิจควรจะทำอย่างไรดี

ยิ่ง ใกล้เวลาที่ ISO 26000 จะมา หลายๆ องค์กรก็พากันแตกตื่นกันเป็นแถว ตอนนี้ใครๆ ก็เลยเป็นโรค ISO-phobia กันเป็นแถวๆ ตามมาด้วยข้อสงสัยว่าจะรับมืออย่างไรดี กับแนวทางและมาตรฐานต่างๆ ที่กำลังจะทะลักทลายเข้ามา ทั้ง ISO 26000 เอย GRI เอย ยังจะมี UN Global Compact อีก...ไหนจะ OECD Guideline สำหรับ MNE แถมพนักงานก็เริ่มออกอาการล้าๆ บางองค์กรถึงกับบอกว่า ถ้าต้องทำ ISO 26000 อีกตัว รวมกันก็จะล้านแล้วครับพี่น้อง...เอาไงล่ะทีนี้

ผมว่าเราคง ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานต่างๆ ที่กำลังกระหน่ำ เข้ามาหาเราในขณะนี้ เพราะถ้าว่ากันคร่าวๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 300 มาตรฐาน นะครับ ที่เกี่ยวข้องกับ CSR และ SD ถ้าองค์กรทำตัวเป็นนักล่ามาตรฐานก็คงไม่ต้องทำอะไรกันแล้วครับ ปีละมาตรฐาน คิดเอาเองแล้วกัน คำแนะนำที่ให้ไว้ก็คือ อันดับแรก ควรทำความเข้าใจกับแนวปฏิบัติและมาตรฐานต่างๆ ก่อนว่าเป็นอย่างไร อันไหนที่เกี่ยวข้องกับเรา เช่น เกี่ยวข้องกับประเภทธุรกิจของเรา เหมือนที่ SCG เลือกแนวปฏิบัติ CSI หรือ Cement Sustainability Initiative จาก WBCSD เป็นหนึ่งในหลายๆ แนวทาง ไม่ต้องบอกก็รู้นะครับ เพราะอะไร ก็เขามีธุรกิจซีเมนต์อยู่ด้วย หรือเกี่ยวข้องในฐานะที่ชุดมาตรฐานเหล่านี้มีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับเรา โดยปกติเวลาที่องค์กรรับมาตรฐานต่างๆ ความสนใจจะพุ่งไปที่ประเด็นมุ่งเน้น

เช่น ถ้าของ ISO 26000 ก็ว่ากันที่ core subjects ทั้ง 7 ถ้า UN GC ก็ว่ากันที่ 4 หมวด 10 indicators กันอย่างเดียว เรียกว่าทำตามกันเป็นข้อๆ ไม่ใช่ไม่ดีครับ แต่ชุดมาตรฐานเหล่านี้มีอะไรมากกว่าที่เราเห็นมากครับ โห...ถ้าเขามีแค่ประเด็นต่างๆ เท่านั้น ก็คงไม่ต้องว่ากันเป็นปีๆ มั้ง วันนี้คิด พรุ่งนี้ก็ออกกันแล้วหละครับ คำแนะนำที่ให้ไปก็คือ ควรศึกษา

ถึง รายละเอียดอื่นๆ ด้วย เพราะชุดมาตรฐานเหล่านี้สามารถเป็นทั้งแนวทางและเครื่องมือให้องค์กรสำหรับ การปฏิบัติด้าน CSR ได้เป็นอย่างดี อย่าง 26000 นี่มีทั้งความหมายของประเด็นต่างๆ แนวปฏิบัติต่างๆ เรียกว่าครบชุดเลยทีเดียวครับ อันนี้คือประโยชน์ที่สำคัญของชุดมาตรฐาน อย่าไปมองแค่อะไรที่เป็นข้อๆ เท่านั้น

ประเด็นที่ 2 ที่ฝากไว้ก็คือ การปรับตัวขององค์กร จริงๆ แล้วถ้าเราทำความเข้าใจกับชุดมาตรฐานอย่างจริงจัง ไม่ใช่เอาแค่เป็นข้อๆ มาเท่านั้น เราก็จะพบวิธีการที่ดีอยู่แล้ว แต่ทีนี้บางองค์กรที่มาคุยกันบอกว่า อาจจะต้องใช้มากกว่า 1 มาตรฐาน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ แม้ว่าแนวทางของมาตรฐานของแต่ละชุดจะมีความสอดคล้องกัน แต่ก็ยังคงมีประเด็นมุ่งเน้นที่แตกต่างกัน เพราะชุดมาตรฐานโดยทั่วไปเราสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ ได้คือ ถ้าเอาที่เนื้อหาก็จะเป็นพวกที่มุ่งเน้น performance หรือผล โดยตั้งเป้าหมายให้องค์กรบรรลุถึงเป้าหมายทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ไม่สนวิธีการที่องค์กรจะใช้ กับอีกพวกที่มุ่งเน้นกระบวนการ หรือ process อันนี้จะมีขั้นตอนให้เดินตาม เรียกว่ามุ่งเน้นให้องค์กรปรับแนวทางการปฏิบัติแล้วเชื่อว่าผลก็จะตามมาเอง อย่างไรก็ตามปัญหาก็คือ เวลาต้องรับเอาชุดเหล่านี้เข้ามา พนักงานเหนื่อยครับ ประมาณอันเก่ายังไม่ทันเสร็จ อันใหม่มาอีกแล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เลยแนะนำให้องค์กรหาเครื่องมือหรือแนวปฏิบัติที่เป็น กลาง สอดคล้องกับกลยุทธ์องค์กรและเปิดรับได้ทุกมาตรฐาน เรียกว่าเป็นตัวแปลงอยู่ตรงกลาง ทีนี้พอมาตรฐานมาก็จับใส่ตัวแปลง อันไหนใหม่ก็เพิ่ม อันไหนซ้ำก็พัฒนาให้ดีขึ้น ทีนี้องค์กรก็ไม่รู้สึกว่าต้องรับอะไรใหม่อยู่เรื่อยนอกจากครั้งแรก แต่เป็นการปรับปรุงประจำปีครับ...ทีนี้ก็เลยเนียนไปเลย เรียกว่าให้ได้มาตรฐาน แถมยังได้ใจพนักงานไปด้วย


ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr02230352&day=2009-03-23&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: