วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

4 C ที่มากกว่า CSR



โดย สุกิจ อุทินทุ

การ พัฒนาแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร หรือซีเอสอาร์ (Corporate Social Responsibility : CSR) ในเมืองไทยเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้นล้ำหน้าไปอย่างรวดเร็วและขยายวงกว้าง ไปมากกว่าแค่ภาคเอกชน C ใน CSR จึงไม่ได้ตกอยู่ในมือของเอกชนอีกต่อไป หากแต่มีความเคลื่อนไหวส่งต่อความรับผิดชอบทางสังคมไปสู่แวดวงอื่นๆ

1.City Social Responsibility

ไม่ ว่า C ตัวแรกของ CSR จะเป็น corporate หรือ city ก็มีความคล้ายกันอยู่มากกับการบริหารเมืองนั้น ยกตัวอย่างเช่น กรุงเทพมหานครจะต้องบริหารงานอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาล ตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย และที่สำคัญที่สุดจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุด 3 ประการ (Triple Bottom Lines) คือเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ส่วนข้าราชการเองก็จะต้องปลูกฝังเรื่องจิตอาสาและการบริการที่สร้างความพึง พอใจสูงสุดให้กับลูกค้า ซึ่งในกรณีนี้ก็คือประชาชนนั่นเอง

ปัจจุบัน นี้ เมืองสำคัญๆ ของโลกได้หยิบยกเรื่องเมืองที่ยั่งยืน (sustainable city) มาเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ทั้งนี้ได้มีการสร้างเครือข่ายและลงนามร่วมกันที่จะพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนให้ ไปในทิศทางเดียวกัน แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้ร่วมลงนามและได้กำหนดวาระเมืองที่น่าอยู่อย่าง ยั่งยืนเป็นวิสัยทัศน์ในแผนพัฒนาเมืองใน 12 ปีข้างหน้า

ดังนั้น การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนจึงสามารถประยุกต์หลักการ CSR จากภาคธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมถึงจะต้องพัฒนา สังคมรอบข้างให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และที่สำคัญที่สุดก็คือการกำหนดตัวชี้วัดและทำรายงานความ ยั่งยืน ผลของตัวชี้วัดโดยรวมนั้นย่อมมาจากตัวชี้วัดของภาคส่วนย่อยๆ ต่างๆ อาทิ ภาคธุรกิจ ภาคราชการ ภาคประชาชน ดังนั้นถ้าเมืองสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เชิญชวนให้พวกเขาเหล่านั้นมาเป็นผู้ที่เป็นเจ้าของเรื่องและต้องรับผิดชอบ ร่วมกัน มีการกำหนดเป้าหมายร่วม เช่น การลดขยะและมลพิษ การลดการใช้พลังงาน การบริหารจัดการน้ำ การปลูกต้นไม้เพิ่มอย่างมีระบบ การช่วยเหลือผู้ยากไร้และ ด้อยโอกาส การร่วมพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเยาวชน เป็นต้น ผ่านการสร้างกิจกรรมทางสังคม สร้างแรงจูงใจจากระบบภาษี หรือรางวัลจากการชมเชย และตั้งใจให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครตัวอย่างของความยั่งยืนที่ดีกว่ามหานคร ใดๆ ในเอเชีย หรือในโลกนี้อย่างจริงจัง หลังจากที่กรุงเทพฯได้มีการนำซีเอสอาร์มาประยุกต์ใช้เป็นครั้งแรกในการวาง แผนนโยบาย และได้แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ

2.Country Social Responsibility

ไม่ เพียงในระดับเมืองมีความเคลื่อนไหว ที่ผ่านมา เครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนซีเอสอาร์ได้รวมตัวกันและผลักดันให้ ซีเอสอาร์เป็นแนวทางหลักในการขับเคลื่อนประเทศให้มั่นคง โดยเสนอให้รัฐบาลได้พิจารณาแนวทางสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยใช้ คุณธรรมนำการพัฒนาประเทศไทย ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง และปลูกฝังความรับผิดชอบต่อสังคมในทุกระดับ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา ทั้งนี้ ซีเอสอาร์จึงถูกยกระดับอีกครั้งเป็น Country social responsibility ซึ่งน่าจะเป็นแนวโน้มใหม่ของนโยบายของรัฐบาลในอนาคต แต่ทั้งนี้การทำงานในภาพใหญ่จะสำเร็จได้ต้องมองย้อนกลับไปที่รากฐานคือเด็ก และเยาวชน ซึ่งเป็น C ตัวที่ 3 ที่เรากำลังจะพูดถึงต่อไป

3.Children Social Responsibility

มี หลายครั้งที่นักธุรกิจเพื่อสังคมที่เป็นเจ้าของกิจการและผู้บริหารระดับสูง ของบริษัทที่มีประสบการณ์การทำซีเอสอาร์มาอย่างโชกโชนพูดคุยกันว่า อะไรคืออุปสรรคสำคัญที่เราพบเกี่ยวกับการทำซีเอสอาร์ ผู้บริหารหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า วิถีชีวิตและทัศนคติของผู้บริหารและ พนักงานที่ไม่ได้ถูกสร้างมาตั้งแต่แรก ตั้งแต่สถานศึกษา พวกเขาถูกระบบการศึกษาบังคับให้แข่งขันกันทำคะแนนให้ดีที่สุด วัดความสำเร็จจากเกรดที่ได้ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับกิจกรรมทางสังคม การเป็นอาสาสมัคร หรือการให้บริการชุมชนเลย

ในการประชุมวิชาการที่ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกชื่องาน USR หรือ University Social Responsibility ซึ่งประเทศไทยอาสาเป็นเจ้าภาพซึ่งจัดขึ้นในไทยไม่นานมานี้ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำจากทั่วโลกมีความคิดเห็นในทิศทางเดียวกันหมดว่า ระบบการศึกษาของโลกต้องการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ โดยไม่เพียงเน้นทักษะทางวิชาการ แต่ต้องบวกความ รับผิดชอบทางสังคม (CSR) การสร้างคนดีเข้าสู่ตลาดแรงงานจะต้องเน้นที่ระดับมหาวิทยาลัย จากนั้นลงไปถึงระดับมัธยม ประถม อนุบาล และเด็กๆ ก่อนวัยเรียน

หาก เด็กๆ ได้รับการอบรมด้านความดีงาม จิตอาสา จิตสาธารณะ และความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบตั้งแต่เด็ก เมื่อนิสิต นักศึกษาเหล่านี้จบออกมา พวกเขาจะมองหางานในบริษัท ที่ให้โอกาสพวกเขาทำงานที่ดีและสามารถทำงานอาสาสมัครต่างๆ ได้ บริษัทที่ให้ความสำคัญต่อซีเอสอาร์แค่เพียงมีบุคลากรเหล่านี้เพิ่มขึ้นร้อย ละ 10-20 กิจกรรมซีเอสอาร์ของบริษัทก็จะขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ความ วุ่นวายทางธุรกิจที่เกิดขึ้นทุกวันนี้เกิดจากบางสิ่งบางอย่างที่หายไปจากคน รุ่นใหม่ การยกระดับ CSR ให้แข็งแรงด้วยรากฐานของอีกหนึ่ง C นั่นคือ Children social responsibility

4.Communications Social Responsibility

นอก จากนี้การจะสร้างวัฒนธรรมใหม่สังคมใหม่ที่ทุกคนมีหน้าที่และความรับผิดชอบ สูงนั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือสื่อสาธารณะที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงความคิดของ ผู้ชม ผู้ฟัง ดังนั้นสิ่งสำคัญมากอีกเรื่องหนึ่งก็คือ Communications social responsibility

ดังนั้น C ใน CSR ยุคนี้จึงไม่ใช่เพียง corporate แต่ขยายวงสู่ City country children และ communications ที่หากทั้งหมดสามารถเชื่อมโยงกัน จะสามารถขยายผลยกระดับความรับผิดชอบไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต !!

เนื้อหา ทั้งหมด เรียบเรียงมาจากบทความ 4 เรื่องของ "สุกิจ อุทินทุ" รองประธานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ไมเนอร์ กรุ๊ป และที่ปรึกษาองค์การแพลนประเทศไทย เขาไม่เพียงติดตามความเคลื่อนไหวเรื่อง CSR ของไทยในระดับใกล้ชิด เขายังเป็นคนหนึ่งที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญ ของ CSR ในระดับนโยบายอยู่อย่างสม่ำเสมอ


ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr04110552&day=2009-05-11&sectionid=0221



ไม่มีความคิดเห็น: