วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

CSR ที่ "อำพลฟูดส์" วันนี้แค่ "ใจ" อาจไม่พอ !!

CSR ที่ "อำพลฟูดส์" วันนี้แค่ "ใจ" อาจไม่พอ !!


การ ตัดสินใจเทงบประมาณเฉียด 40 ล้านบาท ในการเปิดตัวแคมเปญใหม่โครงการ CSR "กล่องวิเศษ" ของ "อำพลฟูดส์" เจ้าของแบรนด์ "กะทิชาวเกาะ" ต้นตำรับกะทิสำเร็จรูป ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ถือว่าไม่ธรรมดาอย่างยิ่ง โดยการตัดสินใจลงทุนโรงงานรีไซเคิลกล่องยูเอชทีเพื่อทำคลิปบอร์ด ซึ่งจะกลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของโต๊ะ เก้าอี้ ที่จะนำไปบริจาคให้กับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ด้วยงบประมาณ 3-4 ล้านบาท พร้อมด้วยงบประมาณในการประชาสัมพันธ์อีกกว่า 30 ล้านบาท (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบ)

"มีคนบอกว่า ถ้าเราต้องลงทุนมากขนาดนี้สู้เราเอางบประมาณไปซื้อโต๊ะเก้าอี้ใหม่ให้กับ เด็กๆ เลยจะดีกว่ามั้ย" เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อำพลฟูดส์ กล่าวยิ้มๆ เมื่อเขาเล่าถึงโครงการ CSR ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานมานี้

สำหรับเขาคำตอบคือ "ไม่" !!

อาจ เพราะการก่อเกิดของโครงการให้ความสำคัญกับเรื่องราว "ระหว่างทาง" เท่าๆ กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปลายทาง เพราะแม้ผลลัพธ์จะเหมือนกันในการที่เด็กๆ ในโรงเรียนห่างไกลจะมีชุดโต๊ะเก้าอี้ใหม่ใช้และเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริม การศึกษาของเด็ก แต่ระหว่างทางของสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่าง "การให้" เพียงอย่างเดียวกับ การเลือกทำ "โครงการกล่องวิเศษ" นั้นแตกต่างกัน

" เป็นเพราะโครงการนี้เราต้องการรณรงค์ให้แม่บ้าน ประชาชนทั่วไป ลดการใช้บรรจุภัณฑ์และรู้จักนำกลับมาใช้ใหม่ เราต้องการรณรงค์เพื่อจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และมองว่าคุ้มค่ากับเงินที่จ่าย แม้ในปีแรกของโครงการจะตั้งเป้าเพียง 10% ของกล่องที่ได้รับกลับมาโดยเทียบเคียงกับแคมเปญการชิงโชคอื่นๆ ที่เราเคยทำ และเชื่อว่าใน ปีต่อๆ ไปจะยิ่งมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น"

ความร่วมมือ (engagement) จึงกลายเป็นจุดสัมฤทธิ์ของโครงการนี้ และถือเป็นโครงการนำร่องของ "อำพลฟูดส์" ในการเดินตามยุทธศาสตร์ด้านความรับผิด ชอบต่อสังคม ที่กำลังเตรียมคลอดออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งการมีส่วนร่วมนี่เองที่จะเป็นจุดวัดและประเมินผลไม่ใช่ที่ยอดขายหรือราย ได้ที่เพิ่มขึ้น

"การสร้างการมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบต่อสังคม" ถือเป็น 1 ใน 3 ยุทธศาสตร์ CSR ขณะที่อีก 2 ยุทธศาสตร์เป็นเรื่องของ "การให้" (give back) และการเติมเต็มความสุขด้วยพลังอาสาสมัครพนักงานในองค์กร ซึ่งทั้ง 2 ยุทธศาสตร์หลังที่ผ่านมามีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

"ภายใต้การทำ CSR ให้เป็นระบบขึ้น จากเดิมที่เราทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือบริจาคอะไร เราก็กลับมาดูในสิ่งที่เป็นเรามากขึ้น อย่างในยุทธศาสตร์การให้ เราก็พยายามให้สิ่งที่เป็นเรา อย่างการมอบอาหารคุณภาพดีที่เราผลิต เพื่อให้คนด้อยโอกาสในสังคมสามารถเข้าถึงด้วย ไม่ใช่เราทำสินค้าคุณภาพเพื่อขายเท่านั้น" เกรียงศักดิ์กล่าว

ยกระดับ CSR องค์กร

จะ ว่าไป "อำพลฟูดส์" อาจจะไม่แตกต่างอะไรกับองค์กรสัญชาติไทยส่วนใหญ่ที่มีรากฐานและจิตสำนึกแห่ง "การให้" มายาวนาน รวมถึงการดำเนินการในองค์กร ก่อนที่คำว่า CSR จะเดินทางมาถึง เพียงแต่ในบริบทโลกธุรกิจแบบใหม่ และบทเรียนที่ผ่านมา บอกกับเขาในฐานะผู้บริหารว่า ต้องหันมาทำเรื่องนี้ในองค์กรแบบเป็นจริง เป็นจังมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการแต่งตัว เตรียมรอมาตรฐานใหม่ว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 ซึ่งในขณะนี้กำลังเข้าร่วมโครงการ CSR-DIW ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมไปถึงการมองไปข้างหน้าของการรักษาความสามารถในการแข่งขันขององค์กร โดยเฉพาะการสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งการให้

บทเรียนหนึ่งเป็นตัวอย่าง เล็กๆ ที่เกิดจากการทำกิจกรรมอาสาสมัคร ในชื่อ "Volunteer Club" ที่เป็นสิ่งที่บอกว่า CSR จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวัฒนธรรมองค์กร

" บทเรียนจากการทำกิจกรรมสอนเราว่า บางทีกิจกรรมเล็กๆ อย่างการสร้างฝาย การไปเลี้ยงอาหารเด็กกำลังสร้างความรู้สึกอะไรบางอย่าง เป็นความรู้สึกของความภูมิใจ สร้างคุณค่าให้กับตัวเองและได้รู้จักการให้ที่ไม่ได้หวังอะไรกลับคืนมา"

" การสร้างความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นในใจเรื่อยๆ เมื่อเขากลับมาในองค์กร เขาก็ไม่ต้องมาถามว่า ทำสิ่งเหล่านี้ให้องค์กร แล้วเขาได้อะไร และผมเชื่อว่าจะทำให้การเปลี่ยนแปลงองค์กรในอนาคตทำได้ดีมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาความที่เป็นองค์กรที่ต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเรามักจะได้รับ คำถามจากพนักงานเสมอว่า ทำแล้วเขาได้อะไร ถ้าทุกคนก้าวข้ามความคิดแบบนั้นได้เราก็จะทำงานได้ง่ายขึ้น"

ลดความเสี่ยง-สร้างความแกร่งแบรนด์

จาก บทเรียนและการทอดสายตาที่ยาวไกลถึงความยั่งยืนในปลายทางขององค์กร เป็นอีกเหตุผลที่จำต้อง "ปรับเปลี่ยน" และนำเอาความรับผิดชอบเข้ามาใส่ในทุกจุด ตั้งแต่การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมที่มีเป้าหมาย Zero Waste ซึ่งยังมีหลายโครงการที่กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา อาทิ การสร้างบ่อก๊าซจากน้ำเสีย ที่จะกลับมาทำพลังงานทางเลือก

"ทุกวันนี้ ผมว่าเรื่องคุณภาพเป็นเรื่องที่ตามกันทัน เพราะว่าเทคโนโลยีวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็ว แต่เรื่องที่จะสามารถ แข่งขันกันได้ยากคือศักยภาพคนที่มีอยู่ในองค์กร ความเข้มแข็งของแบรนด์ ความสามารถในการแข่งขัน ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนต้องใช้เวลา"

"วันนี้แบรนด์เราเป็นที่รู้จัก แต่ในอนาคตข้างหน้าคนมีความรู้มากขึ้น การที่เราจะมาบอกว่า เราเป็นแบรนด์แรกที่เก่าแก่เริ่มหมดไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นคนเริ่มมองของใหม่ ปัจจุบันสินค้าก็เริ่มเป็นนิชมากขึ้น จะหวังแบบนั้นไม่ได้ แต่วันนี้สิ่งที่เรากำลังทำ CSR มันเป็นการเสริมแบรนด์ให้แข็งแรงขึ้นมากกว่า เรายังมองเรื่องความยั่งยืนอนาคตข้างหน้ามากกว่า ถ้าเราร่วมรับผิดชอบ ผมมองว่าวันหนึ่งคนไม่ได้ตัดสินใจเรื่องคุณภาพของสินค้าอย่างเดียว แต่เริ่มมองว่าแบรนด์นั้นๆ มีความรับผิดชอบหรือเปล่า เพราะสุดท้ายคุณภาพของสินค้า สิ่งที่เราคาดหวังกับการทำ CSR จึงไม่ได้เป็นยอดขาย รายได้ แต่เชื่อว่าการทำ CSR วันนี้อาจจะได้ผลในอีก 3-5 ปีข้างหน้า"

ในท้ายที่สุดเขาเชื่อว่า การจะจัดระบบระเบียบและการจะเคลื่อนขบวนความรับผิดชอบใดๆ ก็แล้วแต่ ย่อมต้องไม่ลืมหันกลับมาสู่จุดเริ่มต้นว่า "พนักงาน" ที่ทำงานในทุกวันมีความสุขหรือไม่ เพราะถ้าในบ้านยังไม่เรียบร้อย การก้าวไปแบ่งปันยังคนนอกบ้าน จะด้วยกลยุทธ์ใดๆ ก็ตาม การจะสร้างคุณค่าจากสิ่งที่ทำและจะสร้างความยั่งยืนคงเป็นเรื่องยาก !!


ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01110552&day=2009-05-11&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: