วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

"ค่ายรากแก้ว"

"ค่ายรากแก้ว" เชฟรอน จุดพลังนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่



" จากการทำค่ายอาสาในครั้งก่อน ในวันที่ต้องอำลา แววตามุ่งมั่นของน้องๆ ที่เราไปให้ความรู้ ทำให้ทราบว่าในความรู้สึกของเขา เราเป็นเหมือนฮีโร่ที่สร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาก้าวไปสู่สิ่งที่มุ่งหวังใน อนาคต คือการได้เรียนตามความฝันและพร้อมที่จะออกไปสู่โลกกว้างโดยมีพี่ๆ ที่พร้อมจะยืนอยู่ข้างๆ" ความรู้สึกของ ชารินี ศรีแสงอ่อน นิสิตจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานค่ายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ รากแก้ว ครั้งที่ 18 ในฐานะคนทำค่าย

เหมือน พันธสัญญาทางใจระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องที่นิสิตจากคณะต่างๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะต้องรวมตัวกันให้ได้ 2 ครั้งต่อปีการศึกษาเพื่อออกค่ายอาสาในชื่อ "ค่ายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ รากแก้ว" เปิดโอกาสให้แก่เด็กชั้นมัธยมปลายในต่างจังหวัดที่มีการหมุนเวียนไป ทุกปีได้สัมผัสกับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ด้วยการปฏิบัติ จริงเพื่อเพิ่มพูนพัฒนาทักษะด้านวิทย์- คณิต รวมถึงเกร็ดความรู้ต่างๆ ที่จะสร้างความพร้อมในการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา

ครั้งที่ 18 ของค่าย "วิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ รากแก้ว" จัดขึ้นที่โรงเรียนคุระบุรีชัยพัฒนาพิทยากร จังหวัดพังงา โดยมีผู้สนับสนุนหลักอย่างต่อเนื่องกว่า 5 ปี คือบริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด ในช่วงปิดเทอมมีตัวแทนนักเรียนจาก 13 โรงเรียนในจังหวัดพังงาเข้าร่วมกว่า 150 คน โดยการดูแลของนิสิตอาสาจากทั้งจุฬาฯและมหาวิทยาลัยอื่นๆ อย่าง ม.เกษตรศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และ ม.ศิลปากร 60 คน

ในช่วงเวลา 8 วันของกิจกรรมที่ดำเนินอยู่ในค่าย อาจไม่ต่างจากค่ายทั่วไปที่มีทั้งการละลายพฤติกรรม การให้ความรู้ทางวิชาการ และกิจกรรมสันทนาการ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือในรายละเอียดของแต่ละกิจกรรมได้ผ่านกระบวนการคิดมา แล้วอย่างดี รวมถึงระบบการจัดการที่ลงตัว จนไม่น่าเชื่อว่าเป็นความคิดของนักศึกษาที่ส่วนใหญ่อยู่ในชั้นปีที่ 1 และ 2 เท่านั้น

อย่างในส่วนเนื้อหาวิชาการที่มีทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ รุ่นพี่สื่อการสอน ด้วยการให้ปฏิบัติและทดลองจริงเพื่อความเข้าใจและการจดจำและใช้ช่องการสื่อ ทั้งการเรียนในห้องและกิจกรรมฐานเพื่อให้ไม่น่าเบื่อ โดยเพิ่มเติมทักษะทางวิทยาศาสตร์ทั้ง 13 ด้าน เช่น การสังเกต การตั้งสมมติฐาน การคำนวณ การทดลอง การตีความหมายข้อมูล และการสรุป ฯลฯ เข้าไปบูรณาการในเนื้อหาวิชาได้อย่างสนุกสนาน นอกจากนี้ยังมีวิชาเลือกที่ เพิ่มเติมอย่างภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น ภาษามือ ลีลาศ ฯลฯ รวมถึงสอนวิธีคำนวณคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีกด้วย

แม้จะใช้งบ ประมาณกว่า 3 แสนบาท ประโยชน์ที่ได้เกิดจากค่ายนี้คุ้มค่าเพราะผู้รับได้ความรู้ ส่วนผู้ให้ก็มีโอกาสได้ทำเรื่องจิตอาสา รู้จักการทำงานระหว่างผู้อื่น โดยแรงกำลังสำคัญที่ทำให้เกิดกิจกรรมได้ดียิ่งขึ้นคือการสนับสนุนจากภาค เอกชน เพราะปัญหาของคนทำค่ายส่วนใหญ่คือเงินทุน

"การมีเงินทุนทำ ให้ค่ายของเราโตขึ้น สามารถรับเด็กได้เพิ่มขึ้นและเดินทางไปในที่ห่างไกลกว่านี้ซึ่งมีเด็กด้อย โอกาส โครงการก็จะสร้างประโยชน์ได้ยิ่งขึ้น" ศศิลัดดา มีจังหาร คณะครุศาสตร์ ประธานค่ายอีกคนบอก

เมื่อความต้องการของผู้รับสอดรับ กับนโยบายของผู้ให้อย่างเชฟรอนที่มุ่งพัฒนาสังคมใน 4 ด้าน คือ การศึกษา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การรู้คุณค่าพลังงาน และการส่งเสริมให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม จึงให้การสนับสนุนเงินทุน 2 แสนบาท พร้อมส่ง พนักงานของบริษัทเข้าไปให้ความรู้แก่น้องๆ ในค่าย

หทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า "เนื่องจากเชฟรอนเป็นบริษัทพลังงาน จึงเห็นว่าทั้งคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มีความสำคัญกับการพัฒนาประเทศ จึงอยากผลักดันให้เด็กไทยหันมาสนใจ ในประเทศไทยมีค่ายที่เกี่ยวกับคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่ทำอย่างจริงจัง น้อยมาก โดยเฉพาะการเรียนรู้ในรูปแบบของ "พี่สอนน้อง" ซึ่งมองว่าจะได้ประโยชน์มากในเรื่องของความสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังมองถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศในภาพรวม โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งการศึกษาถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด"

ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณค่าที่สำคัญของ "เชฟรอน" ที่เชื่อมั่นในพลังคน !

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr05230352&day=2009-03-23&sectionid=0221



ไม่มีความคิดเห็น: