วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

คุยอะไรกันในเวที CSR ระดับโลก (1)

โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

ตั้งแต่ ปลายปี 2551 ถึงต้นปี 2552 มีเวที CSR ระดับโลกหลายรายการ ทั้งที่ในประเทศไทย อินเดีย และที่สิงคโปร์อีก 2 ครั้ง ผมได้รับเชิญเข้าร่วมทั้งหมด แต่มีโอกาสไปช่วยงานเป็นวิทยากรเพียง 2 ครั้ง เพราะถ้าขืนรับหมดสงสัยไม่ต้องทำมาหากินพอดี ! ผมปฏิบัติ CSR ในบริษัทของผม แต่ไม่ได้ทำอาชีพ CSR นะครับ

ทาง "ประชาชาติธุรกิจ" บอกให้ผมช่วยเขียนบทความมาคุยสรุปให้ฟังหน่อยว่า ในระดับโลกนั้นเขาพูดถึง CSR กันในแง่มุมใดบ้าง ผมจึงรับสนองนโยบายด้วยบทความนี้

การตีความ CSR

เรา มาเริ่มต้นที่เรื่องหลักการก่อนว่าเขาตีความ CSR อย่างไร อาจกล่าวได้ว่าเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า ลำพังการแจก การเป็น อาสาสมัคร การให้ ไม่ใช่สาระหลักของ CSR แต่เป็นในรูปแบบคุณหญิงคุณนาย ยุคใหม่ ความจริงแล้วถึงแม้การให้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของ CSR แต่ต้องประกอบด้วยการทำตามกฎหมายโดยเคร่งครัด และการปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณทางธุรกิจและทางวิชาชีพ เพื่อการคุ้มครองผู้ถือหุ้น ผู้บริโภค คู่ค้า ชุมชนและสังคม โดยรวม

องค์กร Transparency International-Malaysia เสนอให้ยึดหลัก UN Global Compact 10 ข้อ 4 ด้าน คือ ด้านการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน ด้านการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อแรงงาน ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ การเอาแต่ทำดีด้านสิ่งแวดล้อมเพียงด้านเดียวจึงไม่อาจถือได้ว่ามี CSR อย่างแท้จริง และอาจกลายเป็นบิดเบือน ทำดีเอาหน้าก็ได้

CSR กับมูลค่าทางธุรกิจ

CSR เริ่มกลายเป็นสิ่งที่สังคมตระหนักมากขึ้น ถือเป็นพลังของผู้บริโภคที่เริ่มกดดันให้วิสาหกิจต่างๆ ต้องมี CSR ที่จับต้องได้ ไม่ใช่แบบ "ลูบหน้าปะจมูก" วิสาหกิจต้องมีความโปร่งใสในการดำเนินงาน มีการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา มีความรับผิดชอบ CSR จึงถือเป็นภาระอันศักดิ์สิทธิ์ที่วิสาหกิจต้องมี ต้องทำ เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบ ไม่ใช่สมัครใจทำ เพราะแบบเป็น "ทิป" หรือแค่ "คืนกำไร" ให้ลูกค้า วิสาหกิจที่มี CSR จึงมีมูลค่าสูงกว่าวิสาหกิจที่ "ตีหัวเข้าบ้าน"

วารสาร Marketing Journal ฉบับเดือนพฤษภาคม 2550 กล่าวว่า ครึ่งหนึ่งของคนทำงานปฏิเสธที่จะทำงานกับบริษัทที่เขาไม่เชื่อถือ และราว 3 ใน 4 ของคนทำงานที่สุ่มตัวอย่างถามดูพบว่า พวกเขาอยากทำงานกับบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านจรรยาบรรณหรือคุณธรรมมากกว่าจะ พิจารณาในแง่รายได้ ดังนั้นวิสาหกิจที่มี CSR จึงมีมูลค่าทางธุรกิจที่แน่นอน

ในเชิงธุรกิจบริษัทที่มีชื่อเสียงอาจ ใช้เงินถึง 10% ของรายได้ต่อปีเพื่อการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้ายอมรับและเชื่อถือใน คุณภาพ และนี่ก็คือ CSR ที่แท้ ในทางตรงกันข้ามมีธนาคารขนาดใหญ่ของสกอตแลนด์ต้องเข้ารับการฟื้นฟูจนกลาย สถานะเป็นธนาคารของรัฐไปเมื่อต้นปีมานี้เอง แม้ก่อนหน้านี้ธนาคารดังกล่าวจะป่าวประกาศว่า ตนเอง "เจ๋ง" อย่างนั้นอย่างนี้ มุ่งอำนวยสินเชื่อให้กับวิสาหกิจที่ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นี่แสดงให้เห็นว่าการ "ลูบหน้าปะจมูก" ทำดีโดยอ้างว่ามี CSR นั้นช่วยอะไรไม่ได้เลยหากขาดความรับผิดชอบต่อ ผู้ถือหุ้นเท่าที่ควร

ผู้ชอบชูธง CSR

ในมาเลเซียกลุ่ม YTL ซึ่งมีบริษัทในเครือทำโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็โหมโฆษณาว่าตนมี CSR และยังได้รับมาตรฐาน ISO 14000 และมาตรฐาน green rating นอกจากนี้โรงงานปูนซีเมนต์ของกลุ่มนี้ได้รับมาตรฐาน ISO 14000 และมาตรฐาน 4 ดาวจากสมาคมปูนซีเมนต์โลก ส่วน Quezon Power (Philippines) ซึ่งก็เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเช่นกัน ก็ "คุย" ว่าตนมีกิจกรรม CSR ต่างๆ นานา

จะ สังเกตได้ว่าบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ หมิ่นเหม่ต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมมักต้องทำ CSR แบบบริจาค การให้ การช่วยเหลือชุมชนและสังคมอย่างออกหน้าออกตา นอกจากนี้ยังต้องพยายาม "ญาติดี" กับองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO รวมทั้งสื่อสารมวลชนต่างๆ เพราะหากดำเนินการผิดพลาดไปก็อาจได้รับการผ่อนหนักเป็นเบาได้บ้าง

แต่ ก็น่าสังเกตว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นคงมีมาตรฐานการรักษาสิ่งแวดล้อมที่น่าเชื่อถือได้พอ สมควร เพราะประเทศเพื่อนบ้านของเราทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอื่นๆ ต่างก็มีโรงไฟฟ้าเช่นนี้ และก็ไม่มีข่าวว่ามีปัญหาอะไร แต่สำหรับในไทยการต่อต้านของ NGO และชาวบ้านส่วนหนึ่งช่างแรงมากจนรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องไม่สามารถทำอะไรได้ นี่อาจเป็นจุดอ่อนประการหนึ่งของการพัฒนาประเทศในอนาคตก็ได้


ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr05160352&day=2009-03-16&sectionid=0221



ไม่มีความคิดเห็น: