วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ภารกิจปลายทางของ "มีชัย วีระไวทยะ"



คล้าย กับการประกาศวางมือของ "มีชัย วีระไวทยะ" จากสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) ในวันที่สมาคมที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งกำลังจะมีอายุครบ 35 ปี ในอีกไม่กี่วันนี้ เมื่อเขาตัดสินใจเข้าไปนั่งในตำแหน่ง "ครูใหญ่" โรงเรียนมัธยมลำปลายมาศ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเพิ่งจะก่อตั้งขึ้นและเปิดเรียนเป็นครั้งแรกในปีการศึกษา 2552 ซึ่งเป็น การขยายผลจากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนในระดับอนุบาลและประถมศึกษาซึ่งสมาคมและผู้บริจาคอย่าง "เจมส์ คลาร์ก" ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2545 โดยปฏิวัติการเรียนการสอนที่เคยมีมาในระบบการศึกษาไทย และกลายเป็นต้นแบบโรงเรียนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศที่มีมาตรฐานเทียบ เคียงระดับนานาชาติ เป็นโรงเรียนเรียนฟรีที่สามารถทำให้ "เด็กจาก ท้องนา" สามารถ "เทียบชั้นระดับสากล"

"จะว่าไปผมก็ยังทำงาน 2 อย่างไปด้วยกัน สมาคมก็ยังคงทำ แต่ก็ดูในระดับนโยบาย ส่วนเรื่องการบริหารอื่นๆ ก็ปล่อยให้คนอื่นทำก็ได้ และจากนี้ไปผมจะไปทำงานเรื่องเกี่ยวกับเด็กมากขึ้น คือเป็นทุกเรื่องที่เกี่ยวกับเด็ก โลกของเด็ก ชีวิตส่วนรวมของเด็ก พ่อแม่ยากจนก็ช่วย โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา เพราะถ้าการศึกษาดี คนจะมาชักจูงเราแบบโง่ๆ ไม่ได้"

และเป็นเหตุที่ทำให้เขาสนใจ ลงมาบุกเบิก เรื่องนี้เองแบบเต็มตัว

" ผมเดินมาถึงปลายทางของชีวิตแล้ว ทุกคนก่อนที่ไฟจะหมดชีวิต ควรเป็นครู ผมอยากสอนหนังสือและอยากให้คนในสังคมเป็นครู ผมว่านายธนาคารใหญ่ก็เหมือนกันควรจะลองเป็นครูดูเสียบ้าง เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของมนุษย์คือการศึกษา เราสามารถทำให้เด็กเดินได้ เป็นเด็กที่บินได้ ด้วยโอกาสและระบบที่ดีขึ้น ผมว่าคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการควรเก่งกว่านายกรัฐมนตรี ตำแหน่งครู ควรได้รับการยกย่อง และเป็นความจริงจัง ที่ทำให้ผมอยากเป็นครู"

" ปัญหาของการศึกษาไทยอยู่ที่การสร้างมาตรฐานของคนที่เก่งที่สุดในชั้น แต่ที่ ลำปลายมาศ เราไม่ได้บอกว่าเด็กจะเก่งหรือไม่เก่ง แต่จุดสำคัญคือเราต้องการผลิตคนที่ดี คนที่สามารถค้นหาคำตอบได้ คนที่นึกถึงสังคมและมีจิตสาธารณะ เราต้องการเพียงแค่การพัฒนาเด็กให้สามารถใช้ศักยภาพที่มีได้อย่างสูงที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุดในชั้น"

ต่อยอด "ความสำเร็จ"

" ตอนนี้เด็กที่เรียนกับเรามาตั้งแต่ชั้นอนุบาลจบชั้นประถมกำลังจะขึ้นชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงจะขึ้นชั้นมัธยมศึกษา เราก็ยังคงเชื่อในการจัดการศึกษาแบบเดิม คือเด็กจะได้เรียนใน

สิ่งที่เขาอยากเรียน เพราะธรรมชาติของเด็กถ้าเขาสนุกแล้วก็จะทำได้ดี เขาอยากเรียนอะไรเราก็จัดให้แบบนั้น"

เป็น การเดินต่อจากสิ่งที่เคยทำที่ "ลำปลายมาศพัฒนา" ซึ่งทุกอย่างในโรงเรียนตั้งแต่วิธีการสอน ห้องเรียนถูกออกแบบอย่างละเอียดอ่อน ไม่ว่าจะเป็นห้องเรียนหกเหลี่ยม ที่จะทำให้ไม่มีเด็กหน้าห้องหลังห้อง หรือทุกๆ เช้าเด็กๆ และครูต้องกอดกัน เพราะการได้รับสัมผัสที่อบอุ่นจะทำให้สร้างความมั่นใจให้กับเด็ก การจะเรียนอะไรในแต่ละภาคเรียน เด็กจะเป็น ผู้เลือก เช่น ถ้าเขาเรียนเรื่องไดโนเสาร์ ฯลฯ ชั้นนั้นก็จะเรียนเรื่องไดโนเสาร์ ครูมีหน้าที่เพียงกำกับดูแลว่าสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการต้องการให้เด็กรู้ อะไรบ้าง และก็มีการใส่เรื่องต่างๆ ไปในสิ่งที่เด็กอยากเรียน

"เรา เรียนกันแบบนี้ ไม่มีการสอบ แต่พอเราลองให้เด็กไปสอบวัดผล ปรากฏว่าเด็กเราก็ทำได้ดีกว่าโรงเรียนอื่น และเราก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเด็กจนก็พัฒนาได้ ถ้าคุณจัดการศึกษาที่ดี และที่ผ่านมาเราให้เด็กเรียนฟรี คนเรียนต้องยากจน ใช้วิธีจับสลากเข้าเรียน และใช้งบประมาณต่อหัวต่อคนประมาณปีละ 30,000 บาท ซึ่งสูงกว่าภาครัฐไม่มาก"

ไม่แปลกที่วันนี้จะมีหน่วยงานจากภาครัฐ ผู้บริหารโรงเรียน และครู เข้ามาดูงานและฝึกอบรมที่นี่แล้วกว่า 200 โรงเรียน

โมเดลใหม่การพัฒนา

การได้รับการยอมรับอาจเป็นบทพิสูจน์เพียงก้าวแรก "ก้าวต่อ" ที่เขาวางไว้จึงน่าสนใจ

" มีชัย" เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่วางไว้ในอนาคตว่า "วันนี้เราทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงเพราะลูกคนในชุมชนไปเรียนหนังสือ แต่ต่อไปเราจะเปลี่ยนทัศนคติ เศรษฐกิจ สร้างสังคมประชาธิปไตย และช่วยคนในชุมชนขจัดความยากจน โดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง"

"ใน ระดับมัธยมศึกษา เราจะสอนเรื่องธุรกิจให้กับเด็ก สอน แบ ฟุต เอ็มบีเอ และจะเป็นจุดศูนย์กลางการพัฒนาในหมู่บ้าน และจะใช้พื้นที่ของโรงเรียนให้เป็นที่สอนผู้ใหญ่ในชุมชนที่ต้องการเรียนรู้ ในการเพิ่มรายได้และสร้างอาชีพอย่างที่เขาต้องการจะรู้ และในที่สุดก็จะขยายเป็นโครงการพัฒนาในระดับหมู่บ้านและชุมชน ต่อไปเด็กที่เรียนที่โรงเรียนนี้ พ่อแม่ก็จะเลิกจนด้วย และผมว่าคงไม่มีโรงเรียนอื่นที่จะเป็นแบบนี้ ต่อไปเราจะไม่ได้เป็นแค่ต้นแบบของการศึกษาเท่านั้น แต่เราจะเป็นต้นแบบในการพัฒนาด้วย"

เป็นการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงสังคม ในรูปแบบใหม่ที่ใช้ "โรงเรียน" เป็นศูนย์กลาง

" เราจะทำให้โรงเรียนเป็นมากกว่าโรงเรียน โรงเรียนไม่ใช่สถานที่ที่เปิด 7 โมงเช้า ปิดตอน 4 โมงเย็น ในวันจันทร์ถึง วันศุกร์ และเป็นที่เก็บฝุ่นในวันเสาร์ อาทิตย์ แต่เราสามารถใช้สิ่งที่โรงเรียนมีมาต่อยอดในการพัฒนาชุมชนได้ด้วย เรื่องแบบนี้ต้องคิดนอกกรอบ และเราจะไปหวังพึ่งรัฐอย่างเดียวไม่ได้"

"ผมว่าถ้าทำได้ เขาคงทำไปนานแล้ว แต่เราก็จะไปโทษเขาไม่ได้"

ไม่ใช่หน้าที่ "รัฐ" แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน

" มีชัย" กล่าวว่า "เราต้องยอมรับว่าไม่ว่าประเทศใดในโลก กระทั่งสหรัฐอเมริกา ที่รัฐไม่สามารถทำทุกอย่างให้ประชาชนได้ ก็ต้องมีคนอื่นเข้ามาช่วย อะไรที่คิดออกนอกกรอบ แหวกแนว รัฐไม่กล้าทำเพราะไม่ใช่วิสัยของระบบราชการ เพราะฉะนั้นปล่อยราชการทำคนเดียวก็ทำไม่ได้ เพราะถ้าทำได้เขาคงทำไปตั้งแต่ก่อนหน้านี้ จึงไม่ยุติธรรมที่บอกว่ารัฐต้องเป็นคนทำ ผมว่ารัฐต้องมีหน้าที่ตาม คนนำคือประชาชน สังคม คนนำคือธุรกิจต่างหาก"

"เรื่องช่วยในการพัฒนา สังคมเป็นหน้าที่ของทุกคน คนข้างนอกเองก็ต้องคิด ผมอยากให้ลองคิดว่าเราไม่ใช่เจ้าของสังคมหรือ เราไม่เจ็บปวดกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือ อย่างปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้น คนที่ไม่เคยสนใจการเมืองเพราะไม่ใช่เรื่องเรา แต่พอเกิดขึ้นแล้ว ไม่เห็นหรือว่าทำให้ธุรกิจทรุดแค่ไหน เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของทุกคน อย่าคิดว่าเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว มีหน้าที่อย่างเดียวคือล้างมือด้วยไวน์ขาว ล้างเท้าด้วยไวน์แดง คนเราต้องมีความพยายามที่จะช่วยทำให้สังคมดีขึ้นบ้าง"

"สิ่งที่เรา ต้องการจากภาครัฐคือ การช่วยสนับสนุน จุดสำคัญอยู่ที่กระทรวงการคลังต้องช่วยลดหย่อนภาษีให้ธุรกิจที่ต้องการ บริจาคเงินเพื่อสร้างโรงเรียน เพราะขณะนี้การสร้างโรงเรียนสามารถลดหย่อนได้ 200% แต่ในรูปแบบของเรายังไม่ได้ การลงทุนในการสร้างโรงเรียนใหม่ที่เราใช้เริ่มต้นประมาณ 30 ล้านบาท และจากนั้นใช้เงินดำเนินการอีก 6 ปี ปีละประมาณ 3 ล้านบาท ซึ่งในเวลาเดียวกันโรงเรียนก็จะต้องพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม หมายถึงการหารายได้เองจากการทำธุรกิจเพื่อนำเงินมาเลี้ยงดูตัวเอง ซึ่งตอนนี้อย่างลำปลายมาศพัฒนาก็เริ่มหาเงินได้ปีละ 2 ล้านบาท บวกกับเงินรายหัวที่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐก็เกือบจะพอแล้ว ซึ่งมีธุรกิจหลายแห่งก็สนใจอยากลงทุน เพราะการสร้างโรงเรียนที่ส่งผลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในชุมชน ด้วยเงินจำนวนเท่านี้ไม่ได้มากเลย อาจถูกกว่ารถของเศรษฐีบางคนอีก"

เพียงแต่ทุกคนต้องคิดว่า นี่เป็นหน้าที่ เช่นเดียวกับที่รัฐต้องสนับสนุน !

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01180552&day=2009-05-18&sectionid=0221



ไม่มีความคิดเห็น: