วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

CSR กับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์



โดย ดร.พรชัย ศรีประไพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ อิมพีเรียล เวิลด์ กรรมการมูลนิธิรักษ์ไทย

การ ทำ CSR (corporate social responsibilities) เป็นการทำงานเพื่อชุมชน เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสิ่งที่ดีๆ ให้กับชีวิตและความเป็นมนุษย์ ผมจำได้ว่าเคยอ่านพบที่ไหนสักแห่งหนึ่งที่เขียนไว้ว่า หลักสำคัญของ CSR อยู่ที่

1.ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ (human integrity)

2.ความจริงใจ (sincerity)

3.ความตั้งใจจริง (determination)

4.การเคารพซึ่งกันและกัน (mutual respect)

5.ผลประโยชน์ร่วมกัน (mutual benefits)

ผม ได้เดินทางไปจังหวัดตราด สุดชายแดนประเทศไทย และได้เห็นเหตุการณ์หลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น ทำให้หลักการดังกล่าวข้างต้นมีคุณค่า มีความหมาย มีชีวิตชีวา และมีผลในทางปฏิบัติต่อชีวิตคนกลุ่มหนึ่งอย่างไม่น่าเชื่อ

ผม ได้รับเชิญจากมูลนิธิรักษ์ไทยให้ไปเยี่ยมชมโครงการเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อเอ ชไอวี และโครงการแรงงานข้ามชาติที่จังหวัดตราด ร่วมกับ นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ ประธานมูลนิธิและกรรมการของมูลนิธิอีกหลายท่าน เป็นการเดิน

ทางที่ทำให้เกิดข้อสังเกตเกี่ยวกับ "ความรับผิดชอบทางสังคม" และแนวทาง CSR หลายๆ ประการ

เริ่ม ต้นจากสนามบินจังหวัดตราด ที่เข้าใจว่าคงอยู่ภายใต้การดูแลของบางกอก แอร์เวย์ส พอสัมผัสกับสนามบิน ผมได้รับความประทับใจกับการตกแต่งดูแลและการบริหารสนามบิน รถที่มารับเราจากเครื่องบินเป็นรถไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรียบง่าย ดูสวยงามให้บรรยากาศของการท่องเที่ยวแบบธรรมชาติจริงๆ อาคารผู้โดยสารทั้งขาเข้า-ออกเป็นกระท่อมหลังคาจากที่ไม่มีผนัง ไม่มีเครื่องปรับอากาศ แต่จัดเป็นสัดส่วนที่ลงตัว ทั้งด้านความสวยงาม เป็นระเบียบและประโยชน์ใช้สอย

แค่เห็นภาพของสนามบินและความเอาใจ ใส่ต่อสิ่งแวดล้อม เราก็คงจะมองออกว่า corporate-culture หรือความรับผิดชอบต่อสังคม ความจริงใจ (sincerity) และความตั้งใจจริง (determination) ขององค์กรนี้เป็นอย่างไร

เมื่อเดินทางเข้าไปที่ จังหวัดตราด เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิรักษ์ไทย เจ้าหน้าที่ OSCC (one stop crises center) หรือศูนย์พึ่งได้ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจังหวัดตราด เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพของจังหวัด ได้นำเสนอปัญหาเกี่ยวกับความรุนแรงต่อเด็กและสตรีที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงและปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชไอ วี ซึ่งกลายมาเป็นปัญหาสังคมที่รุนแรงและแพร่ระบาดก่อนที่มูลนิธิรักษ์ไทยและ กลุ่มภาคีจะมาทำงานร่วมกัน เข้ามาช่วยเหลือ สาเหตุหลักของปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมาจาก "ทัศนคติ" ของผู้ชายที่ไม่ได้รับการอบรม หรือมีความเชื่อกันอย่างผิดๆ ว่า ผู้ชายมีสถานะทางสังคมโดยเฉพาะทางด้านเพศสูงกว่าผู้หญิง ผู้ชายจะทำอะไรก็ได้โดยไม่ถูกครหา ไม่ถูกนินทา เมื่อสังคมให้อิสรภาพกับผู้ชายมากกว่า ผู้หญิง ผู้ชายหลายคนก็ถือโอกาสใช้ความมีอิสระเหล่านี้อย่างไม่มีขอบเขต นำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบต่อเพศหญิง ตั้งแต่การมีภรรยาหลายๆ คนไปจนถึงความรุนแรงภายในบ้าน การทำร้ายร่างกาย การเป็นพาหะเชื้อโรคร้ายมาสู่ภรรยา



กลุ่ม ภาคีที่เข้ามาร่วมทำงานกับมูลนิธิรักษ์ไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอชไอวี เล่าให้เราฟังว่า รูปแบบของความรุนแรงที่ ผู้หญิงเหล่านี้ได้รับก่อนการติดเชื้อมีดังนี้

- ถูกขืนใจ เมื่อไม่ยอมหรือไม่พร้อม

- สามีมีผู้หญิงอื่น

- สามีนำผู้หญิงอื่นมาค้างที่บ้าน

- ทำร้ายร่างกายเมื่อโมโห ตบตี ด่าทอ

- เวลาเมาก็จะใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูถูก เหยียดหยาม

- แสดงความมีอำนาจ ข่มขู่ โดยเฉพาะเวลาอยู่ต่อหน้าเพื่อนๆ

- สามีมีความต้องการทางเพศมาก และไม่สนใจความต้องการของภรรยา

และ ที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ สามีมักจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ภรรยาติดเชื้อเอชไอวี และเมื่อภรรยาติดเชื้อแล้ว ภรรยาเองก็เผชิญปัญหาภายในบ้าน ปัญหาสังคม ปัญหาสุขภาพ และปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย สามีแทนที่จะช่วยบรรเทาปัญหากลับเพิ่มปัญหาให้กับภรรยา เป็นการซ้ำเติมเข้าไปอีก

- โทษภรรยาว่านำเชื้อมาให้

- ทำร้ายร่างกาย มีการกระทำรุนแรงต่อภรรยาอย่างต่อเนื่อง

- ทำร้ายจิตใจโดยคำพูด กระทบกระแทก ทำลายค่าของความเป็นมนุษย์ของภรรยา

- พยายามที่จะร่วมเพศโดยไม่ใช้ถุงยาง

- แสดงอำนาจข่มขู่ว่าจะไม่เลี้ยงดู

เรา คงจะเดาได้ไม่ยากว่า สภาพจิตใจของกลุ่มผู้หญิงเหล่านี้จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรู้ตัวเองว่ามีความเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตกับโรคเอ ชไอวี

- แบกความกังวลอย่างหนักเกี่ยวกับชีวิตตน สุขภาพและอนาคต

- ห่วงใยพ่อ-แม่-ลูก ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร

- ไม่กล้าตัดสินใจที่จะลงทุนทำอาชีพหรือตัดสินใจอะไร มีผลกระทบระยะยาว

- กังวลกับความสัมพันธ์ระหว่างตนกับสามี กับพ่อแม่พี่น้อง กับชุมชน กับสังคม

มูลนิธิ รักษ์ไทยได้เข้ามาพูดคุยกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีเหล่านี้ และได้สร้างเครือข่าย ผู้ติดเชื้อขึ้น โดยมีหน่วยงานต่างๆ ของรัฐทั้งทางด้านหน่วยงานแพทย์และสาธารณสุข หน่วยงานชุมชน เช่น อบจ. อบต. สถาบันการศึกษา ตำรวจ ผู้นำชุมชน ฯลฯ

เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกันแก้ปัญหาของผู้ติดเชื้อเหล่านี้

(ดูแผนผัง : เครือภาคีพันธมิตรที่ร่วมมือกันทำงานเพื่อแก้ปัญหาผู้ติดเชื้อเอชไอวี)

การ ทำงานร่วมกันในระดับชุมชน ดังกล่าวข้างต้น สามารถช่วยแก้ปัญหาของ ผู้ติดเชื้อไปได้มากทีเดียว ผมได้พบกับผู้ติดเชื้อหลายคนที่มาเล่าปัญหาของแต่ละคนให้ฟัง และอธิบายว่าเครือข่ายและภาคีเหล่านี้ได้ช่วยเหลือพวกเขาอย่างไรบ้าง นอกจากจะมีเครือข่ายที่จะช่วยรับฟังปัญหาแล้ว พวกเขายังได้รับการช่วยเหลือด้านยา ด้านสุขภาพ ด้านความรู้ความเข้าใจ ด้านการป้องกันเหตุร้ายต่างๆ ที่จะตามมา

ที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้ติดเชื้อที่เข้ามาร่วมกับโครงการ "เปลี่ยนชีวิต" ของตนเองจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากสภาพที่เคยเป็น ผู้ท้อแท้สิ้นหวัง เป็นผู้ที่ถูกกระทำ เป็นเหยื่อของความไม่เป็นธรรมทางสังคม กลายมาเป็น "ผู้นำทางความคิด" มีความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้ง สามารถให้คำแนะนำช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ติดเชื้ออื่นๆ ได้อย่างมีสติปัญญาและประสบการณ์ กลายเป็นผู้ร่วมรณรงค์แก้ไขปัญหาของสังคม ออกไปให้ความรู้กับเยาวชนและ ผู้หญิงคนอื่นๆ ที่จะได้ไม่เข้ามาตกอยู่ในวังวนของปัญหาเหล่านี้ ผมฟังกลุ่มภาคีเหล่านี้พูดถึงปัญหาและพฤติกรรมทางเพศ ใช้ศัพท์และคำพูดที่สุภาพเข้าใจง่าย แต่จริงจังมีเหตุผล พวกเขาสามารถสอนวิชาเพศศึกษา สอนวิชาเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ได้ดีกว่าผู้เชี่ยวชาญ หรือครู อาจารย์ เพราะประสบการณ์จริงในชีวิตของพวกเขา ผมเห็นความเคารพซึ่งกันและกัน (mutual respect) จากคำอธิบายของเขา เขาไม่โทษสังคม ไม่โทษบุคคล แต่ใช้ประสบการณ์ของพวกเขาที่จะมาช่วยแก้ปัญหา ป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

สิ่งที่ผมเห็นก็คือ CSR in action หรือกระบวนการทำงานทางสังคมที่เป็นรูปธรรมที่สุด สิ่งที่ยังขาดไปคือการเข้ามามีส่วนร่วมของตัว C ใหญ่ หรือ corporation นั่นเอง โครงการเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละชุมชนเหล่านี้มีอยู่มากมายในประเทศไทย ผู้รับผิดชอบโครงการเหล่านี้ก็มักจะเป็นกลุ่ม NGOs ที่ทำงานร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับชุมชนท้องถิ่น ทั้งหน่วยงานราชการและเอกชน ผมเชื่อว่าองค์กรใหญ่ๆ ถ้าเข้ามามีส่วนร่วมในการทำ CSR จริงๆ การช่วยเหลือเหล่านี้จะแพร่ขยายและจะเป็นระบบที่ดียิ่งขึ้น NGOs ภาคีมีจุดแข็งก็คือ

1.มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาอย่างลึกซึ้ง

2.มีการสร้างเครือข่าย สร้างภาคี สร้างความร่วมมือระดับชุมชนอย่างเข้มแข็ง

3.มีความจริงใจ (sincerity) มีความทุ่มเท (commitment) มีความตั้งใจ มุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ (determination)

ขณะเดียวกันองค์กรใหญ่ๆ (corpora tions) ก็มีอะไรหลายๆ อย่างที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริมโครงการเหล่านี้ได้ อาทิ

- ส่งเสริมทางด้านทรัพยากร (resources)

- ส่งเสริมทางด้านเทคโนโลยี (techno logy)

- ส่งเสริมทางด้านระบบและวิธีการทำงาน (process and procedures)

- ส่งเสริมทางด้านความรู้ การแนะนำข้อมูล (information and knowledge)

สิ่ง ที่ผมเห็นที่จังหวัดตราด นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่กำลังเป็นทุกข์อย่างแสนสาหัสแล้ว ยังเห็นการพื้นฟู ส่งเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในระดับที่น่าอัศจรรย์ทีเดียว ผู้ติดเชื้อได้รับความมั่นใจกลับมา เขาเปลี่ยนแปลงจากผู้รับมาเป็น ผู้ให้ จากผู้ที่เป็นภาระมาเป็นผู้ที่ป้องกันปัญหา และร่วมส่งเสริมสังคมใหม่ที่ดี มาเป็นผู้ที่จะมอบศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับผู้ถูกเอาเปรียบอื่นๆ อีกต่อไป

โครงการ CSR ที่ดีๆ เหล่านี้ยังรอท่านอยู่อีกมากนะครับ


ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr02270452&day=2009-04-27&sectionid=0221



ไม่มีความคิดเห็น: