วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ชุมชนที่มีความยืดหยุ่น


โดย พร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย

เหมือน ในนิยายเชิงวิทยาศาสตร์ science fiction มนุษย์ต่างดาวและสัตว์ประหลาดต่างๆ พากันบุกโลก ยกมาทีละหลายตัวพร้อมๆ กัน โลกวันนี้ตกอยู่ท่ามกลางภัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ ภัย ณ วันนี้ มวลมนุษย์ประสบภัยต่างๆ อย่างน้อย 3 เรื่อง คือ ภัยจากวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลก ที่สร้างความปั่นป่วนต่อภาวะเศรษฐกิจทั้งระดับชาติ ระดับชุมชน และระดับครัวเรือน อีกภัยหนึ่ง คือภัยจากการเปลี่ยนแปลงทางฤดูกาล หรือผลจากภาวะโลกร้อน ก่อให้เกิดภัยทางธรรมชาติที่รุนแรง ไม่ว่าจะภัยแล้ง น้ำท่วม หรือการเปลี่ยนแปลงทางพืชพันธุ์ต่างๆ ภัยที่สามที่ส่งผลรุนแรง คือภัยจากความขัดแย้งในสังคม เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย เราเคยคิดว่าความขัดแย้งในสังคมไกลตัว แต่มาวันนี้ความขัดแย้งกระจายอยู่ให้เห็นเกือบทุกหนแห่ง

ภัยที่ รุนแรงเหล่านี้มีความถี่มากขึ้น ทำให้นักคิด นักพัฒนาต่างๆ เริ่มสนใจความสามารถของชุมชนที่ทนทานต่อภัยรุนแรงต่างๆ โดยเรียกภัยรุนแรงว่าเป็นช็อก (shock) หรือการรับแรงกระแทกนั่นเอง ซึ่งไม่ต่างกับลูกบอลยาง เมื่อโดนแรงกระแทกจากการตีด้วยไม้เทนนิส หรือการเตะในกรณีลูกฟุตบอล ลูกบอลจะมีลักษณะผิวหดตัวตามแรงกระแทก เสร็จแล้วเด้งออกมาใหม่สู่สภาพเดิมซึ่งถือว่าเป็นความยืดหยุ่น โดยเราเรียกความสามารถของชุมชนที่จะต้านแรงกระแทกจากการยืดหดตัวว่าเป็น community resilience คำว่า รีซิเลียนซ์ ตามความหมายศัพท์หมายถึงความยืดหยุ่น ความลอยตัว ตรงข้ามกับความตึงหรือ แข็งตัว



Community Resilience (โมเดล)

ความยืดหยุ่นของชุมชนเกิดจากความพร้อมที่จะรับแรงกระแทก เช่นหากมีแรงกระแทกทางเศรษฐกิจ

ชุมชน ที่มีเงินออมแค่ไหน มีทางเลือกอาชีพหลายทางไหม หรือสามารถปรับใช้เชื้อเพลิงที่ผลิตเองได้ ไม่พึ่งพาสินค้านำเข้าที่ราคาแพง ชุมชนที่ปรับตัวตามสถานการณ์ต่างๆ ได้ถือว่ามีความสามารถในการทานแรงกระแทกต่างๆ ทางเศรษฐกิจ

ชุมชน ที่ยังคงรักษาฐานทรัพยากร ธรรมชาติ แหล่งอาหารตามธรรมชาติ และมีความพร้อมที่จะรับภัยพิบัติ ก็จะมีความสามารถทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ อันเป็นผลจากภาวะโลกร้อน

ในกรณีของความขัดแย้งในแนวคิด ในชุมชน สิ่งที่สามารถลดแรงกระแทก จะมีความยึดเหนี่ยวหรือมีกาวทางสังคม (social cohesiveness) เช่น ความเป็นชุมชนที่ช่วยเหลือกัน หรือการมีวัฒนธรรมร่วมกัน

CSR ลดผลกระแทก ?

ณ วันนี้ ท่ามกลางภัยต่างๆ บริษัทต่างๆ ต้องมองว่าบริษัทมี resiliency หรือความยืดหยุ่นในการรับแรงกระแทกเพียงใด บริษัทที่มีความแข็งตัว ไม่ยืดหยุ่น กลับจะมีความเปราะบาง และไม่สามารถรับแรงช็อกต่างๆ บริษัทควรนำหลักการ CSR หรือ corporate social responsibility เป็นกระบวนการหนึ่งในการสร้างความสามารถรับแรงกระแทกจากภายนอก นั่นคือการสร้างความเหนียวแน่นภายในด้วยกระบวน การผูกใจในการมุ่งเพื่อสังคมทั้งพนักงานและฝ่ายบริหาร การมีใจมุ่งเพื่อสังคม จะทำให้มองทางเลือกได้กว้างมาก โดยเฉพาะประเด็นที่หลายบริษัทอาจจะกำลังคิดว่าจะต้องลดจำนวนพนักงานจากวิกฤต เศรษฐกิจ

ในยุควิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง หลายบริษัทใช้มาตรการหลากหลายในการชะลอหรือหยุดยั้งการเลิกจ้าง มีความพร้อมใจกันลดวันทำงาน หรือลดเงินเดือนฝ่ายบริหารเพื่อพยุงสถานะของบริษัทให้ยังเดินต่อได้ในสภาวะ วิกฤต

บริษัทที่ยังคงมีความสามารถในการช่วยเหลือสังคมยามที่มี วิกฤตต่างๆ นั้น การช่วยเหลือสังคมยิ่งทวีความสำคัญเป็นอย่างมาก และบทบาทของภาคธุรกิจเอกชนนั้น การเสริมสร้างความสามารถในการรองรับแรงกระแทกทำได้จริง เมื่อธุรกิจให้ความสนใจ ต่อการเสริมสร้างพลังภายในชุมชน หรือกระบวนการ empowerment ไม่ว่าจะเป็นในกระบวนการรักษาฐานทรัพยากร ธรรมชาติโดยชุมชน การเสริมสร้างกลไกลดความขัดแย้งในชุมชน หรือการสร้างทางเลือกในอาชีพต่างๆ

หลักสำคัญที่สุดก็คือ การช่วยเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและชุมชนสามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป


ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03060452&day=2009-04-06&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: