วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ปิดผลสำรวจ CSR ไทย โตสวนกระแสเศรษฐกิจ


ใน งาน "รายงาน CSR ประเทศไทย" ที่สถาบันไทยพัฒน์ ร่วมกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น และบจ.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ร่วมกันจัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2552 ที่โรงแรมเดอะแกรนด์ อยุธยา บางกอก ในงานนอกจากจะสรุปผลโครงการ CSR Campus ในการกระจายความรู้เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) สู่ภูมิภาค ระหว่างเดือนเมษายน-กันยายน 2551 ที่ผ่านมา

ยังมีการเปิดเผยผลสำรวจ แนวโน้มการดำเนินกิจกรรม CSR ในไทย ซึ่งสถาบัน ไทยพัฒน์ได้จัดทำขึ้นโดยสำรวจความคิดเห็นองค์กรธุรกิจทั่วประเทศ โดยข้อมูล ชุดหนึ่งเก็บจากผู้เข้าร่วมงาน "ทิศทางและวิสัยทัศน์ CSR ปี 2552" ซึ่งจัดขึ้นที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา จากผู้เข้าร่วมงานจำนวน 400 คน

ขณะที่ข้อมูลอีกชุด เป็นการรวบรวมข้อมูลจากผู้เข้าร่วมประชุม 150 คนจาก 54 จังหวัดทั่วประเทศที่มาร่วมในเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อผลักดันนโยบาย CSR ระดับประเทศ ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2551



ผล ของการสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้จึงน่าสนใจ เพราะทั้ง 2 ช่วงเวลานั้นอยู่ช่วงเวลาที่อาจจะกล่าวได้ว่าประเทศไทยเริ่มได้รับผลกระทบ จากวิกฤตเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อผลสำรวจจากกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในฝั่งธุรกิจในกรุงเทพฯและต่าง จังหวัด ในประเด็นเรื่องแนวโน้มการดำเนินกิจกรรม CSR ขององค์กรในปี 2552 มีผลออกมาตรงกันว่า มีแนวโน้มการดำเนินกิจกรรม CSR ที่สูงขึ้น

โดยใน ส่วนของกรุงเทพฯนั้น มีแนวโน้มที่องค์กรธุรกิจจะดำเนินกิจกรรม CSR เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม 47% ในขณะที่องค์กรธุรกิจในต่างจังหวัดมีสัดส่วนในการดำเนินกิจกรรม CSR เพิ่มขึ้นถึง 88%

แม้ว่าหากเมื่อดูในส่วนของงบประมาณในการดำเนิน กิจกรรม CSR ขององค์กรในปีนี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้มีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้น โดยทิศทางในการใช้งบประมาณด้าน CSR ขององค์กรธุรกิจในกรุงเทพฯ จะยังคงใช้ งบประมาณในสัดส่วนที่เท่าเดิมมากที่สุดถึง 46%

ในขณะที่ยังคงใช้งบ ประมาณเพิ่มขึ้น 32% และมีถึง 21% ที่มีแนวโน้มที่จะใช้ งบประมาณในการดำเนินกิจกรรม CSR ลดลง และมีเพียง 1% เท่านั้นที่ตอบว่าจะระงับการใช้งบประมาณชั่วคราว



และ ยังมีทิศทางที่ชัดเจนว่า ในปี 2552 กว่า 36% ยังคงมีนโยบาย CSR ที่มุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อม รองลงมาเป็นประเด็นทางด้านสังคม 37% การศึกษา 19% เศรษฐกิจ 5% และประเด็นทางสังคมอื่นๆ อีก 3%

และแม้จะอยู่ใน กรุงเทพฯ แต่มีผู้ตอบแบบสอบถามถึง 27% ที่ระบุว่าเพิ่งเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับ CSR ในขณะที่ 53% มองว่าองค์กรปฏิบัติด้านความรับผิดชอบได้ดีในระดับหนึ่ง และมีเพียง 15% เท่านั้นที่เชื่อว่าองค์กรมีความก้าวหน้าเรื่องนี้ในระดับที่ดีมาก

และ เมื่อมองถึงแนวโน้มของการจัดทำรายงาน CSR ขององค์กร พบว่ามีองค์กรธุรกิจถึง 26% ที่มองว่ากำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมการที่จะจัดทำรายงาน CSR ในปี 2552 โดยมีเพียง 7% ที่มีการจัดทำรายงานในปี 2551 และ 13% มีการริเริ่มจัดทำรายงานก่อนหน้านี้ แต่ที่น่าสนใจก็คือกว่า 54% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดระบุว่าองค์กรยังไม่มีแนวคิดในการจัดทำรายงาน CSR

อย่าง ไรก็ตาม สำหรับองค์กรธุรกิจในต่างจังหวัด พบว่าความตื่นตัวขององค์กรที่มีต่อ CSR ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจในกรุงเทพฯ โดยเมื่อมองในประเด็นของความตื่นตัวขององค์กรที่มีต่อเรื่องนี้ พบว่ามีเพียง 12% เท่านั้นที่มีการตื่นตัวในระดับที่สูง ขณะที่อีกกว่า 42% และ 45% ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่ามีความตื่นตัวในระดับปานกลางและน้อยตามลำดับ

จาก ผลสำรวจนี้คงสะท้อนความจริงของช่องว่างระหว่างองค์กรธุรกิจทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่มีต่อเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรดูเหมือนว่าแม้จังหวะก้าวของธุรกิจทั้ง 2 ส่วนจะมีจังหวะก้าวและความเร็วช้าที่แตกต่างกัน แต่อย่างน้อยที่สุดก็สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าจะกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่ว่างบประมาณในการดำเนินกิจกรรม CSR จะลดน้อยถอยลง

แต่ที่แน่ๆ วันนี้แนวคิดเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรกำลังขยายวงและได้รับความสนใจในระดับที่มากถึงมากที่สุดจากองค์กรธุรกิจ


ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr04060452&day=2009-04-06&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: