วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชื่อ CSR


โดย อนันตชัย ยูรประถม

Q : ทำไมองค์กรมีขื่อเสียงโด่งดังในเรื่องของการทำ CSR มีโครงการเพื่อสังคมต่างๆ มากมาย แต่ทำไมปัญหาต่างๆ ยังคงอยู่ ถ้าเช่นนั้นองค์กรควรจะทำ CSR ต่อหรือไม่

ตอนที่คุยกับคนที่ถามคำ ถามนี้ ผมรู้สึกดีมากนะครับ เพราะเค้าให้ความสำคัญกับ CSR และมองว่า CSR เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำองค์กร แต่ทำไมบูชาก็แล้ว ลูกค้าก็ไม่เห็นจะมีมาเพิ่มขึ้น พนักงานไม่เห็นจงรักภักดี แถมยังมีข่าวฉ้อฉลหลอกลวงลูกค้าอีก เบื้องต้นพอผมถามว่า CSR ที่ว่านี้ ทำอะไรไปบ้าง ก็ได้คำตอบว่า มีโครงการเพื่อสังคมเต็มรูปแบบ ทั้งสิ่งแวดล้อม การศึกษา การพัฒนาชุมชน ใช้งบประมาณไปเยอะมาก แต่ยังไม่เห็นผลอะไรดังว่า ปีนี้เศรษฐกิจแย่ ยังไม่รู้ว่าจะเอายังไง พอซักไซ้ไล่เลียงไปเรื่อย ผมก็เลยสรุปให้ว่า CSR ของพี่ยังไม่ศักดิ์สิทธิ์ครับ เพราะพิธีกรรมและมวลสารไม่ถูกต้อง นึกภาพออกมั้ยครับ เวลาไปบูชาพระมาแพงลิบลิ่วแล้วโดนฟันธงว่า "ปลอม" ไปหาดูได้แถวท่าพระจันทร์ครับ

มวลสารที่ว่านี้ต้องประกอบไปด้วยสิ่ง ต่างๆ ที่เป็นมงคล ได้แก่ธรรมาภิบาล การคุ้มครองผู้บริโภค การดูแลพนักงาน การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาสังคมและชุมชน เป็นต้น ซึ่งจะต้องผสมผสานกัน ขึ้นอยู่กับ CSR ของแต่ละที่ว่าจะต้องมุ่งเน้นอะไร แต่ไม่ใช่อันเดียวโดดๆ ถ้าจำได้ องค์กรที่ต้องล้มหายตายจากไปอย่าง Enron WorldCom ล่าสุด Satyam ของอินเดียก็เคยโด่งดังในฐานะผู้สนับสนุนโครงการเพื่อสังคมระดับบิ๊ก แต่ปัญหาก็คือความโปร่งใสและธรรมาภิบาล หรือที่ผมเจอเข้ากับตัวเองตอนไปซื้อของที่มินิมาร์ตในปั๊มน้ำมัน พนักงานดูแลผมได้เทียบเท่าหรือต่ำกว่าคนมาขอฟรีเลยครับ แม้ผมจะรู้สึกดีกับองค์กร แต่ผมก็ไม่อยากเข้าครับ อันนี้โครงการสังคม ช่วยไม่ได้จริงๆ ครับ

พอได้เนื้อมวลสารที่สำคัญๆ ครบแล้ว พิธีกรรมก็สำคัญครับ ที่ทุกคนทุกฝ่ายต้องเข้าร่วมด้วย แต่ละฝ่ายต้องรู้กรอบ ทิศทาง CSR ขององค์กรและประเด็นที่ตัวเองเกี่ยวข้อง รวมถึงการนำไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับกรอบที่วางไว้ อีกทั้งต้องประสานสอดคล้องกับประเด็นอื่นๆ ตรงนี้สำคัญครับ CSR ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้ครบ แต่ต้องเป็นเสมือนฟันเฟืองที่ช่วยกัน ขับเคลื่อน มีวิธีผสมผสานคุณค่าระหว่างกัน

ต่อมา CSR แบบครอบจักรวาล หายาก เรียกได้ว่าคงต้องดูให้เหมาะสำหรับองค์กรว่าจะเด่นด้านไหน เมตตามหานิยมกับผู้คน ที่อยู่ร่วม ก็คงต้องหารุ่น corporate citizenship หรือการมุ่งเน้นการมีส่วนร่วม แต่ถ้าประเภทต้องรบทัพจับศึกอยู่ตลอดเวลา ก็ต้องยอดธงครับ ชูให้เด่นเลย ว่าเราครบถ้วนตามมาตรฐานสากลที่ลูกค้าต้องการ ไม่ด้อยกว่าคู่แข่ง แต่ถ้าทำ CSR แบบครบมวลสารและพิธีกรรมแล้ว ปัญหายังมี ไม่ต้องกลัวครับ ไม่มีใครในโลกที่ไม่มีความ ผิดพลาด ที่สำคัญ คือฟันเฟืองต่างๆ ของ CSR จะหนุนคุ้มครองให้เอง เช่น สินค้ามีปัญหา แต่ระบบความสามารถในการถูกตรวจสอบที่มีอยู่ทำงาน พนักงานเต็มใจมุ่งมั่นแก้ปัญหา สังคมไว้วางใจ ก็รอด อันนี้แหละครับ ที่เรียกว่า CSR ของจริง...ฟันธง


ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr06300352&day=2009-03-30&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: