วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

มาร่วมกันเป็นบริษัทพลเมือง (ที่ดี)

มาร่วมกันเป็นบริษัทพลเมือง (ที่ดี) ของโลก Corporate Citizenship


โดย พร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย promboon@raksthai.org

ใน ภาพรวมแล้วเราสามารถมอง ได้ว่า corporate social responsibility (CSR) เป็นเพียงขั้นขั้นหนึ่งในทางเดินของบริษัทไปสู่ภาวะความเป็นพลเมืองของสังคม ความเป็นพลเมืองตรงนี้หมายถึงการเป็นสมาชิก "เต็มขั้น" ของสังคมหรือของประชาคมโลก ดังนั้นบริษัทมิได้หยิบ CSR มาเป็นเครื่องประดับการทำงาน แต่นำมาเป็นหัวใจ อย่างน้อยห้องหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ

แนวความคิดการเป็นพลเมืองของ โลก เป็นแนวคิดที่ต่อเนื่องจาก CSR โดยมี มุมมองว่าบริษัทที่เดินทางสาย CSR นั่นจะสามารถสมานผลประโยชน์ของบริษัทเข้ากับผลประโยชน์และสิทธิของผู้ที่มี ส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในบริษัทและภายนอกบริษัทอย่างแท้จริงและยั่งยืน ตั้งอยู่บนความเชื่อว่าบริษัททุกบริษัทล้วนแล้วแต่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่คน บางคน หรือคนบางกลุ่มในสังคม แต่คุณค่าจะเกิดเฉพาะกลุ่มนั้น หรือสามารถเกิดผลประโยชน์แก่คนหมู่มาก หรือสังคมโดยรวมแค่ไหน หรือในทางกลับกันขณะที่เกิดผลดีแก่คนบางกลุ่ม บริษัทนั้นก่อให้เกิดผลเสียแก่คนอีกจำนวนหนึ่งไหม

ดังเช่น อุตสาหกรรมหรือบริษัทที่ทำงานโดยอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ ในกระบวนการผลิต หรือบริษัทที่ปล่อยของเสียก่อให้เกิดผลเสียทางสิ่งแวดล้อมทั้งในระยะสั้นและ ระยะยาว ทั้งในยุคปัจจุบันจนถึงยุคลูกหลานใน

อนาคตของเรา ซึ่งดูได้จากภาวะโลกร้อนที่เรากำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้เกิดจากการกระทำของ มนุษย์ อันรวมถึงการทำงานของบริษัทและองค์กรทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ที่สะสมก่อตัวมาเป็นร้อยๆ ปี



หนังสือ Beyond Good Company-Next Generation Corporate Citizenship ของเบรดลี่ กูกิน, ฟิลิป เมอร์วิส และสตีเว่น โรชิน หยิบยก เรื่องความเป็นพลเมืองของบริษัท หรือ corporate citizenship เป็นหัวใจของหนังสือ และให้นิยามว่าความเป็นพลเมืองของบริษัทมีรากความคิดอยู่ในเรื่องของ จริยธรรม และจรรยาบรรณของธุรกิจ หรือการตั้งอยู่บนฐานของความดี หรือการกระทำเพื่อความดีของส่วนรวม ความรับผิดชอบที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย และการปฏิบัติภายในกฎเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับ เช่น กฎหมาย มาตรฐานด้านธุรกิจ หลักจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพหรือธุรกิจ

การปฏิบัติภายใต้ กรอบกฎหมายและหลักจรรยาบรรณ ธุรกิจต่างๆ สามารถทำได้พอดีกับหลักปฏิบัติเหล่านั้น หรือตัดสินใจที่จะยึดหลักปฏิบัติดำเนินธุรกิจที่สูงกว่าหลักพื้นฐานของ กฎหมาย หรือกฎเกณฑ์จรรยาบรรณทั่วไป เช่นการทำให้ระดับมาตรฐานที่สูงกว่าข้อกำหนดทางกฎหมายในการจัดความปลอดภัย กับพนักงาน หรือการทำเกินข้อกำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม

Beyond Good Company จึงหมายถึงการอยู่ในภาวะมากกว่าและดีกว่าการเป็น "บริษัทที่ดี" ทั่วไป หรือการก้าวสู�แนวหน้าเกินกว่ามาตรฐานปกติ

สำหรับ คนทั่วไปอาจจะมองจากภายนอกว่าบริษัทที่ดีเป็นบริษัทที่มีการ "ให้ต่อสังคม" โดยการช่วยเหลืองานด้านสังคมสิ่งแวดล้อม แต่การ "คืนแก่สังคม" มีหลายรูปแบบมากมายกว่าการบริจาคแต่อย่างเดียว เช่น การปฏิบัติตามกฎหมาย การปฏิบัติตามกรอบมาตรฐานรักษาสิ่งแวดล้อม หรือการเป็นนายจ้างที่ดี สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลต่อการยกระดับทางสังคมโดยรวมทั้งสิ้น

หนังสือ Beyond Good Company อธิบายว่า ผลกระทบของบริษัทต่อสังคม ไม่ว่าจะแง่ลบหรือแง่บวกเกิดขึ้นจากวิธีการดำเนินธุรกิจมากที่สุด อันรวมถึงการตัดสินใจเลือก และวิธีทำธุรกิจกับบรรดา suppliers ของบริษัท (ผู้จัดหาและส่งสินค้าแก่บริษัท) และ distributor (ผู้รับขายสินค้าจากบริษัทเพื่อกระจายต่อผู้บริโภค) ภาคีเชิงธุรกิจ (เช่น ธนาคาร สถาบันการเงิน) และกระบวนการอื่นๆ จนสินค้านั้นถึงผู้บริโภค บริษัทขนาดใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่ในเรื่องการจัดการ ด้านสินค้า วัตถุดิบ หรือบริการ เพื่อส่งต่อแก่ร้านค้าย่อย หรือร้านที่ติดต่อ ผู้บริโภคโดยตรง ค่าใช้จ่ายที่มีส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งอยู่ที่เงินเดือนและค่าใช้จ่ายที่ เกี่ยวข้องกับพนักงาน ดังนั้นผลกระทบของบริษัทต่อสังคมย่อมเกิดจากวิธีการดำเนินธุรกิจมากกว่าจะ เกิดจากการช่วยเหลือสังคมเป็นครั้งๆ

การริเริ่มกิจกรรมที่อยู่ใน ข่ายความรับผิดชอบของบริษัท หรือ CSR และการก้าวเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบต่อสังคม มีนัยในเรื่องการลดผลเสียที่เกิดการทำธุรกิจให้น้อยที่สุด minimize harm และการเพิ่มผลประโยชน์สูงสุด maximize benefit ผลประโยชน์หรือคุณค่าตรงนี้เป็นคุณค่าที่ตกแก่คนหมู่มาก ไม่ว่าจะผู้ถือหุ้น ผู้บริโภค ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิต สังคมและ สิ่งแวดล้อมโดยรวม

การใช้ CSR เป็นวิถีดำเนินงาน แต่ไม่ใช่เป้าประสงค์ในตัวเอง และการตั้งเป้า ประสงค์ในการเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมและของโลกจะช่วยให้ผู้บริหารมองเห็น ภาพรวม และวางยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจได้ชัดเจน

ทุกวันนี้โลกใบ นี้ของเราประสบปัญหามากมาย ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ความขัดแย้งทางการเมืองที่สร้างความแตกแยกทางสังคม การตกงานอันเป็นผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจ และล่าสุดโรคระบาดที่สามารถทำลายชีวิตมนุษย์จำนวนมากมาย เราไม่อาจปฏิเสธว่าปัญหาที่เกิดขึ้นหลายอย่าง เกิดจากประเด็นทางเศรษฐกิจ และผลของการขยายตัวของธุรกิจที่ขาดการกำหนดขีดขั้นความพอดี และมิได้คำนึงถึงผลกระทบในแง่ของความเสียหายต่อชีวิต เราเรียนรู้ว่าลำพังภาครัฐและกฎหมายไม่สามารถป้องกันหรือหยุดยั้งวิกฤตเหล่า นี้ได้

พลังที่ยังไม่ได้เดินหน้าอย่างจริงจัง คือ ภาคธุรกิจเอกชน หากจะตั้งเป้าสู่การเป็นพลเมืองที่ดี สร้างคุณค่าทางสังคม ทั้งโดยการช่วยเหลือ และโดยวิธีดำเนินงานทางธุรกิจ จะเป็นคลื่นของการเปลี่ยนแปลงในแง่บวก เพื่อตอบรับและเอาชนะวิกฤตต่างๆ ที่โลกและมวลมนุษย์กำลังเผชิญอยู่ได้อย่างดี


ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03110552&day=2009-05-11&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: