วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

สร้างคุณค่า "ห่วงโซ่สังคม"

สร้างคุณค่า "ห่วงโซ่สังคม" ติดปีก "ขีดแข่งขัน" องค์กร


ไม เคิล อี. พอตเตอร์ กูรูด้านการตลาดและการจัดการเคยเสนอแนวคิดในการสร้างความได้เปรียบในเชิงการ แข่งขัน ด้วยแนวคิดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain)

เพราะเชื่อว่าในทุกกระบวนการของการดำเนินธุรกิจนั้นมีผลต่อการเพิ่มคุณค่าต่อผลิตภัณฑ์ การบริการ หรือการจำหน่าย

" การเพิ่มมูลค่าในทุกๆ จุดของกระบวนการในการดำเนินธุรกิจ เป็นสิ่งที่พอตเตอร์บอกในแนวคิดห่วงโซ่คุณค่าของเขา เช่น ถ้าองค์กรมีเป้าหมายกำไรสูงสุดเป็นตัวตั้ง ก็จะต้องเพิ่มมูลค่าทุกอย่างไปในทุกจุดเพื่อให้เดินไปถึงเป้าหมายที่ว่านั้น " ผศ.ดร.กฤตินี ณัฐวุฒิสิทธิ์ นักวิชาการด้านการตลาด แห่งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร ศาสตร์ กล่าว

เพียงแต่ในวันนี้ "ห่วงโซ่ของคุณค่า" ในแบบเดิมอาจจะไม่เพียงพอ

ยิ่งใน "วิกฤต" เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญหน้า

" ถ้าเรามองวิกฤตจะเห็นว่าปัญหาความล้มเหลวของเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาค จุลภาค มีปัญหาหลักอยู่เรื่องเดียวคือความสมดุล ไม่ว่าการขาดความสมดุลของการไปขอเครดิต การขาดความสมดุลของการปล่อยกู้ ดังนั้นเพียงกำไรสูงสุดอาจจะไม่ใช่คำตอบของการนำพาองค์กรไปสู่ความยั่งยืน ได้ แนวคิดของการสร้างคุณค่าใน ห่วงโซ่ของสังคม (Creating Social Value Chain) จึงเกิดขึ้น"

แม้ปัจจุบันจะยังอยู่ในระหว่างการถกเถียงและหา ข้อสรุป ว่ารูปแบบของการสร้างคุณค่าในห่วงโซ่สังคมจะเป็นอย่างไร แต่จากการพูดถึงเรื่องนี้อย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา กำลังตอบว่า การจะนำพาองค์กรไปสู่ความยั่งยืนได้ จำเป็นต้องคำนึงถึงทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ในแนว คิดการสร้างคุณค่าในห่วงโซ่ของสังคม (Creating Social Value Chain) จึงหมายถึงการที่องค์กรและสังคมจะเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กันได้อย่างไร

" เวลาเราพูดถึงการสร้างคุณค่าในห่วงโซ่สังคม คนมักจะนึกไปถึงองค์กรพัฒนาเอกชน แต่วันนี้เรากำลังพูดถึงการนำแนวคิดนี้มาใช้ในองค์กรธุรกิจ ที่สุดท้ายก็ยังต้องพูดถึงเรื่องกำไร เพียงแต่จะทำอย่างไรให้มีกำไรไปพร้อมกับความยั่งยืนของสังคม ซึ่งก็อาจจะเหมือนภาพเดิมในมุมของห่วงโซ่คุณค่า แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือการเพิ่มมิติทางสังคมเข้าไปในทุกๆ จุด นอกจากนั้นในแนวคิดนี้ยังเป็นการเพิ่มคุณค่าไปทีละจุด โดยไม่ได้ดูที่เป้าหมาย

เป็นตัวตั้งเหมือนแนวคิดเดิม เพราะจากบทเรียนขององค์กรจำนวนมากก็บอกกับเราว่า การที่ทำให้คนเห็นภาพรวมในการสร้างคุณค่าให้กับสังคม จะทำให้แต่ละจุดสามารถพัฒนาได้ด้วยตัวเอง โดยที่เราไม่ต้องตั้งเป้าหมายและคิดว่าจะใส่อะไรมาเพื่อเพิ่มคุณค่า" ผศ.ดร.กฤตินีกล่าว

คิดใหญ่ ไม่คิดเล็ก

คล้ายกับสิ่ง ที่ "ซีเอ็ด" หนึ่งในผู้นำในกลุ่มธุรกิจสำนักพิมพ์และร้านหนังสือใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา องค์กร ซึ่งเรียนรู้จากประสบการณ์ "ทนง โชติสรยุทธ์" กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด ถ่ายทอดประสบการณ์ในการบริหารองค์กรไว้ว่า 34 ปีมาแล้วที่ซีเอ็ดเริ่มต้นธุรกิจนี้จากกลุ่มคนที่เป็นวิศวกร และเป็นนักกิจกรรม ด้วยเป้าหมายที่ต้องการจะเอื้ออำนวยให้คนไทยสามารถศึกษาหาความรู้ ในสาขาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ แม้ในช่วงแรกจะล้มลุกคลุกคลาน เพราะ ต่างคนต่างไม่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ แต่เมื่อพอตั้งหลักได้ พวกเขาตั้งคำถามว่า จะสร้างความสมดุลอย่างไร ระหว่างความยั่งยืนทางธุรกิจกับอุดมการณ์

โดยเอาปัญหาในการพัฒนา ประเทศมาเป็นโจทย์ในการทำธุรกิจ "เราพยายามสร้างวัฒนธรรมองค์กรในแบบนี้ คิดใหญ่ ไม่คิดเล็ก เราจะทำในสิ่งที่เป็นการบุกเบิก และทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ"

ธุรกิจหนึ่งของ "ซีเอ็ด" เป็นตัวอย่างการเกิดขึ้นของโรงเรียนเพลินพัฒนา เป็นหนึ่งในความพยายามที่จะตอบโจทย์ปัญหาสังคมที่ว่า ด้วยการสร้างโรงเรียนให้เด็กไทยสู้ ต่างชาติได้ ไม่เพียงพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ปัจจุบันพบว่า เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 มีสาเหตุการเสียชีวิตลำดับแรก มาจากการจมน้ำ จึงมีการผลักดันให้มีวิชาการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ร่วมกับภาคีเพื่อพัฒนาโครงการที่จะขยายองค์ความรู้เรื่องนี้ไปยังครูใน โรงเรียนต่างๆ และเป็นตัวอย่างของความพยายามเชื่อมโยงโจทย์ของประเทศเข้ากับธุรกิจโดยที่ ไม่มีต้นทุนเพิ่มขึ้น และเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ไม่ต้องลงทุน

ทุกจุดเชื่อมโยงกัน

ผศ. ดร.กฤตินีบอกว่า "การสร้างคุณค่าห่วงโซ่สังคม เป็นการมองภาพแบบองค์รวม (Holistic) มองว่าทุกอย่างมีความสัมพันธ์กันตั้งแต่ต้น และไม่จำเป็นต้องเริ่มนับจาก 1 ไป 2 จาก 2 ไป 3 จนไปถึงเป้าหมาย แต่การมองแบบนี้จะมองความสัมพันธ์ทั้งหมดจาก 1 ถึง 5 เป็นภาพเดียวกัน เหมือนกรณีของซีเอ็ด จะเห็นว่าเขาสามารถทำให้ พนักงานในภาพรวมมองเห็นว่าธุรกิจที่ทำคือการพัฒนาคน ซึ่งแต่ละจุดก็มุ่งที่จะพัฒนาตัวเอง โรงเรียนก็อาจจะไม่ได้มองว่าจะต้องเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจของซีเอ็ดอย่างไร แต่การที่เห็นภาพรวมของธุรกิจชัดทำให้โรงเรียนพยายามพัฒนาตัวเอง ที่ท้ายที่สุดก็นำมาสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ ที่อาจจะ สามารถเปรียบเทียบได้กับการสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นในทุกจุด เช่นเดียวกับที่คุณโชค (โชค บูลกุล) บอก"

เริ่มต้นที่พนักงาน

จาก ประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจเช่นฟาร์มโชคชัยมาเป็นเวลากว่า 17 ปี "โชค" พบว่าสิ่งที่นำพาฟาร์มโชคชัยให้ก้าวยืนบนความสำเร็จได้ในวันนี้ กระทั่งวิกฤต ที่ส่งผลกระทบไปทั่ว ยังไม่สามารถสั่นคลอนการเติบโต เป็นเพราะการบริหารความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Steakholder) โดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนได้ ส่วนเสียที่ใกล้ชิดกับองค์กรมากที่สุดคือ พนักงาน

"ผมว่าสิ่งที่ เราทำมาตลอดที่ทำให้กระทั่งในช่วงวิกฤตอย่างวันนี้เราก็สามารถเติบโต สิ่งสำคัญมาจากการที่เราพยายามสร้างความสุขให้เกิดขึ้นภายในองค์กร สำหรับเรา ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ไม่ใช่การปลูกต้นไม้ แต่เป็นการปลุกจิตสำนึกให้เขา สร้างแรงบันดาลใจและ ส่งเสริมให้เกิดการทำดี ซึ่งจะนำมาสู่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรและสามารถสัมผัสได้จากการที่ผู้บริโภค ใช้สินค้าและบริการ และเชื่อว่าการทำในสิ่งที่ถูกต้องจะมีที่มีทางให้ลง และนำมาสู่การสร้างคุณค่าขององค์กรและสังคมตามมา" โชค บูลกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟาร์มโชคชัยกล่าว

สร้างการมีส่วนร่วม

การ บริหารความสัมพันธ์กับ "พนักงาน" จึงเป็นเหมือนจุดเริ่มต้น ที่การก้าวสู่การสร้างคุณค่าในห่วงโซ่สังคม ที่จะนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนขององค์กร ดังนั้นหากจะกล่าวโดยสรุป ผศ.ดร.กฤตินีบอกว่า "เราจะเห็นว่าทุกธุรกิจที่สร้างคุณค่าได้จากการสร้างความสมดุลในการทำธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมนั้น เอาพนักงานเป็นตัวตั้ง เมื่อพนักงานมีความสุข ทำงานมีประสิทธิภาพ ก็นำไปสู่ความสุขของลูกค้าที่ได้รับบริการ พอลูกค้ามีความสุข ผลตอบแทนของบริษัทก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การสร้างความพอใจของผู้ถือหุ้น เพียงแต่ต้องเป็นความพึงพอใจแบบมีส่วนร่วม โดยไม่ได้พอใจแต่กำไร แต่ต้องมีความสุขกับการพัฒนาสิ่งดีๆ เหล่านี้ให้ดำรงอยู่ต่อไป ซึ่งก็จะเป็นแรงกลับมาทำให้พนักงานและองค์กรสามารถสร้างคุณค่าต่อสังคมให้ เดินไปอย่างต่อเนื่อง"

และจะทำเช่นนี้ได้ย่อมต้องอาศัยการมีส่วนร่วม จาก "ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย" ที่เกี่ยว ข้องกับองค์กรทั้งหมด เพราะในโลกความเป็นจริงทางธุรกิจ ไม่มีใครเป็น "ซูเปอร์ ฮีโร่" และอยู่ได้เพียงลำพัง !!


ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01040552&day=2009-05-04&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: