วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

สร้าง"องค์กรยั่งยืน" ด้วยห่วงโซ่ทางสังคม



วิกฤต สังคมในวันนี้มีความซ้ำซ้อนมากเกินกว่าธุรกิจจะเข้าถึงต้นสายปลายเหตุของ ปัญหาต่างๆ ได้ ตัวอย่างความขัดแย้งทางสังคมที่เกิดขึ้นในวันนี้ชี้ให้เห็นว่าภาคการเมืองมิ ได้มองเห็นปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้ง เพียงแต่มองไม่พ้นประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องของตนเองเท่านั้น ธุรกิจก็เช่นกันหากยังมีวิธีคิดการทำธุรกิจแบบมี CSR ในกระบวนทัศน์ ที่ไม่ไกลจากวิชาการบริหารกลยุทธ์ทางธุรกิจทั่วไป เราอาจจะจมตัวเองลึกลงไปในกองปัญหาความซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้นจากหลายเหตุปัจจัย อย่างไม่รู้ตัวก็ได้

และเป็นการจำกัดพลังหรือผลประโยชน์ของ CSR ต่อการสะท้อนคุณค่าแท้จริงขององค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะคุณค่าที่สร้างสรรค์ในการเป็นผู้นำที่ร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือสุขภาวะของผู้คนในสังคม

เมื่อสำรวจดูกระแสเรียกร้องขององค์กร ระหว่างประเทศต่างๆ โดยเฉพาะ ISO 26000 ฉบับร่างคณะกรรมการ (committee draft) มีการย้ำจุดสำคัญๆ ที่น่าสนใจหลายประเด็น

1.core value สิ่งที่เป็นแกนกลาง คือการมีหลักธรรมาภิบาลที่ภาคธุรกิจพึงมี เป็นแกนกลางของทุกๆ หน่วยงาน ซึ่งนั่นก็คือจุดตั้งต้นของการแสดงออกถึงการเป็นพลเมืองที่ดีของภาคธุรกิจ

2.seven issues องค์ประกอบทั้ง 7 ประเด็นนั้นเป็นคำแนะนำที่เชิญชวนให้ธุรกิจหันกลับมาดูนโยบาย กลยุทธ์ และลักษณะการดำเนินงานของตนเองว่าได้มีทำอะไรอยู่แล้ว (due diligence) โดยที่ไม่ได้มีความพยายามบอกว่า CSR คือเรื่องใหม่ หรือเป็นเรื่องการพัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจแต่ อย่างไร



3.adaptation to local context ได้มีการบอกที่มาของแนวคิดองค์ประกอบของแต่ละประเด็นเป็นการแสดงแนวทางให้ ธุรกิจสามารถประยุกต์ให้เข้ากับธุรกิจของตัวเอง ทั้งมีการกระตุ้นให้พิจารณาถึงความเป็นลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น (local context)

4.integrity and social responsibility ความจริงใจและจิตสำนึก เป็นบ่อเกิดสำคัญส่วนหนึ่ง ต้องเริ่มที่ผู้นำเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่ผู้ตามและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นมีความสำคัญมิได้แตกต่างกัน กลับเป็นตัวรั้งการพัฒนาที่ยากกว่า การไม่เริ่มที่ผู้นำในบางกรณีด้วยซ้ำไป

5.creating social value chain through stakeholder engagement แม้ว่า ISO 26000 ฉบับ committee draft จะไม่ได้กล่าวเรื่องนี้โดยตรง แต่เมื่ออ่านทุกตัวอักษรได้มีการพูดถึงเรื่อง value chain ในการโยงใยความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละประเด็น รวมถึงการคำนึงถึง stakeholder engagement เป็นภาคส่วนสำคัญในการเข้ามามีส่วนร่วมนี้

หากสังคมไทย จะก้าวข้ามไปที่ความหมายธรรมดาสามัญในฐานะการเป็นพลเมืองที่ดีของธุรกิจ การคิดเพียงสร้างห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ของภาคธุรกิจ ก็ยังเป็นรูปแบบแนวคิดการบริหารแบบเดิมๆ ที่เชื่อมโยงภายในการดำเนินธุรกิจ การจะก้าวข้ามมาสู่การสร้างพลังทางสังคมของภาคธุรกิจต้องดูเส้นสายของ value chain ที่ยาวขึ้นโดยมีสังคมเป็นตัวตั้ง และมองให้เห็นห่วงโซที่ยาวมากพอที่จะเชื่อมโยงไปที่คนรุ่นลูกรุ่นหลาน ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม

การเห็นและลงมือทำเช่นนี้แล้ว จะเห็นว่า CSR เป็นคุณค่าและเป็นหลักคิดของการพัฒนาการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืน ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ของ CSR ที่เรียกว่า corporate sustainable responsibility หรือการสร้าง "องค์กรยั่งยืน" ด้วยห่วงโซ่ทางสังคมจากความรับผิดชอบที่ยั่งยืนขององค์กร โดยที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญในการสร้างห่วงโซ่ (ความสัมพันธ์) เพื่อคุณค่าสูงสุดทางสังคม (social value creation maximization) กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ด้วยการคำนึงถึง triple bottom line ได้แก่ การพิทักษ์รักษาสภาวะแวดล้อม (ecology) การสร้างผลตอบแทนและผลกระทบที่ดีต่อสังคม (social) และหลักการบริหารจัดการที่เป็นธรรม ถูกต้อง และโปร่งใส ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม (governance) ควบคู่สอดคล้องไปกับเป้าหมายเรื่องผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ อันเป็นปัจจัยหลักในการสร้างความมั่นคงและสนองตอบความเจริญเติบโตขององค์กร ในระยะยาวอย่างแท้จริง

โดยมิติที่สำคัญของความยั่งยืนในองค์กรคือ การสร้างความมีส่วนร่วมของ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders engagement) ขององค์กร ด้วยความจริงใจ มีความเชื่อถือไว้ใจและความเคารพซึ่งกันและกัน

แม้เมื่อเกิดปัญหา ใดๆ ธุรกิจก็จะสามารถแก้ปัญหาและดำเนินกิจการร่วมกับสังคมไปได้อย่างยั่งยืน และเป็นปัจจัยหนึ่งต่อความสำเร็จและความเข้มแข็งขององค์กรในการฝ่ามรสุมทาง เศรษฐกิจ และสภาวะการเปลี่ยนแปลงจากทั้งภายในและภายนอกองค์กรได้เป็นอย่างดี

สนใจ สามารถเข้าร่วมงานเสวนาในหัวข้อ "องค์กรยั่งยืนด้วยห่วงโซ่สังคม และพลังร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย" ที่จัดโดย CSRI และเดอะ เน็ทเวิร์ค ได้ในวันพุธที่ 29 เมษายน 2552 เวลา 08.30-12.30 น. ห้องศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03270452&day=2009-04-27&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: