วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

CSR-DIW เวอร์ชั่น 2 "เข้ม" รับโค้งสุดท้าย ISO26000




เวลา เพียง 9 นาทีเท่านั้นก็ต้องปิดรับสมัครหลังจากที่ โครงการส่งเสริมการแสดงความรับผิดชอบของโรงงานอุตสาหกรรมต่อสังคม (Corporate Social Responsibility, Department of Industrial Works : CSR-DIW) ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดให้โรงงานสมัครเข้าร่วมโครงการนำร่องในการใช้มาตรฐาน CSR ครั้งแรกของไทยเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อเตรียมผู้ประกอบการรับมือมาตรฐานว่าด้วย ความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000

จึงไม่แปลกที่เมื่อโครงการนี้ประกาศ เปิดโครงการอีกครั้งในปีที่ 2 ซึ่งได้มีการพัฒนามาตรฐาน CSR-DIW เวอร์ชั่นใหม่ ตามประกาศของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่องมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม พ.ศ.2552 ที่พัฒนามาจากร่าง ISO26000 ฉบับล่าสุด (Commitee Draft) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมเรดิสัน พระราม 9 จึงมีผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมเข้าร่วมทะลักทลายกว่า 350 คน

เพียง แต่ในปีนี้ โอกาสของผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา โดยมีการ ตั้งเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการสำหรับปี 2552 ไว้ถึง 80 ราย จากปี 2551 ที่มี ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับการฝึกอบรม และผ่านการตรวจประเมินตามเกณท์มาตรฐาน 28 โรงงาน และเช่นเดียวกันในปีนี้จะแตกต่างจากปีที่ผ่านมา โดยมีการกำหนดสัดส่วนของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไว้ที่ 60% และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อีก 40%

"ประชาชาติ ธุรกิจ" มีโอกาสพูดคุยกับ "รัชดา สิงคาลวณิช" อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ถึงทิศทางในเรื่องนี้ เขากล่าวว่า "ในปีนี้เรามีงบประมาณเพิ่มขึ้นมาเป็น 20 ล้านบาท จากปีแรกที่เราใช้งบประมาณเพียง 3 ล้านบาท ซึ่งกว่ามาตรฐาน ISO26000 จะประกาศใช้ เราสามารถมีโรงงานที่เตรียมพร้อมรับได้ถึง 100 กว่าโรงงาน อย่างไรก็ตามในปีนี้เราจะให้ความสำคัญกับเอสเอ็มอีมากขึ้น เพราะเราต้องการทำให้เห็นว่า ไม่ว่าจะธุรกิจขนาดใดก็สามารถทำ CSR ตามมาตรฐานได้"

"เวลาเราเข้าไป เราจะพยายามทำความเข้าใจ อบรมพื้นฐานเรื่อง CSR และให้เขาเข้าใจมาตรฐานและหลักเกณท์ก่อน จากนั้นให้เขาทำตามเกณฑ์และเราจะเข้าไปตรวจสอบ (audit) คล้ายๆ กับระบบคุณภาพทั่วๆ ไป เพียงแต่อันนี้เป็นเรื่องของความสมัครใจ บางประเด็นอาจจะมีในเกณฑ์ แต่ถ้าในธุรกิจเขาไม่เกี่ยวข้องเลย เช่น บางแห่งไม่มีแรงงานเลย มีแต่ออโตเมติกหมด เราก็จะพิจารณาธรรมชาติของแต่ละอุตสาหกรรมด้วย"

"เวลาเราเข้าไปดู ทุกคนก็อยากผ่านเกณฑ์ แต่เราก็ต้องไปดูให้เห็นจริง เราก็ได้เห็นตัวอย่างที่หลากหลายมาก อย่างในประเด็นชุมชน มีโรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่งมีวิศวกร นักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก วันเสาร์ อาทิตย์ คนพวกนี้ก็ออกไปสอนหนังสือให้เด็ก อันนี้ไม่ได้ใช้เงิน แต่ก็เป็น CSR เหมือนกันไม่ใช่แจกของอย่างเดียว"

"การที่มีตัวอย่างแบบนี้ตอน นี้ในกลุ่ม ผู้เข้าร่วมโครงการเราจึงพยายามพัฒนาเป็นเครือข่าย เพราะเรารู้ว่ากรมโรงงานทำคนเดียวไม่ได้ เราเป็นคนจุดประกายขึ้นมาแล้ว แต่ธุรกิจเองก็ต้องช่วยกันเป็นเหมือนเพื่อนช่วยเพื่อน พี่ช่วยน้อง"

อย่าง ไรก็ตาม ปีนี้เขายอมรับว่า มาตรฐานจะเข้มข้นขึ้น โดยหัวใจหลักของมาตรฐาน CSR-DIW เวอร์ชั่นใหม่นี้ มุ่งไปที่การพัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเป็นระบบทั้งองค์กร โดยยึดหลักการใน 7 เรื่อง ได้แก่ 1.หลักความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ 2.หลักความโปร่งใส3.หลักการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม 4.การยอมรับผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ชุมชน ลูกค้าผู้ถือหุ้น คู่ค้า ผู้ออกกฎระเบียบ ฯลฯ ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบในการดำเนินงานขององค์กร 5.หลักการเคารพต่อนิติธรรม คือการดำเนินกิจกรรมอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย หรือมากกว่า 6.หลักการเคารพต่อแนวปฏิบัติสากล และ 7.หลักการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน อาทิ การเป็นพลเมือง การศึกษา การได้รับการครองชีพที่ดี ไม่เลือกปฏิบัติกับผู้ที่มีความแตกต่างทางศาสนา เชื้อชาติ สีผิว

"ถ้าดูตามมาตรฐานนี้ เราจะเห็นว่า CSR เป็นอะไรที่มากกว่าการเอาของไปมอบ การเอาผ้าห่มไปให้ ฉะนั้นเราอยากให้มอง CSR ในมุมกว้างกว่านั้น เพราะจะว่าไป มาตรฐาน ISO26000 ก็เป็นระบบคุณภาพที่บูรณาการรอบตัวในทุกมิติ และในทิศทางของการพัฒนาอุตสาหกรรมเรามองว่า CSR เป็นทางออกที่ดีที่สุดในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน และไม่ว่าโรงงานขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ทำได้"

"และยังช่วยลดภาระของ รัฐที่จะต้องคอยไปตามจับ โดยในแต่ละปี มีโรงงานที่ถูกร้องเรียนกว่า 1000 ราย กรมโรงงานก็เหมือนจราจร คนฝ่าฝืนก็จับ ก็วิ่งตามกันอยู่อย่างนั้น ก็ไม่หมด ดังนั้นเราถึงพยายามส่งเสริมเรื่อง CSR เพราะความ รับผิดชอบต้องอยู่ในจิตสำนึกคน ต้องฝังอยู่ในเจ้าของโรงงาน"

"CSR ยังเป?นมิติหลักของโลกไม่ใช่มิติระดับพื้นที่ โรงงานก็ต้องต่อสู้ในเรื่องลดภาวะโลกร้อน ต้องมีกิจกรรมในการดำเนินการปรับปรุงโรงงาน ต้องมีอยู่ในนโยบาย เพราะทันทีที่ ISO26000 ประกาศในปี 2553 ยังไง CSR ก็จะเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าแน่นอน และมีแนวโน้มสูงที่สหภาพยุโรปจะประกาศทันทีว่าบริษัทที่จะค้าขายกับเขาต้อง มีมาตรฐานนี้ เพราะฉะนั้น CSR ถึงมีความจำเป็น และในที่สุดเราก็ต้องยอมรับความจริงว่าเป็นวิวัฒนาการของโลก"

และเป็นอนาคตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง !!

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01230352&day=2009-03-23&sectionid=0221



ไม่มีความคิดเห็น: