วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

มาตรฐาน Carbon Footprint

มาตรฐาน Carbon Footprint โลกร้อนใกล้ตัวกว่าที่คิด


กระแส การตื่นตัวเรื่องโลกร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลกอาจจะดูเป็นเหมือนเรื่องไกลตัว สำหรับใครหลายคน โดยเฉพาะกับธุรกิจในไทยที่แม้จะทำกิจกรรมเพื่อสังคม มีการณรงค์มากมายในช่วงที่ผ่านมา แต่จะมีสักกี่องค์กรที่ใส่ใจในเรื่องนี้อย่างเป็นจริงเป็นจัง

หากแต่ การคิกออฟมาตรฐาน PAS Publicly Avialable Specification เมื่อปลายปีที่ผ่านมาของสหราชอาณาจักร ถือเป็นสัญญาณสำคัญที่ทำให้ปัญหาโลกร้อนกำลังเข้ามาใกล้ธุรกิจมากอีกระดับ

" ถ้าจะอธิบายง่ายๆ มาตรฐานที่ออกมานี้เป็นการแก้ไขปัญหาในฝั่งของผู้ผลิตว่าจะต้องดูแลการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรของการทำธุรกิจ โดยพยายามวัดให้ออกมาเป็นตัวเลข ด้านหนึ่งเพื่อดูว่าบริษัทปล่อยก๊าซออกมาเท่าไร ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง เมื่อมีการวิเคราะห์แล้วบริษัทก็สามารถรู้ได้ว่าปัญหาเกิดขึ้นที่ตรงไหน และจะได้ไปลดในจุดนั้น" ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง อาจารย์จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ประสานงานโครงการวิจัยเชิงรุก เรื่องการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือภายใต้กรอบ Thailand-EC Cooperation Facility พยายามอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นให้ฟัง

เตือนผู้ประกอบการเร่งรับมือ

" ในเวลาเดียวกัน โดยหลักการอังกฤษเชื่อว่า การจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ต้องทำทั้งฝั่งผู้ผลิตและฝั่งของผู้ บริโภค จึงต้องมีฉลากคาร์บอนติดที่บรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้บริโภค รับรู้ว่า สินค้าที่เขาซื้อไปนั้นมีการปล่อยก๊าซเท่าไหร่"



และ นั่นหมายถึงมาตรฐานที่ว่าจะส่ง ผลกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ส่งออกและซัพพลายเชนของผู้ที่ส่งออกไปยังอังกฤษ เพราะแม้ตอนนี้ยังไม่มีการบังคับใช้มาตรฐาน และยังทำให้ธุรกิจทำโดยสมัครใจ แต่ความเคลื่อนไหวในเวลานี้ธุรกิจค้าปลีกไม่เพียง แต่ในอังกฤษ แต่รวมถึงฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ ต่างก็ขานรับมาตรฐานนี้

"การที่ธุรกิจค้าปลีกขานรับมาตรการนี้จึงเป็นสิ่งที่ชัดเจนในเรื่องผลกระทบ เพราะต้องยอมรับว่าเป็นกลุ่มที่มีพลังมาก ลูกค้าจะซื้อสินค้าอะไรก็อยู่ที่ว่าเขาจะเลือกวางอะไร การประกาศของเทสโก้ก็ชัดเจนว่า ปีที่ผ่านมาเขาต้องมีสินค้าอย่างน้อย 30 ประเภทที่ติดฉลากคาร์บอน เขาจึงเริ่มเข้าโครงการนำร่องของ PAS กับสินค้าที่เป็นแบรนด์ของตัวเองก่อน ในฝรั่งเศส ใน สวิตเซอร์แลนด์ก็มี หรืออย่างในสหรัฐ อเมริกาก็มีวอลมาร์ตที่เห็นด้วย ถึงแม้เราจะไม่รู้เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังของการขานรับมาตรการนี้ของกลุ่ม ธุรกิจค้าปลีกว่าทำเพราะอยากสร้างภาพลักษณ์ อยากจะให้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม หรืออยากจะป้องกันความเสี่ยงของตัวเอง แต่ที่แน่ๆ ก็คือสิ่งเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการจัดซื้อ"

เพรซิเดนท์ฯแต่งตัวรับมือ

" สดใส หาญชนะ" กรรมการบริหารบริษัทและผู้จัดการตลาด บริษัท เพรซิเดนท์ ไรซ์โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริษัท เพรซิเดนท์อินเตอร์ฟูดส์ หนึ่งในบริษัทที่กำลังอยู่ในระหว่างการนำคาร์บอนฟุตพรินต์เข้าไปใช้ใน องค์กรบอกว่า "ที่เราสนใจทำเรื่องนี้ เพราะเราเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลก และพบว่าปัญหาโลกร้อนเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการพูดถึงมากในช่วงที่ผ่านมา และปัจจุบันเราผลิตเพื่อการส่งออกถึง 40% บวกกับการที่บริษัทให้ความสำคัญในเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม เชื่อว่าการเตรียมการของเราไม่เพียงแต่จะรองรับมาตรการเหล่านี้ที่ลูกค้าให้ ความสำคัญในอนาคต แต่ในเวลาเดียวกันอาจจะเป็นการสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าด้วย เพราะตอนนี้อย่างเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้ง จีนก็ผลิตได้ เวียดนามก็ผลิตได้ การใส่คุณค่าในเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไป จึงถือว่าเป็นความได้เปรียบ"

ความ ยากของการจะเข้าสู่การใช้มาตรฐานนี้อยู่ที่การเก็บข้อมูล ซึ่ง ดร.รัตนาวรรณบอกว่า "ถือเป็นเรื่องที่ยากที่สุดสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี เพราะข้อมูลที่จะต้องวิเคราะห์ทั้งตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์นั้นไม่ เพียงแต่จะต้องเก็บทุกขั้นตอนในกระบวนการผลิตของเราเอง แต่ยังต้องขอข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับเราทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องยาก"

นโยบายเชิงรุกของ "ซีพีเอฟ"

อย่าง ไรก็ตาม แม้ว่าจะยาก แต่สำหรับยักษ์ใหญ่อย่าง "ซีพีเอฟ" กลับเชื่อว่านี่จะกลายเป็นอนาคตที่สำคัญ นายสัตวแพทย์บุญเพ็ง สันติวัฒนธรรม รองกรรมการ ผู้จัดการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "การที่เราสนใจเข้าร่วมโครงการนำร่องในการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพรินต์ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรและสหภาพยุโรป เพราะนี่ถือเป็นนโยบายเชิงรุกของบริษัท เพราะเนื้อไก่ของเราส่งออกไปยังยุโรป 100% ซึ่งที่นั่นมีกรีนคอนซูเมอร์ ดังนั้นการปรับตัวในเรื่องนี้จึงถือว่าเป็นนโยบายเชิงรุกของเราในตลาดยุโรป ขณะเดียวกันเป็นการปรับปรุงในแง่ประสิทธิภาพและเทคโนโลยีการผลิตด้วย"

และ สิ่งที่นายสัตวแพทย์บุญเพ็งกล่าวอาจจะเป็นจริง เพราะจากการสำรวจของบริษัทนำร่องในการใช้มาตรฐาน PAS ในสหราชอาณาจักร ผลการศึกษาของ "วอล์กเกอร์" ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แรกที่นำมาตรฐานนี้ไปใช้ พบว่ามีคนเลือกซื้อสินค้าของบริษัทมากขึ้นหลังจากที่มีการติดฉลากคาร์บอน ทำให้รู้ว่าจะลดการปล่อยได้อย่างไร และยังเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์

ดร.รัตนาวรรณกล่าวว่า "ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการไทยยังไม่ค่อยเข้าใจมากนัก พอมีมาตรการอะไรออกมา ก็จะบอกว่า เป็นมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งเราคงต้องพยายามทำความเข้าใจ ต่อไป"

เพราะนี่เป็นเพียงจุดเริ่ม ต้น และภายในอีกไม่นานนักจะมีมาตรฐาน ISO 14067 ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพรินต์ รวมไปถึงการเก็บภาษีจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ฯลฯ และอีกสารพัดมาตรการที่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ผู้ประกอบการไทยก็คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01300352&day=2009-03-30&sectionid=0221



ไม่มีความคิดเห็น: