วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เปิดประตูจินตนาการ นำผู้ต้องขังหญิงสู่เส้นทาง นักเขียน


" แม้จะเป็นผู้ต้องขัง แต่สิ่งที่ไม่ถูกกักขังเลยคือจินตนาการและความคิดต่างๆ หากใครมีความคิดที่ดีและมุ่งมั่นที่จะก้าวไปข้างหน้าแล้ว เชื่อว่าประสบการณ์ที่มีอยู่จะทำให้สามารถเป็นนักเขียนที่ดีได้ใน วันข้างหน้า" เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ รองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวในพิธีปิด โครงการ "เปิดประตูสู่เส้นทางนักเขียน" ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 เมษายน-1 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา

และ เป็นก้าวต่อจากความสำเร็จของ โครงการมติชน-เอสซีจี เปอร์เปอร์ จุดประกายปัญญา "Young Writer Camp" ในปีที่ผ่านมา ที่จัดขึ้นเพื่ออบรมเทคนิคการเขียนและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ ในปีนี้บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์นำแนวคิดเดียวกันมาต่อยอดในโครงการ "เปิดประตูสู่เส้นทางนักเขียน" เพียงแต่ครั้งนี้นักเขียนที่ถูกปลุกปั้นนั้นไม่เด็กวัยใส แต่เป็นผู้ต้องขังหญิงจากทั่วประเทศที่ไม่ได้ถูกจองจำความคิดด้วยเครื่อง พันธนาการใดๆ เหมือนกับร่างกาย

หลังจากเปิดตัวโครงการ มีผู้ต้องขังหญิงสนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกว่า 93 คน และมีผู้ผ่านการคัดเลือก 20 คนที่เข้าสู่การ อบรมเวิร์กช็อปการเขียนกับวิทยากรนักเขียนชื่อดังอย่าง บินหลา สันกาลาคีรี และ ศุ บุญเลี้ยง เมื่อได้รับความรู้เต็มที่ ทั้ง 20 คนก็ต้องแสดงผลงานเขียนออกมาใหม่อีก 1 เรื่อง เพื่อหาผู้ชนะมารับเกียรติบัตรและเงินรางวัลเพื่อเป็นกำลังใจ ส่วนงานเขียนที่ดีเด่นจะถูกส่งให้สำนักพิมพ์มติชนพิจารณาเพื่อรวมเล่มจัด พิมพ์ต่อไป

"ชลิต กิติญาณทรัพย์" รองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มติชนมีโครงการกับกรมราชทัณฑ์อย่างต่อเนื่อง อย่างการสนับสนุนห้องสมุดพร้อมปัญญาให้กับทัณฑสถานกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มเติมความรู้ให้กับ ผู้ต้องขัง และหลังจากได้ทราบว่าผู้ต้องขังมีความสามารถในการเขียนหนังสือจึงนำแนวคิด ของโครงการ Young Writer Camp เข้ามาใช้ จึงหวังว่าโครงการเปิดประตูสู่เส้นทางนักเขียนจะสร้างโอกาสและให้กำลังใจกับ ผู้ต้องขังได้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพในอนาคต

"เราไม่รู้ได้ว่า วันข้างหน้าผู้ต้องขังหญิง ที่ร่วมโครงการครั้งนี้จะออกไปเป็นนักเขียนหรือไม่ แต่บรรยากาศระหว่างทำกิจกรรมในโครงการที่เต็มไปด้วยความรู้ ความสุข และความภาคภูมิใจทั้งผู้ให้และผู้รับเป็นความสำเร็จที่เราสัมผัสได้ เร็วๆ นี้จะมี โครงการต่อเนื่องให้กับผู้ต้องขังแน่นอน"ชลิตกล่าว

ตลอดระยะ เวลา 3 วันของการอบรม ในชายคาของทัณฑสถานหญิงกลาง บรรยากาศที่คละเคล้าความสุข สนุกสนานที่ชวนให้เกิดแรงบันดาลใจก็เกิดขึ้น วิทยากรทั้ง 2 คือ บินหลาและจุ้ย ร่วมกันสอนถึงวิธีการสังเกตสิ่งรอบตัวให้กับผู้ต้องขังหญิงทั้ง 20 คน เพื่อเรียบเรียงกระบวนการคิดก่อนเขียนรวมถึงแนะนำการใช้ภาษาและเทคนิคในการ เขียนเรื่องสั้น นวนิยาย หรือวิธีการเขียนใบแบบอื่นก่อนที่จะถึงเวลาลงมือสร้างงานเขียนแล้วส่งผลงาน ให้วิทยากรทั้ง 2 ได้วิจารณ์กัน

หลังจากประกาศผล ผู้ต้องขังหญิงที่ได้รับรางวัล ร่วมกันสะท้อนความรู้สึกถึงโครงการนี้ว่า หลังจากผ่านการอบรมทั้งการเขียนและวิธีคิดของพวกเราเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

" แม้ว่าการติดคุกจะไม่ใช่สิ่งที่ปรารถนา แต่วันนี้รู้สึกโชคดีที่ได้มาติดคุก ไม่คิดว่าสังคมจะให้โอกาสขนาดนี้ จากนี้ตั้งใจว่าจะเป็นนักอ่านที่ดี มองโลกให้สดใส และจะใช้หนังสือเป็นครูสอนชีวิต และพัฒนาการเขียนเพื่อสอนให้กับเพื่อนที่สนใจ"

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03180552&day=2009-05-18&sectionid=0221


ไม่มีความคิดเห็น: