วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

Steakholders Engagement @ SCG




เป็น เรื่องธรรมดาของการเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ที่แม้จะถึงพร้อมด้วยศักยภาพ ความสามารถ งบประมาณ และพละกำลังในการขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ แต่ยิ่งใหญ่ก็ยิ่งยากในการลดช่องว่างระหว่าง "องค์กร" กับ "ผู้ที่มี ส่วนได้ส่วนเสีย" โดยเฉพาะ "คนเล็กๆ" ในชุมชน

นี่จึงเป็นโจทย์ที่ยาก สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ ยิ่งในการดำเนินโครงการเพื่อสังคม ที่ชุมชนถือเป็นกลุ่มผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ "มัทนา เหลืองนาคทองดี" ที่ปรึกษาการสื่อสารองค์กร บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บอกว่า "เราต้องพยายามลดช่องว่างตรงนี้"

"ในมุมของเอสซีจี เราเชื่อว่าการทำ CSR ไม่สามารถสำเร็จได้ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ทุกฝ่ายต้องเข้ามามีส่วนร่วม ถ้าเอสซีจีเข้าไปทำโครงการแล้ว เราออกมาเขาอยู่ไม่ได้ อย่างนั้นไม่ใช่ CSR แต่เราต้องทำให้ชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของ ทำให้เขามีความรู้และดูแลต่อได้"

" มัทนา" ยังถ่ายทอดบทเรียนการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการ ดำเนินโครงการฝายชะลอน้ำในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่วันนี้เดินไปสู่จุดหมายปลายทางโดยสร้างเสร็จแล้วครบ 10,000 ฝายว่า ในโครงการเราแบ่งกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็น 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกที่คำนึงถึงในการเข้ามามีส่วนร่วมคือพนักงานและครอบครัว กลุ่มที่ 2 ชุมชน ผู้แทนจำหน่าย ผู้ถือหุ้น และกลุ่มสุดท้ายประชาชนทั่วไป ที่มีทั้งนักเรียน นักศึกษา เอ็นจีโอ บริษัทอื่นๆ ที่ทำให้ในที่สุดมีคนเข้ามาร่วมโครงการกว่า 30,100 คน และเกิดเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ได้ภายในเวลาเพียง 3 ปีของโครงการ

โดย แนะนำการสร้างการมีส่วนร่วมได้ 1.ต้องเป็นเพื่อนที่ดี อย่ารู้สึกว่าเราเป็นนายเขา 2.ต้องให้ความเคารพซึ่งกันและกัน 3.มีความจริงใจ 4.ต้องสร้างความร่วมมือ 5.ต้องทำอย่างต่อเนื่อง 6.มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และ 7.ทำจริง ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนของโครงการในระยะยาว

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr02040552&day=2009-05-04&sectionid=0221


ไม่มีความคิดเห็น: