วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

อยากทำ ...แต่เงินไม่มี !!


โดย อนันตชัย ยูรประถม

Q : วิกฤตแบบนี้บริษัทรัดเข็มขัด ทุกทาง ถ้าไม่มีงบประมาณเลยจะทำ CSR ได้หรือไม่

A : ตั้งแต่ปรับเปลี่ยนคอลัมน์เป็นถามตอบสนุกขึ้นเยอะครับ เจอใครก็ถูกถามจนผมกะว่าจะไปเปลี่ยนชื่อเป็นอับดุล เอ๊ย...มีอะไรถามได้...ตอบได้ แต่ CSR ตอบไม่ได้ประมาณนี้แหละครับ

ว่า แต่ว่าขอย้ำทำความเข้าใจกันอีกที มุมนี้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ ฉะนั้นคำตอบในที่นี้ไม่ได้ถือเป็นคำตอบสุดท้ายนะครับ บางท่านอาจมีความรู้ ความเข้าใจที่ดีกว่า ทำให้มีมุมมองและแนวทางที่ดีกว่าผมก็เป็นได้ เพราะ CSR ไม่มีเส้นชัย สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้และการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนของ องค์กร สังคม และสิ่งแวดล้อม

คราวนี้ก็โดนอีกดอก หนักกว่าเดิมครับ คราวที่แล้วเฮียแกยังอุตส่าห์มีตังค์ไม่ใช่น้อย แต่คราวนี้เจ๊มาบอกว่าไม่มีตังค์ทำกิจกรรม CSR เลย

เป็นปัญหาชวน หัวแตกครับ ปีนี้เศรษฐกิจไม่ดีก็ไม่ได้แปลว่าองค์กรไม่มี CSR ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ได้มีกิจกรรมงานบริจาค งานบุญ งานกุศลอะไรออกสู่สาธารณชนเลย ผมว่าเศรษฐกิจไม่ดีก็เป็นเรื่องดีอย่างหนึ่งสำหรับองค์กรทั้งหลายนะครับ พอแต่ละที่เริ่มไม่กล้าเป็นเสี่ยสั่งลุย แต่กลายเป็นว่าต่างหันกลับมามองว่าไอ้ที่ผ่านๆ มาเนี่ยมันเป็นยังไง ถ้าจะทำต่อควรจะทำอะไรดี ใช่หรือไม่ใช่ เข้าทำนองปัญหามา ปัญญามี ดีแล้วครับกลับมาพิจารณาถึงความจำเป็น รากเหง้าของเรากันดีกว่า ประเภททำเพื่อคืนกำไร ปีนี้อย่าว่าแต่ให้คืนเลย แค่เลี้ยงตัวก็ยังไม่รู้เลยจะเป็นยังไง

CSR เนื้อแท้อยู่ที่ธุรกิจของตนเองนั่นแหละครับ ไม่ได้ออกไปไหนไกลกว่าเดิมเลย บางทีไปซะไกลแต่ไม่ได้เชื่อมโยงกับการดำเนินธุรกิจ มันก็ลำบาก เพราะยิ่งทำไปเรื่อยๆ ยิ่งเตลิดไปกันใหญ่กลับมาตอบคำถามผู้บริหารไม่ได้ว่าทำแล้วมันดีกับ องค์กรอย่างไร พอเริ่มมีการตรวจสอบแบบง่ายๆ นะครับ

เมื่อเรากำหนด ไว้ว่า CSR ของเรานำไปสู่ความยั่งยืน ก็เอาประเด็นความยั่งยืนตามแนวคิดของ Brundtland ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้ง อาการแรกที่เจอก็คือ โรคสังคมโป่งพอง ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงใช้เงินมากกว่าด้านอื่นๆ นะครับ แต่เราพูดถึงการเชื่อมโยงและความสมดุลของทั้ง 3 ด้านที่พอเหมาะพอควรของแต่ละองค์กร เงินมากเงินน้อยไม่เกี่ยวครับ ทำแล้วสังคมกับสิ่งแวดล้อมดีขึ้น เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจขององค์กรได้หรือไม่ อาจจะไม่ใช่ระยะสั้นแต่เป็นระยะยาว เพื่อให้องค์กรมีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจขององค์กร สังคม และสิ่งแวดล้อมต่อไป

กระบวนการเริ่มต้นนั้นเราจึงอยากให้องค์กรหัน กลับมามองและประเมินตนเองดูว่าการตัดสินใจทำกิจกรรมต่างๆ นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางธุรกิจของเราอย่างไร แรงผลักดันมาจากภายนอกอย่างเดียวหรือไม่ เป็นความต้องการจากภายนอกล้วนๆ หรือไม่ มิฉะนั้นจะเป็นการทุ่มเททรัพยากรของเราออกสู่ภายนอก

เรา ควรตั้งต้นด้วยการสำรวจตัวเอง จุดไหนที่ต้องขันความรับผิดชอบให้แน่นหนา ภายในจุดไหนที่แตะอยู่กับสังคม สามารถสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมสู่ภายนอกได้หรือไม่ ซึ่งก็คือกระบวนการพัฒนาปรับปรุงองค์กรที่ทำเป็นประจำอยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มมิติความรับผิดชอบเข้าไป เปลี่ยนทัศนคติเปลี่ยนแนวคิด แต่งบประมาณเหมือนเดิม อย่างนี้ถ้ามาบอกว่าปีนี้ไม่มีงบประมาณไม่ทำแล้ว CSR ก็แปลว่าจะไม่พัฒนาองค์กรแล้วสิครับ

อนันตชัย ยูรประถม เป็นนักวิชาการและที่ปรึกษาด้าน CSR ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านกลยุทธ์และการบริหารจัดการด้านความรับผิดชอบต่อ สังคมขององค์กรเชิงระบบ ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน (SBDI) นับจากนี้เขาจะมาตอบคำถามทุกข้อข้องใจเกี่ยวกับ CSR ทุกสัปดาห์ สำหรับผู้ต้องการไขคำตอบที่เคยข้องใจสามารถส่งคำถามมาได้ที่ anantachai@yahoo.com

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03020352&day=2009-03-02&sectionid=0221



ไม่มีความคิดเห็น: