วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เมื่อธุรกิจตื่นทำ แผนแม่บท CSR



ถ้า ย้อนดูพัฒนาการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ในไทย จะเห็นถึงก้าวย่างของการพัฒนาที่เติบโตขึ้นเป็นลำดับ นับตั้งแต่การให้ความสำคัญกับแนวคิดนี้ ซึ่งนำมาสู่การปรับเปลี่ยนในองค์กรตั้งแต่การปรับโครงสร้างองค์กร การตั้งหน่วยงานเฉพาะสำหรับการขับเคลื่อน CSR การวางกลยุทธ์กิจกรรม CSR กระทั่งล่าสุดจากการสำรวจของ "ประชาชาติธุรกิจ" พบว่า ปัจจุบันมีองค์กรธุรกิจจำนวนมากที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ กำลังหันมาให้ความสำคัญกับการจัดทำ แผนแม่บท CSR สำหรับองค์กร

ดร. พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญในด้านการจัดทำยุทธศาสตร์ CSR กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีองค์กรธุรกิจและรัฐวิสาหกิจจำนวนมากกำลังหันมาให้ความสำคัญกับ การจัดทำแผนแม่บทด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร หรือแผนแม่บท CSR เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในปีนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา มีองค์กรที่สนใจจัดทำแผนแม่บท CSR เพิ่มขึ้นราว 20-30%

สาเหตุ ประการแรก มาจากการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ของหน่วยงานที่วัดผลและ ประเมินผลองค์กรธุรกิจและรัฐวิสาหกิจ อาทิ บริษัท ไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด หรือทริส (TRIS) สถาบันจัดอันดับเครดิตของบริษัท สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ฯลฯ ที่ปัจจุบันได้เพิ่มเกณฑ์การให้คะแนนองค์กร โดยให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนแม่บท CSR อย่างเป็นรูปธรรม รวมไปถึงการตั้งคณะกรรมการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม จากเดิมที่หน่วยงานเหล่านี้ไม่เคยกำหนดเรื่อง CSR อยู่ในการประเมินผลเลย

ประการ ที่ 2 มาจากการพัฒนาการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในแต่ละองค์กรเอง ที่มองว่าแผนแม่บท CSR จะเป็นการแก้ไขปัญหาหรือเป็นทางออก สำหรับการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรได้อย่างมี ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และมีทิศทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

ประการที่ 3 เกิดจากแรงบีบของคู่ค้าในต่างประเทศที่ทำให้องค์กรธุรกิจที่มีคู่ค้าในต่าง ประเทศจำเป็นต้องกำหนดแผนแม่บท CSR ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ในองค์กร

" หากเรามองข้ามแรงบีบต่างๆ ที่ทำให้องค์กรธุรกิจและรัฐวิสาหกิจหลายแห่งต้องหันมาให้ความสำคัญในเรื่อง แผนแม่บท CSR เราจะเห็นว่าการจัดทำแผนแม่บทมีประโยชน์อย่างยิ่งกับการขับเคลื่อน CSR ในองค์กร เพราะเป็นการจัดหมวดหมู่กิจกรรม CSR ที่องค์กรดำเนินการทั้งภายในกระบวนการและภายนอกกระบวนการ ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นตัวตนขององค์กร สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจ ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อน CSR ในองค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันแผนแม่บทยังมีประโยชน์ในแง่ของการเป็นเครื่องมือสื่อสาร ทั้งการสื่อสารภายในองค์กรเพื่อที่จะดำเนินการเรื่องนี้ไปในทิศทางเดียวกัน" ดร.พิพัฒน์กล่าว

สำหรับความจำเป็นในการที่องค์กรต้องมีแผนแม่บท CSR หรือไม่นั้น "อนันตชัย ยูรประถม" ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SBDI) องค์กรที่ให้คำปรึกษาด้านการจัดทำแผนแม่บท CSR ให้ความเห็นว่า การจัดทำแผนแม่บท CSR จะทำให้องค์กรมองเห็นกระบวนการในการดำเนินการ CSR ที่สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการ CSR มีการดำเนินการเป็นวงจรตั้งแต่การวางแผน ปฏิบัติ การดำเนินการ การวัดและประเมินผล ในขณะเดียวกันการมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนจะทำให้การทำ CSR ขององค์กรสามารถขับเคลื่อนไปสู่มาตรฐาน CSR ที่มีอยู่จำนวนมากในปัจจุบันได้

"จากการเข้าไปให้คำปรึกษาในหลาย องค์กร เราจะเห็นว่าบางครั้งพอเริ่มทำ CSR แล้ว กลายเป็นว่าเป็นการเพิ่มงาน เพิ่มกิจกรรมเข้าไปในแต่ละหน่วยงานเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นกิจกรรมหรือโครงการใหม่ๆ แต่ความรับผิดชอบไม่ได้ซึมอยู่ในเนื้อธุรกิจ เช่น ฝ่ายบัญชี ก็อาจจะบอกว่าพอมี CSR แล้ว เขาต้องไปทำกิจกรรมอาสาสมัครเพิ่มขึ้นใช่หรือไม่ ทั้งๆ ที่ความรับผิดชอบคือการทำงานอย่างมีธรรมาภิบาลในงานที่เขาทำอยู่ ปัญหาในลักษณะนี้เป็นเพราะองค์กรไม่มีสิ่งที่บอกว่า ความรับผิดชอบขององค์กรคืออะไร นั่นรวมไปถึงการสื่อสารด้วยว่าพอทำไปทำมาในที่สุดก็ไม่รู้ว่าจะสื่อสารอะไร ออกไปให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียรับรู้เพราะขาดทิศทางและความชัดเจน"

" แต่ในความเป็นจริงไม่จำเป็นที่ทุกองค์กรต้องลุกขึ้นมาทำแผนแม่บท CSR ถ้าองค์กรมั่นใจว่าความรับผิดชอบต่อสังคมที่องค์กรดำเนินการอยู่นั้นมีความ ชัดเจนอยู่แล้ว การจะทำหรือไม่ทำนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมตามบริบททางสังคมและบริบทโลกที่ องค์กรเผชิญหน้า เพราะในท้ายที่สุด การที่องค์กรจะสามารถประสบความสำเร็จจากการทำ CSR ได้นั้นคือการปฏิบัติจริง แผนแม่บทเป็นเพียงแนวปฏิบัติ และไม่ได้หมายความว่าองค์กรที่มีแผนแม่บท CSR เท่านั้นที่จะเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จจากการทำ CSR" อนันตชัยกล่าวในที่สุด


ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03200452&day=2009-04-20&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: