วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

พลังงานเพื่อผู้มีรายได้น้อย


โดย ดร.อัศวิน จินตกานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส มูลนิธิอนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาอาวุโสกลุ่มบริษัททีม

ป? จจุบันยังมีชุมชนเป็นจำนวนมากในยุโรป เอเชีย และแอฟริกาที่ยากจน มีสุขภาพไม่ดีเพราะขาดอาหารที่จำเป็น ได้รับการบริการด้านสาธารณสุขและการศึกษาต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่มีน้ำสะอาดดื่ม ชุมชนเหล่านี้วนเวียนอยู่ในความยากจน เด็กๆ ในชุมชนมีโอกาสน้อยมากที่จะหลุดออกมาจากวงจรความยากจน เพราะไม่เคยได้รับโอกาสเหมือนเด็กในเมืองใหญ่ๆ เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีอันจะกิน หากสามารถทำให้หมู่บ้านเหล่านี้มีพลังงานไฟฟ้า มีน้ำดื่มที่สะอาดและได้รับการศึกษาที่ดี เขาอาจมีโอกาสที่จะต่อสู้ชีวิตและหลุดจากความยากจนได้ เป็นนิมิตที่ดีที่เริ่มมีคนและองค์กรต่างๆ เห็นว่าการมีพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งเชื้อเพลิงที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อมๆ กับการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาและสาธารณสุขจะเป็นการเริ่มให้โอกาส ชุมชนยากจนเหล่านี้

เราได้ยินเสมอมาว่า ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แม้จะสะอาดแต่มีราคาสูงมากเมื่อเทียบกับพลังงาน ไฟฟ้าจากแหล่งอื่นๆ จึงไม่ค่อยนิยมที่จะพัฒนาพลังงานชนิดนี้ในประเทศไทยนัก ยังมีคนเป็นจำนวนมากทั่วโลกที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้กัน ทำให้คนเหล่านี้เป็นคนด้อยโอกาส ไม่สามารถรับข่าวสารได้ทันการ ไม่สามารถมีไฟฟ้าเพื่ออ่านหนังสือในเวลากลางคืน ไม่มีโทรทัศน์ดูเพื่อติดตามข่าว ดูรายการที่เป็นความรู้หรือรายการบันเทิงและรายการอื่นๆ

วันหนึ่งใน ระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศ ผมพบผู้แทนบริษัทเยอรมันบริษัทหนึ่ง เขาเล่าให้ฟังว่า เขาติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ในทวีปแอฟริกา ผมแปลกใจมากและก็ถามเขาว่าประเทศในแอฟริกาจะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่แพงแสนแพงไหวหรือ คำตอบของเขาคือ ในแอฟริกาการเดินเสาไฟฟ้าและส่งไฟฟ้าไปตามหมู่บ้านที่อยู่ไกลๆ นั้นแพงกว่าการไปตั้งแผงไฟฟ้าเพื่อเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์และเดินสายไฟฟ้า ภายในหมู่บ้านหลายเท่า ดังนั้นเขาจึงสามารถทำธุรกิจในแอฟริกาโดยมีองค์กร

เอกชนที่ไม่แสวงหากำไร (NGO) หลายองค์กรที่ช่วยเหลือซึ่งเป็นกิจกรรม CSR ของทวีปนี้

เนื่อง จากแอฟริกาห่างจากประเทศไทยมากเราอาจจินตนาการไม่เห็นภาพ ผมจะขอพาท่านผู้อ่านไปประเทศฟิลิปปินส์ประเทศในสมาคมอาเซียน และดูกิจกรรม CSR (corporate social responsibility) กิจกรรมหนึ่งซึ่งดำเนินการโดย NGO ที่ชื่อว่ากลุ่ม Alliance for Mindanao Off-Grid Renewable Energy (AMORE) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2545 เป็นกลุ่ม NGO ที่พยายามผลิตกระแสไฟฟ้าทดแทนเพื่อให้ชุมชนในภาคใต้ของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ห่างจากเครือข่ายไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของประเทศฟิลิปปินส์ และเป็นคนด้อยโอกาส หมู่เกาะมินดาเนานี้เป็นที่หลบซ่อนของพวกกบฏและผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิมใน ฟิลิปปินส์ การพัฒนาชุมชนในหมู่เกาะเหล่านี้จึงมีความสำคัญต่อประเทศของเขาอย่างมาก

ปี 2549 กลุ่ม AMORE จ่ายกระแสไฟฟ้าให้ 1,300 ครัวเรือน และจ่ายไฟแก่ถนนหนทางในหมู่บ้านทั้งสิ้น 227 หมู่บ้าน ขณะนี้ AMORE วางแผนที่จะจ่ายไฟฟ้าให้อีก 170 หมู่บ้านในอนาคตอันใกล้นี้

จากการ วิจัยของ AMORE ปรากฏว่าแสงสว่างที่ได้จากไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ถูกกว่าแสงสว่างจาก ตะเกียงน้ำมันก๊าซถึงร้อยละ 70 และยังลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นก๊าซเรือนกระจกจากการจุดตะเกียง ได้อีกด้วย

ความปลอดภัยของชาวบ้านและเด็กในหมู่บ้านดีขึ้นมาก เนื่องจากแสงสว่างในทางเดินและถนนในหมู่บ้าน การเรียนของเด็กดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะเด็กสามารถอ่านหนังสือและทำการบ้านในเวลากลางคืน การค้าขายก็สามารถดำเนินต่อหลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว จากการมีไฟฟ้านี้เองชาวบ้านสามารถสูบน้ำขึ้นมาจากบ่อมาใช้โดยไม่ต้องหาบน้ำ มาจากระยะไกลๆ และสามารถกรองน้ำเพื่อให้ได้น้ำมาบริโภคที่ถูกสุขลักษณะ

ใน ขณะนี้ AMORE พยายามแนะนำให้ชาวบ้านสูบน้ำเพื่อการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการทำการ เกษตรกรรม สนับสนุนให้ชาวบ้านฟังรายการวิทยุเพื่อการศึกษานอกโรงเรียน เรียนภาษาอังกฤษเพื่อการหางานที่ดีขึ้น การใช้พลังงานทดแทนเพื่อทำให้ปลาและสาหร่ายทะเลแห้ง เป็นการยืดอายุของอาหาร เขาพยายามสนับสนุนการสร้างห้องคอมพิวเตอร์และห้องสื่อสารเพื่อชุมชน การมีโทรทัศน์ชุมชนเพื่อการศึกษาและความบันเทิง ล่าสุดนี้ AMORE รายงานว่ามีองค์กรที่มีความจริงใจที่ต้องการหาโครงการ CSR ดีๆ ขอเข้ามาร่วมสนับสนุนโครงการดีๆ เหล่านี้

นอกจากนี้ AMORE ยังผลิตไฟฟ้าให้กับหมู่บ้าน Chua ใน Bagumbayan, Sultan Kudarat โดยสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดจิ๋ว (micro-hydropower system) ขนาด 8 กิโลวัตต์ เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง และสร้างโรงผลิตน้ำประปาที่ดื่มได้จากน้ำในห้วยและบึง และเขาสนับสนุนชุมชนให้ปลูกสวนผักเพื่อให้หมู่บ้านมีอาหารที่มีประโยชน์ใน ราคาย่อมเยา การสร้างระบบไฟฟ้าพลังน้ำที่หมู่บ้านนี้ทำให้สามารถนำระบบการศึกษาทางไกลมา สอนเด็ก รวมถึงการศึกษานอกโรงเรียนให้ผู้ใหญ่อีกด้วย

ในอีกหมู่บ้าน หนึ่งที่ชิ่อ Kahikukuk in Banguingi ในจังหวัด Sulu เดิมสตรีและเด็กต้องหาบน้ำจากหนองน้ำห่างไกลจากหมู่บ้านประมาณ 1.5-2 กิโลเมตร การสร้างระบบน้ำดื่มและระบบน้ำประปาโดย AMORE ทำให้ชีวิตของชาวบ้านดีขึ้นมาก ปัญหาท้องร่วงในหมู่บ้านบรรเทาลงไปมาก โรคที่เกิดจากน้ำดื่มไม่สะอาดก็หายไปเกือบหมด เด็กๆ มีสุขภาพดีขึ้นและผลการเรียนก็ดีขึ้น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาโรคก็ลดลงอย่างมาก

AMORE มีหลักการที่จะมอบความไว้วางใจให้ชุมชนที่ได้รับความช่วยเหลือ ให้ชาวบ้านเดินเครื่องจักร ทำนุบำรุง ดูแลซ่อมแซมอุปกรณ์ด้วยตนเอง เพื่อให้ชาวบ้านเกิดความภาคภูมิใจ มีความรู้สึกเป็นเจ้าของและมีความรับผิดชอบ ชาวบ้านใช้ความรู้ความสามารถและทุนทรัพย์ของตนเอง ดูแลไม่ให้มีการขโมยทรัพย์สินจากระบบ และหาเงินมาติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างสำหรับถนนและทางเดินในหมู่บ้านของตนเองอีก ด้วย

Economic Perspective, E-journal U.S.A. คาดคะเนว่า ในปี 2573 จะยังมีคนที่ขาดไฟฟ้าประมาณ 1,400,000 คน หากรัฐบาลของแต่ละประเทศยังไม่มีนโยบายที่จะมีโครงการพัฒนาไฟฟ้าให้ชุมชน ด้อยโอกาส และคนเหล่านึ้จะไม่สามารถหลุดมาจากวังวนของความยากจน เพื่อบรรเทาปัญหานี้ยักษ์ใหญ่ในวงการเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ABB ในประเทศสวีเดนกำลังช่วยเหลือชุมชนในแอฟริกา

ไฟฟ้าจากพลังงานแสง อาทิตย์และจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กและขนาดจิ๋วช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต มาตรฐานสุขอนามัย ระดับการศึกษา ความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย ช่วยลดความขัดแย้งในชุมชน สร้างชุมชนที่อยู่ร่วมกันโดยปราศจากความขัดแย้ง ประสบการณ์จากประเทศฟิลิปปินส์ด้าน CSR นึ้อาจนำมาใช้ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ผมหวังว่าบทความนี้อาจจูงใจให้บริษัทใหญ่ๆ ที่มีทุนทรัพย์และมีความจริงใจในการทำงานด้าน CSR อาจนำโครงการดีๆ มาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยได้เช่นกัน


ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03130452&day=2009-04-13&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: