วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

CSR กับการทำนุบำรุงพนักงาน



โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

ผม เพิ่งทำเงินหล่นไป 3.5 ล้านบาท เพราะจ่ายโบนัสประจำปี 2551-2552 ซึ่งจ่ายในทุกเดือนเมษายนแก่เพื่อนร่วมงาน (หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "พนักงาน") ของผม ที่พิเศษก็คือในปีนี้ แทบจะไม่มีวิสาหกิจที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ในแวดวงของผมจ่ายโบนัสเลย

เรื่อง นี้มองได้ทั้งในแง่ของการบริหารวิสาหกิจให้ทำกำไรได้อย่างไรในภาวะวิกฤต แต่ผมขอเลือกนำเสนอในที่นี้ ในแง่มุมของความรับผิดชอบต่อสังคมของวิสาหกิจ หรือ CSR (corporate social responsibility) ความรับผิดชอบสำคัญประการหนึ่งของวิสาหกิจ ก็คือ ความรับผิดชอบต่อลูกจ้างหรือพนักงาน นอกเหนือจากความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ต่อลูกค้า ต่อชุมชนโดยรอบ ต่อสังคมโดยรวม และต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น

ผมไม่ได้เขียนบทความ นี้ในฐานะนักวิชาการ แต่เขียนจากประสบการณ์ทำ CSR จริงในฐานะผู้บริหารวิสาหกิจ ผมพยายามระวังไม่ให้เป็นการ "ยกหางตัวเอง" แต่จำเป็นต้องยกตัวอย่างวิสาหกิจของผมเอง เพื่อให้เห็นการปฏิบัติ CSR จริงในกรณี พนักงานซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มหนึ่ง

ทำเงินหล่นไป 3.5 ล้านบาท

ผม ทำธุรกิจที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ชื่อ บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) โดยเป็นศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ที่มีฐานข้อมูลที่ใหญ่ ที่สุดในประเทศไทย และครอบคลุมการดำเนินงานในประเทศอาเซียนด้วย ในขณะนี้มีเพื่อนร่วมงานอยู่ทั้งหมด 125 คน ที่ปฏิบัติงานสำนักงานใหญ่และสาขาในภูมิภาค

เรามีเพื่อนร่วมงาน 101 คนที่ทำงานมาครบ 1 ปี จนได้รับโบนัสประจำปีเฉลี่ยคนละ 1.5 เดือน หรือรวมเป็นเงินประมาณ 3.5 ล้านบาท การนี้ถือเป็นประเพณีทุกปีนับ ตั้งแต่ตั้ง AREA เมื่อปี 2534 ที่เราจ่ายโบนัสปีละครั้ง และปรับเพิ่มเงินเดือนปีละ 2 ครั้ง แม้ในช่วงวิกฤตปี 2540 และ 2552 ก็ตาม

ถ้า ผมจะปฏิบัติเช่นวิสาหกิจส่วนมากในวงการเดียวกัน ซึ่งไม่สามารถจ่ายโบนัสได้ ผมก็อาจ "ฉ้อฉล" เพื่อนร่วมงานโดยจ่ายโบนัสแต่น้อย (ไม่ถึงกับไม่จ่าย) ก็ยังทำได้ไม่ยากด้วย เพราะก่อนถึงเวลาจ่ายโบนัส ผมได้สำรวจความเห็นของเพื่อนร่วมงาน พวกเขาต่างก็เข้าใจและไม่ได้เรียกร้องอะไรเป็นพิเศษในสถานการณ์เช่นนี้

วิธี ในการ "ฉ้อฉล" เพื่อนร่วมงานนั้นทำได้ไม่ยาก ด้วยอาศัยการ "ตีหน้าเศร้า เล่าความเท็จ" (หรือความจริงบางส่วน) ยิ่งถ้าทำตัวเป็นคนธรรมะธัมโมได้ ยิ่งดูน่าเชื่อถือ และตบท้ายด้วยคำหวานที่สัญญาว่าจะพิจารณาจ่ายให้ในปีถัดไปแทน ด้วยการ "ฉ้อฉล" เช่นนี้ ผมก็อาจจ่ายโบนัสน้อยกว่านี้ โดยอาจประหยัดได้เป็นล้านบาท เอาไปเปลี่ยนเป็นรถหรูๆ หรือเสพสุขทางอื่น

อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังจ่ายโบนัสในสัดส่วนเดิม อาจกล่าวได้ว่าการที่เราไม่ "ฉ้อฉล" เพราะเรามี CSR ที่แท้ ที่มุ่งรับผิดชอบต่อเพื่อนร่วมงานซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญยิ่ง เช่นกัน

ทำไมจึงจ่ายโบนัสได้

หากวิสาหกิจของผมมีระบบ สวัสดิการที่หรูเลิศสำหรับผู้บริหาร มีรถประจำตำแหน่ง อยู่กินราวกับเจ้าขุนมูลนายใหญ่โต มีค่าใช้จ่ายด้านการบันเทิงกันอย่างหรูเลิศ โอกาสที่จะมีโบนัสให้พนักงานก็คงจะน้อย อย่างไรก็ตามสำหรับกิจการ (กึ่ง) ผูกขาดหลายแห่ง ซึ่งสามารถทำกำไรได้มหาศาลด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก ก็อาจมีระบบสวัสดิการที่หรูเลิศได้ โดยยังมีการจ่ายโบนัสอย่างงามเช่นกัน

สำหรับ วิสาหกิจที่ผมบริหารอยู่ ปรากฏตัวเลขการประกอบการในปีงบประมาณ 2551-2552 นี้ว่า ปริมาณงานของเรายังไม่ได้ลดลง ทั้งนี้เพราะเราได้รับความเชื่อถือจากผู้ใช้บริการ โดย AREA เป็นที่ปรึกษาที่ไม่เป็นนายหน้าและไม่พัฒนาที่ดินเอง ทั้งนี้เพื่อความเป็นกลางทางวิชาชีพ และยังลงทุนพัฒนาระบบงานต่างๆ จนสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากตัวเลขผล การประกอบการกลับพบว่า รายได้ลดลง ต้นทุนเพิ่มขึ้น และแน่นอนว่ากำไรสุทธิก็ย่อมลดลงด้วย แต่เราก็ยังจ่ายโบนัสเพราะเราไม่อาจโกงเพื่อนร่วมงาน และถือว่าเพื่อนร่วมงานเป็นทรัพยากรสำคัญที่เราต้องดูแลให้ดีที่สุด เราจึงเชื่อถือตามหลักที่ว่า "ยิ่งให้ ยิ่งได้" "ทำดี ได้ดี" อันนี้ไม่ใช่การ "อมพระมาพูด" นะครับ แต่เป็นเรื่องจริงจากการลงทุนกับเพื่อนร่วมงานนั่นเอง

เพื่อนร่วมงานของเราสำคัญจริง

วิสาหกิจ ทั้งหลายมักจะบอกว่าพนักงานเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าที่สุดของวิสาหกิจตน ผมเชื่อว่าคำกล่าวดังกล่าวเป็นเพียงคำหวานเสียมากกว่า วิสาหกิจประเภทโรงงาน ปัจจัยการผลิตหลักไม่ใช่พนักงาน แต่เป็นเครื่องจักรกลต่างหาก ถ้าเป็นสถาบันการเงิน ปัจจัยการผลิตหลักก็คือ เงิน (ต่อเงิน) พนักงานเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ที่จะ "จ้างออก" เมื่อไรก็ได้ ถ้าเป็นบริษัทพัฒนาที่ดิน ปัจจัยการผลิตหลักอยู่ที่อสังหาริมทรัพย์ พนักงานเป็นเพียงปัจจัยเล็กๆ เช่นกัน

แต่สำหรับวิสาหกิจในสาขาบริการ พนักงานเป็นปัจจัยการผลิตหลักที่แท้จริง เราจึงต้องจัดฝึกอบรมเพื่อนร่วมงานทั้งองค์กรปีละ 2 ครั้ง จัดอบรม-สอบสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ส่งไปเรียนนอก ส่งไปเรียนโท ส่งไปฝึกอบรม ฯลฯ เพื่อเคี่ยวเข็ญให้มีความสามารถเพิ่มขึ้น เราจึงไม่มีเพื่อนร่วมงานประเภท "แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะ อยู่นาน" ผมมักบอกเพื่อนร่วมงานว่า หนทางที่ AREA จะเจริญได้ก็คือการ "เกาะใบบุญ" ตามการพัฒนาของพวกเขานั่นเอง

ทำอะไรให้เพื่อนร่วมงานบ้าง

เพื่อ ให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ผมจึงขออนุญาตแจกแจงให้เห็นว่า AREA ได้ลงทุนอะไรกับเพื่อนร่วมงานบ้าง เช่น เงินฝากให้พนักงาน (3% ของเงินเดือน) ปีละประมาณ 648,000 บาท บริการเครื่องดื่มและเครื่องสันทนาการ ปีละประมาณ 240,000 บาท เงินช่วยเหลือคลอดบุตร แต่งงาน บวช (คนละ 4,000 บาท) ปีละประมาณ 60,000 บาท ทุนการศึกษาบุตรเพื่อนร่วมงาน (คนละ 5,000 บาท) ปีละประมาณ 150,000 บาท การจัดงานวันเกิด ปีละประมาณ 96,000 บาท การจัดท่องเที่ยวที่ AREA จ่ายให้ ปีละประมาณ 250,000 บาท การสัมมนาประจำปี (2 ครั้งต่อปี) ปีละประมาณ 500,000 บาท การศึกษาดูงานทั้งใน-ต่างประเทศ ปีละประมาณ 400,000 บาท รางวัลพนักงานดีเด่นรายเดือนและปี ปีละประมาณ 64,000 บาท การประชุม 2 สัปดาห์ต่อครั้งตลอดปี ปีละประมาณ 325,000 บาท งบประมาณสนับสนุนการท่องเที่ยว ปีละประมาณ 150,000 บาท เงินจำนวนประมาณ 2.8 ล้านบาทที่จ่ายไปนี้ นอกจากทำให้เกิดความรู้สึกดีที่ได้ให้แล้ว ยังถือเป็นการลงทุนเพื่อหวังผลให้เพื่อนร่วมงานของเราแตกต่าง และทำให้ผมสามารถ "ฝากผีฝากไข้" กับพวกเขาได้อีกด้วย ผมไม่เคยคิดที่จะพูดว่า "ทำดีโดยไม่หวังผลตอบแทน" ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นคำพูด "เล่นลิ้น" มากกว่า

ท่านทราบหรือไม่ มีการศึกษาพบว่าสมองมนุษย์จะปลอดโปร่งขึ้นเมื่อได้เป็นผู้ให้ และระบบเส้นประสาทที่เรียกว่า vagus คือสาเหตุที่ทำให้เราอยากช่วยเหลือผู้อื่น อยากให้และอยากเสียสละ ทั้งนี้เป็นเพราะมีสารเคมีชนิดหนึ่งคือ oxytocin อยู่ในเส้นประสาท หากคนคนหนึ่งได้รับสารนี้พร้อมกับเงินจำนวนหนึ่ง คนคนนั้นก็จะมอบเงินให้กับคนแปลกหน้าจนเกือบไม่เหลือติดตัวเลยทีเดียว {1}

สรุป

อาจกล่าว ได้ว่า CSR กับพนักงานนั้น หัวใจสำคัญไม่ใช่อยู่ที่การชวนพนักงานไปบำเพ็ญประโยชน์ แต่อยู่ที่การทำนุบำรุงพวกเขาให้เติบใหญ่อย่างยั่งยืนไปพร้อมกับวิสาหกิจของ เรา การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ในส่วนที่เกี่ยวกับพนักงานในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญนั้น จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ หากพนักงานของ วิสาหกิจใดยังย่ำอยู่กับที่ ทั้งที่ทำงานโดยสุจริตและไม่สุรุ่ยสุร่ายหรือโชคร้ายมา 10-20 ปีแล้ว แต่ในขณะเดียวกันวิสาหกิจนั้นกลับเติบใหญ่ไพศาล ก็อาจอนุมานได้ว่าวิสาหกิจนั้นยังขาด CSR นั่นเอง

{1} โปรดอ่านเพิ่มเติมที่ "รายงานสุขภาพเรื่องสมอง และระบบประสาทกับหลักการพื้นฐานด้านชีววิทยา" ของสถานีวิทยุ Voice of America: http://www. voanews.com/thai/2009-04-01-voa1.cfm


ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr02200452&day=2009-04-20&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: