วันอังคารที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2552

Big Move

Big Move เอสซีจี-ยูนิลีเวอร์-ดีแทค กระจกอีกด้านของทิศทาง CSR ปี"52

ใน ขณะที่ในวงประชุมของหลายบริษัทกำลังถกเถียงอย่างหน้าดำคร่ำเครียดกับการลดงบ ประมาณ ที่จะใช้ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม ในปี 2552

หากแต่เมื่อ ดูความเคลื่อนไหวขององค์กร "บิ๊กเนม" ที่ขึ้นชั้นผู้นำในการ ขับเคลื่อนแนวคิดเรื่องนี้ทั้ง "เครือซิเมนต์ไทย" (SCG) "ยูนิลีเวอร์" และ "ดีแทค" ดูเหมือนว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่หลายองค์กรกังวล แทบจะไม่มีผลใดๆ เลยกับการเดินหน้าขับเคลื่อน CSR ในปี 2552

ไม่มีทั้งตัดลดงบประมาณ ไม่มีทั้งลดโครงการ ไม่มีกระทั่งการยกเลิกแผนดำเนินการในโครงการต่อเนื่องที่มีเป้าหมายในระยะ ยาว แม้หลายคนจะมองว่านี่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ หากแต่เมื่อลงลึกถึงวิธีคิดแล้วจะเห็นได้ว่า

แม้จะอยู่ต่าง อุตสาหกรรมและต่างธุรกิจ แต่จุดร่วมประการหนึ่งที่ทั้ง 3 องค์กรมีเหมือนกัน นั่นคือ หลักคิดที่ชัดของจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ไม่เพียงมีการกำหนดอยู่ในวิสัยทัศน์ พันธกิจ ขณะเดียวกันกรอบการทำงานที่ชัดเจน เป็นผลให้ไม่ว่าจะเผชิญสถานการณ์เช่นใด การขับเคลื่อน CSR ยังคงสามารถเดินต่อ

เดินหน้ากลางวิกฤต

ต้น สัปดาห์ที่ผ่านมา "ยูนิลีเวอร์" ประกาศทิศทาง CSR ในปี 2552 ที่ชัดเจนอย่างยิ่งว่า แม้สภาพเศรษฐกิจทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกจะเป็นปัญหาหลักของทุกภาคส่วน แต่บริษัทยังยืนยันที่จะสานต่อโครงการ โดยมีเป้าหมายจะสร้างลานเล่นบรีส เพิ่มพลังเรียนรู้ซึ่งเป็นโครงการเพื่อสังคมหลักของ "ยูนิลีเวอร์" ภายใต้แบรนด์ "บรีส" ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 เพิ่มเติมอีก 60 แห่ง ให้ครบ 200 แห่งภายในสิ้นปี 2552

"วรรณิภา ภักดีบุตร" รองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือนและเครื่องใช้ส่วนบุคคล กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ในประเทศไทย อธิบายว่า "แม้เรากำลังวุ่นวายอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ แต่โครงการเพื่อสังคมที่เราวางไว้ เป็นเหมือนพันธสัญญาที่เราจะต้องเดินหน้าต่อ โดยปี 2552 เราตั้งงบประมาณในการสานต่อโครงการไว้ 60 ล้านบาท"

แม้สิ่งที่ "ยูนิลีเวอร์" เลือกในการทำโครงการจะเชื่อมโยงกับแบรนด์ "บรีส" แม้ผลจากการทำโครงการจะส่งผลกลับมาในแง่การรับรู้ของแบรนด์ในระยะยาว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าวิธีคิดในการทำ CSR เป็นเช่นเดียวกับวิธีในการดำเนินธุรกิจ

"ในการทำธุรกิจ ถ้าหากเราทำอะไรลงไปแล้วส่วนแบ่งการตลาดไม่เพิ่มขึ้น เราก็ไม่ทำหรือเราอาจจะเลิกทำ แต่ CSR ที่ไม่ว่าจะอย่างไรเราก็เลือกที่จะตัดสินใจแบบนี้คงต้องมองกลับไปที่วิธีคิด ในการทำ CSR ว่าเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง" วรรณิภากล่าว

ดีแทคต่อแนวคิด ศก.พอเพียง

หลัก คิดจึงเป็นปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ เหมือนกับที่ "พีระพงษ์ กลิ่นละออ" ในฐานะผู้รับผิดชอบด้าน CSR ของดีแทค บอกว่า ต้องขอบคุณที่เรามีนโยบายต่อเรื่อง CSR ที่ชัดเจนนับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้น โดยเราตั้งหลักอยู่บนความคิดที่ว่า "การทำงานอยู่ที่กฎธรรมชาติที่ความหมายของเราคือการยึดถือที่ตัวคนและผู้ที่ ต้องการเป็นหลัก ดังนั้นงบประมาณในการทำงานด้าน CSR จึงยืดหยุ่นและขึ้นกับความต้องการของสังคม"

ดังนั้นเชื่อว่าไม่ว่า สถานการณ์จะเป็นอย่างไรในปีหน้า ถ้ายังมีความต้องการ บริษัทก็ยังคงต้องจัดงบประมาณลงไป ช่วยเหลือ ภายใต้ปรัชญาหลัก "ทำดีทุกวัน" โดยทิศทางการทำงาน CSR ในปี 2552 จะเน้นแนวคิดหลัก "เศรษฐกิจพอเพียงในทรรศนะโลก" ซึ่งจะเน้นหนักในเรื่องของการฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของคนและสร�างโอกาส เพราะจะมีคนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤต โดยจะยังคงดำเนินโครงการต่างๆ ที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการทำโครงการใหม่

SCG ทิศทางที่ไม่มีวันเปลี่ยน

และ ทันทีที่ตั้งคำถามถึงเรื่องทิศทาง ในปี 2552 กับ "มัทนา เหลืองนาคทองดี" ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร เครือซิเมนต์ไทย (SCG) ที่ปีนี้กวาดรางวัล CSR มามากที่สุดทั้งจากในและต่างประเทศ ชัดเจนว่า "ไม่ว่าปีหน้าหรือปีไหนๆ ทิศทางก็ไม่แตกต่างกัน โดยจะยังคงยึดใน 4 แนวทางหลักได้แก่ บรรษัทภิบาล (CG) สิ่งแวดล้อม (environment) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (human development) และการให้กับสังคม (social contribute)"

และเป็นสิ่ง ที่ SCG โฟกัสการทำงาน CSR ให้ชัดมากขึ้นมาตั้งแต่ 5-6 ปีก่อน ในการตัดบางโครงการออกไป และหันมาให้น้ำหนักกับโครงการต่อเนื่องและใส่ งบประมาณเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ผลจากการ "รีดไขมัน" ทำให้เกิดผลที่ตามมาคือประสิทธิภาพของโครงการและผลกระทบเชิงบวกต่อประเด็น สังคมนั้นๆ ที่เพิ่มมากขึ้น

รีดไขมัน-หาโฟกัส

เมื่อ ปรับ "โฟกัส" ตัดเหลือโครงการที่เหมาะสมและจำเป็น เมื่อถึงเวลา "วิกฤต" จึงเก็บดอกเก็บผล และทำงานอย่างต่อเนื่องได้โดยไม่เป็นภาระขององค์กรมาก เกินจำเป็น เพราะแม้ว่างบประมาณอาจจะไม่ลดลง แต่ก็คงจะยืนอยู่ในระดับเท่าที่เป็นอยู่ การใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิผลจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะแม้จะเป็นองค์กรขนาดใหญ่เช่น SCG ที่มีงบประมาณในการขับเคลื่อนแนวคิด การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งภายในและภายนอกองค์กรกว่า 600 ล้านบาทในปีที่ผ่านมาโดยไม่นับรวม งบประมาณในการโฆษณา

แต่ "มัทนา" ก็ยืนยันว่า "ในทุกโครงการที่ทำมีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างความยั่งยืน เราไม่ใช้คนบริจาค แต่ทุกโครงการที่เราทำจะเป็นเหมือนพันธมิตรที่คนที่เราเข้าไปช่วยเหลือจะ ต้องสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง"

แม้จะไม่เหมือนกันทีเดียว แต่การที่จะมองว่าบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่จะมีงบประมาณ CSR อย่างเหลือเฟือ ทำให้การเคลื่อนเรื่องนี้ในองค์กรง่ายกว่าบริษัทขนาดเล็กที่มีงบประมาณจำกัด ถ้าลองย้อนกลับไปดูที่มางบประมาณในการทำ CSR ของ ยูนิลีเวอร์นั้นน่าสนใจ

" พงษ์ทิพย์ เทศะภู" ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ในประเทศไทย กล่าวว่า "แม้จะมีงบประมาณในการดำเนินการแล้วที่ผ่านมา เรารณรงค์ลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิต ทำโครงการเพื่อสังคมได้เพิ่มมากขึ้น การที่ ผู้บริหารมีนโยบายนี้ทำให้เราสามารถลดของเสียได้มากพอและมีเงินสำหรับใช้ใน โครงการ ซึ่งการรณรงค์เรื่องนี้ทำให้กระบวนการผลิตดีขึ้นด้วย เพราะพนักงานก็จะใส่ใจว่าถ้าเราสามารถลดของเสียได้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยสังคม"

แม้ 3 องค์กรจะไม่ใช่ภาพสะท้อนทั้งหมดของทิศทางที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า แต่วิธีคิดของทั้ง 3 องค์กรน่าจะเพียงพอที่จะตอบคำถามได้ว่า เพราะเหตุใดจึงไม่จำเป็นต้องชะลอ CSR ในวันที่ทุกองค์กรกำลังเดินหน้าเข้าสู่วงจรของวิกฤตเศรษฐกิจ

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 22 ธันวาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01221251&day=2008-12-22&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: