วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2552

SBDI เปิดตัวเครื่องมือ CSR

SBDI เปิดตัวเครื่องมือ CSR รับมือมาตรฐานความรับผิดชอบ

แม้ ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในวันนี้อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญในการฉุดและดึงในการเคลื่อน แนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR : corporate social responsibility) ให้ชะลอและลดระดับความสำคัญลง

หากแต่การแถลงข่าว "ทิศทางและกลยุทธ์ซีเอสอาร์ในภาวะวิกฤตปี 2552" ของสถาบันพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (เอสบีดีไอ) สถาบันที่ให้บริการที่ปรึกษา อบรม วิจัยและจัดทำแผนแม่บท CSR สำหรับองค์กรธุรกิจ เมื่อเร็วๆ นี้ถือเป็น มุมมองอีกด้าน และอีกครั้งที่เป็นการตอกย้ำอีกว่า ในปี 2552 การขับเคลื่อน CSR จะยิ่งเข้มข้นมายิ่งขึ้น

"อนันตชัย ยูรประถม" นักวิชาการ CSR ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน (SBDI) ให้เหตุผลว่า "ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ รวมทั้งบริบทจากภายนอกประเทศและภายในประเทศ คือมาตรฐานและข้อปฏิบัติด้านความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้นกว่า 300 มาตรฐาน อาทิ ISO 26000 ที่กำลังจะประกาศใช้ มาตรฐานการจัดทำรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน (GRI) ที่กำลังได้รับการส่งเสริม รวมถึงการเกิดขึ้นของการลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (SRI) ที่กำลังจะเกิดในไทย ล้วนเป็นปัจจัยที่จะเร่งรัดให้องค์กรธุรกิจต้องทบทวนและพัฒนาการทำ CSR อย่างมีทิศทาง โดยบูรณาการแนวคิดเข้าสู่องค์กรและวางแผนอย่างเป็นระบบ เพื่อสอดรับกับมาตรฐานสากลต่างๆ มากขึ้น"

แต่ปัญหาก็คือในช่วงที่ ผ่านมา CSR ในไทยถือเป็นช่วงบ่มเพาะ และลองผิดลองถูก ทำให้ CSR ขององค์กรส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่กิจกรรมเพื่อสังคม

โดยหากประเมิน สถานการณ์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจที่ขับเคลื่อน CSR เพียงในระดับกิจกรรมเพื่อสังคมถือเป็น กลุ่มใหญ่ที่สุดและมีสัดส่วนถึง 60% รองลงมาเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อน CSR เชิงกลยุทธ์ (strategic CSR) มีสัดส่วนประมาณ 30% ส่วนอีก 10% ที่เหลือคือกลุ่มธุรกิจที่นำ CSR เข้าไปผสานในทุกกระบวนการธุรกิจและ นำไปใช้ในการปรับองค์กรทั้งหมด



เขา ย้ำว่า "การทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือจะขับเคลื่อน CSR ในระดับไหนนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่เชื่อว่า CSR ที่จะเกิดประสิทธิผลที่สามารถสร้างคุณค่าให้กับทั้งองค์กรและสังคม จนสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและอยู่รอดได้ในภาวะเช่นนี้จำเป็น ต้องบูรณาการแนวคิด CSR ลงไปในการดำเนินธุรกิจทั้งระบบ"

"สมัยก่อน CSR อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการตลาด ส่วนหนึ่งของงานประชาสัมพันธ์ แต่การทำอย่างเป็นระบบ หมายถึงการนำ CSR ไปสู่การพัฒนาทั้งองค์กร โดยเริ่มตั้งผู้นำ การวางนโยบาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ จากนั้นจะนำไปแทรกอยู่ในการดำเนินธุรกิจทุกส่วน ฝ่ายการเงินก็ต้องคำนึงถึงรายได้

"ธรรมาภิบาล ฝ่ายปฏิบัติการมากกว่าดูเรื่องการลดต้นทุน ต้องพิจารณาในเรื่อง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ต้องดูแลไปถึงประเด็นในเรื่อง สิทธิมนุษยชน"

นี่เป็นการ ฉีด CSR เข้าสู่ระบบธุรกิจ !!

"แต่ ปัญหาก็คือที่ผ่านมาองค์กรไทยมักจะไม่มีเครื่องมือและแนวปฏิบัติที่สามารถนำ ไปใช้ได้จริง ที่ผ่านมาสถาบันจึงศึกษาและพัฒนาเครื่องมือที่เรียกว่า corporate sustainability framework หรือกรอบ แนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจสามารถนำ CSR ลงไปสู่การปฏิบัติได้จริง สามารถประเมินและวัดระดับการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กร และเชื่อมโยงไปยังมาตรฐานต่างๆ ได้เพราะแนวโน้มในขณะนี้มาตรฐานต่างๆ อาจจะกลายเป็นภาระขององค์กร ดังนั้นกรอบแนวคิดนี้จะเป็นตัวกลางในการ เชื่อมโยงองค์กรเข้ากับมาตรฐานต่างๆ"

กรอบที่ว่าประกอบไปด้วย 10 หมวดใหญ่ได้แก่ 1.การนำองค์กรของผู้บริหาร 2.การวางแผนกลยุทธ์ 3.ทรัพยากรมนุษย์ 4.ลูกค้าและตลาด 5.การจัดการกระบวนการ 6.สังคม 7.สิ่งแวดล้อม 8.การวัด วิเคราะห์และการจัดการความรู้ 9.การสื่อสาร และ 10.ผลลัพธ์

"จากการทำงานที่ผ่านมาเราพบว่าไม่มีองค์กรใดเลยที่ไม่มี CSR เพียงแต่เราจะพบว่าเครื่องมือที่เราทำขึ้นจะสามารถทำให้องค์กรมองเห็นจุด อ่อนว่าประเด็นใดที่องค์กรทำแล้วและประเด็นใดที่องค์กรยังไม่ได้ทำ เช่นถ้าพูดเฉพาะหมวดลูกค้าและตลาด เมื่อดูผลิตภัณฑ์ที่บริษัททำ เราอาจจะเคยมุ่งเน้นแค่ในคุณภาพสินค้าธรรมดาหรือมุ่งแต่ลดต้นทุนเพื่อทำกำไร แต่องค์กรอาจจะไม่เคยมองผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างคุณค่าให้กับคุณภาพชีวิตคน หรือสังคม ซึ่งหากวิเคราะห์ในลักษณะนี้ได้ก็จะไปเติมความรับผิดชอบในส่วนที่ขาด และเพิ่ม ประสิทธิผลในการดำเนินธุรกิจ อย่างบริษัทโทรศัพท์ในญี่ปุ่น เอ็นทีที โดโคโม แทนที่จะให้บริการโทรศัพท์มือถือในฐานะเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร แต่เขากลับพัฒนาบริการเพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้ดีขึ้น โดยสามารถเชื่อมโยงความช่วยเหลือไปยังโรงพยาบาล อาสาสมัคร"

"ทั้ง หมดนี้เราไม่ได้บอกให้ธุรกิจเดินออกไปจากวิถีทางที่เคยเป็น ธุรกิจยังคงสามารถสร้างกำไรสูงสุดให้กับองค์กรได้ แต่เป็นการสร้างกำไรสูงสุดบนพื้นฐานของความรับผิดชอบที่ทำให้สังคมและสิ่ง แวดล้อมเสียหายน้อยที่สุด และทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมเติบโตอย่างยั่งยืนคู่กับธุรกิจด้วย"

อย่าง ไรก็ตาม ปัจจัยของการเคลื่อน CSR ในภาวะวิกฤต ที่นำไปสู่ความสำเร็จนั้น จะต้องประกอบไปด้วย 1.ผู้นำต้องมีความเข้าใจแนวคิด CSR อย่างแท้จริง เพราะแม้บางคนเห็นด้วย แต่ไม่เข้าใจในทิศทางที่ถูกต้องก็ไม่เกิดประโยชน์ 2.มีคณะทำงาน CSR (CSR committee) ในกรณีนี้อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นคณะทำงาน แต่หมายรวมถึงต้องมีผู้รับผิดชอบที่มีอำนาจมากเพียงพอในองค์กรและสามารถ ประสานกับทุกหน่วยในองค์กร 3.ศึกษาและทำความเข้าใจบริบทภายในและภายนอกองค์กร ผ่านมาตรฐานและแนวปฏิบัติต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงให้เข้ากับองค์กรที่สุด 4.มีแผนและแนวทางในการสร้างการเชื่อมโยงกับผู้มีส่วนได้เสีย 5.มีแนวทางและเครื่องมือในการพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรที่ยั่งยืน 6.มีการออกแบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ โดยไม่ได้สื่อสารผ่านสื่อสู่ภายนอกเท่านั้นแต่ต้องสื่อสารภายในองค์กรและผู้ ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ทุกกลุ่ม และ 7.มีการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบ (knowledge management) และกระจายความรู้สู่ส่วนงานต่างๆ

โดยทั้งหมด ต้องเริ่มต้นที่องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องทบทวนตัวเอง ไม่ว่าคุณจะเป็นองค์กรที่ทำ CSR อยู่แล้ว กำลังทำ หรือจะทำในอนาคตว่า CSR ที่ทำอยู่นั้นใช่หรือไม่และสามารถตอบโจทย์คลื่นมาตรฐานที่กำลังถาโถมเข้ามา ได้จริงหรือ !!


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 19/1/2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03190152&day=2009-01-19&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: