วันอังคารที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2552

เส้นทางสีเขียวของโนเกีย

เส้นทางสีเขียวของโนเกีย "เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่สร้างได้จากจุดเล็กๆ"


การ เปิดตัวโครงการ "Nokia Love Earth" กว่า 1 เดือนที่ผ่านมาที่โนเกียร่วมกับ กลุ่มเซ็นทรัล กรุ๊ป องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก เพลย์ฮาวด์ บริษัทรีไซเคิล เทส-แอม และสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย ในการณรงค์การรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริมทุกประเภท โดยตั้งจุดรับที่ โนเกีย แคร์ เซ็นเตอร์ 12 สาขา และ โนเกีย ช็อป 23 สาขาทั่วประเทศ รวมถึงในร้านเพลย์ฮาว และพาวเวอร์บายทุกสาขา

ถ้ามอง เพียงผิวเผินอาจดูเป็นความธรรมดาของ พ.ศ.นี้ที่ธุรกิจลุกขึ้นมาทำโครงการรับกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คลื่นที่ก่อตัวขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

และโนเกียก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ในไทยเป็นเสมือนการกระโดดขึ้นรถไฟขบวนที่ว่า

อย่าง ที่ "อุณา ตัน" หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า "ถามว่า เราเกาะกระแสมั้ย ก็ต้องบอกว่า เราเกาะกระแส แต่เป็นกระแสที่ดีที่มีคนต้องการเข้าร่วม และเรากำลังนำเอาโซลูชั่น (solution) และสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการมาให้โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างการรับรู้ (awareness) และสร้าง ช่องทางที่สามารถนำโทรศัพท์มือถือไปรีไซเคิลได้อย่างถูกวิธี"

กว่าจะเป็นเบอร์ 1

เพราะ ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันโทรศัพท์มือถือกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิตของผู้คนบนโลกและอัตราเฉลี่ยในการใช้โทรศัพท์ของคนส่วนใหญ่จะ อยู่ระหว่าง 2-3 ปี แต่จากการสำรวจของโนเกีย จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่มีทั่วโลกมีเพียง 3% เท่านั้นที่นำโทรศัพท์มือถือไปรีไซเคิล

ปัญหาหนึ่งเพราะผู้บริโภค ไม่รู้ว่าโทรศัพท์มือถือสามารถนำไปรีไซเคิลได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงกว่า 80% ของโทรศัพท์มือถือนั้นสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่นำกลับมาใช้ได้ใหม่ ขณะที่อีก 20% ที่เหลือนั้นสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการรีไซเคิล

ถ้าลอง คำนวณด้วยคณิตศาสตร์แบบง่ายๆ เชื่อว่าเพียงผู้ใช้โทรศัพท์มือถือกว่า 3 พันล้านคนทั่วโลกนำโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่องมารีไซเคิลจะทำให้ลดวัตถุดิบไปได้ถึง 240,000 ตัน และลดก๊าซเรือนกระจกได้มากเท่ากับการลดปริมาณรถบนถนนกว่า 4 ล้านคัน



แม้ โครงการ "Nokia Love Earth" จะถือเป็นโครงการรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือครั้งแรกในไทย แต่สำหรับโนเกียแล้วโครงการรีไซเคิลโทรศัพท์เริ่มต้นมายาวนานตั้งแต่ ปี 2540 ในประเทศสวีเดนและสหราชอาณาจักร ก่อนจะขยายไปยังอีกกว่า 85 ประเทศ จนปัจจุบันมีจุดตั้งรับโทรศัพท์มือถือ เพื่อนำไปรีไซเคิลกว่า 5,000 แห่งทั่วโลก

ความชัดเจนเช่นนี้ทำให้จากการจัดอันดับผู้ผลิตสินค้า อิเล็กทรอนิกส์สีเขียวของ "กรีนพีซ" ในเดือนพฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา โดยพิจารณาจากนโยบายและการปฏิบัติด้านสารเคมีและการปฏิบัติด้านความรับผิด ชอบของผู้ผลิตในการรับสินค้าที่ไม่ใช้แล้วกลับคืนและนำไปรีไซเคิลเอง "โนเกีย" นั้นได้คะแนนสูงที่สุดเพราะมีโครงการรับสินค้ากลับคืนและมีการรีไซ เคิลผลิตภัณฑ์ทุกรุ่นในทุกประเทศ

"อุณา" บอกว่า "การที่บริษัทให้ความสำคัญเรื่องนี้ก็คล้ายกับว่าเป็นความรับผิดชอบเหมือน กับเรากินข้าวและก็ต้องล้างจาน ในฐานะผู้นำตลาดในโทรศัพท์มือถือที่มีส่วนแบ่งการตลาด 35-40% และมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตลอดเวลา ก็ต้องมองว่าจะจัดการกับผลิตภัณฑ์เก่าได้อย่างถูกวิธีได้อย่างไร และเป็นวิสัยทัศน์ของโนเกียที่ทำเรื่องนี้มายาวนาน"

และแม้จะเป็น โครงการรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุดในโลก หากแต่ในมุมของ "โนเกีย" แล้ว โครงการนี้ถือเป็นเพียงจิ๊กซอว์ ตัวหนึ่งในวงจร "ธุรกิจสีเขียว"

" โครงการนี้เป็นเพียงปลายทาง แต่สิ่งสำคัญคือต้นทาง ที่ผ่านมาโนเกียให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่การผลิต การวิจัยและพัฒนา ที่พยายามจะคิดค้น นวัตกรรมใหม่ๆ เช่น โทรศัพท์โนเกีย 3110 Evolve ซึ่งเป็นโทรศัพท์รุ่นแรกที่ใช้ไบโอพลาสติก มาพร้อมที่ชาร์จประหยัดพลังงานและ แพ็กเกจจิ้งที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล 60% ที่เพิ่งวางตลาด การพยายามลดขนาดของ แพ็กเกจจิ้งให้มีขนาดเล็กลงซึ่งจะทำให้ลดจำนวนการใช้พลังงานจากการขนส่ง"

เริ่มจาก "ในบ้าน"

จาก จุดเริ่มต้นตั้งแต่การออกแบบที่คำนึงถึงการรีไซเคิล การลดพลังงาน มาจนการ ดีไซน์แพ็กเกจจิ้งให้เล็กลงเพื่อลดพลังงานจากการขนส่ง เมื่อผู้บริโภคซื้อสินค้าไปแล้วสินค้านั้นประหยัดพลังงาน หลังจากผลิตภัณฑ์หมดอายุมีการจัดการขยะอิเล็ก ทรอนิกส์อย่างถูกวิธี และมีการนำวัตถุดิบที่ได้จากการรีไซเคิลกลับมาใช้ได้อีก วงจรธุรกิจสีเขียวจึงจะสมบูรณ์ได้ โดยต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค

"ในขณะที่เรา ทำโครงการข้างนอก กับพนักงานเรามีการสร้างสำนึกในการรักษาโลก จากเรื่องง่ายๆ อย่างขวดน้ำดื่มที่แต่ละวันเราดื่มจากขวด เราก็สร้างขยะคนละ 2 ชิ้น 40 คนก็ 80 ชิ้น 1 ปีเป็นพันชิ้น แต่ตอนนี้เราร่วมกันทำโดยใช้ขวดถาวรที่สามารถเติมน้ำได้ อย่างนี้เป็นเรื่องเล็กๆ ที่เราทำในทุกๆ วัน"

ทุกวันนี้ที่สำนักงาน ของโนเกียยังสนับสนุนให้พนักงานใช้วิดีโอหรือการประชุมทางไกลแทนการเดินทาง ซึ่งวันนี้ สามารถมาทดแทนการประชุมแบบปกติถึง 145,000 ชั่วโมงต่อเดือน

จาก ข้อมูลในปี 2550 พบว่าโนเกียมีการใช้พลังงานทดแทนในสำนักงานถึง 25% และสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 27,400 ตัน และวางเป้าหมายว่าเมื่อถึงปี 2553 พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในโนเกีย 50% จะต้องเป็นพลังงานสีเขียว

ปัจจุบันแม้ผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญกับ สิ่งแวดล้อมจะค่อยทยอยปรากฏให้เห็น แต่ยังมีงานวิจัย พัฒนา และการออกแบบอีกหลายโครงการ ที่กำลังเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัท เช่น โครงการที่กำลังศึกษาความเป็นไปได้อย่างโทรศัพท์ remade ที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลทั้งหมด

การเติบโตของ "ผู้บริโภคสีเขียว"

การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องของโนเกียจึงเป็นเหมือนการมองข้ามชอต

ที่ ในฐานะนักการตลาด "อุณา" เชื่อว่า "การรักษาสิ่งแวดล้อมถือเป็นส่วนสำคัญของการตลาด เพราะเวลาพูดถึงเรื่องการตลาดเราจะนึกถึงเรื่องแบรนด์ แต่จะไม่พูดถึงยอดขาย เรามองว่าเวลาผู้บริโภคคิดถึง โนเกียจะต้องมีทัศนคติที่ดีต่อแบรนด์ ผลิตภัณฑ์คือส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่เหลือคือสภาพแวดล้อมหรือสิ่งที่แบรนด์ทำและสิ่งที่แบรนด์เป็น เหมือนกับคนคนหนึ่งว่าคนคนนั้นคนมองเขาเป็นอย่างไร รูปลักษณ์สวยไม่พอ คนคนนั้นต้องมีทัศนคติที่ดี มีการกระทำที่ดี"

ถึงวันนี้ไม่เพียงแต่เป้าหมายที่จะทำให้ ผู้บริโภคนึกถึงการรีไซเคิลทุกครั้งเมื่อจะเปลี่ยนโทรศัพท์

" อุณา" บอกว่า "ถ้ามองภาพระยะ ยาวเราพยายามสร้างเรื่องการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมให้เข้าไปอยู่ในโปรดักต์ และถ้าเมื่อไหร่ที่ผู้บริโภคเห็นโปรดักต์เขาจะนึกถึงเรื่องนี้"

เพราะ แม้ว่า "ผู้บริโภคสีเขียว" ที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังอาจจะยังมีไม่มากใน ไทยเทียบเท่ากับในฝั่งยุโรป แต่เธอก็เชื่อว่า "ยืนยันได้ว่ามี เพียงแต่ระดับความเข้มข้นของแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน บางคนอาจจะแค่ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก บางคนเวลาซื้อสินค้าอาจจะมองหาสัญลักษ์รีไซเคิล บางคนอาจจะดูการกระทำขององค์กรในการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม"

อย่าง น้อยที่สุดจำนวนผู้บริโภคที่เข้าร่วมโครงการเกินกว่าที่คาดคิดก็น่าจะเป็น สัญญาณหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงผู้บริโภคสีเขียวที่กำลังมีมากขึ้นเป็นลำดับ ในไทย และเมื่อถึงวันหนึ่งที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ขยายวงขึ้น นั่นคือผลบวกที่ธุรกิจจะได้แน่ๆ ในฐานะ แบรนด์สีเขียว

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 29 ธันวาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01291251&day=2008-12-29&sectionid=0221


ไม่มีความคิดเห็น: