วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2552

มหา"ลัยทั่วโลกผนึกกำลัง

มหา"ลัยทั่วโลกผนึกกำลัง สร้างเครือข่ายความรับผิดชอบต่อสังคม


ท่าม กลางความเคลื่อนไหวของบรรดามหาวิทยาลัยที่บรรจุเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ขององค์กร (CSR) อยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนด้านบริหารธุรกิจ บางมหาวิทยาลัยยังก้าวข้ามไปถึงการเตรียมผุดหลักสูตร CSR ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท

หากมองถึงภาพการแข่งขันและชิงธงปัก หมุดบนกระแสนี้ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้ก้าวข้ามชอต และวางตำแหน่งในการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านการขับ เคลื่อนแนวคิด USR ที่ย่อมาจาก university social responsibility หรือความรับผิดชอบต่อสังคมของมหาวิทยาลัย

โดยพยายามผลักดันที่จะ สร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัยที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับโลก (USR alliance) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และทำงานระหว่างกัน ระหว่างวันที่ 12-13 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยศรีปทุมจึงได้เป็น เจ้าภาพในการจัดสัมมนาวิชาการนานาชาติ ว่าด้วย "บทบาทของมหาวิทยาลัยในความรับผิดชอบต่อสังคม ครั้งที่ 1" ที่นับเป็นครั้งแรกในโลกที่มีการจัดเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ และบทบาทของ มหาวิทยาลัยด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งมีมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมจาก 26 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ ฝรั่งเศส อิตาลี ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฯลฯ และมหาวิทยาลัยในไทยอีกกว่า 24 สถาบัน

ดร.จรรยา พุคยาภรณ์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า "หวังว่าการริเริ่มครั้งนี้จะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัยที่มีความ รับผิดชอบต่อสังคมในระดับโลก โดยมองถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของมหาวิทยาลัยว่า รูปแบบของความรับผิดชอบต่อสังคมของมหาวิทยาลัยนั้นแตกต่างจากองค์กร (corporate) ทั่วไป เพราะมหาวิทยาลัยนั้นเรารับผิดชอบต่อสังคมอยู่แล้วโดยอาชีพ โดยมหาวิทยาลัยจะสอนและทำการปลูกจิตสำนึกของนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรให้รับผิดชอบต่อสังคมด้วยจิตสำนึก ไม่ใช่การโปรโมตตามกระแสหรือการตลาด เพราะฉะนั้นทุกคนควรทำจากใจ ไม่มีการบังคับ ผลลัพธ์ที่ได้จึงจะมีคุณค่าอย่างเต็มที่"

บนเวทีสัมมนาครั้งนี้มีการถ่ายทอดประสบการณ์และบทเรียนของมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศ

" บาสเตียน เบอร์แมน" เลขานุการ Magna Charta Observatory ประเทศเยอรมนี และที่ปรึกษาทางด้านการประกันคุณภาพให้กับมหาวิทยาลัยในยุโรป กล่าวถึงบทบาทของความรับผิดชอบต่อสังคมของมหาวิทยาลัยว่า สิ่งสำคัญที่มหาวิทยาลัยต้องสร้าง คือ จิตสำนึกของการเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบให้กับนักศึกษา โดยไม่เพียงจะสร้างทักษะและให้องค์ความรู้เท่านั้น ในขณะที่การขับเคลื่อนด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของมหาวิทยาลัยต้องมีการ กำหนดแนวปฏิบัติ (code of conduct) ต้องพิจารณาถึงความรับผิดชอบที่มหาวิทยาลัย มีต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย โดยหัวใจสำคัญต้องเริ่มจากบทบาทหลักในการผลิตนักศึกษาที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันต้องเปิดโอกาสให้พนักงานหรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัยได้มีอิสระทาง วิชาการ และสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อผู้ที่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยหรือภาค รัฐ ในการบริหารงานอย่างโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ และมีประสิทธิผลในการดำเนินการ รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับชุมชนในการสร้างประโยชน์กับสังคม ฯลฯ

ด้าน "คริสติน่า ที. ชูแล็กเตอร์" นักวิชา การจากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด สหรัฐ อเมริกา ผู้ก่อตั้ง Center for Socially Responsible Leadership (CSRL) ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้คำปรึกษาด้านการสร้างความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคม กล่าวว่า ความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่เพียงที่จะบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนเท่านั้น แต่ยังมีงานวิจัยและการพัฒนาที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น ที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดได้ดำเนินการในการพยายามผลักดันให้ นักศึกษาคิดค้นงานวิจัยที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันยังเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาธุรกิจและให้ความรู้เรื่องความรับผิด ชอบต่อสังคมให้กับธุรกิจในท้องถิ่น และพยายามสร้างโมเดลของการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและองค์กรธุรกิจใน การพัฒนาสังคม และเชื่อว่ามหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดในการแสดงความรับผิดชอบต่อ สังคมได้ เนื่องจากมีทรัพยากรมนุษย์มากมายไม่ว่าจะเป็น แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ ฯลฯ ที่จะสามารถคิดค้นและพัฒนาเรื่องต่างๆ ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคมได้

อย่างไรก็ตามบทบาทสำคัญที่ถือเป็น ความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยคือ ความรับผิดชอบในการผลิตบัณฑิต ซึ่งมีความท้าทายอยู่ตรงที่ "ในขณะที่เด็กอยู่ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย เราอาจจะพยายามย้ำให้เขาระลึกถึงการต้องเป็นคนดีเสมอๆ ผ่านกิจกรรมต่างๆ มากมาย แต่ สิ่งที่ท้าทายก็คือเราจะทำอย่างไรที่จะทำให้ความรับผิดชอบเหล่านั้นติดตัว พวกเขาอยู่ในวันที่ออกไปสู่โลกของการทำงาน ว่ายังจำเป็นต้องทำประโยชน์เพื่อสังคม" คริสติน่ากล่าวในที่สุด

และ ดูเหมือนว่าความท้าทายนี้จะเป็นประเด็นร่วมในระดับสากล และเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นแก่นของมหาวิทยาลัยในการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพและมีสำนึกต่อสังคม !!


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 26/1/2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03260152&day=2009-01-26&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: