วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2552

ทิศทาง CSR ปี 2552

ทิศทาง CSR ปี 2552 คลื่นของ "มาตรฐานความรับผิดชอบ"


ไม่ เพียงการดำเนินธุรกิจในวันนี้จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ท้าทายจากปัจจัยวิกฤต เศรษฐกิจที่รุมเร้า แต่ดูเหมือนว่าแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ที่ในช่วงปีที่ผ่านมา กำลังกลายเป็นกระแสในแวดวงธุรกิจไทย กำลังตกอยู่ในสภาวะที่ท้าทายไม่แพ้กัน

เพราะจากการรวบรวมและประมวล ข้อมูลของ "ประชาชาติธุรกิจ" ตลอดระยะเวลาของปี 2551 ผ่านการสัมภาษณ์ ผู้บริหารองค์กรหลายสิบแห่ง ผ่านการสอบถามผู้เชี่ยวชาญจากทั้งเอเชียและในไทย ไปจนกระทั่งการเก็บข้อมูลและความเคลื่อนไหวบนเวทีสัมมนา CSR ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

นั้นพบว่าการดำเนินการ CSR ในไทยกำลังเดินมาถึงจุดที่พลิกผัน จากเดิมที่อาจเคยดำเนินความรับผิดชอบเหล่านั้นด้วยความสมัครใจ

แต่ ถึงวินาทีนี้ชัดเจนอย่างยิ่งแล้วว่า CSR กำลังจะกลายเป็นมาตรฐานการดำเนินธุรกิจใน พ.ศ.นี้ ที่หากไม่ทำนั่นหมายถึงโอกาสในการแข่งขันและการอยู่รอดได้ในเวทีธุรกิจกำลัง ลดน้อยถอยลง

และจากนี้คือ ทิศทางที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ที่เราเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในปี 2552

ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นและท้าทายขึ้นสำหรับ "องค์กรธุรกิจไทย"

1.บริษัทลดงบประมาณ-เพิ่มประสิทธิภาพ

แม้ ในองค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งจะออกมาประกาศตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 ว่า จะไม่มีการตัดลดงบประมาณในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) หากแต่ในความเป็นจริง ถ้าสแกนองค์กรส่วนใหญ่จะเห็นว่าทิศทางที่ปฏิเสธไม่ได้คือ งบประมาณที่ลดลง อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดในการขับเคลื่อน CSR ในองค์กร

แนวโน้มในปี นี้ หลายองค์กรจึงอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องทำงานขับเคลื่อน CSR อย่างยากลำบากขึ้น ดังนั้นจะเห็นว่าประเด็นในเรื่องของประสิทธิผลจากการดำเนินการโครงการเพื่อ สังคมจึงเป็นโจทย์ท้าทายโจทย์แรกสำหรับองค์กร อย่างที่ "มงคลนิมิตร เอื้อเชิดกุล" กรรมการและ ผู้จัดการประชาสัมพันธ์ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "แม้เราจะไม่ได้ตัดลดงบประมาณในการทำ CSR แต่สิ่งที่เรามองมาตลอดและต้องให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น คือประสิทธิภาพในการทำงานที่มีการประเมินผลและมีตัวชี้วัดอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะผลที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน และพยายามทำอย่างไรที่จะให้เกิดประโยชน์กับทั้งองค์กรและสังคม"

2.ธุรกิจเตรียมปรับตัวรับมาตรฐาน CSR

ใน ขณะนี้มาตรฐานว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (SR) หรือ ISO 26000 ซึ่งเป็นมาตรฐานว่าด้วยความรับผิดชอบในระดับนานาชาติที่จะเป็นที่ยอมรับ ครั้งแรกทั่วโลก ที่แม้จะเลื่อนการประกาศใช้อย่างเป็นทางการมาแล้วหลายครั้ง แต่จนถึงวันนี้ ร่าง ISO 26000 กำลังเดินมาถึงปลายทาง เพราะกำลังอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการชุดสุดท้าย ก่อนที่มาตรฐานนี้จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี 2553 ที่จะถึง ซึ่งความท้าทายของมาตรฐานนี้ ไม่เพียงอาจจะถูกนำมาใช้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้า ในเวลาเดียวกัน มีหลายประเด็นที่อ่อนไหวที่ธุรกิจจำเป็นต้องให้ความสำคัญ

นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจอีกมากโดยเฉพาะองค์กรที่ทำธุรกิจระหว่าง ประเทศ หรือเป็นธุรกิจในซัพพลายเชนของบริษัทข้ามชาติที่กำลังกลายเป็น แรงกดดันที่ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัว อย่างที่ "อเล็กซ์ มาโวร" ผู้ก่อตั้ง "โซเชียล เวนเจอร์ เน็ตเวิร์ก" บริษัทที่ปรึกษาด้าน CSR เคยกล่าวว่า "วันนี้ถ้าเปรียบเทียบกลุ่มที่ทำโดยความสมัครใจกับกลุ่มที่ต้องทำเพราะเป็น มาตรฐานทางการค้า ผมว่ากลุ่มหลังมีมากกว่า แต่ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าบริษัทต้องทำเพราะถูกบังคับหรือสมัครใจ แต่การทำ CSR ในองค์กรให้ประสบความสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับวิธีการและเนื้อของงานมากกว่า"

3.การมาถึงของมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล (GRI)

แม้ ว่าการเปิดเผยข้อมูลด้าน CSR ในไทยอาจจะยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายมากนัก แต่หากดูความเคลื่อนไหวล่าสุด ในขณะนี้องค์กรจำนวนไม่น้อยที่กำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำรายงาน CSR Report หรือ SD Report ดังนั้นให้จับตาว่าในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ เราอาจจะได้มีโอกาสยลโฉมรายงาน CSR ขององค์กรไทยกันมากขึ้น

ถ้าถาม ว่า แล้วการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวข้องกับ CSR อย่างไร "ริชาร์ด เวลฟอร์ด" ผู้ก่อตั้ง CSR Asia ที่ใช้เกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลในการจัดอันดับบริษัทที่มีความรับผิดชอบใน เอเชีย เมื่อปีที่ผ่านมา บอกว่า "ส่วนสำคัญของ CSR ก็คือ การมีธรรมาภิบาลที่ดี ดังนั้นการเปิดเผยข้อมูลย่อมเป็นหนึ่งในสิ่งที่จะสะท้อนให้เห็นถึงความรับ ผิดชอบของบริษัท"

อย่างไรก็ตามถ้าพูดถึงรายงาน CSR คงต้องกล่าวถึง GRI หรือ global reporting innitiative ถือเป็นมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลด้าน CSR ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดของบริษัททั่วโลก ที่ก่อตั้งโดย CERES เอ็นจีโอขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ร่วมกับสถาบัน Tellus โดยการสนับสนุนของ UNEP ในการเปิดเผยข้อมูล CSR ของบริษัทผ่านรายงานที่เรียกว่า รายงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SD Report) ปัจจุบันไม่เพียงเป็นหลักการที่บริษัทหลายพันแห่งทั่วโลกนำมาใช้ ขณะนี้คณะทำงานส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทจด ทะเบียน กำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำหลักการและแนวทางเบื้องต้นในการจัดทำรายงาน CSR โดย อิงมาตรฐาน GRI ดังนั้นในอนาคตอันใกล้การเปิดเผยข้อมูลในไทยย่อมมีแนวโน้มที่ชัดเจนขึ้น

4.โอกาสของการเกิดนโยบาย CSR แห่งชาติ

ใน ช่วงปี 2551 ที่ผ่านมา สถาบันไทยพัฒน์ร่วมกับศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ทั่วประเทศในการระดมสมองและเก็บข้อมูลในการจัดทำข้อเสนอ CSR เชิงนโยบาย ที่จะนำไปสู่การเสนอคณะรัฐมนตรี และจัดทำเป็นยุทธศาสตร์ CSR ในระดับประเทศ เพื่อให้กลไกภาครัฐเอื้อต่อการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ รวมถึงการควบคุมให้องค์กรธุรกิจต้องให้ความสนใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ เพิ่มการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนจะกลายเป็นจริงได้ มากน้อยแค่ไหนคงต้องติดตามต่อไป

5.การเติบโตของผู้บริโภคและนักลงทุนที่มีความรับผิดชอบ

หลาย คนอาจจะประเมินว่า "ผู้บริโภค" ที่มีความรับผิดชอบหรือตระหนักต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมยังมีไม่มากพอที่จะ กลายเป็นแรงกดดันของธุรกิจ แต่ในมุมของนักการตลาดอย่าง "อุณา ตัน" แห่งโนเกีย (ประเทศไทย) ประเมินไว้ว่า "ยืนยันได้ว่า ผู้บริโภคสีเขียวมีในไทย เพียงแต่ระดับความเข้มข้นนั้นแตกต่างกัน ดังนั้นถ้ามองภาพระยะยาว เราจึงพยายามใส่เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปอยู่ในโปรดักต์" หาก มองความเคลื่อนไหวขององค์กรผู้บริโภคซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในไทยอย่าง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่าย แล้วจะเห็นว่าในปีนี้ราวเดือนมีนาคม จะเป็นครั้งแรกที่มีการประกาศผลบริษัทยอดเยี่ยมและยอดแย่ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะกระตุ้นเตือนให้บริษัทให้ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับ ผิดชอบต่อสังคมมากยิ่งขึ้น

สำหรับนักลงทุนที่มีความรับผิดชอบ ปัจจุบันอาจจะยังไม่เกิดขึ้นจริงในไทย แต่ความพยายามในการส่งเสริมการ ลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (social responsibility investing) ที่จะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในกิจการที่บริหารงานอย่าง มีความรับผิดชอบ "มัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา" ที่ปรึกษาด้านกิจกรรมเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า "เชื่อว่า SRI จะสามารถเกิดขึ้นได้ในไทย และขณะนี้เรากำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อจะทำ SR Index ซึ่งเป็นดัชนีในการจัดอันดับบริษัทที่มีความรับผิดชอบ คล้ายๆ กับที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ"

ถึงบรรทัดนี้ ไม่ว่าองค์กรของคุณกำลังจะตัดลดงบประมาณหรือชะลอการทำ CSR คงเห็นแล้วว่า มาตรฐานและแนวปฏิบัติต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นเสมือนเครื่องยืนยันว่า CSR ในไทยกำลังเดินเข้าสู่ช่วงเวลาเปลี่ยนจากยุคกิจกรรมเพื่อสังคม สู่มาตรฐานใหม่ในการทำธุรกิจ !!


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 12/01/2009
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01120152&day=2009-01-12&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: