วันอังคารที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2552

มหานคร CSR การบ้านผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่


ระหว่าง การรอผลการเลือกตั้งว่าใครจะก้าวมาเป็นผู้ว่าฯกรุงเทพมหานครคนใหม่ ในวันที่ 11 มกราคม 2552 ที่จะถึง นโยบาย CSR กรุงเทพฯที่ได้จากการระดมสมองของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งกรุงเทพมหานคร ภาคธุรกิจ และองค์กรพัฒนาเอกชน บนเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการ "นโยบาย CSR กรุงเทพฯ-สังคมดีไม่มีขาย อยากได้ต้องร่วมสร้าง" ซึ่งสถาบันไทยพัฒน์ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม (CSR) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมานั้น

ถือเป็นการบ้านข้อใหญ่ ที่รอให้ผู้ว่าฯคนใหม่เตรียมสานต่อ

เพราะ วันนี้ไม่เพียงแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) จะเป็นเรื่องที่องค์กรธุรกิจให้ความสำคัญเท่านั้น แต่ทั่วโลก มหานครใหญ่ๆ หลายแห่งในโลกล้วนแล้วแต่กำลังให้ความสำคัญกับ CSR ผ่านการออกนโยบาย มีมาตรการในการกำกับและควบคุมองค์กรธุรกิจไม่ให้สร้างผลกระทบต่อสังคมและ สิ่งแวดล้อม ในเวลาเดียวกันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งยังให้ความสำคัญกับการ บริหารจัดการเมืองอย่างมีความรับผิดชอบ บางเมืองถึงกับมีรายงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainability report) ของเมืองเพื่อรายงานให้สาธารณะรับรู้ถึงผลของการดำเนินงานขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นนั้นๆ

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า "เวลาพูดถึงเรื่อง CSR เรามักจะคิดถึงแต่องค์กรธุรกิจ แต่ CSR นั้นมีความเกี่ยวข้องกับภาครัฐ แม้การบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม จะเป็นภารกิจหลักของภาครัฐอยู่แล้ว แต่ยังมีบทบาทอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญซึ่งธนาคารโลกระบุบทบาทของภาครัฐที่มีต่อ การขับเคลื่อน CSR ไว้ว่า ไม่เพียงแต่ภาครัฐจะต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ แต่ยังต้องอำนวยการ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องของการบังคับแต่ต้องสร้างแรงจูงใจและสร้างตลาดในการขับ เคลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ"

และเป็นเหตุผลว่า เพราะเหตุใดจึงจำเป็นต้องกำหนดให้มีนโยบาย CSR สำหรับเมืองใหญ่เช่นกรุงเทพฯ

บน เวทีระดมสมองครั้งนี้ มีข้อเสนอแนะนโยบาย CSR ของกรุงเทพฯใน 4 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการ อาทิ ในด้านเศรษฐกิจ ควรมีนโยบายสร้างจิตสำนึกด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรให้ภาคธุรกิจ ให้นำ CSR ไปใช้ตลอดซัพพลายเชนของธุรกิจ

ขณะที่ในด้านสังคม ควรมีการกำหนดแผนแม่บท และกำหนดแนวทางในการพัฒนาสังคมอย่างชัดเจน โดยสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชน เพื่อแก้ไขจุดอ่อนของ ความไม่ต่อเนื่องของนโยบายที่มักเปลี่ยนไปตามผู้บริหาร สำหรับนโยบาย CSR ในด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากเสนอว่า กทม.ควรมีการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม อย่างมีประสิทธิภาพ ในเวลาเดียวกันยังควรเก็บภาษีเพิ่มขึ้นสำหรับหน่วยงานที่สร้างมลพิษ นอกจากนี้ควรสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน นอกจากนี้ในด้านการบริหารจัดการ เสนอให้กรุงเทพฯควรเป็นมหานครตัวอย่างแห่งการจัดการด้านความรับผิดชอบต่อ สังคม โดยเริ่มที่การขับเคลื่อนที่มีผู้บริหารเป็นผู้นำ โดยเฉพาะการสนับสนุนงบประมาณที่ชัดเจน และมีการจัดทำกฎหมายด้านการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี ในการบริหาร อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม เพราะเชื่อว่าหากผู้นำมี CSR ที่ดีก็จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อสังคมได้

" จากผลการระดมสมองครั้งนี้ ข้อมูลจะถูกนำไปสังเคราะห์ และนำไปเติมเต็มนโยบาย CSR ภาพรวมของประเทศ ขณะเดียวกันยังจะนำเสนอแนวนโยบายที่ว่านี้ไปยังว่าที่ผู้ว่าฯกรุงเทพฯทุกคน เพื่อที่จะนำไปเป็นส่วนเสริมในการกำหนดนโยบายในอนาคต" ดร.พิพัฒน์กล่าว

ส่วนใครจะสนใจ เข้าใจ และทำหรือไม่ ทั้งนี้ก็ขึ้นกับวิสัยทัศน์ของคนที่จะมาเป็นพ่อเมืองในอนาคต !!

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 22 ธันวาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr04221251&day=2008-12-22&sectionid=0221


ไม่มีความคิดเห็น: