วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2552

ซีพีเอฟ "สอนคนเลี้ยงปลา"

ซีพีเอฟ "สอนคนเลี้ยงปลา" ตอบโจทย์การให้ที่ยั่งยืน

ใน ช่วงที่การทำซีเอสอาร์ของแต่ละองค์กรมีแต่การบริจาค จะได้ยินคำพูดเปรียบเปรยการให้ที่ดีกว่านั้นว่า "ควรจะไปสอนให้คนเลี้ยงปลา ดีกว่าเอาปลาไปให้"

การสอนให้คนเลี้ยงปลาตามประโยคที่ว่าสามารถตอบ โจทย์แนวคิดการให้แบบยั่งยืนได้มีอยู่ใน 2 โครงการของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ที่ใช้ความชำนาญของบริษัทช่วยให้คนรู้จักถึงวิธีเลี้ยงปลาและจับขายเพื่อ สร้างรายได้ให้คนสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง

โครงการแรกเป็นการช่วยเหลือ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ให้มีอาชีพทำกิน ในโครงการทดลองหมู่บ้านประมงบ้านห้วยเจริญ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยร่วมกับทหารบกอุตรดิตถ์ สนับสนุนสินเชื่อเป็นจำนวนเงินกว่า 8 แสนบาท มีระยะการชำระคืน 5 ปีแก่ชาวบ้าน 5 ครอบครัวได้ทดลองเลี้ยงปลาในกระชังรวมกว่า 1,500 ตัว พร้อมช่วยดูแลตั้งแต่การจัดหาลูกปลา อาหารปลา ไปจนถึงการส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาอบรมและให้คำปรึกษาตลอดการเลี้ยงดู นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังช่วยจับปลาไปจำหน่ายให้ในราคาตามกลไกตลาด การเลี้ยงปลาในรุ่นแรกสามารถทำกำไรได้แล้วกว่า 1 แสน 1 หมื่นบาท แสดงให้เห็นว่าแนวทางของการให้อย่างยั่งยืนนั้นได้ผลจริง

ในเวลาไล่ เลี่ยกัน โครงการ CPF-ชุมชนโรงเรียนสัมพันธ์" ก็เกิดขึ้นที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 98 (บ้านงอบ) อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน ที่มีวิธีคิดไม่ต่างจากโครงการแรก เพราะนอกจากซีพีเอฟจะหมายมั่นปั้นมือให้โครงการนี้ช่วยให้เด็กนักเรียนใน ท้องถิ่นทุรกันดารได้รับประทานเนื้อปลาที่มีโปรตีนแล้ว เด็กๆ ยังเกิดการเรียนรู้ในงานด้านการเกษตรที่จะติดตัวไปเป็นอาชีพได้ในอนาคตได้ อย่างยั่งยืน

โครงการนี้เริ่มต้นที่การคัดเลือกโรงเรียนในท้องถิ่น ทุรกันดารที่มีความพร้อมในการเลี้ยงปลา จากนั้นบริษัทจะมอบพันธุ์ปลาจำนวน 5,000 ตัว พร้อมอาหารปลาและส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้ความรู้กับอาจารย์และเด็กๆ เป็นระยะก่อนที่จะจับปลาขึ้นมาปรุงเป็นอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน โดยใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน หรือ 1 ภาคเรียน ต่อการเลี้ยงปลา 1 รุ่น ซึ่งปลาที่เหลือจากการบริโภคของเด็กๆ ก็สามารถจำหน่ายในชุมชน เกิดเป็นรายได้ที่เพียงพอสำหรับเลี้ยงปลาในรุ่นต่อไป เมื่อขึ้นเทอมใหม่ โรงเรียนก็สามารถจัดเด็กนักเรียนรุ่นใหม่ เข้ามา รับผิดชอบโครงการ

อดิศร์ กฤษณวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บอกว่า "ถึงซีพีเอฟจะเลี้ยงสัตว์เชิงพาณิชย์ แต่ประธานกลุ่ม ซี.พี. ท่านธนินท์ เจียรวนนท์ บอกไว้ว่า ถ้าเข้าไปช่วยสังคมได้ตรงไหนต้องเข้าไป และถึงโครงการที่ทำจะล้มเหลวก็ยังเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ เพราะจะเกิดการเรียนรู้จากความไม่สำเร็จตรงนั้นแล้วแก้ปัญหา รุ่นต่อไปต้องดีกว่า เพื่อว่าสุดท้ายเราไม่ต้องเข้าไปช่วยตลอด วันหนึ่งทุกคนจะต้องดูแลตนเองได้และรู้จักวิธีเลี้ยงปลา"

ทั้ง 2 โครงการของซีพีเอฟจึงเป็นการให้ที่เพียงพอแต่เกิดประโยชน์ได้ไม่รู้จบ เพราะสิ่งที่นำไปให้สามารถเพิ่มค่าได้ เพียงแค่องค์กรเริ่มคิดจะให้แบบยั่งยืน

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 19/1/2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr04190152&day=2009-01-19&sectionid=0221


ไม่มีความคิดเห็น: